หนึ่งในสาม


สังคมที่กำนัลครูด้วยลมปากกับพิธีไหว้ครู

           สุภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวว่า เห็นคนสามคน ให้นึกไว้ก่อนว่าอย่างน้อยคนหนึ่งเป็นครูเราได้

           สุภาษิตบทนี้ทำให้ทราบว่า คนจีนสมัยก่อนแบ่งคนอย่างหยาบๆตามความรู้ความสามารถเป็นสามระดับ  และเชื่อว่าคนจีนนับถือคนไอคิวสูงเป็นครู (เหมือนชนชาติอื่นๆทั่วไป)อย่างแน่นอน

           การยกย่องนับถือคนฉลาดเป็นครู ในอดีตมักเป็นเรื่องที่มีวัตถุประสงค์ที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง และมักจะเน้นทางวิชาชีพ  การถ่ายทอดจึงเป็นการเรียนการสอนแบบตัวต่อตัวระหว่างครูกับศิษย์ ซึ่งมีมิติทางวัฒนธรรมมาเกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย  ในสังคมไทยเราก็เป็นเช่นนั้น  มีการฝากตัวเป็นศิษย์ซึ่งบางรายต้องไปอยู่กับครูในฐานะลูกมือฝึกหัดตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน  มิติทางวัฒนธรรมในกระบวนการนี้ คือ การทำพิธีไหว้ครูเพื่อขอเป็นศิษย์  หลังจากนั้นระหว่างเรียนก็มีพิธีไหว้ครูประจำปี และในที่สุดเมื่อเรียนจบก็มีพิธีครอบครู ความเคารพที่ศิษย์มีต่อครูได้กลายเป็นแม่แบบให้คนไทยทั่วไปปฏิบัติตามมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่า ระบบการศึกษาจะเปลี่ยนเป็นระบบโรงเรียนมานานแล้วก็ตาม

          วิธีปฏิบัติต่อครูแบบดั้งเดิมของคนไทยที่ปรากฏในสังคมใหม่ที่เห็นชัดเจนคือ   ๑) การยกย่องครูด้วยคำไพเราะที่ฟังแล้วขลังว่า ครูคือปูชนียบุคคล ฯลฯ      ๒)  มีพิธีไหว้ครูในสถานศึกษาทุกระดับอย่างเอิกเกริกทุกปีการศึกษา

          แต่เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบสำคัญของการประกอบอาชีพครูแล้ว ไม่ตรงกับย่อหน้าข้างบนนี้เสียเป็นส่วนมาก คนที่พูดถึงครูอย่างไพเราะตามย่อหน้าข้างบนนี้ ถ้าลูกของตัวเองเรียนได้เกรด ๓ ขึ้นไป น้อยนักที่จะสนับสนุนให้ลูกเรียนครู  (ส่วนใหญ่อยากให้เรียนหมอ)  สถาบันผลิตครูเอง ในอดีต(และปัจจุบันก็ยังมีอยู่) มีหลายแห่งที่เปิดรับสมัครเป็นแหล่งสุดท้ายหรือเกือบสุดท้าย เพื่อรอรับคนที่พ่ายแพ้จากสนามสอบอื่นๆจนครบทุกสนามเสียก่อน  เทศกาลสอบเอนทรานส์รอบแรกๆ ทุกปี ไม่เคยเป็นเทศกาลเตรียมคนเก่งไว้เป็นครูสำหรับอนาคตอย่างเอิกเกริกเหมือนสาขาอื่น  มีเพียงโครงการคุรุทายาท กับการสอบโควต้าเท่านั้นที่พอจะกู้หน้ากู้ตาให้วิชาชีพครูได้บ้าง   นี่คือความจริงในสังคมที่กำนัลครูด้วยลมปากกับพิธีไหว้ครูเท่านั้น และเรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการของเรายังเอาชนะสังคมไม่ได้  ไม่เหมือนสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งคนเป็นครูของเขามีศักดิ์ศรีไม่ด้อยกว่าหมอ แม้รายได้จะเป็นรองก็ไม่ใช่เพราะฉลาดไม่เท่าหมอ แต่เป็นเพราะหมอเรียนนานกว่าเท่านั้นเอง  ยิ่งในมาเลเซีย กระทรวงที่สำคัญที่สุดคือกระทรวงศึกษาธิการ เพราะนี่คือกระทรวงสำหรับว่าที่นายกรัฐมนตรีของเขา

         อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ผมปรารภ(จะแปลว่าบ่นก็ได้)มานี้  ผู้บริหารการศึกษาของบ้านเมืองก็ว่ากันมานานแล้ว และลงมือทำจริงบ้างไม่จริงบ้างจนกระทั่งเริ่มใช้หลักสูตรครูปริญญาตรีที่ต้องเรียนห้าปี และมีบัณฑิตจากสูตรนี้ออกไปทำงานจำนวนหนึ่งแล้ว ข้อดีของสูตรนี้ข้อหนึ่ง คือ มีการคัดเลือกตัวป้อนด้วย (ซึ่งเท่ากับบอกว่าเลิกเชื่อเสียทีว่าตัวเองสามารถปั้นดินให้เป็นดาวได้) ผมพบด้วยตัวเองว่าตัวป้อนที่มาเรียนครูรุ่นห้าปีจบนี้อย่างน้อยก็สองรุ่นติดกันเหมือนกับจะยืนยันว่าเป็นผู้ที่มาจากกลุ่มหนึ่งในสามตามสุภาษิตจีน  และเมื่อรุ่นแรกเรียนจบออกไปสอบบรรจุแข่งกับบัณฑิตจากสำนักอื่นๆและรุ่นเก่ากว่าหลายพันคนแล้วดันสอบได้ที่หนึ่งอีก  ผมก็รู้สึกดีกับระบบครูห้าปีนี้ขึ้นอีกไม่น้อยเลย

        แต่หน้าร้อนที่เพิ่งผ่านไปนี้เอง ในการสอบบรรจุครูของสพฐ.ครั้งหนึ่ง ปรากฏว่า วิชาสายวิทยาศาสตร์สองสามวิชากับภาษาอังกฤษ ไม่มีใครสอบได้เลยสักคน  แสดงว่าตัวป้อนที่คัดแล้วว่าดีนั้นยังไม่พอ  กระบวนการผลิตและการควบคุมมาตรฐานและคุณภาพของบัณฑิตก็สำคัญมากๆด้วย

        สรุปได้ว่า ถึงจะเดินมาถูกทางแล้ว  แต่เรายังเดินกะโผลกกะเผลกอยู่ ใช่ไหมครับ        

                                                                                                                                     

หมายเลขบันทึก: 408037เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2010 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท