การทำงานแบบมีส่วนร่วมของครู กศน.ในชุมชนบ้านแม่เชียงรายลุ่ม (2)


2. การควบคุมภายในสังคม

การควบคุมภายในสังคม หมายถึง กลไกการควบคุมของสังคมที่มีต่อบุคคลในกลุ่มบ้าน เพื่อป้องกันความเสียหายให้แก่ชุมชนและระหว่างคุ้มในลักษณะต่าง ๆ ไม่ให้เกิดขึ้น การควบคุมภายในของชุมชนมีผลต่อการให้โอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมดำเนินกิจกรรมสูงขึ้นได้ โดยปฏิกิริยาที่แสดงออกมากที่สุด คือ การพูดจาชี้ชวนให้เข้าร่วมกิจกรรม โดยเชื่อว่าจะทำให้ผู้ที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมยินยอมเข้าร่วมดีกว่าการแสดงปฏิกิริยาอื่น ๆ อย่างเช่นการตำหนิ หรือการแสดงความไม่พอใจให้รับรู้ นอกจากนี้จะแสดงออกภายในขอบเขตอำนาจของตน ไม่ก้าวก่ายกัน โดยกลไกที่ใช้มีทั้งกิจกรรมการ “แนะ” และ “นำ

ผลของกลไกการควบคุมภายในที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ กรณีการเฉยเมย ไม่เข้าร่วมกิจกรรม  ซึ่งอุปนิสัยของคนไทยถือว่าการมีส่วนร่วมเป็นเรื่องของความสมัครใจ ในกรณีนี้ อำนาจในการควบคุมภายในเป็นเรื่องของผู้นำชุมชนที่จะดำเนินการ โดยใช้วิธีการ “แนะ” ให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่คนในหมู่บ้านจะได้รับ เช่น หนองกระทุ่มโป่ง เป็นหนองขนาดใหญ่ที่มีการปล่อยปลาไว้เพื่อการยังชีพของชุมชน หากมีการดูแลให้เป็นที่เก็บกักน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ต่อการยังชีพ เช่น การจับปลาเป็นอาหาร ป้องกันน้ำท่วม

เมื่อผู้ใหญ่วิทยาชี้ให้เห็นประโยชน์ที่จะได้รับ ที่ประชุมจึงตกลงร่วมกันจัดเวรยาม ตั้งกฎเกณฑ์การจับปลาและช่วยกันทำแนวกันดิน โดยทุกคนมีส่วนร่วมตามกำลังความสามารถของแต่ละบุคคล แม้จะมีบางคนไม่เห็นด้วยเพราะอยากรองบประมาณจากทางราชการ แต่เมื่อเพื่อนในกลุ่มช่วยกันชี้แจงและออกความเห็นถึงผลดีผลเสียที่จะได้รับว่า จึงเกิดการเปลี่ยนใจสนับสนุนให้ความร่วมมือ

กรณีการทำผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไขส่วนรวม เช่น การจับปลาด้วยไฟฟ้า ผู้ทำผิดกติกาจะถูกปรับ โดยแต่ละคุ้มบ้านจะจัดเวรยามดูแลและรับผิดชอบร่วมกันเพื่อเป็นกลไกการควบคุมภายใน เมื่อทุกคนเข้าใจ การทำผิดข้อตกลงหรือเงื่อนไขในระยะหลังจึงไม่ค่อยมี

จากลักษณะการควบคุมภายในเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมในการพัฒนาหรือดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวกับชุมชน ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการบังคับหรือควบคุมด้วยความรุนแรง แต่สามารถที่จะใช้วิธีการง่าย ๆ ด้วยการชักจูง ชี้นำ จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยตัวผู้นำเป็นตัวอย่างในการกระทำหรือปฏิบัติ ซึ่งเป็นความพร้อมของการให้ความร่วมมือ ในลักษณะของการประนีประนอมตามวัฒนธรรมชนบทไทย ที่แสดงถึงความไม่เห็นแก่ตัวและมีความพร้อมที่จะปรับตัวตามหากได้รับการชี้นำ ลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงในชุมชน

หมายเลขบันทึก: 409437เขียนเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2010 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท