สิ้นสุดการเดินทาง... การดับขันธปรินิพพาน


สิ้นสุดการเดินทาง...

การดับขันธปรินิพพาน

 

ตังตฤณ

จากหนังสือ “ณ  มรณา

 

    ดังที่กล่าวมาแล้วว่านิยามของมรณะคือ “ความเคลื่อนจากภาวะสัตว์ไปสู่สภาวะสัตว์อย่างหนึ่ง”

    ที่ตรงนี้จะแสดงให้เห็นว่ายังมีสภาพที่ดูเผินๆ เหมือนความตายทั่วไป แต่ที่แท้แล้วเป็นการ “ยุติความเคลื่อน” ไม่มีการสร้างภพใหม่สืบต่อจากภพเดิม ภาวะดังกล่าวเรียกว่า “ดับขันธ์” ของผู้บริสุทธิ์จากกิเลสในพุทธศาสนา

    สำหรับคำว่า “ขันธ์” นั้นขอให้คิดง่ายๆ ว่ากายใจนี่แหละ แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่เรียกกายใจอย่างคนทั่วไป ทั้งนี้ก็เพราะท่านเห็นความจริงที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น ความจริงคือ “ตัวเรา” ไม่มี มีแต่การประชุมกันขององค์ประกอบฝ่ายรูปและฝ่ายนาม ทั้งรูปและนามเป็นต่างหากจากกัน คือสรุปง่ายๆ ว่าสมองไม่ใช่แหล่งกำเนิดความรู้สึกนึกคิดและจิตใจ ขณะเดียวกับจิตเราไม่อาจขาดสมองในการนึกคิดและจดจำ

   แท้จริงกายใจเป็นธรรมชาติที่เกิดดับอย่างมีเหตุมีผล เหตุคือใช้กายใจในปัจจุบันก่อกรรมดีร้ายเอาไว้ ผลคือจะมีกายใจในอนาคตที่หยาบหรือประณีตปรากฏขึ้นอย่างเหมาะสมกับกรรมเก่า ฉะนั้นทุกอย่างจึงเป็นของชั่วคราว กายไม่เที่ยง เปลี่ยนจากเด็กเป็นแก่ในชั่วเวลาไม่กี่สิบปี่ จิตก็ไม่เที่ยง ไม่ใช่ดวงอมตะที่ล่องลอยไปเรื่อยเปลี่ยนสภาพจากกุศลเป็นอกุศลบ้าง เปลี่ยนสภาพจากรู้สิ่งหนึ่งไปรู้อีกสิ่งหนึ่งบ้างตลอดวันตลอดคืน

    พูดอีกแบบหนึ่ง คือความจริงแล้วมีการดับของขันธ์อยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องทำให้มันดับมันก็ดับไปเรื่อยๆ โดยไม่มีวันหยุดราชการ แต่การ “ดับขันธปรินิพพาน” นั้นหมายความว่าเมื่อดับครั้งสุดท้ายแล้ว ไม่มีการเคลื่อน ไม่มีการสืบต่อภพ ไม่มีการสืบต่อกรรมวิบากใดๆ อีกเลยชั่วนิรันดร์เพราะดับสนิทแล้ว ปราศจากภัยแล้ว ถึงนิพพานอันเป็นฝั่งแห่งการหยุดสนิทถาวรแล้ว

   สรุปว่าถ้า “ตายธรรมดา” ก็ต้องไปเกิดใหม่เพื่ออยู่ในวังวนกิเลส เวียนว่ายอยู่ในมหาสมุทรกรรมวิบาก สุ่มดีสุ่มร้ายไม่แน่ไม่นอนต่อไปเรื่อยๆ ไร้ที่สิ้นสุด แต่ถ้า “ดับขันธปรินิพพาน” ล่ะก็ไม่ต้องเกิดใหม่อีกแล้ว ลมหายใจดับ ไออุ่นดับ จิตดับไม่เหลือร่องรอยเหมือนเปลวไฟที่ดับแล้วไม่เหลือเชื้อให้ต่อเปลวไฟในที่ไหนๆอีก

    ผู้ที่จะตายแบบดับขันธปรินิพพานได้ต้องบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสเสียก่อน เพราะเงื่อนของการเกิดใหม่ก็คือกิเลสนั่นเอง รื้อถอนกิเลสเสียได้ ลอยบุญลอยบาปเสียได้ ก็บริสุทธิ์ปราศจากการข้องแวะกับภพชาติดีร้ายทั้งปวง

    เมื่อบุคคลสามารถบริสุทธิ์จากกิเลส แม้ล่วงเข้าวัยชราที่กายเริ่มช้าลงเหมือนไม้ใกล้ฝั่งก็ตาม เขาย่อมมีความสุขทางใจอย่างถาวร แม้เกิดความทุกข์เพราะสังขารเปลี้ยเพลียเพียงใด ใจก็จะไม่เป็นทุกข์เพราะการกำเริบของกิเลสใดๆเลย

   พุทธลีลาในการดับขันธปรินิพพานนั้นงดงามยิ่ง ในสายตาของชาวโลกคือการเสด็จบรรทมหลับครั้งสุดท้ายของพระศาสดา แต่ในสายตาของผู้มีทิพยจักขุย่อมทราบชัดว่าไม่ใช่เช่นนั้นเลย ดังที่ภิกษุนาม “อนุรุทธะ” เป็นผู้เห็นและระบุขณะจิตต่างๆของพระพุทธองค์เมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานได้อย่างละเอียด

   ขอเล่าวาระแห่ง “การตายครั้งสุดท้าย” ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคโดยสังเขป พระพุทธองค์ท่านดำรงสติม่นอยู่ตลอดเวลา เห็นได้จากการที่ทรงตรัสสั่งเสียไว้มากมาย เอาเพียงพระวจนะสุดท้ายก็ทรงความหมายที่สะท้อนถึงสติสัมปชัญญะอันบริบูรณ์แห่งบรมครูได้ชัดเจนยิ่ง

   ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทไว้ถึงพร้อมเถิด

   ในจังหวะที่จะละโลกนี้ไป พระองค์ยังถือเป็นโอกาสประทานพระปัจฉิมโอวาทเพื่อสะกิดใจผู้อยู่ใกล้ชิดเหตุการณ์สำคัญได้บังเกิดความสลดสังเวชในความมีความเป็น และเร่งเร้าให้พระผู้ยังมีกิจที่ต้องทำให้รีบทำจนกว่ากิจจะจบ

   ถัดจาดวจนะสุดท้ายแล้ว พระผู้พระภาคทรงเข้าฌานชนิดต่างๆ ซึ่งมีปิติสุขขั้นสูงบ้าง มีสติอย่างใหญ่ทรงความเป็นอุเบกขาบ้าง มีความกำหนดหมายในอากาศว่างเป็นอนันต์เท่าจักรวาลบ้างตลอดไปจนกระทั่งเข้าถึงจิตอันสงบระงับจากการปรุงแต่งอย่างราบคาบบ้าง

   ในการเข้าฌานลึกๆนั้น ลมหายใจจะขาดห้วงไปชั่วคราว ถ้าคนที่ปราศจากความชำนาญในทิพยจักขุเห็นเข้าก็ต้องนึกว่าท่านละขันธ์ไปแล้ว ดังเช่นที่พระภิกษุนาม “อานนท์” ถามพระอนุรุทธะในขณะหนึ่งว่าพระผู้พระภาคเสด็จปรินิพพานไปแล้วหรือ? ท่านพระอนุรุทธะได้ตอบว่ายัง แต่พระองค์ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่

   กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อให้เห็นว่ายังมีการตายอีกแบบหนึ่งที่สูงส่งยิ่ง และมีข้อสังเกตบางประการให้พิจารณาดังนี้

   ๑)     ผู้บริสุทธิ์จากกิเลสย่อมมีสติบริบูรณ์แม้ในขณะแห่งความตาย

   ๒)     ผู้บริสุทธิ์จากกิเลสย่อมสามารถรู้เวลาตายของพวกท่าน

   ๓)     หากท่านเป็นผู้เจริญสมาธิได้ถึงฌานขั้นสูงสุด ก็ย่อมยังประโยชน์กับโลกเป็นครั้งสุดท้ายด้วย

    การดับขันธ์ปรินิพพานด้วยลีลาอันเป็นมหามงคล เป็นที่บอกเล่ากันในภายหลังได้ว่า พระผู้บริสุทธิ์จากกิเลสย่อมตายในอาการเสวยวิมุตติสุข ไม่มีความทุกข์ใดๆ ปรากฏให้เห็นเลย

   ความจริงการเข้าฌานแล้วถอนออกมาดับขันธ์ปรินิพพานนั้น จะมีการคายพลังอันเป็นอัครมหากุศลออกมาท่วมโลก ตามกฎการแปรรูปจากสิ่งหนึ่งไปเป็นอีกสิ่งหนึ่งเสมอ ไม่มีสิ่งใดดับสูญโดยปราศจากผลลัพธ์ตกค้าง และผลลัพธ์ในกรณีนี้ก็จะปรากฏแก่ใจผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระผู้พระภาคอย่างล้นพ้น กล่าวคือถ้าผู้ใดหมั่นระลึกถึงพระคุณของพระพุทธองค์เสมอๆ แม้เพียงด้วยการสวดมนต์กราบไหว้พระปฏิมาอันเป็นรูปแทนพระองค์ ชีวิตผู้นั้นจะสว่างไสวอยู่เป็นสุขกับสัมผัสใน “พลังพุทธคุณ” อันบริสุทธิ์ยิ่งใหญ่เกินเปรียบประมาณ

   ว่ากันว่าหลังจากมีการประกาศการดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ยังความขนพองสยองเกล้าให้เกิดขึ้น และแม้กาลเวลาผ่านล่วงไปเกือบสามพันปี ผู้สดับตรับฟังถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ยังขนลุกกันอยู่มิรู้หาย แต่การเสด็จจากไปของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เราเห็นว่า ผลงานอาจยืดอายุมนุษย์สักคนให้ยืนยาวเป็นที่รู้จักได้หลายพันปีดังเช่นชาวพุทธยังระลึกกันเสมอ ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ธรรมที่เราแสดง และวินัยที่เราบัญญัติไว้แล้ว จักเป็นศาสดาของพวกเธอต่อไป ตราบใดที่ยังมีการเรียนรู้ จดจำ และเผยแผ่พระสัทธรรม กับทั้งมีภิกษุช่วยกันรักษาวินัยของพระพุทธองค์ ตราบนั้นก็เสมือนหนึ่งว่า พระศาสดายังไม่ล่วงลับดับขันธ์ไปแต่อย่างใด เพียงพระองค์อยู่ไกลเกินกว่าที่เราจะเข้าเฝ้าด้วยกายเนื้อเท่านั้น


เสียดาย... คนตายไม่ได้อ่าน

หมายเลขบันทึก: 407249เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2010 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

อือ น่าเสียดายจังเลยนะ

แต่ก็ไม่เป็นไรหรอนะทุกคน

แต่เรายังไม่ตายนะทุกมุมโลก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท