นักวิชาการสายรับใช้สังคม : รถไฟแห่งความหวัง...


สืบเนื่องจากบันทึก หนี้ใจกับการ "รับใช้สังคม..." 

มีคำถามที่ผุดขึ้นในใจของข้าพเจ้าอยู่ไม่หายว่า "ถ้าเราไม่รับใช้สังคม เราจะไปรับใช้ใคร...?"

สมัยก่อนที่เคยทำงานวิชาการ ครั้งแรกที่มีโอกาสเดินทางไปอบรมฯโดยรถไฟจากจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยอาศัยรถตู้นอน ซึ่งออกเดินทางเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม และมีกำหนดการถึงกรุงเทพฯ ประมาณหกโมงเช้า

รถไฟขบวนนั้นข้าพเจ้าจำได้ว่ามีตู้นอนเพียง ๒ ตู้ ตู้แรกเป็นตู้นอนปรับอากาศ ตู้ที่สองเป็นตู้นอนพัดลม ซึ่งตอนนั้นตำแหน่งของข้าพเจ้ามีสิทธิเดินทางได้เพียงตู้นอนพัดลมเท่านั้น

วันนั้นข้าพเจ้าได้รับมอบหมายจากท่านคณบดีฯ ให้ไปอบรมเกี่ยวกับเรื่องของการวิจัยท้องถิ่นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเดินทางไปกับรุ่นพี่ที่เป็นอาจารย์ด้วยกัน กำหนดการเดินทางของเราก็ง่าย ๆ ออกจากอุตรดิตถ์ตอนสองทุ่ม ถึงกรุงเทพฯ หกโมง อาบน้ำเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวที่หัวลำโพง จากนั้นก็นั่งรถแท็กซี่ไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตอนเย็นเมื่ออบรมเสร็จก็นั่งรถแท็กซี่จากจุฬาฯ กลับมาที่หัวลำโพง หาอะไรกินรองท้องนิดหน่อย แล้วก็ขึ้นรถไฟตู้นอนช่วงหัวค่ำ ซึ่งจะมาถึงอุตรดิตถ์ประมาณตีสี่ กลับถึงบ้าน พักผ่อนนิดหน่อย ตอนเช้าก็สามารถทำงานที่อุตรดิตถ์ได้เหมือนเดิม

สิ่งที่ข้าพเจ้าตื่นตาตื่นใจสำหรับการเดินทางครั้งนั้นอยู่ในช่วงระหว่างการขึ้นรถไฟตู้นอนในช่วงขากลับ ที่ต้องขึ้นจากหัวลำโพง

การขึ้นรถไฟตู้นอนในช่วงหัวค่ำนั้น ทุกคนยังไม่ได้นอน จึงทำให้มีโอกาสได้เห็นหน้าคร่าตานักเดินทางผู้ที่โดยสารรถไฟตู้นั้น ซึ่งมีทั้งคนที่ข้าพเจ้ารู้จักและไม่รู้จัก แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าตื่นตาตื่นใจก็คือ กว่าครึ่งหนึ่งของตู้รถไฟขบวนนั้น เป็น "ข้าราชการ" หรือพนักงานที่ทำงานกับหน่วยงานราชการที่ใช้เงินของ "ราชการ" เดินทางไปเดินทางมาเพื่อแสวงหา "วิชาการ"

ข้าพเจ้าลองคิดเล่น ๆ ว่า ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรเอกชน ถ้าขาดรายได้จากหน่วยงานราชการที่ใช้ในการเดินทางเพื่อไปอบรมตามที่ต่าง ๆ แล้ว องค์กรที่ให้บริการข้าราชการเหล่านั้นคงจะขาดสภาพคล่องมากเลยทีเดียว

ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น รถไฟ รถทัวร์ หรือแม้กระทั่งเครื่องบินโดยสารทั้งภายในและภายนอกประเทศ คงจะได้รับเม็ดเงินจากหน่วยงานราชการที่ข้าราชการเดินทางกันพอสมควร

ธุรกิจบริการประเภทโรงแรม ที่ให้บริการห้องพัก ห้องจัดประชุม น้ำท่า อาหาร การแสดงดนตรี ขับร้อง ฟ้อนรำ คงจะมีเงินจากหน่วยงานราชการหมุนเวียนอยู่มิใช่น้อย

แล้วพนักงานหรือข้าราชการเหล่านั้น นำเม็ดเงินของหน่วยงานราชการไปใช้ตามธุรกิจบริการต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างไร...?

การที่ข้าราชการสามารถไปใช้บริการธุรกิจบริการต่าง ๆ เหล่านั้นได้ ก็เพราะข้าราชการเหล่านั้นคือ "ความหวัง" ขององค์กรหรือหน่วยงานราชการ

ที่ผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นอธิบดี อธิการบดี คณบดี หัวหน้าหน่วยงานราชการระดับต่าง ๆ หวังว่าจะส่งบุคคลเหล่านี้ไปพัฒนาเพื่อที่จะกลับมาพัฒนาหน่วยงาน (สังคม) ของตนเองและ "ส่วนรวม"

ดังนั้น ทุก ๆ ครั้งที่ถูกมอบหมายให้ไปอบรมที่ไหน ข้าพเจ้าถือว่าเป็นภาระอันหนักอึ้ง มิใช่เรื่องสนุก ที่เราต้องกำเงินงบประมาณถึงแม้นว่าจะเป็นก้อนเล็ก ๆ ที่เป็นความหวังของหน่วยงานที่หวังว่าเราจะกลับมาทำงานให้กับองค์กรได้มากขึ้น ดังนั้นทุก ๆ ครั้งที่ไปไหน จึงต้องตั้งสติระลึกไว้เสมอว่า (ซึ่งอาจจะผิด)จักต้องกลับไป "รับใช้" (ใช้หนี้) ให้หมดจดทุกบาท ทุกสตางค์...

ในที่นี้ยังไม่รวมถึงเงินเดือนที่ได้รับเป็นประจำอยู่ทุกเดือน ซึ่งก็เช่นเดียวกันที่ข้าพเจ้าคิดว่า  ที่เขาจ้างเรามาก็เพราะว่าอยากให้เราทำงานให้เขา เขาในที่นี้ถ้าเป็นหน่วยงานราชการ ข้าพเจ้าคิดว่าคือ "ส่วนรวม" ส่วนรวมในที่นี่ข้าพเจ้านิยามว่าคือ "สังคม" ดังนั้นการรับใช้สังคมก็คืองานตามหน้าที่ของหน่วยงานราชการ...

และนอกจากนี้ช่วงหลัง ๆ ข้าพเจ้ายังได้เห็นเพื่อน ๆ เดินทางไปกรุงเทพฯ กันมากขึ้น เพราะว่าเพื่อนของข้าพเจ้าได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น บางคนไปด้วยรถไฟ บางคนไปโดยรถยนต์ บางคนไปโดยรถทัวร์ การเดินทางส่วนใหญ่ใช้ "ทุน" ของมหาวิทยาลัย ทั้งค่าหนังสือ ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ล้วนมาจาก "มหาวิทยาลัย" ซึ่งเงินมหาวิทยาลัยก็มิใช่เงินใคร ก็เป็นเงินภาษีจาก "สังคม"

คำถามที่ข้าพเจ้าอยากจะถามต่อก็คือ นักวิชาการที่ไปศึกษาต่อโดยใช้ทุนของมหาวิทยาลัยนี้ คือ "นักวิชาการสายรับใช้สังคมหรือไม่...?"

เพราะถ้าหากมีนักวิชาการรุ่นใหม่ "นักวิชาการสายรับใช้สังคม" ที่จะถือกำเนิดเกิดมาจากงบประมาณก้อนนั้นโดยเฉพาะ ก็จะกลายเป็นว่า นักวิชาการรุ่นเก่าที่เล่าเรียนจากทุนของหน่วยงานต่าง ๆ นั้น หลุดรอดจากพันธะในการ "รับใช้สังคม" หรือไม่...?

เพราะเมื่อมีนักวิชาการที่ไปเรียนต่อจากงบประมาณเพื่อมารับใช้สังคมโดยตรง ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อฉันไม่ได้เรียนจบทุนก้อนนั้น ฉันจะต้องรับใช้สังคมหรือไม่ ก็เพราะว่ามีคนที่จะรับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว ฉันก็รอดตัวไป ฉันก็ทำงานไปเพื่อ "รับใช้ตัวเอง"

สิ่งนี้ต้องว่ากันในเรื่องของ "จิตสำนึก"

พ่อแม่เราให้กำเนิดเรามา เรารับใช้ท่านหรือไม่

มหาวิทยาลัยส่งให้เราเรียนจบมา เรารับใช้สังคมหรือไม่

มหาวิทยาลัยเอาเงินมาจากใคร เรารับใช้เจ้าของเงินนั้นหรือไม่

ถ้าครอบครัวคือสังคมแรกของคนที่มีจิตใจกตัญญูรู้คุณ มหาวิทยาลัยก็เป็นสังคมที่สองของเราที่จำเป็นต้องตอบแทนบุญคุณด้วยเช่นกัน

หากเราตอบแทนได้หมด ข้าวทุกเม็ด น้ำมันทุกหยด อิฐทุกก้อน ที่นอนทุกผืน ที่เราได้มาจากเงินเดือนหรือค่าตอบแทนจากมหาวิทยาลัยนั้นเราจะไม่เป็นหนี้ทั้งในชาตินี้ ซึ่งจะตามติดตัวเราไปในชาติหน้า

เรื่องภพเรื่องชาติเราอาจจะมองไม่เห็น แต่ในชาตินี้เรารับเงินมาจากใครเพื่อไปร่ำไปเรียน มิควรหรือที่เราจะทดแทนบุญของใครคนนั้นให้เสร็จสิ้นด้วยใจที่ "กตัญญู..."

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 407804เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2010 18:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับคุณปภังกร...

ขอบคุณครับ

ประชาชนหวังกับ "เรา" (นักวิชาการ) ไว้มาก หวังว่าเราจะนำเงินภาษีของเขาไปร่ำเรียนแล้วกลับมาเพื่อ "พัฒนาสังคม"

ดังนั้น เราทั้งหลายที่ได้รับทุนซึ่งมาจากภาษีของประชาชนจึงมีหน้าที่รับใช้สังคม "ใช่หรือไม่"

ถ้าไม่เราไปร่ำเรียนมาเพื่อทำอะไร ไปร่ำเรียนมาเพื่อรับใช้แต่ตัวเองนั้นถูกต้องหรือไม่...

น่าจะมีส่วนหนึ่งที่เราควรจะรู้สึกว่า เรามีวันนี้เพราะภาษีของประชาชน ประชาชนที่อยู่ในสังคม

ซึ่งควรจะมีส่วนหนึ่งของชีวิต หรือถ้าให้ดีก็คือทั้งชีวิตที่เรานั้นต้อง "รับใช้สังคม..."

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท