เหตุผลของการเดินทาง...


เหตุผลของการเดินทาง...

ตังตฤณ

จากหนังสือ “ณ มรณา

“ฉันและทุกคนตายกันทุกวันอยู่แล้ว

ไม่โดนฆ่าทิ้งมันก็แปรไปเป็นอื่นอยู่แล้ว

ทั้งสภาพร่างกาย สภาพจิตใจและความรู้สึกนึกคิด

ไม่มีซ้ำเลยสักวัน ที่สืบๆต่อมาเรื่อยคือความเข้าใจผิด

คิดว่าแต่ละวันเป็นทุกข์ตัวเดียวกัน

และสำคัญว่าจะเป็นทุกข์ตลอดไปเท่านั้น

ดับความเข้าใจผิดเสียได้ ความทุกข์ก็ดับตามไปด้วยเดี๋ยวนั้นเอง”


 

“พ่อครับ ทำไมคุณตาถึงต้องตายด้วยล่ะครับ”

“เป็นธรรมดาของพวกเราทุกคนน่ะลูก ถึงเวลาตายก็ต้องตาย”

“อ๊อดก็ต้องตายเหรอครับ? ”

“ก็ต้องายเหมือนกัน แต่อ๊อดยังเด็กอยู่ กว่าจะแก่และถึงเวลาตายเท่าคุณตาอีกนาน”

“แล้วเมื่อไหร่คุณตาจะตื่น เห็นนอนอยู่ในโลงตั้งหลายวันแล้ว?”

"ถ้าตายก็ไม่ตื่นแล้วล่ะลูก ต้องอยู่ในโลงอย่างนั้นตลอดไป”

“ตกลงต้องตายทุกคนเลยหรือครับ?”

“ใช่ลูก เป็นอย่างนั้น? คนทุกคนที่ลูกเห็นจะต้องตายกันหมด”

“พ่อครับ ทำไมทุกคนต้องตายด้วยล่ะครับ”

“อ๊อดเพิ่งเห็นคนตายน่ะลูก ความตายเป็นของแปลกใหม่ ต่อไปอ๊อดจะเห็นคนตายมากขึ้น แล้วลูกจะรู้ว่าเป็นของธรรมดา อ๊อดดูเศษใบไม้แห้งบนพื้นนั่นสิ เห็นไหม ตอนนี้มันเป็นสีเหลือง แต่ก่อนมันเป็นสีเขียวเหมือนที่อยู่บนต้นน่ะ พอถึงเวลามันก็ต้องทิ้งตัวเองลงจากกิ่งก้านมารวมกันบนพื้น เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง ร่างกายคนเราก็เหมือนกัน วันนี้ดูสดใสมีชีวิตชีวา แต่วันหนึ่งก็ต้องแห้งลงแล้วหายไปจากโลกนี้เช่นเดียวกับใบไม้ตกพื้น”

“คนเหมือนใบไม้ได้ไง แล้วคนทำไมต้องตายด้วยล่ะ?”

“เพราะเหมือนใบไม้ไงลูก วันหนึ่งก็ต้องร่วงหล่นลงดิน และกลายเป็นพวกเดียวกันกับดิน ไม่มีใครกำหนดว่าทำไม ทุกสิ่งทุกอย่างมีสภาพที่ต้องเสื่อมสลายกลายเป็นอื่นไปทั้งนั้น”

“คุณตารู้ตัวไหมว่าจะตาย?”

“รู้ซี คุณตารู้ล่วงหน้านานทีเดียว เตรียมยกสมบัติให้แม่ของอ๊อดตั้งแต่อ๊อดยังไม่เกิดแน่ะ”

“รู้ก่อนตายแล้วทำไมคุณตาไม่หนีล่ะ”

“จะไปหนียังไงลูกเอ๋ย ถ้าโจรมาไล่ฆ่าเรา เราอาจใช้สองเท้าวิ่งหนี แต่ถ้าร่างกายจะฆ่าตัวเอง แม้แต่เท้าก็ยกไปไหนไม่ไหวแล้ว”

“ถ้าคนเราต้องตาย แล้วจะเกิดมาทำไมล่ะครับ?”

“เพราะยังติดค้างอยู่กับความไม่รู้ไงลูก คนเราเกิดมาเพื่อเรียนรู้ เหมือนอย่างที่ลูกอ๊อดถามพ่อเพื่อให้ลูกคำตอบอยู่นี่ไง แต่ถ้ายังติดค้าง ยังไม่รู้แจ้ง ก็ต้องเกิดใหม่มาถามใหม่อีก ”

คนเราเกิดมาเพราะยัง ติดค้างอยู่กับความไม่รู้

   ฉันเฝ้าเก็บงำความสนใจและสงสัยใคร่รู้คำตอบว่าชีวิตเราควรรู้อะไรมากที่สดไว้ในใจ แล้วโอกาสก็มาถึง ในงานวันเผาคุณตาน้องอ๊อด บรรยากาศในวัดทำให้ฉันไม่รู้สึกกระดากนักกับการกระแซะเข้าไปถาม โดยเกริ่นามตรงว่าฉันเคยได้ยินแกตอบคำถามลูกเสมอและบางคำตอบน่าสนใจมาก เช่น คนเราเกิดมาเพราะติดค้างอยู่กับความไม่รู้ เลยต้องมาเรียนรู้ ทีนี้ฉันอยากรู้ว่าที่ไม่รู้นั้นคืออะไร แล้วที่ควรรู้คืออะไร

“มนุษย์ทุกคนไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเองครับ”

ฉันถามว่า ถ้ารู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเองแล้วจะได้อะไร? คุณพ่อน้องอ๊อดตอบด้วยความมั่นใจว่า

“ได้รู้ด้วยตนเองว่าหมดความติดค้าง เหมือนคนที่ชำระหนี้หมด ไม่จำเป็นต้องหาเงินมาจ่ายเพิ่ม หรือเหมือนคนที่ทำงานใช้โทษในบ่อน้ำครำจบสิ้นแล้ว ไม่จำเป็นต้องกลับมาลงในน้ำโสโครกอีก”

กับคำถามว่าต้องรู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเองให้ละเอียดลออทุกแง่มุมเลยไหม เพื่อนบ้านผู้ทรงภูมิให้คำตอบคือ

“รู้นิดเดียวครับ ไม่ต้องมากหรอก คือรู้ว่ากายใจนี้ไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องดับลงไปเป็นธรรมดา เพราะมันไม่ใช่ตัวตนของใคร เพียงมีอะไรมาประกอบประชุมเป็นรูปเป็นร่างชั่วคราวคล้ายแผ่นเหล็ก ล้อยาง เครื่องยนต์ เข้ามารวมรูปร่างเป็นรถเก๋ง แต่พอหมดอายุก็ถูกถอดเป็นชิ้นๆ แบบต่างคนต่างไป มองไม่เห็นรูปรถเก๋งคันเดิมในชิ้นส่วนใดๆอีก ”

   ใจฉันวาบว่างไปชั่วขณะเมื่อจินตนาการเห็นความว่างเปล่าไร้แก่นแท้ของรถยนต์ ถึงกับอึ้งเงียบเป็นครู่ก่อนถามต่อ คือสงสัยว่าเมื่อฉันรู้สึกว่ากายใจเป็นของว่างเปล่าเหมือนรถยนต์ที่ปราศจากตัวตนอย่างนี้แล้วถือว่าพอหรือยัง ครูทางธรรมคนแรกของฉันก็ตอบว่า

   “ไม่พอหรอกครับ รู้แค่นี้เรียกว่าเป็นปัญญาจากการฟัง และปัญญาจากการจินตนาการตาม ยังเป็นปัญญาระดับคิดๆ ไม่ใช่ปัญญาเห็นจริงประจักษ์แจ้งด้วยจิต”

 ฉันจึงถามว่าทำอย่างไรจะรู้แจ้งด้วยจิต

  “ต้องปฏิบัติธรรมตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ด้าน คือเราย้ายที่ตั้งของสติจากการงานและการเล่นในชีวิตประจำวัน เปลี่ยนมาเป็นอีกที่ตั้งหนึ่งคือกายใจนี้ คอยตามระลึกรู้ว่ากายใจนี้ไม่เที่ยง เห็นชัดว่าอะไรอย่างหนึ่งๆ เช่น ลมหายใจหรืออารมณ์สุขทุกข์ มีเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงไปเป็นธรรมดา แม้แต่ความลังเลสงสัยอยากรู้คำตอบของน้องในเวลานี้ก็มีขณะของการเกิดขึ้น เมื่อได้คำตอบก็จะดับลงเช่นกัน หรือถ้ายังสงสัยอยู่ มีความคาใจอยู่ ก็ต้องแปรปรวนไป อาจอ่อนตัวลงหรือเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม พอเห็นความไม่เที่ยงในกายใจเสมอๆ จิตก็เลิกยึดมั่นสำคัญผิด เลิกมองว่าสิ่งนั้นๆเที่ยง เลิกหลงเขลาว่าสิ่งนั้นเป็นตัวเป็นตน พอเห็นอย่างต่อเนื่องมากเข้าจิตก็ขาดจากอุปาทานที่ครอบงำมาแต่อ้อนแต่ออก เรียกว่าบรรลุมรรคผลมีดวงตาเห็นธรรม เป็นอริยบุคคลของพุทธศาสนา”

   ฉันจึงยิงคำถามถัดมาคือ จะทราบได้อย่างไรว่าเรารู้สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรรู้แล้วหรือยัง? วาระนั้นอะไรจะเป็นตัวบอก ว่าเราไปถึงแก่นของพระศาสนาแล้ว?

   “พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าใครเข้าป่าหาแก่นไม้ แต่ไปเจอกิ่งใบ เจอสะเก็ด เจอเปลือก เจอกระพี้ ก็อาจสำคัญว่าเป็นแก่น เพราะไม่ทำความรู้จักแก่นไม้ให้ดีเสียก่อน เลยได้สิ่งที่ไม่ใช่แก่นติดมือกลับบ้าน ลาภและสรรเสริญเปรียบเหมือนกิ่งใบ ศีลเปรียบเหมือนสะเก็ด สมาธิเปรียบเหมือนเปลือก ญาณหยั่งรู้ต่างๆเปรียบเหมือนกระพี้ แต่แก่นสารที่แท้จริงคือความหลุดพ้นแห่งใจ ชนิดไม่กลับกำเริบอีก สรุปคือ ถ้าเราไม่รู้จักภาวะของใจที่หลุดพ้นเด็ดขาด ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าเรารู้สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรรู้”

   เหมือนสายน้ำที่ปะทะใจครืนโครม ดวงตาฉันตื่นเต็มกับคำว่า หลุดพ้นแห่งใจแบบไม่กลับกำเริบอีก คือแก่นสารที่แท้จริง

  “ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่ควรประมาท จะตายเมื่อใดไม่อาจพยากรณ์ มัจจุราชมักมาถึงตัวโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ถ้าวันนี้ยังมีกำลังก็ควรทำกิจที่คิดว่าควรทำดีที่สุด ทำแล้วคุ้มกับการเกิดมากที่สุด เพื่อจะไม่เสียใจในภายหลังว่าวันสุดท้ายมาถึงแล้วยังไม่ใช้โอกาสทองให้สมค่า”

  “จากการศึกษากรรมอย่างละเอียด ฉันเชื่อว่านิสัยจะเป็นสิ่งติดตัวข้ามภพข้ามชาติ มนุษย์เป็นภูมิที่มีศักยภาพในการสร้างนิสัย สั่งสมไว้อย่างไรก็ได้สมบัติติดตัวไปสร้างตนอย่างนั้น นิสัยที่ฉันจะสร้างต่อไปนี้คือเชื่อพระพุทธเจ้า ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างละเอียดเหมือนทุกคำเป็นทองที่ไม่อาจปล่อยปละละเลยให้ตกหล่น”

  “กรรมจะพยายามรักษาเราไว้กับทางเดิม อย่างเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสว่า พวกเรามีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ฉันปลงใจเชื่อว่า หากสร้างนิสัยไว้อย่างนี้เป็นอาจิณ หรือที่เรียกว่าอาจิณณกรรม หากมีโอกาสเกิดใหม่เป็นมนุษย์ อาจิณณกรรมที่ทำไว้ชาตินี้ย่อมส่งให้ไปเกิดกับพ่อแม่แบบนี้ มีเหตุปัจจัยแวดล้อมตั้งแต่วัยเด็กส่งเสริมให้เข้าสู่ทางของความเป็นเช่นนี้ รวมทั้งมีกำลังกายและแรงบันดาลใจให้มุ่งมั่นเพียรเพื่อหลุดพ้นอย่างเอาจริงเอาจังเช่นนี้อีก”

   “เนื้อหาสำคัญของพุทธศาสนาในสายตาฉันนั้น ต้นสุดคือให้มาเอา ไม่ใช่มาทิ้ง แต่ยอดสุดคือให้ไปทิ้ง ไม่ใช่ไปเอา”

   เบื้องต้นพุทธศาสนาให้มาเอาอะไร?  ให้มาเอาบุญเพื่อให้ตาสว่างเห็นความจริง ยิ่งบุญมากเท่าไร จิตยิ่งต้องเห็นความจริงชัดขึ้นเท่านั้น

  เบื้องปลายพุทธศาสนาให้ไปทิ้งอะไร ให้ไปทิ้งความยึดมั่นถือมั่น ด้วยมรรคาคือทางที่พระพุทธองค์ปูไว้ให้พร้อมสรรพ

“เป้าหมายของฉันไม่ใช่เพื่อเอา แต่เพื่อทิ้ง”

  ทิ้งอะไร? ดูดีๆ แล้วก็คือ ทิ้งทุกข์ ทิ้งสัมภาระพะรุงพะรัง ทั้งปวงนั่นเอง คนเราพากันหวงทุกข์ไว้ กอดทุกข์ไว้แนบอก แบกทุกข์ไว้หลังแอ่นยังไม่รู้ตัว มีคนบอกให้ทิ้งยังร้องอีกว่าเรื่องอะไรจะทิ้งหรืออย่างดีก็ถามว่าทำไมต้องทิ้ง มองไม่เห็นผลสมควรเลย

   “เวลาคนเราทุกข์หนัก ก็มักปักใจเชื่อว่าไม่สามารถผ่านความทุกข์นั้นๆ ไปได้ เผลอๆ อาจทึกทักว่าวันเวลาที่เหลืออีกทั้งชีวิตคงต้องจมปลักอยู่อย่างนี้ ทั้งที่จริงแล้วถ้าแค่หยุดเพิ่มเหตุแห่งทุกข์ทางใจเข้าไป ความทุกข์ก็จะแสดงความไม่เที่ยง ไม่อาจตั้งอยู่ได้เกือบทันที เหตุแห่งทุกข์ทางใจที่ว่านั้นก็คือ อาการครุ่นคิดซ้ำซากนั่นเอง เพียงถ้ารู้ด้วยสติ เห็นตามจริงว่าอาการครุ่นคิดซ้ำซาก ก็แค่ของจรเข้ามา ไม่ได้มีอยู่ก่อนในใจ และไม่อาจคงสภาพคิดๆๆได้ตลอดโดยไม่แปรปรวนไปเป็นระดับอ่อนแก่ต่างๆเท่านั้น ก็ได้ชื่อว่าเหตุแห่งทุกข์ ถูกจับได้ไล่ทัน ถูกแทรกแซง ถูกแทนที่แล้ว”

  ๗ เดือนบรรลุธรรม

หมายเลขบันทึก: 407348เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2010 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท