ศักยภาพของน้อง Albinism


ต่อยอดจาก http://gotoknow.org/blog/otpop/401911 กับความสำเร็จในทักษะการประสมประสานการรับความรู้สึกที่หลากหลายในกรณีศึกษา Albinism

วันนี้ผมนัดดูกรณีศึกษาน้อง Albinism วัย 14 เดือน พบว่ามีความก้าวหน้าของการพัฒนาทักษะการรับรู้ที่หลากหลาย หลังจากผู้ปกครองของน้องมุ่งมั่นและเรียนรู้หลักการฝึกลูกจากนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ดร. ป๊อป

ตอนนี้น้องสามารถมองวัตถุ/ของเล่นได้ในระยะ 1-2 เมตร บริเวณที่ร่ม และยังกลัวแสงจ้าบ้าง ในที่แจ้ง แต่น้องชอบที่จะมองแสงแดดส่องเป็นจุดๆ ชอบสำรวจธรรมชาติ ชอบสัมผัสสิ่งต่างๆ อย่างตั้งใจ เช่น เสื้อผ้าลาย/สีตัดกัน ดอกไม้สี/รูปร่างแปลก ก้อนหินพื้นผิวแตกต่างกัน ผมจึงแนะนำให้ผู้ปกครองชี้นำและใช้เวลาสัมผัสสิ่งต่างๆ เหล่านั้น มีการสัมผัสกับมือ-เท้า ผู้ปกครองเดินนำไปด้วยอย่างช้าๆ เดินข้ามช่องเล็กๆ มาหาผู้ปกครองอีกด้านหนึ่ง ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจในการเดินข้ามสิ่งต่างๆ เหล่านั้นอย่างสนุกสนาน ลดความกลัวพื้นผิวสัมผัสที่แตกต่างกันจนยืนหยุดนิ่ง สำหรับแสงที่จ้านั้น ผู้ปกครองเล่นบังเงาและหันหน้าเข้าหาน้องเพื่อเล่นแบบวิ่งไปมาได้บริเวณมากขึ้น บางครั้งผู้ปกครองต้องแทรกกิจกรรมการเรียนรู้ในระหว่างการสำรวจสิ่งแวดล้อมข้างต้น เช่น ขึ้นลงบันไดนับก้าว 1-2-3-...  วิ่งเล่นจ๊ะเอ๋แล้วบอกซ้าย-ขวา-หน้า-หลัง เดินนำน้องไปมองหารถคันเล็กที่วิ่งไปในระยะต่างๆ แล้วเรียนรู้กริยา-หยิบ-จับ-ชี้  

น่าสังเกตที่น้องมีศักยภาพของการเคลื่อนไหวเพื่อเล่นได้อย่างฉลาด คือ เรียนรู้อย่างสนุกต่อเนื่องด้วยช่วงความสนใจที่เหมาะสม สามารถรับรู้มองวัตถุได้ลึกและมีรายละเอียด สามารถรับรู้มองวัตถุที่ใช้งานได้จริงในชีวิต (เช่น เปิดวิทยุ) ไม่ติดของเล่นทั่วไป เต้นตามจังหวะเสียงดนตรี แสดงอารมณ์หัวเราะและยิ้มกับผู้อื่นได้ทั้งแบบมีเงื่อนไขจากตัวน้องต่อผู้ปกครองกับแสดงออกอย่างจริงใจดี

น้องรู้จักเล่นน้ำลายและเล่นเสียงในลำคอ แต่ควรส่งเสริมให้รับรู้ศัพท์เพื่อแสดงเสียงที่มีความหมายมากขึ้น โดยเน้นการเลียนเสียงน้องซ้ำ ตามด้วยคำหนึ่งพยางค์ที่มีความหมายซ้ำ 2 รอบ พร้อมจับทำ/เล่นไปกับน้องด้วย ผู้ปกครองอาจต้องแสดงบทบาทเพื่อนเล่นให้เกิดการเรียนรู้จากกลุ่มการเล่น กลุ่มสังคมที่มีอารมณ์ดี กลุ่มสังคมที่สอดแทรกความดีให้น้องซึมซาบด้วย หากหาเด็กวัยเดียวกับน้องมาเล่นด้วย ก็จะส่งเสริมให้พัฒนาการการสื่อสารที่ช้าไม่ช้าจนเกินไป หากมีเด็กวัยต่างกัน ผู้ปกครองควรเป็นผู้กระตุ้นการเล่นต่างวัยให้พอเหมาะแบบคู่ขนาน (ต่างคนต่างเล่น หรือเล่นให้ดูและทำตามแบบง่ายๆ หรือช่วยเล่นกันบางส่วน) โดยลองประเมินช่วงความสนใจในการเล่นเพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมของน้องใน 1-2 นาที

การเลือกกลุ่มของเล่นก็มีความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการประสมประสานของการใช้มือ-ตา-อวัยวะช่องปาก เพื่อไม่ให้มีรูปแบบการหยิบจับ รูปแบบการขีดเขียน จนถึงรูปแบบการแสดงอารมณ์คุณค่าของตัวเด็กเองผ่านกิจกรรมที่สัมพันธ์กันของมือ-ตา-อวัยวะช่องปาก ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกนั้นน้องได้รับการฝึกรับรู้ความรู้สึกที่เชื่อมโยงกันระหว่างการมองเห็น-การได้ยิน-การสัมผัส-การทรงท่า-การเคลื่อนไหว ทำให้พัฒนาการทางสมองค่อนข้างทำงานได้อย่างสมดุล และในช่วง 6 ปีแรกนั้น น้องควรนำการรับรู้ที่หลากหลายข้างต้นมาใช้ทำกิจกรรมการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมในหลายรูปแบบ เช่น หยิบจับของเล่นที่มีเสียงและแสง หยิบจับของเล่นจากการสัมผัสลายเส้นแล้วมีรูปทรงต่างๆ มีตัวเลขต่างๆ มีสีต่างๆ โดยผู้ปกครองต้องคอยชี้แนะด้วยคำพูดอย่างช้าๆ พร้อมกับช่วยหยิบจับบ้าง

ดังนั้นวันนี้ผมเลยชวนคุณพ่อคุณแม่น้องแยกของเล่นให้เป็น 2 หมวด คือ หมวดของเล่นที่ส่งเสริมการใช้มือ-ตา-การรับรู้-เรียนรู้ข้อมูล เพื่อเป้าหมายการเลียนเสียง การแยกแยะเสียง และการส่งเสียงบ้าง กับหมวดของเล่นที่ส่งเสริมการมองเห็นแบบเคลื่อนไหวรอบๆ บริเวณใกล้ไกล มีแสงและเสียงให้ดึงช่วงความสนใจได้นานขึ้น ผมสังเกตว่า ของเล่นมีหลายรูปแบบ แต่ไม่ค่อยมีคู่มือแนะนำผู้ปกครองถึง "วิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านของเล่นที่ทำให้เด็กเข้าใจถึงการนำมาใช้จริงในชีวิตได้" เช่น ของเล่นแบบมีเสียง มีแสง มีตัวเลข นับและกดเลียนแบบกล้องถ่ายรูป เป็นต้น   

นอกจากนี้ ดร. ป๊อป ให้คำปรึกษา ถึงการพัฒนาความมั่นใจและความภาคภูมิใจ ที่ผู้ปกครองสื่อสารให้น้องรับรู้ได้ เช่น คำชมเชย การกอด การแสดงความรัก โดยไม่เน้นของรางวัลหรือเอาใจเด็กมากนัก แต่ต้องเป็นต้นแบบที่ดีในการแสดงบทบาทในขณะทำกิจกรรมทางสังคม เช่น การรู้จักให้มากกว่าเอาสิ่งของใดๆ จากผู้อื่น การแสดงสีหน้ายิ้มแย้มและจริงใจ การเพิกเฉยต่อกลุ่มคนที่มองน้องแปลกๆ จากเด็กอื่น การพูดคุยความเป็นจริงทั้งความรู้สึกและความคิดเชิงบวก ที่ดร.ป๊อป แนะนำว่า เป็นกระบวนการปรับทัศนคติและการให้คุณค่าแก่ตนเองอย่างยอดเยี่ยมในช่วงหกปีแรก นั่นคือ พ่อแม่ต้องปล่อยวางจากการทำงานเมื่อน้องมาเล่นและเรียนรู้สิ่งต่างๆ แล้วพร้อมที่จะใช้เวลาสื่อสารให้น้องเกิดการเรียนรู้แบบเพื่อน การเรียนรู้แบบอารมณ์ดี การเรียนรู้แบบเล่นส่งเสียง การเรียนรู้แบบเล่นให้เกิดทักษะชีวิต และการเรียนรู้ทักษะทางสังคมด้วยคุณธรรม

 

    

หมายเลขบันทึก: 409505เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2010 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2012 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท