รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์)
รัชดาวัลย์ วงษ์ชื่น(อิงจันทร์) ครูตาล วงษ์ชื่น

ปลื้มใจเห็นชายผ้าเหลืองลูก


        

         รถทัวร์สองชั้นเทียบท่า  ขณะที่ฉันหลับ ๆ ตื่น  ๆ  และก็ตื่นเต็มตาเมื่อเห็น ทหารที่นั่งมาด้วยลุกขึ้นเพื่อลงจากรถไปเข้าห้องน้ำและสูบบุหรี่ ฉันรู้สึกแปลกใจว่าขณะนี้ฉันและลูก ๆ อยู่ ณ ส่วนใดของประเทศไทย  เพราะไม่เคยชินกับเส้นทาง

         "นี่มันที่ไหนกันหล่ะเนี่ย"  ฉันรำพึงกับตัวเองมากกว่าการต้องการคำตอบจากใครสักคน

          "พัทลุง ครับพี่"  เสียงทหารหนุ่มข้าง ๆ บอกกล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ทำเอาฉันรู้สึกฉงนสนเทห์  เนื่องจากมิคาดคิดว่า ชายหนุ่มคนนี้จะพูดภาษาไทยได้ เพราะตลอดระยะทางที่ต้องร่วมเดินทางมาในรถทัวร์คันเดียวกัน ในห้องโดยสารห้องเดียวกันที่มีผู้โดยสารจำนวน 14 ที่นั่ง (รถทัวร์ชั้นล่าง) 11 ที่นั่งเป็นผู้โดยสารที่เดินทางมาจากหัวหิน เป็นทหารที่เพิ่งปลดประจำการทั้งหมด 

         อีก 3 ที่นั่ง  เป็นที่นั่งที่ฉันลงทุนโทรศัพท์สั่งจองเป็นพิเศษ โดยยอมจ่ายเงินในราคา กรุงเทพ-หาดใหญ่ ผู้โดยสารที่ร่วมห้องโดยสารเดียวกับฉัน ทุกคนเป็นมุสลิม จะเดินทางไปยะลา ฉันเข้าใจว่าภาษาที่เขาใช้สนทนากันน่าจะเป็นภาษายาวี ทำให้ฉันรู้สึกอึดอัดพอสมควร  ไม่กลัวแต่ก็ไม่สบายใจนัก น่าขำเพิ่งทราบว่าทหารหนุ่มเหล่านี้ล้วนแต่พูดภาษาไทยได้ ก็เกือบจะสิ้นสุดการเดินทางอยู่แล้ว

        เช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม ฉันและลูก ๆ ก็เดินทางถึงหาดใหญ่ ครอบครัวของพี่สาวคนโต รอรับที่สถานีขนส่งหาดใหญ่ ท่ามกลางสายฝนโปรยปรายซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับภูมิภาคนี้

        เช้านั้นเราทุกคนอันมี  พี่สาวคนโต  หญิงป้อม(พี่สาวคนรอง) และฉัน ต่างเร่งรีบในการทำภารกิจ เตรียมสิ่งของที่ต้องใช้ในงานศพ  ขณะเดียวกัน "หมอจิ" น้องสาวคนสุดท้อง  ก็ติดต่อมาทุกระยะ  เพื่อให้รีบนำน้องต้นน้ำ และ น้องต้นกล้า เข้าพิธีบรรพชาตามความประสงค์ของลูกทั้งสองที่จะบวชให้คุณตา

         "บวชวันนี้เลย หรือครับแม่"  น้องต้นน้ำลูกชายคนโตถามด้วยความสงสัย

         "ใช่แล้วลูก  ลูกจะขัดข้องมั้ย  แม่ไม่บังคับนะ ขอให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ"

         "แล้วจะสึกได้วันไหนครับ"  ลูกยังคงถามต่อ ด้วยใจกังวลเพราะต้องลาโรงเรียนหลายวัน

         "แม่คิดว่าน่าจะหลังจากเผาศพคุณตา อาจจะเป็นวันนั้นเลยหรือไม่แน่ อาจจะเป็นวันรุ่งขึ้น"  ฉันอธิบายให้ลูกฟัง ด้วยความไม่มั่นใจนัก

         "เพื่อนของลูก เค้าก็บวชตอนปู่เขาตาย  เขาบวชแค่คืนเดียวเองนะแม่" บวชก่อนเผาหนึ่งวัน  พอเผาเสร็จ  ก็สึกเลย"  น้องต้นกล้าออกความเห็นบ้าง

         "ประเพณีแต่ละท้องที่ไม่เหมือนกันหรอกลูก"  ฉันพยายามอธิบายให้ลูกฟัง ซึ่งลูกก็เข้าใจอย่างดี และยังคงความประสงค์เดิมไม่เปลี่ยนแปลง

          ในที่สุดน้องต้นน้ำและน้องต้นกล้าก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร  ให้ฉันได้รู้สึกปลื้มใจที่ได้เห็นชายผ้าเหลืองของลูก

           ในช่วงเวลาที่คิดว่าทุกอย่างยุ่งยาก  กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่แสนจะง่ายดาย ฉันไม่ต้องกังวลเรื่องลูก  ไม่ว่าจะเป็นด้านเสื้อผ้า  การแต่งกาย อาหารการกินของลูก เมื่อตัดสินมอบลูกทั้งสองเข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัตร์แล้ว ก็ไม่ต้องไปกังวลอะไรอีก  เป็นหน้าที่ของพระพี่เลี้ยงที่คอยดูแลให้ลูก ๆ ปฏิบัติศาสนกิจให้ถูกต้อง

            ความปลื้มปิติมิได้บังเกิดเฉพาะคนเป็นแม่อย่างฉัน  ฉันและลูก ๆ สามารถสัมผัสได้ซึ่งความปิติของคนเป็นพ่อ ถึงแม้จะไม่ค่อยได้เลี้ยงดูลูก  แต่เมื่อเห็นชายผ้าเหลืองลูกก็ไม่สามารถเก็บความปลื้มปิติได้มิดชิด จนต้องยอมนอนศาลาวัดกับสามเณรลูกทั้งสอง ที่หน้าโลงศพนั่นเอง

            ฉันเห็นสามเณรทั้งสองมีความสุขมากที่ได้ใกล้ชิดคุณพ่อ  ถ่ายรูปกับคุณพ่อ แม้จะบ่นว่าเสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปทั้งครอบครัว พ่อ แม่ ลูก  เพราะแม่มัวยุ่งอยู่กับภารกิจการต้อนรับแขก  และภารกิจอื่น ๆ อีกมากมาย

            วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน  หลังจากเผาศพคุณพ่อแล้ว  ฉันถามลูก ๆ ว่า จะสึกเลยมั้ย  ถ้าจะสึกเลยก็สามารถทำได้  แต่ลูกทั้งสองกลับบอกว่า 

            "ไม่เป็นไรครับ  ขออยู่เป็นเพื่อนคุณตาอีกสักคืน ค่อยสึกพรุ่งนี้เช้า"

            "แต่คืนนี้ ที่วัดไม่มีใครแล้วนะลูก  กลางคืนจะเงียบวังเวง ลูกกลัวมั้ย" ฉันอดเป็นห่วงลูกไม่ได้

            "ไม่กลัวหรอกครับ  ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัว"

 

              เมื่อลูก ๆ ยืนยันเช่นนั้น ฉันก็ต้องตามใจลูก  ให้ลูกได้นอนที่ศาลาวัดอีก 1 คืน  แม้ว่า พระเจ้าอาวาสจะชวนสามเณรให้ขึ้นไปนอนบนกุฏิของท่าน  แต่สามเณรก็ไม่ยอม 

               เสียงโทรศัพท์ปลุกให้ฉันตื่นตอน 05.00 น. ของวันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน เสียงของสามเณรต้นน้ำ  บอกให้แม่รีบไปที่วัด  เพราะพระเจ้าอาวาสบอกว่าให้สึกตั้งแต่เช้าตรู่

               "แม่ครับ เมื่อคืนมีหลวงพี่มาทำหลอกผีด้วยครับ"  น้องต้นน้ำเริ่มเล่าให้ฟังขณะนั่งในรถเพื่อจะกลับไปบ้านคุณยาย

               "พอหลวงพี่มาหลอก  ไฟฟ้าก็ดับพรึ่บ  หลวงพี่เลยวิ่งหนีซะเอง น่าตลก" เด็กเล่าไปหัวเราะไปอย่างสนุกสนาน

                "เมื่อคืนก่อนลูกจะนอน  ลูกไหว้คุณตา  บอกคุณตาว่า คืนนี้ขอให้ลูกนอนหลับใหสนิท  ถ้ามีอะไรมารบกวนก็ขอให้คุณตา ช่วยปิดหูปิดตาไม่ให้รับรู้ใด ๆ"

                 "เราเลยนอนหลับสบายเลยครับ"

                 "เอ้า  แล้วไฟฟ้าติดตอนไหนหล่ะลูก" ฉันถามลูกเพราะยังสงสัย

                 "พอหลวงพี่หนีไป ไฟฟ้าก็ติดตามปกติครับ"

                 "เออ.....น่าคิดนะเนี่ย"

      

หมายเลขบันทึก: 408538เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2010 21:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขออนุโมทนาบุญด้วยนะครับ จะได้มีส่วนแห่งบุญกับเขาบ้าง

วันก่อนฟังเพลงเก่าของ ชูศรี ทองแย้ม จำชื่อผิดหรือเปล่า? เกี่ยวกับเกาหลี เสียงเพราะเชียว ครูนำเสนอแล้วหรือยังครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์Ico32โสภณ เปียสนิท

             ถึงน้อยวันที่บวชสวดแล้วฉัน

          สิ่งสำคัญนั้นอบรมบ่มนิสัย

          ทำวัตรเช้าและเย็นเป็นวินัย

          ฝึกกายใจให้รู้ซึ้งถึงพระธรรม

       ขออนุโมมทนาในการบวชด้วยนะ พูดถึงการบวชก็อยากจะทำเรื่องนี้เช่นกัน ทำไมผู้จะบวชต้องผ่านการเป็นนาคมาก่อน นาโค แปลว่า ประเสริฐ บางทีก็ใช้เรียกช้างตัวประเสริฐ ถ้ามองในความหมายของรูปศัพท์ ก็คือ ผู้ที่จะบวชเป็นที่มีความคิดดีงามประเสริฐ เหมาะที่รับคุณธรรมในเบื้องสูงต่อไป. ว่ากันว่าในพระสูตรมีนาคปลอมเข้ามาให้มากที่สุดและ ตอบคำถามตนเองให้ได้ว่าการบวชคืออะไร บวชแล้วได้อะไร.สาธุ

  • สวัสดีครับครูอิงจันทร์
  • ผมร่วมอนุโมทนาบุญด้วยคนครับ

สวัสดีค่ะ

อนุโมทนากับลูกๆด้วยค่ะ

เคยนอนศาลาวัดเหมือนกัน ตอนงานศพน้องสาวค่ะ

พี่ๆทุกคนนอนเป็นเพื่อนเค้า ความรัก มีมากกว่าความกลัวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท