แม่เซาะเล้ง แซ่แต้: ตอนที่ 2 -- จาก..แม่ไร้รัฐ มาเป็น..แรงงานต่างด้าวจากประเทศกัมพูชาในทะเบียนราษฎรไทย (ทร.38/1) ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติในที่สุด


ทีแรกก็รู้สึกแย่เหมือนกันที่ต้องให้แม่ไปขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าว แล้วต้องทำเหมือนกับว่าแม่เป็นคนใช้ในบ้าน แล้วให้พ่อมาเป็นนายจ้าง แต่เราพยายามพูดเล่นกันทำให้กลายเป็นเรื่องตลกไป อะไรก็เอาทั้งนั้นแล้วตอนนี้ถ้ามันจะช่วยให้แม่มีสถานะที่ดีขึ้น

“สมัยที่ยังเล็ก ดิฉันไม่เข้าใจว่าทำไมป้า น้า และญาติ ต้องสอนดิฉันและน้องว่าถ้ามีใครมาถามถึงคุณแม่ ให้ตอบว่าเลิกกับพ่อไปนานแล้ว และตอนนี้ไม่รู้ว่าหนีไปไหน คุณแม่ไม่ติดต่อมาเลย’ ทั้งๆ ที่ดิฉันและน้องๆ ก็รู้ว่าท่านอยู่กับเราตลอด และไม่เคยทอดทิ้งดิฉันและน้องๆ ไปไหน ท่านพาลูกๆ ไปส่งที่โรงเรียน นำอาหารใส่ปิ่นโตไปส่งที่โรงเรียนทุกวัน ไปรับพวกเรากลับจากโรงเรียน ท่านดูแลพวกเราเหมือนกับที่แม่ๆ คนอื่นทำให้ลูก” ลูกสาวคนโตย้อนเล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งยังเด็กให้ฟังด้วยความสะเทือนใจ..

หญิงสาวจากครอบครัวชนชั้นกลางในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ต้องมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการทำอาชีพค้าขาย เริ่มจากการทำน้ำเต้าหู้ขาย จนสามารถเก็บเงินพอที่จะเปิดร้านขายของชำ แต่ด้วยสองมือของแม่ไร้รัฐคนนี้เองที่สามารถส่งเสียลูกๆ ทั้ง 3 คนจนจบปริญญาตรี

แม่เซาะเล้งพยายามใช้ชีวิตอย่างสมถะและราบเรียบที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใดๆ ที่นี่แม่ใช้ชื่อ ‘นางภาวิณี’ และใช้นามสกุล ‘บุรสินสง่า’ ตามพ่อพาทีผู้เป็นสามีมาโดยตลอด แม่ใช้ชื่อภาวิณีในการจดทะเบียนสมรสและก็ใช้ชื่อภาวิณีอีกเช่นกันในการเปิดสมุดบัญชีธนาคาร

“สมัยก่อนเวลาจะทำอะไร ไม่เคยมีใครเรียกดูบัตรประชาชนหรือทะเบียนบ้านเลย ตอนจดทะเบียนสมรสกับพ่อ นายอำเภอก็จดให้ทันทีเพราะเขาเองก็เห็นแม่อยู่ที่นี้มานาน ตอนไปเปิดบัญชีธนาคารก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ตอนนี้แม่เข้าใจว่ามันไม่เหมือนเดิมแล้ว ขนาดไปโรงพยาบาลเขายังถามหาบัตรประชาชนเลย แม่ต้องโกหกเกือบทุกครั้งว่าลืมเอามา”

แต่อาจจะด้วยความที่แม่เซาะเล้งมีเชื้อสายจีน หน้าตาแม่จึงค่อนข้างกลมกลืนกับคนไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน และไม่รู้ว่าเป็นความโชคดีหรือโชคร้ายของแม่เซาะเล้งที่ไม่ได้อาศัยอยู่ตามจังหวัดแนวชายแดน หากอาศัยอยู่ในเขตเมืองของภาคกลางตอนบนอย่าง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ที่ไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับคนหนีภัยการสู้รบ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือแรงงานต่างด้าว เท่าไหร่นัก ดังนั้น 30 กว่าปีที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แม่เซาะเล้งจึงไม่เคยมีโอกาสได้ไปขึ้นทะเบียนประวัติอย่างใครเขา แต่แม่เซาะเล้งก็สามารถอาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้กับครอบครัวได้อย่างสงบสุขแม้จะไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ เลย เมื่อเปรียบเทียบกับคนไร้รัฐอื่นๆ ในเมืองใหญ่

และเมื่อไม่นานมานี้เองที่แม่เซาะเล้งได้ถูกบันทึกความมีตัวตนเป็นครั้งแรก แม้จะในสถานะ ‘แรงงานต่างด้าวจากประเทศกัมพูชา’ ก็ตาม (เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2551 อนุมัติให้เปิดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองรอบใหม่)

“ทีแรกก็รู้สึกแย่เหมือนกันที่ต้องให้แม่ไปขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าว แล้วต้องทำเหมือนกับว่าแม่เป็นคนใช้ในบ้าน แล้วให้พ่อมาเป็นนายจ้าง แต่เราพยายามพูดเล่นกันทำให้กลายเป็นเรื่องตลกไป อะไรก็เอาทั้งนั้นแล้วตอนนี้ถ้ามันจะช่วยให้แม่มีสถานะที่ดีขึ้น”

ณ เวลาเช่นนี้ นี่คงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้แม่เซาะเล้งได้รับการคุ้มครองจากรัฐไทยชั่วคราวจากการถูกบันทึกความมีตัวตนในฐานข้อมูล ได้รับหลักประกันสุขภาพ และสุดท้ายเพื่อที่จะได้ปรับสถานะจากคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นคนที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย โดย การพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางที่แม่จากมา ซึ่งก็คือ ประเทศกัมพูชา นั่นเอง

“ตอนนี้สิ่งที่แม่ต้องการมากที่สุด คือ แม่อยากเดินทางไปร่วมงานรับปริญญาของวิทย์ที่อเมริกา”

แม่เซาะเล้งพูดถึงลูกชายคนเล็กที่สามารถสอบชิงทุนไปเรียนปริญญาโทอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเล่าถึงตรงนี้..แม่เซาะเล้งชะงักไปสักครู่ ก่อนเล่าต่อถึงความเจ็บปวดที่สุดเมื่อครั้งที่คุณยายที่อยู่ที่ฝรั่งเศสล้มป่วยลงและตัวเองไม่สามารถเดินทางไปดูใจได้ในที่สุด

“เมื่อตอนที่ยายมีชีวิตและยังแข็งแรงดี ยายก็จะเป็นฝ่ายมาเยี่ยมแม่ที่เมืองไทยตลอดเพราะยายรู้ว่าแม่เดินทางไปไหนไม่ได้ แต่พอตอนที่ท่านล้มป่วย แม่ก็กลับไม่สามารถทำอะไรให้ท่านได้เลย ขนาดแค่เห็นหน้าครั้งสุดท้ายแม่ยังทำไม่ได้เลย ครั้งนั้นแม่รู้สึกทรมานมาก จะว่ามากที่สุดในชีวิตก็น่าจะได้”

สุดท้ายแล้ว.. ความต้องการมีสถานะทางกฎหมายที่ดีขึ้นของแม่เซาะเล้งก็ยังเป็นไปเพื่อลูกๆ และครอบครัวอยู่นั่นเอง..!!

และในปีนี้เอง (พ.ศ.2553) ที่แม่เซาะเล้งได้มีโอกาสไปยื่นขอพิสูจน์สัญชาติกับประเทศกัมพูชาซึ่งได้มาตั้งที่ทำการชั่วคราวในการพิสูจน์สัญชาติ ณ กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

ในวันนัด.. แม่เซาะเล้งเดินทางมาพร้อมกับลูกสาวตั้งแต่เช้าก่อนเวลาด้วยซ้ำ เมื่อจัดการเรื่องการยื่นเอกสารเป็นที่เรียบร้อย ในช่วงที่รอเรียกชื่อให้เข้าไปสัมภาษณ์ แม่เซาะเล้งพยายามเดินเข้าไปพูดคุยกับคนนู้นทีคนนี้ที ทั้งเจ้าหน้าที่ของประเทศกัมพูชาเองหรือแม้แต่แรงงานต่างด้าวตัวจริงที่มาพิสูจน์สัญชาติคนอื่นๆ เพื่อต้องการซ้อมพูดภาษากัมพูชาที่ร้างมานานหลายสิบปี หลายครั้งแม่เซาะเล้งถึงกับคอตกเมื่อคนกัมพูชาบางคนที่นั่นบอกว่าแม่พูดสำเนียงเหมือนคนเวียดนามมากกว่าคนกัมพูชา แต่แม่ก็ไม่ละความพยายาม แม่หัดพูดหัดเขียนทบทวนไปมาอยู่อย่างนั้นไม่ยอมหยุด

และแล้ว.. ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ประกาศเรียกชื่อแม่เซาะเล้งเป็นภาษากัมพูชาให้ ไปรับเอกสาร แม่ทั้งตกใจ ทั้งตื่นเต้น และทั้งดีใจ แม่เดินกลับมาพร้อมกับหนังสือเดินทางชั่วคราวเล่มสีน้ำเงินสด (Certificate of Identity) ที่กอดไว้แน่นแนบอก แม้ว่าอาจจะไม่เข้าใจมากนักว่าเอกสารเล่มนี้จะให้อะไรกับตัวเองบ้าง แม่เซาะเล้งเข้าใจแต่ว่านี่คือสิ่งที่เธอและครอบครัวรอคอยมานานแสนนาน และสิ่งนี้ที่จะทำให้เธอเป็นแม่ของลูกๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

วันนี้.. กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกัมพูชาของแม่เซาะเล้งจบลงไปแล้ว แต่การทำให้แม่เซาะเล้งมีสถานะที่เหมาะสมเพื่ออยู่กับครอบครัวสัญชาติไทยในประเทศไทยต่อไปได้ยังไม่จบเพียงแค่นี้

"แม่เซาะเล้ง ดีใจ หลังผ่านการพิสูจน์สัญชาติกัมพูชา"

หมายเลขบันทึก: 407481เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2010 02:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2014 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มายินดีกับแม่เซาะเล้ง ด้วยครับ

แม้จะยาวไปหน่อย แต่ช่วงท้าย อ่านแล้วสบายใจ

อ่านบรรทึกนี้จบต้องยกมือขึ้นมาปาดหยดน้ำ...ที่ตา...

ประทับใจมาก...

ขอบคุณที่นำเรื่องที่ดี...น่าจดจำ...มาเล่า...

ขอบคุณเพื่อนพัน ครูหยุย คุณวัฒนา และคุณต้นสเต็ก นะคะ จะนำเรื่องราวดีๆ มาแบ่งปันอีกค่ะ :-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท