คุณค่าของ นปร.


         วันนี้ (24 ก.ค.49) ผมไปร่วมเป็นกรรมการประเมินผลการฝึกปฏิบัติงานส่วนภูมิภาคของ นปร. รุ่นที่ 1

         นปร. ย่อมาจาก นักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่  ดำเนินการโดยสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี   ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย กพร.

         นปร. หมายถึงนักบริหารการเปลี่ยนแปลงของระบบราชการ

          นปร.รุ่น 1 มี 39 คน   การประเมินโดยการนำเสนอและสัมภาษณ์โดยกรรมการชุดละ 3 คน   ดำเนินการทั้งสิ้น 5 วัน   คือวันที่ 24 - 28 ก.ค.49   ผมไปร่วมได้วันนี้วันเดียว   สัมภาษณ์ นปร. ไป 4 คน   ผมได้ความรู้มากจริง ๆ

ผมขอบันทึกแบบทำ AAR นะครับ
1. เป้าหมายของผมในการไปร่วมเป็นกรรมการประเมิน  มีดังต่อไปนี้
         1.1 ต้องการรู้จักโครงการ นปร. มากขึ้น
         1.2 ต้องการทราบว่า นปร.รุ่น 1 มีคุณภาพในระดับไหน
         1.3 ต้องการทราบว่าการปฏิรูประบบราชการส่วนภูมิภาค (ผู้ว่าซีอีโอ) เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่
2. ส่วนที่ผมได้เกินความคาดหมาย
         2.1 ข้อมูลและสารสนเทศจากการไปฝึกงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด  เป็นเวลา 5 เดือนระหว่าง ธ.ค.48 - เม.ย.49 ของ นปร. 39 คน   ถ้าเอามาทำ meta-analysis จะได้ความรู้ความเข้าใจวิธีการปฏิรูประบบราชการไทยอย่างมากมายในระดับ new order หรือ new paradigm
         2.2 นปร. ในภาพเฉลี่ยเก่งกว่าที่ผมคิดไว้   ใน 4 คนที่ผมสัมภาษณ์เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง   ไปเรียนวิศวะที่สหรัฐอเมริกา   ทั้งเก่งทั้งมีวุฒิภาวะสูงโดยที่อายุเพียง 26 ปี   ผมนึกถึงตัวเองสมัยอายุ 26 ปียังมีความคิดเหมือนทารก
         2.3 ผมได้เข้าใจจุดอ่อนของการบริหารงานแบบ top-down,  command & control ของรัฐบาลนี้ที่ดูเหมือนจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง   แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นของปลอม   ไม่เกิดผลดีอย่างจริงจังต่อบ้านเมือง    สิ่งที่ผมค้นพบวันนี้ยืนยันข้อสงสัยของผมว่าสิ่งที่รัฐบาลนี้เรียกว่าปฏิรูประบบราชการนั้น   ไม่ใช่เพื่อบ้านเมืองแต่เพื่ออำนาจผูกขาดของคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทย  ผมจะขยายความเรื่องนี้ทีหลัง
3. ผมได้เรียนรู้ว่าการปฏิรูประบบราชการส่วนภูมิภาคยังห่างไกลจากความสำเร็จ   ยังซ้ำรอยวัฒนนธรรมเดิม ๆ คือเปลี่ยนแต่เปลือก  เนื้อในคงเดิม
4. ผมมีความรู้สึกว่าการส่ง นปร. ไปฝึกอบรมกับผู้ว่าซีอีโอเป็นดาบสองคม   หากไม่มีมาตรการอื่นที่ช่วยให้ นปร. เรียนรู้แนวทางบริหารกิจการบ้านเมืองที่ทันสมัยและถูกต้องก็จะกลายเป็นว่าส่งเด็กไปให้ถูกล้างสมอง   ไปรับวัฒนธรรมเก่าสมัย 50 ปีก่อนมาใช้
5. ผมแปลกใจมากที่ไม่มีคนแนะนำ นปร.ไปก่อนเลย   ว่าให้พยายามไปเรียนรู้สิ่งดี ๆ   สิ่งที่เป็นความสำเร็จเล็ก ๆ ในแต่ละจังหวัด  และศึกษาว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

         นปร. ถูกชักจูงให้ไปศึกษายุทธศาสตร์จังหวัด   ซึ่งเป็นกิจกรรมของผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยราชการ   ไม่ใช่กิจกรรมของประชาชน นปร.ยังคงไปล่องลอยอยู่กับหน่วยราชการ  ลงถึงประชาชนน้อยมาก

         ผมอยากเห็นการออกแบบให้ นปร. ได้ไปเรียนรู้อย่างละครึ่ง   คือเรียนรู้จากราชการครึ่งหนึ่งและจากกิจกรรมภาคประชาสังคมครึ่งหนึ่ง

         ผมอยากเห็น นปร. เป็นผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงโดยเชื่อมกิจการราชการกับกิจกรรมประชาชน (civic action) เข้าด้วยกัน

วิจารณ์  พานิช
 24 ก.ค.49

หมายเลขบันทึก: 41004เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2006 16:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นปร.รุ่นหนึ่งคนหนึ่ง

สวัสดีค่ะคุณหมอวิจารณ์ พานิช

ในฐานะที่เป็น นปร.คนหนึ่ง ขออนุญาตแสดงความเห็นส่วนตัวในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ blog เรื่องนี้นะคะ

นปร.ทั้ง 39 คนได้รับคำสั่งให้ศึกษาในสามประเด็น คือ ยุทธศาสตร์จังหวัด การบริหารงานของจังหวัด และตัวของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะเห็นได้ว่าโจทย์ที่ นปร.ได้รับ เป็นการเน้นให้มองภาพของ "จังหวัดและงานของจังหวัด" เป็นหลักใหญ่ โจทย์นี้จึงเสมือนเป็นกรอบในการศึกษาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติงานจริง พบว่า นปร.หลายคนประสบปัญหาในการทำตามกรอบของโจทย์ที่ได้รับมาเนื่องจากสภาพการณ์ไม่เอื้ออำนวย แต่เมื่อถึงเวลาสรุปเป็นรายงาน นปร.ทุกนจำเป็นต้องนำเสนออกมาตามขอบเขตที่ได้รับคำสั่งไว้ ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ของ นปร.แต่ละคนจึงไม่ได้รับการนำเสนอออกมาทั้งหมด

โดยส่วนตัว นปร.ผู้พิมพ์มีความเห็นว่า การศึกษาทั้งสามประเด็นไม่ทำให้เห็นภาพของจังหวัดทั้งหวัด เนื่องจากความเป็นจังหวัด ยังต้องมีภาคราชการ เอกชนและประชาชนเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนั้น นปร.ผู้พิมพ์เองก็ต้องการเห็นหลังฉากที่แท้จริง จึงออกไปศึกษานอกขอบเขตที่ได้รับโจทย์มา โดยถือเป็นการศึกษาส่วนตัว-เพื่อตัวเอง ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปของตัวเองว่า การมุ่งเน้นการศึกษาและปรับปรุงเฉพาะระดับจังหวัด ไม่สามารถก่อให้เกิดพลังที่จะทำให้มีความเปลี่ยนแปลงระบบเก่าได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ การออกนอกโจทย์ ทำให้ได้รับประสบการณ์ที่ต่างไปจากประสบการณ์ที่มาจากการศึกษาตามโจทย์ค่อนข้างมาก

ดังนั้น การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตัว นปร.แต่ละคนด้วยว่าต้องการศึกษาอย่างไร และมีความเป็นไปได้หรือไม่ในสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ในขณะนั้น โดยในเวลาเดียวกัน ก็ต้องทำโจทย์และกรอบที่ได้รับมาให้สำเร็จด้วย

 นปร.ผู้พิมพ์มองว่า ในหลายครั้ง การศึกษาของ นปร.ทั้งหมด ถูกตีกรอบและวางขอบเขตในการนำเสนอเนื่องจากเหตุผลหลายๆอย่างที่ไม่ได้รับการอธิบายอย่างชัดเจน ทำให้ อย่างน้อยตัวของ นปร.คนนี้ก็รู้สึกอึดอัดใจเช่นกัน

ทั้งหมดที่พิมพ์ไปนี้ เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นส่วนตัวของผู้พิมพ์ ซึ่งอยู่ในสถานะของ นปร.รุ่นนี้ เท่านั้น จึงอาจเป็นเพียงมุมมองเพียงเสี้ยวเล็กๆที่ไม่กว้างขวางและหลากหลายเพียงพอ

หากคุณหมอวิจารณ์พอจะมีเวลาว่าง และยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นปร. หลายๆคน(รวมทั้งบุคลากรของสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี) อยากจะขอรบกวนคุณหมอให้แวะเข้ามาเยี่ยมเยียนที่สถาบันบ้างหลังจากเดือนตุลาคมเป็นต้นไป เนื่องจากในขณะนี้ นปร.รุ่นที่คุณหมอได้ทำการสัมภาษณ์ จะสิ้นสุดการฝึกปฏิบัติงานบริหารราชการส่วนกลางสิ้นเดือนกันยายนนี้ค่ะ นปร.ผู้พิมพ์ข้อคิดเห็นนี้กระตือรือล้นและอยากเรียนรู้ประสบการณ์จากคุณหมอมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท