ความรู้ ฤาจะสู้ระบบโรงเรียน...!


สืบเนื่องจากบันทึก เกล็ดทรงจำ ความฝันของกูรู ใน NKM5 ลด ละ เลิก รร.กวดวิชา

ซึ่งข้าพเจ้าขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านอาจารย์หมอ JJ  กับเกล็ดทรงจำของท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ท่านได้กล่าวไว้อย่างดียิ่งว่า 

ให้ "สร้างการเรียนรู้ให้กับ นักเรียน โดยไม่ต้องพึ่งพา โรงเรียน หรือ แหล่ง กวดวิชา"

เมื่อได้อ่านประโยคนี้ก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ทันทีว่า เมืองไทยน่าจะมีสถานที่ในการสอบหรือวัดความรู้ โดยไม่ต้องไปนั่งเรียน

ปัญหาปัจจุบันของคนทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในระบบหรืออยู่นอกระบบ ข้าพจ้ามีความคิดเห็นว่า (ซึ่งอาจจะผิด) ทุกคนนั้นมีความรู้อยู่ในตัวกันอย่างมากมายอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ขาดสำหรับคนสมัยนี้ก็คือ ปริญญาบัตร เกียรติบัตร วุฒิบัตร ที่จะไปบอกกับคนอื่น ๆ ว่าเรา "มีความรู้"

เพราะคำพูดคนเดียวกัน แต่คนที่มี ดร. นำหน้า กับตาสีตาสา ทำให้คนที่หลงสมมติเกิดความเชื่อถือได้ต่างกัน

ระบบของบ้านเราการจะได้มาซึ่งปริญญาบัตร หรือบัตรอะไรต่าง ๆ ทั้งหลายก็จะต้องเข้าระบบโรงเรียน ไปศึกษาอย่างเป็น "ระบบ"

มั่นใจไหมว่าคนที่สอนอยู่ในระบบปัจจุบันมีความรู้จริง มีประสิทธิภาพพอที่จะประสิทธิ์ประศาสน์ปริญญาบัตรให้ใครตามความรู้ในระดับนั้น

หลาย ๆ คนจึงไปเรียน เข้าระบบการศึกษาเพื่อให้ได้ปริญญา

คนมีความรู้ได้ปริญญามาก็ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น แต่คนที่ไม่มีความรู้ไปได้ปริญญามาก็ทำให้สังคมลำบากขึ้น เพราะคัดกรองคนยาก

ดังนั้น ถ้าหากบ้านเรามีสถานที่ที่ใช้ในการวัดหรือสอบประมวลความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ

ให้คนที่มีความรู้จริง ความรู้จากทั้งทฤษฎีและประสบการณ์ ถึงแม้นว่าจะไม่ได้เข้าระบบโรงเรียนมาสอบเพื่อได้มาซึ่งปริญญาบัตร วุฒิบัตร เกียรติบัตรต่าง ๆ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในการสมัครงานก็ดี หรือพิสูจน์กับคนที่ชอบอะไร ๆ แบบเป็นรูปธรรมก็ดี หรือบุคคลที่ต้องทนอยู่กับระบบ "กระดาษ" ก็ดี เพื่อที่จะได้เป็นหลัก เป็นฐาน

เพราะบางครั้ง การเรียนการสอนในปัจจุบัน ขออนุญาตพูดตามตรงว่า ถ้าเป็นการสอนนักศึกษาผู้ใหญ่ กศ.บป. หรือในระดับบัณฑิตศึกษา นักศึกษาบางคนมีความรู้ มีประสบการณ์ มีความสามารถมากกว่าอาจารย์เสียอีก

ทุกวันนี้คนที่มีความรู้มากกว่าไม่สามารถมาเป็นผู้สอนได้ เพราะไม่มีปริญญาบัตร

คนที่มีความรู้น้อยกว่าสามารถมาเป็นผู้สอนได้ เพราะมีปริญญาบัตรที่สูงกว่า

สภาวะการบริหารจัดการความรู้ในเมืองไทยถึงกลับตาลปัตร กลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ

คนความรู้น้อยสอนคนความรู้มาก คนอ่านหนังสือ สอนคนปฏิบัติจริง

คนปฏิบัติจริง ปฏิบัติดีแล้ว ก็หลงไปเชื่อกับตัวหนังสือ ทิ้งการปฏิบัติ เปลี่ยนตัวเองเป็นนัก "ปริยัติ"

เหมือนกับครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นกับวงการแพทย์แผนไทย ที่ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ หมอตำแย หมอนวดพื้นฐานเข้าโรงเรียนเพื่อเรียนกับเด็กรุ่นหลานและสอบวุฒิบัตร เพื่อที่จะกลับมานวดรักษาคนได้เหมือนเดิม

ปัญหาเส้นสาย ปัญหายัดใต้โต๊ะก็มีกันมิใช่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาอาจารย์ที่เรียนหนังสือมาจะไปสอนปู่สอนย่าที่เขานวดรักษากันมาจนจะแก่ตายไป ก็เป็นปัญหาที่เรื้อรังอยู่จนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น ถ้าหากมีใครสักคนลุกขึ้นมาทำข้อสอบกลางเพื่อวัดความรู้ในแต่ละแขนง

ใจกล้าลุกขึ้นมาตัดระบบโรงเรียนออกไปซะ

เพราะเรียนไปใช่ว่าจะมีประโยชน์เท่ากับโทษที่ได้รับ

 

มีความรู้แต่ไม่มีปริญญาก็ไม่มีประโยชน์ในระบบทุนนิยม

เมื่อสังคมต้องการวัดคนที่ปริญญาบัตร ความรู้ก็ไม่สามารถสู้เศษกระดาษ

เมื่อคนเคารพเศษกระดาษ ผู้ที่มีอำนาจต้องรู้จักมอบเศษกระดาษให้ถูกคน...

 

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษาไทย
หมายเลขบันทึก: 410018เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2010 10:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นำภาพ ครู เพื่อศิษย์ คิดร่วมกันมาฝาก ครับ

หรือยกตัวอย่างเช่น คนที่มีความรู้ มีความสามารถ มีประสบการณ์ทางด้านงานก่อสร้าง หรือที่เรียกว่าช่างซึ่งสร้างบ้านมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งในปัจจุบันด้วยระบบการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น อยู่ดี ๆ จะไปสร้างบ้านแบบเดิมก็ไม่ได้ ต้องไป "จ่ายเงิน (ใต้โต๊ะ)" เพื่อให้วิศวกรเซ็นต์รับรองแบบ เพื่อที่ยื่นขออนุญาตสร้าง

วิศวกรมีหน้าที่เซ็นต์แล้วก็รับเงิน คนเขียนแบบ คนคุมงาน ก็คือ "ช่าง" คนเดิม

เมื่อระบบสังคมเป็นแบบนี้ เด็กฉลาดที่เราหวังว่าจะพาชาติเจริญ ก็มุ่งหวังที่จะเข้าเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อที่จะไปนั่งเซ็นต์แบบ

ใครเล่าจะไปขวนขวายหาความรู้จากกลางแดด สู้นั่งเซ็นต์แบบอยู่ในห้องแอร์ไม่ได้

เมื่อพูดเช่นนี้ ก็อาจจะคนแย้งว่า ช่างชาวบ้านทั้งหลายมีความรู้ไม่จริง

แต่ถ้าหากมองกันตามความเป็นจริงแล้ว ความคงทนถาวร ความเสียหายเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างบ้านในอดีต กับบ้านในปัจจุบัน คงเห็นได้ชัดว่าใคร "เจ๋ง" กว่ากัน

เรื่องนี้มันอยู่ที่ประสบการณ์ แล้วยิ่งในปัจจุบันมารยาสาไถยของบริษัทขายวัสดุก่อสร้างมากกว่าห้าร้อยเล่มเกวียน เกมส์ธุรกิจในปัจจุบันหยาบคายและสกปรก เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก

วิศวกรมองในกระดาษ แต่ผู้มีประสบการณ์นั้นมองความเป็นจริง

แต่สุดท้ายคนที่มองความจริงก็ต้องมาจ่ายเงินให้กับคนที่มองแต่ในกระดาษ ก็เพราะกฏหมายเขาประกาศออกมาอย่างนั้น

เมื่อก่อนเคยมี อบต. มาหาเรื่องหาราวบ่อย ว่าที่สร้าง ๆ กันอยู่นี่ขออนุญาตหรือยัง ใครเซ็นต์แบบให้ เฮ้อ ช่วยก็ไม่ช่วย แล้วยังมีหน้าจะมาหาใต้โต๊ะอีก

เด็กในปัจจุบันเขามองช่องทางออก มาเดินทางไหนสะดวก อยู่ทางไหนสบาย

ทนลำบากเรียนกวดวิชาหน่อย อนาคตก็สบาย

จริง ๆ น่าจะมีการจัดแข่งความรู้กันระหว่างปราชญ์ชุมชนกับคนที่เรียนจบปริญญา เพื่อที่ให้รู้กันโต้ง ๆ ไปเลยว่าใคร "เจ๋ง" กว่ากัน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท