ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๒๓. นั่งรถไฟไปชุมพร



          เดินทางครั้งนี้ ผมจงใจเลือกเดินทางกลางวัน เพื่อเรียนรู้สภาพของรถไฟสปริ้นเตอร์ สภาพของผู้โดยสาร และภูมิสังคมบนเส้นทาง

          เช้าวันที่ ๒๒ ต.ค. ๕๓ ลูกสาวขับรถไปส่งที่สถานีรถไฟหัวลำโพง   รถไฟด่วนพิเศษกรุงเทพ-สุราษฎร์ธานี ขบวนที่ ๔๓ มีกำหนดออกเวลา ๘.๐๕ น.   แต่ผมไปถึงสถานีเวลา ๖.๓๐ น. เพราะเช้านั้นถนนว่างมากเนื่องจากอยู่ในช่วงปิดเทอม

          ผมจึงมีเวลาทำตัวเป็นนักมานุษยวิทยา สังเกตชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่มาใช้บริการรถไฟและทำมาหากินกับ "ธุรกิจ" ตามห่วงโซ่อุปทาน   ผมเกิดความคิดว่าน่าจะมีสถาบันการ ศึกษากำหนดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีมาเก็บข้อมูลทำความเข้าใจชีวิตผู้คนและห่วงโซ่อุปทานธุรกิจที่นี่   หรือถ้ากำหนดโจทย์วิจัยให้ใหญ่และเป็นพลวัต อาจเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกได้

          เช้าตรู่เช่นนี้ สถานีรถไฟหัวลำโพงยังค่อนข้างสงบ ไม่จอแจ   มีคนนั่ง-นอนที่เก้าอี้ประมาณไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเก้าอี้ทั้งหมด   คนที่นั่งประมาณครึ่งหนึ่งนั่งหลับหรือสัปหงก   แสดงว่าคงมานั่งรอนานแล้วและเมื่อคืนคงไม่ได้นอน   สภาพบอกชัดเจนว่าคนที่มาใช้บริการรถไฟกว่าร้อยละ ๘๐ เป็นคนจน   เหมือนอย่างที่ผมเป็นและใช้บริการรถไฟสมัย ๕๐ ปีมาแล้ว

          สถานที่สะอาดครับ สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างน่าชื่นชมทีเดียว   ร้านค้า/บริการภายในสถานีเปิดประมาณหนึ่งในสาม ที่เปิดเป็นร้านอาหาร ร้านเบ็ตเตล็ต และร้านหนังสือพิมพ์   ด้านหน้ามีจออีเล็กทรอนิกส์ ๒ จอ จอซ้ายบอกกำหนดเวลาขบวนรถออก   จอขวาบอกกำหนดเวลาขบวนรถเข้า   ตัวหนังสือในจอสลับระหว่างภาษาไทยกับอังกฤษ ให้ความสะดวกแก่ผู้โดยสารดีมาก  เพราะบอกว่าจะช้าเป็นเวลาเท่าไรด้วย   ผมนั่งสังเกตอยู่ครึ่งชั่วโมงก็พบว่าข้อมูลทันกาลดีมาก เดิมจอบอกว่ารถด่วนขบวน ๔๔ จากสุราษฎร์จะช้ากว่า ๒ ช.ม.   ครึ่งชั่วโมงต่อมาผมสังเกตใหม่ บอกว่าจะช้า ๑.๒๕ ช.ม.

          ซ้ายมือของทางเข้าเมื่อลงจากรถ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก มีร้านโจ๊กราชวัตร ท่าทางโหงวเฮ้งดี ผมจึงเข้าไปอุดหนุน ถือเป็นปฏิบัติการทางวัฒนธรรม คือตามปกติผมไม่รับประทานอาหารเช้า แต่วันนี้กินโจ๊กโดยถือเป็นการกินเชิงวัฒนธรรม เพื่อทำความเข้าใจชีวิตวัฒนธรรมที่สถานีรถไฟหัวลำโพง   ร้านนี้ขาย ๓ อย่างคือโจ๊ก ขนมจีน และกระเพาะปลา   ผมสั่งโจ๊กหมูใส่เครื่องในและไข่ ๓๕ บาท   อร่อยและราคาไม่แพงกว่าตามร้านทั่วๆ ไป

          เวลา ๗.๑๕ น. ผมก็ตัดสินใจเดินไปขึ้นรถที่ชานชาลา ๑๐ ตามที่บอกในจอ   พบว่าขบวนรถยังไม่เข้าจอด   ผมเดินไปหาที่นั่ง พบว่ามีคนนอนอยู่แล้วจำนวนมาก ท่าทางบอกว่าคงจะนอนตั้งแต่กลางคืน   แต่ในที่สุดผมก็หาที่นั่งได้ และกำลังใช้ iPad พิมพ์บันทึกอยู่นี่แหละ

          การไปชุมพรครั้งนี้เป็นกิจกรรมประจำปี ของครอบครัว   ที่เรานัดไปทำบุญให้พ่อและบรรพบุรุษท่านอื่นๆ ปีละครั้งในช่วงครบกำหนดพ่อเสียชีวิต ซึ่งเป็นวันที่ ๑ พ.ย. ๔๗  ปีนี้เรานัดทำบุญวันที่ ๒๒ ต.ค.

          ตามปกติผมขับรถไป และไปกันหลายคน   แต่ปีนี้สาวน้อยกับลูกสาวคนโตไปเลี้ยงหลานที่นิวยอร์ค และลูกคนอื่นๆ ก็ไม่ว่าง ผมไปคนเดียว จึงเลือกไปทางรถไฟ โดยจองตั๋วล่วงหน้าประมาณ ๒ สัปดาห์

           คุณลุงคนหนึ่งนั่งดูดบุหรี่อยู่ที่เก้าอี้ไม้สำหรับผู้โดยสารนั่งรอ สักครู่ก็มีคนรู้จักกันมาบอกให้โยนทิ้ง เพราะจะถูกจับ ผมจึงผสมโรงบอกว่าค่าปรับ ๒ พัน   นี่คือผลงานของ สสส. เห็นเป็นรูปธรรม   แต่คนเหล่านี้คงจะไม่เข้าใจว่าการสูบบุหรี่ทำลายสุขภาพของตนเองและผู้อื่น รวมทั้งทำลายเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไร

          ระหว่างนั่งรอ มีขบวนรถเข้ามาจอดให้ผู้โดยสารลง   มีคุณป้าอายุราวๆ ๕๐ รูปร่างผอม ถือถุงกร๊อบแกร๊บขนาดใหญ่เดินข้ามรางรถไฟไปเปิดประตูจากอีกด้านหนึ่งขึ้นไปบนรถ ผมเดาว่าเป็นคนเก็บขวดน้ำพลาสติกขาย   สักครูก็มีลุงผู้ชายอีกคนหนึ่งทำอย่างเดียวกัน

          ข้อมูลหรือป้ายบอกที่ขาดไปของสถานีรถไฟคือป้ายบอกว่าจุดจอดของโบกี้แต่ละหมายเลข ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารไปรอถูกตำแหน่ง ไม่ชุลมุนเวลารถเข้าจอด   อย่างที่นั่งของผมอยู่ที่รถคันที่ ๒ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อรถมาจอดจะอยู่ตรงไหน   กำลังพิมพ์ข้อความนี้อยู่ก็มีฝรั่งมาถามว่าเขานั่งรถคันที่ ๑ จะจอดตรงไหน แสดงว่าเขาก็ไม่ได้รับความสะดวกจากการขาดป้ายบอกนี้เหมือนกัน

          เด็กหนุ่มที่เดินขายน้ำขวดให้ข้อมูลเมื่อผมถาม ว่าบางวันรถขบวนนี้ออกช้าเป็นชั่วโมงหรือสองชั่วโมงก็มี เอาแน่นอนไม่ได้   จากเด็กหนุ่มผมได้ข้อมูลว่ารถขบวนนี้มีเพียง ๒ คันรถ คันที่ ๑ อยู่ข้างหน้า คันที่ ๒ อยู่ข้างหลัง   ผมเดินไปบอกฝรั่ง เขาตอบว่ารถช้าทำไมไม่บอกที่จอ   ผมเดินไปถามเจ้าหน้าที่รถไฟสูงอายุที่นั่งเล่นอยู่ ที่เครื่องแบบติดเม็ดมะยม ๓ เม็ดแสดงว่าเงินเดือนคงจะสูงพอสมควร เขาบอกแบบเสียไม่ได้ว่าเดี๋ยวขบวนรถจะเข้ามาเทียบ ออกช้านิดหน่อย   การรถไฟของเราในปัจจุบันไม่มีวัฒนธรรมตรงต่อเวลา ไม่ขอโทษผู้โดยสารเมื่อบริการไม่ตรงเวลา   และสื่อสารกับผู้โดยสารด้วยท่าทีที่แสดงว่าตนอยู่สูงกว่า    เรื่องรถไฟขบวนนี้ไม่ตรงเวลานี้ น้องชายคนเล็ก อยู่ที่สุราษฎร์ธานีเล่าว่า นานมาแล้ว ตั้งใจพาลูกขึ้นรถไฟเพื่อเรียนรู้เรื่องราวสองข้างทาง ครั้งนั้นรถถึงสุราษฎร์ช้า ๕ ชั่วโมง โดยที่เมื่อรถออกจากกรุงเทพได้หน่อยเดียวเครื่องปรับอากาศก็เสีย   และเขาไม่ได้เตรียมเครื่องมือลดกระจกหน้าต่างไว้ ทำให้ทุลักทุเลมาก   เสียงเล่าลือปากต่อปากช่วยสร้างชื่อเสียงหรือชื่อเสียได้มาก

          เดินไปเดินมาไปพบหาบเร่ขายข้าวเหนียวและของกิน จึงซื้อข้าวเหนียวหน้าปลาและหน้าสังขยามา ๔ ห่อ ๒๐ บาท ราคามาตรฐาน ถือเป็นการอุดหนุนคนจน

          ขึ้นไปนั่งบนรถสักครู่ก็เห็นเจ้าหน้าที่มาฉีดน้ำล้างรถจากด้านนอก น่าแปลกใจมากว่าเขาไม่ล้างและเช็ดให้เรียบร้อยก่อนเอารถมาเทียบรับผู้โดยสาร

          รถออกเวลา ๘.๒๕ น. ช้าเล็กน้อย คือ ๒ ๐ นาที   สภาพรถโทรมกว่าที่คิดมาก ผมมีภาพของตู้รถนั่งปรับอากาศสปริ้นเตอร์ที่ผมนั่งจากหาดใหญ่ไปชุมพรไปเยี่ยมพ่อซึ่งป่วยหนักในปี ๒๕๔๗ ที่นั่งสบายน่านั่งมาก ต่างจากสภาพในวันนี้ฟ้ากับดิน

          บันทึกนี้เขียนแบบ time series คือพอประสบปุ๊บบันทึกปั๊บ (ด้วย iPad)   การติการชมจึงเป็นไปตามสภาพเดี๋ยวนั้น ไม่มีความรู้สึกช่วงอื่นมาปน

          สองข้างทางรถไฟในกรุงเทพบางช่วงเป็นสลัม มีขยะทิ้งเกลื่อน ไม่เป็นที่เชิดหน้าชูตาบ้านเมือง   แต่ส่วนใหญ่มีไม้ประดับเจริญตาเจริญใจดี

          ที่จริงรถขบวนนี้เป็นดีเซลราง คือมีเครื่องยนต์และเครื่องปรับอากาศอยู่ใต้ท้องรถ   ทำให้มีเสียงขึ้นมาจากใต้ท้องรถดังกว่าเสียงล้อกระทบราง

          เจ้าหน้าที่ซึ่งน่าจะเรียก train hostess เป็นหญิงสาวแต่งเครื่องแบบคล้ายแอร์โฮสเตส   บริการก็คล้ายบนเครื่องบินคือพอรถออกไม่นานก็เข็นรถมาแจกอหารว่างและเครื่องดื่ม   ตอน ๑๑ น. มาแจกอหารเที่ยงเป็นข้าวกล่องกับน้ำเย็น   คนที่ขึ้นรถหลังแจกอาหารเขาก็เอาอาหารเที่ยงไปให้

          ผมเตรียมเสื้อแจ็คเก็ตไปด้วยเพื่อกันหนาวในห้องแอร์ ปรากฎว่าแอร์ไม่ค่อยเย็น มีคนเปิดพัดลมเพดานทำให้ผมรู้สึกสบายขึ้นมาก   แต่ครู่ต่อมาก็มีคนปิด เขาคงจะหนาว   ที่ผมร้อนอาจเป็นความเคยชินบวกกับผมนั่งริมหน้าต่าง ลมเย็นถ่ายเทไปไม่ถึง

          ผมใช้เวลาบนรถพักผ่อนเต็มที่ คิดว่าเป็นการมาพักผ่อน   นอกจากบันทึกเหตุการณ์และความรู้สึกแล้ว ผมอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านนิตยสารและหนังสือใน iPad  สลับกับนอนหลับ  ที่นั่งบนรถพอเอนพนักพิงก็นั่งสบายขึ้น

          พอรถไฟเข้าเขตจังหวัดชุมพรต้นไม้สองข้างทางก็มีสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพาราเป็นทิวแถว   รถไฟถึงชุมพรช้า ๒๐ นาทีเท่ากับที่ออกจากหัวลำโพงช้า ๒๐ นาทีพอดี   น้องชายที่เป็นหมออยู่ที่เชียงรายขับรถลงมาเมื่อวันที่ ๒๑ มารับ และพาไปเช็คอินที่โรงแรมชุมพรการ์เด้นท์ (ห้องปรับอากาศอย่างดี ราคาเพียงคืนละ ๔๙๐ บาท มี wifi ด้วย)   แล้วไปที่บ้านตำบลท่ายาง   ซึ่งถนนหน้าบ้านเปลี่ยนเป็นถนน ๔ เลนอย่างดี มีเกาะกลาง ทางเท้า และมีเลนจอดรถริมถนนด้วย   คือจริงๆ แล้ว เป็นถนน ๖ เลน แต่เลนริมสุดเขาทำแตกต่างออกไปคือลาดซีเมนต์และตีเส้นให้รู้ว่าสำหรับจอดรถ ไม่ใช่สำหรับรถแล่น   น้องชายบอกว่าที่ได้ถนนดีขนาดนี้เพราะได้งบเมืองไทยเข้มแข็งเติมเข้ามา

          วันที่ ๒๓ ต.ค. ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายพินิจ เจริญพานิช ซึ้งเป็นญาติระดับเรียงพี่เรียงน้องกับพวกผม มาร่วมงานทำบุญด้วย ท่านบอกว่าจะสร้างถนนสี่เลนมีเกาะกลางและเลนจอดรถและทางเท้าอย่างนี้ตลอดทางไปจนถึงศาลกรมหลวงชุมพรฯ ที่หาดทรายรี

          วันที่ ๒๔ ต.ค. น้องชายและน้องสะใภ้ไปส่งที่สถานีรถไฟชุมพร เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพ   ระหว่างยืนรอน้องๆ เล่าเรื่องบริการที่ไม่ดีของเจ้าหน้าสถานีชุมพรเกี่ยวกับการรับโทรศัพท์สอบถามเวลารถเข้า คือไม่ยอมรับโทรศัพท์ อ้างว่าโทรศัพท์เสีย   ตรงกับข้อสังเกตของผมว่าเจ้าหน้าที่ของการรถไฟด้อยพัฒนา

          รถกำหนดออก ๑๒.๔๖ น.   ไปถามเจ้าหน้าที่ว่ารถมาตรงเวลาหรือไม่ ได้คำตอบว่าตรงเวลา แต่เอาเข้าจริงรถมาถึง ๑๒.๕๐ น. และจอดอยู่นานโดยผมสังเกตว่ามีเจ้าที่ซึ่งน่าจะเป็นช่าง ๒ - ๓ คนเดินมาดูใต้ท้องรถ วนไปมาหลายเที่ยว แสดงว่าต้องมีการตรวจสภาพและซ่อมแซมรถ รถออกเวลา ๑๓.๑๔ น.   คือเสียเวลาไป ๑๙ นาที   มีผู้โดยสารลงที่ชุมพรจำนวนหนึ่ง และขึ้นกว่าสิบคน

          ขากลับนี้ผมได้ที่นั่งหมายเลข ๔๐ ตู้หมายเลข ๒ แต่เป็นรถคันแรก  เขามีป้ายบอกว่า คันที่ ๒  และรถคันหลังเป็นคันที่ ๓  แต่ละคันมี ๒ ตอน ผมนั่งแถวสุดท้ายของตอนหน้า ที่นั่งติดหน้าต่าง ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิด เพราะลุกเข้าออกยาก เกรงใจคนนั่งริมทางเดิน   รถด่วนพิเศษนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าดีเซลราง แล่นด้วยความเร็วสูงสุดถึง ๑๒๐ ก.ม./ช.ม.  เลี้ยงอาหารว่าง อาหารหลักและเครื่องดื่มระหว่างทาง  คนที่ใช้บริการน่าจะจัดได้ว่าเป็นคนชั้นกลาง  มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยพอสมควร รวมทั้งมีฝรั่งมาใช้บริการบ้าง แต่ขากลับมีคนสูบบุหรี่อยู่ด้านหน้าผม มีกลิ่นควันบุหรี่โชยมาเป็นระยะๆ ไม่ทราบว่าเป็นฝีมือพนักงานขับหรือเปล่า

          การเดินทางนี้ใช้เวลา ๖ ชั่วโมง  เมื่อเดินทางได้ ๓ ชั่วโมงก็ถึงหัวหินพอดี   หลังจากนั้นแดดก็ร่ม ผมนั่งฝั่งทิศตะวันตกก็ได้โอกาสเปิดม่านบังแสงออกชมทิวทัศน์ที่นานๆ จะได้ชม   แต่เสียดายที่กระจกหน้าต่างมันไม่ใส เพราะไม่ได้เช็ด ผมจึงได้แต่ทิวทัศน์ที่พร่ามัว นี่คือโอกาสปรับปรุงตัวเองของการรถไฟ

          เมื่อรถใกล้จะถึงเพชรบุรี ทั้งขาล่องและขาขึ้น  พนักงานจะประกาศรับบริการซื้อของฝากจากเพชรบุรี ได้แก่ขนมหม้อแกง บ้าบิ่นมะพร้วอ่อน ขนมชั้น ฯลฯ และมีก๋วยเตี๋ยวด้วย โดยเขาประกาศว่าก๋วยเตี๋ยวจะได้ที่สถานีราชบุรี   โดยรับเงินไปเลย ราคาที่ประกาศเป็นราคามาตรฐาน มีคนฝากซื้อกันมากแต่ผมไม่ได้ซื้อจึงไม่ทราบว่าสินค้าคุณภาพดีเพียงไร แต่ผมก็ชอบที่การเดินทางผสมกับการส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น

          ๔ ชั่วโมงหลังรถออกจากชุมพรเราก็ถึงเพชรบุรี แดดอ่อนลงมาก เมื่อรถจอดก็มีคนลงและคนขึ้น ทำให้ที่นั่งอยู่ในสภาพเต็มหรือเกือบเต็มตลอดเวลา กล่าวได้ว่ารถไฟขบวนนี้เป็นที่นิยมทีเดียว   หลานของผม ๓ คนที่ยังเรียนอยู่ก็จะเดินทางกลับกรุงเทพด้วยรถขบวนนี้ในวันอังคารที่ ๒๖   ผมมองว่าการรถไฟน่าจะมีฝ่ายวิจัยตลาดและหาทางยืดหยุ่นขบวนรถตามความต้องการ เช่นช่วงที่ผู้โดยสารมากก็ให้มี ๓ คันรถ

          พอใกล้สถานีราชบุรี ก็เห็นสภาพที่ข้างทางมีน้ำเจิ่ง   ถึงราชบุรีเวลา ๑๘ น. เป็นสถานีแรกที่มีคนขึ้นมาขายอาหาร ได้แก่ไก่ทอดข้าวเหนียว ข้าวเหนียวหมูทอด ถั่วต้ม มะม่วงมัน ฝรั่งแช่บ๊วย   ที่สถานีนี้ก๋วยเตี๋ยวใส่กล่องที่สั่งไว้ก็ขึ้นมาและแจกจ่ายโดยโฮสเตสประจำรถ เป็นการใช้ความสะดวกของโทรศัพท์มือถือสั่งสินค้าตามเส้นทางที่จะไปถึงอย่างเยี่ยมยอดมาก   ผมเห็นภาพ supply chain ชัดเจน

          รถมาจอดรอนานที่สถานีบางบำหรุ  และก่อนถึงสถานีบางซื่อ   ทำให้ถึงสถานีสามเสนเวลา ๒๐.๓๐ น. ช้ากว่ากำหนดกว่าชั่วโมงโดยไม่น่าช้า   คือจัดเวลารถหลีกส่วนที่กรุงเทพไม่ดี   เรื่องเวลานี้การรถไฟไม่มีวัฒนธรรมตรงต่อเวลา   ไม่ประกาศเรื่องเวลาถึง   ไม่กล่าวขอโทษที่ไม่ตรงเวลา เพราะพนักงานไม่มีคุณภาพ   โฮสเตสจะคอยแจ้งเมื่อใกล้จอดสถานีหน้าว่าเป็นสถานีอะไรเท่านั้น   การรถไฟคงจะไม่เคยฝึกพนักงานให้เข้าใจเรื่องการตรงต่อเวลา

          ผมเคยเขียนบันทึกเรื่องนั่งรถไฟไปชุมพรเมื่อ ๓ ปีครึ่งมาแล้ว อ่านได้ที่นี่ แต่ครั้งนั้นเดินทางกลางคืน

 

วิจารณ์ พานิช
๒๕ ต.ค. ๕๓
                

 

ความงามสง่าของสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟหัวลำโพง

 

ยามเช้าตรู่สถานีหัวลำโพงไม่จอแจมากนัก

 

ภายในชานชาลามุมนี้มีความงาม

 

ที่ชั้น ๒ ของอาคารสมัยก่อนเคยเป็นภัตตาคารรถไฟอันหรูหรา อนิจจังไม่เที่ยง

 

บรรยากาศตรงทางเข้า มีกลุ่มชายฉกรรจ์ผู้ทำมาหากินกับสถานีหัวลำโพง

 

ทางเข้าสถานี

 

 

ที่ชานชาลา ๑๐

 

ร้านโจ๊กราชวัตร

 

ภายในรถไฟขากลับ

 

หมายเลขบันทึก: 408767เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2010 12:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยครับท่าน ที่ควรมีการขอโทษผู้โดยสารเมื่อไม่ตรงเวลา

หรือการให้ข้อมูลด้วยจิตบริการ

นอกจากนั้นการบำรุงรักษารถก็ควรจะดูแลให้ดีกว่านี้

เพียงแค่ใช่ความรู้สึกขอตัวเองก็น่าจะเพียงพอกับการที่จะทำให้ตนเองและผู้อื่นมีความสุข

กระผมมีทั้งประสบการณ์ด้านบวกบันทึกในgotoknowและด้านลบกับการบริการของรถไฟเช่นกันครับ

ในที่นี้กระผมขอฝากเรื่องระบบเซ็นเซอร์ของประตูอัตโนมัติครับ เมื่อ25 ตุลาคม 2553

กระผมได้ไปส่งญาติขึ้นรถไฟจากหาดใหญ่ไปกรุงเทพฯ ขณะที่กระผมถือของสองมือก้าวเดินอยู่ระหว่างประตู

ทันใดนั้นประตูก็ปิดอย่างรวดเร็วหนีบศรีษะของกระผมเลยครับ เดินไปหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็เดินมาเรื่อยๆทั้งๆที่เห็นว่าประตูหนีบผมอยู่ แล้วก็กดปุ่มจากด้านในรถเพื่อให้ประตูเปิด

กระผมถามว่าทำไมเป็นเช่นนี้ และบอกให้ซ่อมบำรุงหน่อย เขาก็ไม่ตอบอะไรแล้วก็เดินจากไป ด้วยความสงสัยกระผมจึงทดลองว่าเป็นเพราะเหตุใดทำไมประตูถึงได้ปิดขณะที่คนอยู่ระหว่างประตู ทำให้ทราบว่าถ้าส่วนสูงไม่ถึง180 ระบบเซ็นเซอร์ของประตูบานดังกล่าวเริ่มจะมองไม่เห็นครับ เพราะแผ่นปิดเริ่มมั่วมากแล้วครับ กระผมจึงคิดว่าในอนาคตประตูบานอื่นๆก็อาจเป็นเช่นนี้ แล้วถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับเด็กจะเป็นเช่นไร หรือถ้าไม่มีคนอยู่ในรถจะเป็นเช่นไร นอกจากนี้สิ่งที่ได้พบบนรถอีกอย่างคือแมลงครับ แต่เป็นแมลงที่ยังไม่เป็นข่าว อนาคตยังบอกไม่ได้ นั่นก็คือแมลงสาบครับ หลายคนเคยบอกแต่กระผมไม่ค่อยเชื่อ

แต่วันนั้นขณะสอดของไว้ใต้ที่นั่งคงไปรบกวนเจ้าของบ้านเข้าครับ เขาเลยออกมาแสดงตน แต่กระผมยังแปลไม่ได้ว่าเขาจะมาไล่เราหรือจะมาบอกว่านี่เป็นบ้านของเขานะ อย่ามายุ่ง อิอิ แล้วเราก็คงต้องใช้บริการรถไฟแบบคนจนๆต่อไปครับ

แต่ถ้าทำให้ดีก็จะได้บุญมากมายเลยครับ กระผมยังเคยใช้บริการรถไฟสายท้องถิ่นระยะสั้น(ถ้ามีโอกาสและเวลา)เพื่อเรียนรู้ความเป็นไปบนรถได้อะไรมากมาย แต่ก็ได้สงสารคนโดยสารที่ต้องใช้บริการแบบประจำในหลายประเด็นอาทิเช่นที่นั่ง ความสะอาด และความตรงเวลา แต่ก็เป็นรสชาดของชีวิตคนไทยครับ กระผมคิดว่าเขียนกันไม่มีซ้ำและไม่มีวันจบเหมือนที่อาจารย์เขียน time series นั่นหละครับ ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท