แบบแผนการวิจัย


มหาวิทยาลัยนเรศวร หลักสูตรและการสอน

แบบแผนการวิจัย

 

Research Design  หมายถึง  แผน หรือโครงสร้างของการศึกษาสืบหาเพื่อทำให้ได้คำตอบของคำถามการวิจัย

แผน ได้แก่  ประเด็นคำถามการวิจัยคืออะไร  ผู้วิจัยจะทำอย่างไร  จะเก็บข้อมูลอย่างไร

โครงสร้าง ได้แก่  กระบวนทัศน์ (Paradigm) หรือ (Model)  ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรที่จะศึกษา

สรุปได้ว่า  แบบแผนการวิจัย  ได้แก่  ปัญหาการวิจัย (ที่เป็นความสัมพันธ์ของตัวแปร) และแผนที่กำหนดไว้สำหรับการศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์เกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัย

ส่วนประกอบของแบบแผนการวิจัย  ได้แก่  ส่วนแรก  คือ  ส่วนที่แสดงลักษณะความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ยังมีข้อสงสัยใคร่รู้ (ส่วนของปัญหาการวิจัยและสมมติฐาน) 

ส่วนที่สอง ได้แก่  ส่วนที่เกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการที่ใช้ทำการศึกษาค้นหาข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อตอบคำถามการวิจัย

 วัตถุประสงค์ของการวิจัย

                ประการแรก  ได้แก่  เพื่อจัดเตรียมคำตอบให้กับคำถามการวิจัย

                ประการสอง  ได้แก่  เพื่อควบคุมความแปรปรวน 

                จากวัตถุประสงค์การวิจัย  ทำให้ผู้วิจัยต้องวางแปนการวิจัย เพื่อ  ศึกษา  สืบหาข้อมูลอะไร  ที่ไหน  ด้วยวิธีการใด  เมื่อใด  วิเคราห์และสรุปผล อย่างไร  เพื่อตอบคำถามการวิจัยได้อย่างมีความตรง (Validly)    มีความเป็นปรนัย (Objectively)  มีความแม่นยำ  (Accurately) และความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ (Economically)  ก่อประโยชน์และการนำไปใช้มากน้อยเพียงใด

                หากจะกล่าวอย่างเข้าใจง่าย  แบบแผนการวิจัย  มีไว้เพื่อก่อให้เกิดความตรงของการวิจัย (Research Validly)    ที่มีทั้งความตรงภายใน(Internal Validly) และความตรงภายนอก  (External Validly) 

 

ความตรงภายในและความตรงภายนอก

                ความตรงภายใน   คือ  ผลการวิจัยครั้งนั้น ๆ ตอบคำถามการวิจัยได้อย่างถูกต้อง  เป็นผลที่เกิดจากตัวแปรที่นักวิจัยต้องการศึกษาอย่างแท้จริง  ซึ่งนับว่าสำคัญที่สุดของการวิจัย

                ความตรงภายนอก  คือ  ผลการวิจัยที่ค้นพบมีลักษณะเป็นนัยทั่วไปในการสรุปอ้างอิงสู่ประชากรเงื่อนไขเดียวกันกับที่ทำการวิจัย  หรือกล่าวเพื่อความเข้าใจง่าย คือ ข้อค้นพบในการวิจัยครั้งนั้น ๆ สามารถนำไปสรุปใช้กับสถานการณ์หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ที่มีลักษณะเงื่อนไขเดียวกันได้

                แต่อย่างไรก็ตาม  ความตรงภายนอกอาจไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่สำคัญของการวิจัยทุกประเภท เพราะงานวิจัยบางประเภทไม่ต้องการขยายผลการวิจัยจากกลุ่มตัวอย่างสู่ประชากร  เช่น  งานวิจัยเชิงคุณภาพ งานวิจัยที่ใช้แบบแผนแบบการศึกษารายกรณี  เพื่อศึกษากลุ่มตัวอย่างโดยมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การทำความเข้าใจปรากฏการอย่างรอบด้าน  การสรุปอ้างอิงเชิงธรรมชาติ  (Naturalistic  generalization)  หมายถึง  การอ้างอิงที่บุคคลใช้ประสบการณ์ที่ตกผลึกหรือชัดเจนแล้วของตนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งทำการสรุปตีความในเรื่องดังกล่าวนั้นในสถานการณ์ใหม่

                ความสัมพันธ์ของความตรงภายในและภายนอก  คือ  ถ้างานวิจัยขาดความตรงภายนอกจะทำให้มีการนำข้อค้นพบที่ผิด ๆ ไปใช้สรุปอ้างอิง

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตรงภายในและความตรงภายนอก

                ความตรงภายในและความตรงภายนอก  มักเป็นเกณฑ์ที่พิจารณาจากงานวิจัยเชิงทดลอง (Experimental research)

1.  ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตรงภายในของงานวิจัย

  1. ประวัติพร้อง (Contemporary history)  ได้แก่  สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหรือขณะที่ทำการวิจัยกับกลุ่มทดลอง  สิ่งดังกล่าวส่งผลต่อตัวแปรต้นที่มีต่อตัวแปรตามที่เรากำลังศึกษา  ทำให้เราให้การสรุปผลการทดลองคาดเคลื่อนจากอิทธิพลดังกล่าวที่มีต่อตัวแปรต้นแท้จริงแล้วไม่ใช่ผลจากตัวแปรต้นโดยตรง แต่มีผลมาจากตัวปัจจัยพร้อง
  2. กระบวนการทางวุฒิภาวะ (Maturation  process)  ได้แก่  ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางชีววิทยาและจิตวิทยา  ที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่เป็นกลุ่มทดลองหรือกลุ่มตัวอย่าง  อันเนื่องมาจากผลการทดลองที่ใช้ระยะเวลาอันยาวนาน  จนกระทั่งบุคคลดังกล่าวแสดงอาการตอบสนองที่เปลี่ยนไป  เช่น  หิว  เหนื่อย  หงุดหงิด อายุเยอะขึ้นฯลฯ
  3. แนวทางการทดสอบก่อน  (Pretesting  procedures)  ได้แก่  ผลของการทดสอบวัดความรู้หรือทักษะก่อนการทดลองและหลังการทดลองแล้วก็ดำเนินการทดสอบวัดอีกครั้งหนึ่งในเรื่องดังกล่าว  หากนักวิจัยสรุปผลว่าการทดลองครั้งนี้กลุ่มทดลองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สุงขึ้น ดีขึ้น อาจจะคลาดเคลื่อนถ้ากลุ่มทดลองได้นำประสบการณ์จากการทดสอบครั้งแรกมาใช้ตอบสนองการสอบครั้งที่สอง
  4. เครื่องมือการวัด (Measuring instruments)  การใช้เครื่องมือหรือวิธีการที่ไม่ดี ไม่มีคุณภาพในการสังเกต  สอบวัด หรือดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล อาจมีผลให้ได้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงและนำไปสู่การสรุปผลการวิจัยที่ผิดพลาดได้
  5. การถดถอยทางสถิติ (Statistical regression) ได้แก่  ผลจากการสอบวัดครั้งแรกเพื่อทำการคัดกลุ่มบุคคลจากกลุ่ม  เพื่อคัดกลุ่มสูงและกลุ่มต่ำ  จากนั้นดำเนินการทดลอง  เมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินการให้เงื่อนไขการทดลองแล้วทำการทดสอบ  การทดสอบครั้งนี้เด็กกลุ่มต่ำมักจะได้คะแนนสูงขึ้น  แต่กลุ่มสูงคะแนนจะลดลงจะเห็นแนวโน้มของคะแนนครั้งนี้ลู่เข้าสู่คะแนนเฉลี่ยที่แท้จริง (คะแนนเฉลี่ยจากประชากรซึ่งเป็นคะแนนจากการสอบครั้งแรก)  ก็จะทำให้ผู้วิจัยสรุปผลการวิจัยว่าทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน  ก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนกับผลการวิจัย
  6. การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีความแตกต่าง (Differential selection of subjects)  เป็นความผิดพลาดในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ดีหรือได้กลุ่มตัวอย่างที่มีความแตกต่างกันโดยพื้นฐานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
  7. การขาดหายไปจากการทดลอง (Experimental  mortality)  การขาดหายไปในบางช่วง

ของการทดลองของกลุ่มตัวอย่างมีผลต่อการทดลอง

  1. ปฏิสัมพันธ์ร่วมระว่างการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างกับปัจจัยต่าง ๆที่กล่าวมา (Interaction of selection and maturation and history)  การคัดเลือกต้องมีวิธีการที่ดีคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่จะก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อนต่อผลการวิจัย เช่น วุฒิภาวะของกลุ่มตัวอย่าง พื้นฐาน  ฯลฯ

 2.  ปัจจัยที่ส่งผลต่อความตรงภายนอกของการวิจัย

  1. ปฏิสัมพันธ์ของความลำเอียงในการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างกับตัวแปรอิสระที่ต้องการศึกษา (Interaction effects  of selection biases and X) กรณีที่กลุ่มตัวอย่างไม่เป็นตัวแทนที่ดีของประชากร
  2. ปฏิสัมพันธ์ร่วมจากการทดสอบก่อน (Reactive or interaction effect of pretesting)  เงื่อนไขของการทดสอบก่อนกับกลุ่มตัวอย่างก่อให้เกิดประสบการณ์และกลุ่มตัวอย่างเกิดการเรียนรู้หรือฉลาดขึ้นส่งผลต่อผลการวิจัย
  3. ปฏิกิริยาร่วมจากวิธีดำเนินการทดลอง(Reactive  effect of  experimental procedures)  การดำเนินการวิจัยที่กลุ่มตัวอย่างรู้ถึงความต้องการตัวแปรตามของผู้วิจัย  ว่าผู้วิจัยต้องการข้อมูลหรือพฤติกรรมใด  จึงเสแสร้งแกล้งทำหรือแสดงพฤติกรรมให้เป็นที่พึงพอใจของผู้วิจัย  ส่งผลให้ผลการวิจัยไม่สามารถอิงไปสู่กลุ่มประชากรได้
  4. การรบกวนหรือสับสนเนื่องจากเงื่อนไขการทดลองที่มีมาก (Multiple-treatmeat interference)  ในงานวิจัยที่มีการให้เงี่อนไขการทดลองหลาย ๆ เงื่อนไขกับกลุ่มตัวอย่างกลุ่มเดิม  ส่งผลต่อตัวแปรตามจนยากแก่การจำแนกได้ว่า  ผลที่เกิดขึ้นในตัวแปรตามเกิดจากเงื่อนไขการทดลองใด

 หลักการทำให้เกิดความตรงภายในและภายนอกของการวิจัย

                หลักการของ “Max Min Con Principle”  ประกอบด้วย

  1. เพิ่มความแปรปรวนของการทดลองหรือความแปรปรวนอย่างเป็นระบบให้มากที่สุด (Maximization of experimental or systematic variance)  โดยนักวิจัยเพิ่มเงื่อนไขของการทดลองหรือจัดให้ตัวแปรต้นมีความแตกต่างกันให้มากที่สุด
  2. ลดความแปรปรวนของความคลาดเคลื่อนให้น้อยที่สุด(Minimization of error variance)  คือ  การควบคุมเงื่อนไข  สถานการณ์ในการวัดที่ดี(ความคาดเคลื่อนจากการวัดและการสุ่ม)  และการใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีคุณภาพเป็นอย่างดี
  3. ควบคุมตัวแปรแทรกซ้อน (Control extraneous variance)  เป็นหลักการของการทำให้ตัวแปรแทรกซ้อนหมดสภาพหรือมีผลต่อตัวแปรตามน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้  ได้แก่ 

       3.1    การขจัดออก  (Elimination)  เป็นการทำให้ตัวแปรแทรกซ้อนนั้นหมดสภาพการเป็นตัวแปรหรือทำให้เป็นตัวแปรคงที่สำหรับการวิจัย  เช่น  กลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียน  ไม่ให้มีความแตกต่าง เรื่อง  อายุ  อาชีพของพ่อแม่  ความฉลาด  ฯลฯ ทำให้กลุ่มตัวอย่างของการวิจัยมีความเป็น  เอกพันธ์ (Homogeneous) 

      3.2    การสุ่ม (Randomization)  เป็นการควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนซึ่งถือว่าดีที่สุด  โดยอาศัยหลักการทำให้โอกาสที่จะเกิดตัวแปรแทรกซ้อนเป็นไปอย่างสุ่ม ๆ มาก – น้อยในกลุ่มตัวอย่าง  แต่ละคนจนกระทั่งหักลบกันหมดไป หรือมีผลรวมความคาดเคลื่อนเท่ากันศูนย์ตามกฎจำนวนขนาดใหญ่ (The law  of large number)   เป็นกฎทางสถิติที่อธิบายเกี่ยวกับการใช้จำนวนตัวอย่างขนาดใหญ่  ในการช่วยลดหรือหักลบความคลาดเคลื่อนจากการสุ่มทำให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่มีคุณลักษณะใกล้เคียงกับกลุ่มประชากร   การสุ่มกลุ่มตัวอย่างจาประชากร  เราเรียกว่า “Random sample หรือ Random selection”จากนั้นสุ่มกลุ่มตัวอย่างอีกครั้งเพื่อจัดกลุ่มเป็นสองกลุ่มหรือมากกว่า  แล้วทำการสุ่มเงื่อนไขการทดลองให้กับกลุ่มต่างๆ เพื่อจัดว่ากลุ่มใดจะได้รับเงื่อนไขการทดลองแบบใดและกลุ่มใดจะเป็นกลุ่มควบคุม  การสุ่มในขั้นตอนหลังนี้จะเรียกว่า “Random assignment”

    3.3    นำเพิ่มเข้าเป็นตัวแปรอิสระในแบบแผนการวิจัย (Build into the design as an independent variable)  ในกรณีนี้ตัวแปรแทรกซ้อนบางตัว  มีข้อมูลหรือเหตุผลเชื่อได้ว่าจะมีผลร่วมกับตัวแปรต้นที่ต้องการศึกษา  และนักวิจัยไม่สามารถควบคุมได้ด้วยวิธีการใด วิธีการหนึ่งหรือต้องการจะศึกษาผลของตัวแปรแรซ้อนตัวที่กล่าวด้วย  ถ้าเป็นเช่นนี้ก็นำหรือทำให้ตัวแปรแทรกซ้อนดังกล่าวเป็นตัวแปรต้นเพิ่มขึ้นอีกตัวหนึ่งนอกเหนือจากตัวแปรตามเดิม แล้วทำการศึกษาปฏิกิริยาร่วม (Factorial design) เช่น การทดลองยาตัวใหม่กับคนที่เป็นโรคหัวใจ  แล้วพบว่ากลุ๊บเลือดมีผลต่อการใช้ยา  จึงเพิ่มกลุ๊บเลือดเข้ามาเป็นตัวแปรต้น  อีกหนึ่งตัว  เป็นต้น

    3.4    การจับคู่ (Matching subjects)  การควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนด้วยการจับคู่  ทำให้กลุ่มตัวอย่างมีความเท่าเทียมกันในตัวแปรแทรกซ้อนตัวใดตัวหนึ่งหรือมากกว่า  ทำได้สองลักษณะ คือ  จับคู่เป็นกลุ่ม (matching group) โดยพิจารณาจากสถิติที่วัดตัวแปรแทรกซ้อนกลุ่มนั้น ๆ และ การจับคู่เป็นรายคู่ (matching pair)  ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันของตัวแปรแทรกซ้อนตัวใดตัวหนึ่งระหว่างบุคคลทีละคู่

    3.5    การควบคุมทางกายภาพ (Physical  control) เป็นการควบคุมตัวแปรในลักษณะที่เป็นสิ่งแวดล้อม

    3.6    การควบคุมทางสถิติ (Statistical control) เป็นการใช้สถิติบางตัวมาวิเคราะห์  หักอิทธิพลหรือค่าการวัดตัวแปรแทรกซ้อนออกจากตัวแปรอิสระ  และตัวแปรตามที่ต้องการ นิยมใช้  ได้แก่ การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม ANCOVA  และการวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบแยกส่วน (Partial correlation coefficient)

 ความตรงภายในและความตรงภายนอกของงานวิจัยเชิงคุณภาพ 

   ความตรงภายใน  พิจารณาจาก

  1. Phenomenological  validity  เป็นความตรงที่ผู้ให้ข้อมูลหรือบุคคลที่ถูกวิจัย  ผู้วิจัยได้รับความไว้วางใจจนผู้ถูกวิจัยแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติหรือให้ข้อมูลจริงที่สุด
  2. Ecological  validity  ความตรงที่เกิดจากสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติไม่ถูก

บิดเบือน

   3.   Contextual  validity   ความตรงที่ศึกษาปรากฏการณ์หรือพฤติกรรมภายใต้บริบทที่เป็นปกติหรือธรรมชาติ

ความตรงภายนอก  พิจารณาจาก  ความสามารถในการนำผลการวิจัยไปใช้อ้างอิงโดยทั่วไปได้  ซึ่งอาจพิจารณาได้จากการใช้ลักษณะเดียวกัน  ซึ่งการสรุปอ้างอิงเช่นนี้ตรงกับที่เรียกว่า “Naturalistic generalization”

หมายเลขบันทึก: 408138เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2010 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อึม น่าสนใจครับ...แต่เด็กเกษตรอย่างผมไม่ค่อยเข้าใจ เอาไว้มีโอกาสจะเข้ามาปรึกษา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท