ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๑๗. ไปร่วมงาน นักวิจัยรุ่นใหม่ พบ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ครั้งที่ ๑๐


ผมได้เรียนรู้จาก ดร. สมเกียรติ ว่า ในเชิงเป้าหมาย งานวิจัยนโยบายมี ๓ ประเภท (๑) เพื่อเปลี่ยนความเชื่อของผู้คนในสังคม (๒) เพื่อยิงนก (๓) เพื่อปล่อยปลา “เพื่อยิงนก” หมายความว่า ยิงนโยบายเลวๆ ให้ตกไป “เพื่อปล่อยปลา” หมายความว่า เพื่อส่งเสริมให้นโยบายดีๆ ลุล่วง และผมชอบใจมากที่ ท่านกล่าวว่า นักวิจัยต้องไม่ทำตัวเป็น veto player คือค้านดะ โดยไม่เสนอนโยบายทางเลือกของตนพร้อมหลักฐาน

          งานนี้จัดทุกปี ในช่วงกลางเดือนตุลาคม   และ ศ. ดร. วิชัย บุญแสง โต้โผของงานจะคอยมาเกณฑ์เชิงยกย่องให้ผมไปร่วมด้วยเสมอ  ไม่ยอมให้ขาด   เช่นปีนี้จัดให้ร่วมเสวนาเรื่อง “บทบาทของนักวิจัยต่อการจัดการความรู้และนโยบายสาธารณะ” ร่วมกับ ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด และ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ในวันสุดท้ายของงานคือ ๑๖ ต.ค. ๕๓ (งานนี้จัด ๓ วัน คือ ๑๔ – ๑๖ ต.ค. ที่โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำ)    หลังจากนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง การวิจัยกับการสร้างบูรณภาพของคนไทย

          ผมดีใจมากที่ไปร่วมงานครั้งนี้ แม้จะต้องเดินทางตรากตรำก็ตาม   คือเช้าวันที่ ๑๔ ผมเดินทางไปเยี่ยมชื่นชมวิทยาเขตกาญจนบุรีของ ม. มหิดล  นอนค้าง ๑ คืน   รุ่งขึ้นออกเดินทางกลับกรุงเทพแต่เช้าเพื่อเข้าร่วมประชุมสภาสถาบันอาศรมศิลป์   แล้วบ่ายวันที่ ๑๕ เดินทางไปร่วมการประชุมนี้ของ สกว.

          ที่ดีใจมากก็เพราะว่า ได้ไปร่วมแสดงความขอบคุณ ศ. ดร. วิชัย บุญแสง ที่ได้ทำงานเป็น ผอ. ฝ่ายวิชาการของ สกว.  ทำหน้าที่สนับสนุนนักวิจัยระดับยอดของประเทศ ให้ทำงานวิจัยพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง มาเป็นเวลา ๑๓ ปี   ก่อคุณูปการแก่วงการวิจัยมาก   โดยที่หลังการประชุมนี้ท่านก็จะหมดวาระงาน

          ผมประทับใจที่นักวิจัยได้ร่วมกันทำโล่ขอบคุณ ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มอบให้แก่ ศ. วิชัย  โดยนักวิจัยได้พร้อมกันปรบมือแสดงความขอบคุณอย่างกึกก้องยาวนาน   และผมดีใจมากที่มีการกระซิบเชิญ ทพญ. พวงทอง บุญแสง ภรรยาของ ศ. วิชัยมาร่วมงานนี้ด้วยโดยไม่บอกว่าเชิญในโอกาสอะไร   ทำให้คุณหมอพวงทองตื้นตันใจมาก   เวลาเราขอบคุณผู้ชายที่ทำความดี เราต้องขอบคุณภรรยาด้วยเสมอ เพราะเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ไม่มากก็น้อย

          กรณี ศ. ดร. วิชัยนี้ ผมภูมิใจตนเองมาก ที่เลือกเชื้อเชิญคนมาทำหน้าที่ ผอ. ฝ่ายวิชาการ ของ สกว. ได้ถูกต้อง   ท่านได้ทำงานได้ผลดีเยี่ยมจนเป็นที่รักใคร่นับถือสูงยิ่งจากเหล่านักวิจัย   

          นอกจากนั้น ผมยังได้พบ รศ. ดร. ขจิต จิตตเสวี อดีต ผอ. ฝ่าย ๑ ของ สกว. ที่ผมเป็นผู้ชักชวนมาร่วมงาน   โดยท่านได้ทำงานอยู่ ๕ ปี  แล้วออกไป ๕ ปีแล้ว   ผมดีใจมากที่ท่านเล่าว่าหลังออกจาก สกว. ท่านกลับไปทำงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   และทำผลงานวิชาการไต่จากอาจารย์มาเป็นรองศาสตราจารย์  

          ผมเรียนท่านว่า ตอนที่ผมเป็น ผอ. สกว. ได้เคยฝันว่า คนที่ผมชักชวนมาทำงานที่ สกว. เมื่อทำงานไประยะหนึ่ง เช่น ๖ – ๑๐ ปี ก็จะกลับไปทำงานวิจัยในหน่วยงานเดิมที่ตนสังกัด (หรือหน่วยงานใหม่ก็ได้)  และทำงานสร้างสรรค์วิชาการได้อย่างคล่องแคล่วกว่าเดิมมาก   แต่ไม่มีคนทำเช่นนั้นเลย   กรณี ดร. ขจิต จึงเท่ากับทำให้ฝันของผมเป็นจริง

          ดร. ขจิต อายุครบ ๖๐ ในปีนี้ และ มธ. ต่ออายุราชการให้อีก ๕ ปี   ผมถามท่านว่ามีสิทธิ์เสนอผลงานเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการไหม   ท่านบอกว่ามีสิทธิ์ ผมจึงยุให้ท่านทำงานวิจัยและผลงานอื่นเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง ศ. ให้ได้   ท่านดีใจมากที่ได้รับการยุยงนี้

          อีกท่านหนึ่งที่ผมดีใจที่ได้พบ แม้จะช่วงสั้นๆ คือ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธาน ทีดีอาร์ไอ   โดยท่านบอกว่าผมมีส่วนทำให้ท่านเปลี่ยนอาชีพจากวิศวกรมาเป็นนักวิจัยนโยบาย   เพราะตอนท่านทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่น   และกำลังตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิต  ผมเอาเงิน ๒ แสนบาทไปให้ท่านทำวิจัยเชิงนโยบายหรือเชิงระบบ   ทำให้ท่านติดใจงานวิจัยแบบนี้   ถ้าเรื่องที่ท่านเล่าเป็นจริงสัก ๓๐%  ผมก็ภูมิใจมากที่มีส่วนทำให้สังคมไทยได้เพชรน้ำหนึ่งในการทำงานวิจัยนโยบายสาธารณะ

          ผมได้เรียนรู้จาก ดร. สมเกียรติ ว่า ในเชิงเป้าหมาย งานวิจัยนโยบายมี ๓ ประเภท  (๑) เพื่อเปลี่ยนความเชื่อของผู้คนในสังคม  (๒) เพื่อยิงนก  (๓) เพื่อปล่อยปลา   “เพื่อยิงนก” หมายความว่า ยิงนโยบายเลวๆ ให้ตกไป   “เพื่อปล่อยปลา” หมายความว่า เพื่อส่งเสริมให้นโยบายดีๆ ลุล่วง   และผมชอบใจมากที่ ท่านกล่าวว่า นักวิจัยต้องไม่ทำตัวเป็น veto player คือค้านดะ โดยไม่เสนอนโยบายทางเลือกของตนพร้อมหลักฐาน  

          ได้กลับไปคลุกคลีกับวงการวิจัยทีไร ผมรู้สึกโหยหาวันคืนเก่าๆ ทุกครั้ง   และเฝ้าถามตัวเองเสมอว่าหากผมแน่วแน่ในชีวิตนักวิชาการ   ไม่โบยบินไปตามสถานการณ์อย่างที่ได้ทำมาตลอดชีวิต   ผมจะมีความสุขมากกว่านี้หรือไม่

          ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ กล่าวปาฐกถาดีมาก  แต่คนที่ต้องการเห็นผลงานอย่าง ดร. สมเกียรติกับผมเห็นตรงกันว่า เราอยากเห็นการกระทำตามที่พูดนั้น มากกว่านี้   และตอนที่เราอยู่ในช่วงสุดท้ายกำลังจะจบการเสวนาที่ผมกำลังดำเนินรายการอยู่   ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีต รมว. วิทย์ เข้ามาในห้อง   ผมเข้าใจผิดคิดว่าอุตส่าห์มาจากกรุงเทพ   จึงเชิญให้พูดกับนักวิจัย  และยุให้ ศ. วิชัย จัดให้ท่านเป็นผู้แจกรางวัลโปสเตอร์ดีเด่น ในช่วงสุดท้าย (เดิม ศ. วิชัย จะให้ผมแจก)   และตอนจะจากกันผมบอกท่านว่า ทางการเมืองต้องเพิ่มเงินเข้ามาในการวิจัยเพราะเวลานี้ขาดเงิน   ท่านตอบว่า “ไม่จริง” “ไม่จริง” “ไม่จริง”   สะท้อนให้เห็นว่าการสื่อสารความจริงระหว่างภาควิจัยกับภาคการเมืองมีปัญหา   ทำให้นักการเมืองมองภาพความจริงด้านการวิจัยบิดเบี้ยว 

          เย็นวันที่ ๑๕ ผมได้ไปร่วม poster session   ได้เข้าไปคลุกคลีพูดคุยซักถามนักวิจัย ในลักษณะลงลึกเข้าไปในเนื้อเรื่องและวิธีการของงานวิจัยแต่ละชิ้น   ทำให้ผมมีความสุขมาก   และยิ่งมีความสุขที่ได้เห็นชัดเจนว่า   เวลานี้ระดับคุณภาพขอผลงานวิจัยที่นำมาเสนอ สูงกว่าเมื่อหลายปีก่อนอย่างมากมาย   รวมทั้งจำนวนนักวิจัยรุ่นใหม่ที่เก่ง ก็มีมากขึ้นอย่างมาก   และกระจายออกไปตามมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอย่างน่าชื่นใจ

          ผมชื่นใจ ที่ สกว. ได้ประสบความสำเร็จในการยกระดับของประชาคมวิจัยไทย แต่ผิดหวังนักการเมือง

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๗ ต.ค. ๕๓

หมายเลขบันทึก: 407303เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2010 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท