ComMedSci ι ดูแลแม้แต่ในวัด


จากการนำกล้าพันธุ์สมุนไพรไปให้ รพ.สต.ห้วยโพธิ์ ทั้งหนูและพี่อ้อ จึงขอโอกาสในการร่วมเดินทางไปดูพื้นที่ด้วย ว่าเขาทำอะไรกันนะ เขาทำงานกันยังไง ถึงได้ดูโดดเด่นเช่นนี้ และแล้วเราก็ไปเห็นโครงการที่น่าอนุโมทนากับการทำบุญกับพระสงฆ์ในแบบฉบับเฉพาะพื้นที่เฉพาะคนจริง ๆค่ะ


 

 

ดูแลแม้แต่ในวัด

 ศุภลักษณ์  พริ้งเพราะ

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ ๖ (ขอนแก่น)

ผู้เขียน

 

 “อาจารย์อ้อค่ะ  ฝากไปส่งพระที่วัดด้วยเดี๋ยวท่านจะฉันเพลไม่ทัน” 

เป็นประโยคที่ง่าย  ๆ  แต่คนที่รับฝากก็ยังงง  ๆ  ว่ามีอะไร   ที่ไหน  อย่างไร  ทำไม  รพ.สต.  มีหน้าที่รับส่งพระด้วยหรือ  แต่ไม่ว่าจะสงสัยอะไรอยู่ในใจก็ไม่สามารถจะถามได้เพราะที่  รพ.สต.ห้วยโพธิ์คนไข้เยอะมาก  แถมวันนี้มีคุณหมอมาตรวจคนไข้   ยิ่งทำให้คนไข้ที่นี่เยอะมากกว่าปกติเสียอีก  และคนฝากก็ไม่เปิดโอกาสให้ถามด้วยฝากเสร็จก็รีบกลับไปทำงานต่อ  แต่ก็มีผู้ช่วยแพทย์แผนไทยเป็นคนนำทางให้ 

ทำให้เราได้ทำบุญแต่เช้าเลย  ( เช้าหรือเปล่าไม่ทราบเพราะจะ  11  โมงอยู่แล้ว )   หลังจากไปส่งพระถึงวัดเรียบร้อยแล้ว และออกไปดูการทำงานของเจ้าหน้าเพราะวันนี้เป็นวันออก เยี่ยมบ้านซึ่งเป็นคนไข้เรื้อรัง  จนกระทั่งเสร็จเรียบร้อยก็กลับ ไปยัง  รพ.สต.  ห้วยโพธิ์ 

จึงได้ถามว่าพี่หมู

ทำไมถึงได้ไปดูแลพระด้วย 

จากนั้นพี่หมูก็เลยเล่าให้ฟังเพื่อหายจากอาการข้องใจว่า    

ใคร ๆ   ก็เข้าใจว่าพระคงจะไม่เจ็บป่วย   เพราะอาหารที่ทานก็มีแต่อาหารดี ๆ  ทุกคนก็จะนำสิ่งดี  ๆ  ไปถวาย  แต่ความจริงไม่ใช่   พระไม่สามารถเลือกทานได้  ชาวบ้านเอาอะไรไปถวายท่านก็จะต้องทานหมด  ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย  ก็มีแค่   ปัด  กวาด  เช็ดถูเล็ก  ๆ  น้อย  จะถือเป็นการออกกำลังกายก็คงจะไม่ได้   

ดังนั้นทาง  รพ.สต. ห้วยโพธิ์  ได้สำรวจข้อมูลการเจ็บป่วยของพระสงฆ์พบว่า  พระป่วยเป็นโรคความดัน  เบาหวานเป็นจำนวนมาก  เมื่อเจ็บป่วยแล้วไม่ค่อยมีใครกล้าดูแลถูกเนื้อต้องตัวพระ  เพราะพยาบาลส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หญิง  จากนั้น

จึงนำร่องเฝ้าระวังการดูแลสุขภาพพระในพื้นที่  มีการตรวจสุข ภาพประจำปี  ก็เหมือนบุคคลทั่ว ๆ ไป  มีการเอ็กซเรย์ปอด  ตรวจเลือด  ตรวจความดัน  เบาหวาน   เป็นต้น   เพราะถ้าพระท่านไม่สบาย   เป็นโรคเรื้อรัง   เช่น ความดัน  เบาหวาน  หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน  ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็จะเพิ่มขึ้น  ใครเป็นคนรับผิดชอบ  ก็คงไม่พ้นรัฐบาล  และจากที่เราไปรักษาที่ปลายเหตุแล้วค่าใช้จ่ายต่อพระหนึ่งองค์ไม่ถูกเลย  ใช้เงินเยอะมาก  

ดังนั้นทาง  รพ.สต.  ห้วยโพธิ์  จึงเกิดแนวคิดที่จะรักษาดูแลตั้งแต่ต้นเหตุ  เริ่มจากการให้ท่านมาตรวจสุขภาพประจำปี  ซึ่งจริง ๆ แล้วโครงการนี้ในปีแรกทำทั้งจังหวัดกาฬสินธุ์  แต่ที่นี่ถือเป็นงานหนึ่งที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง  จะมีรถไปรับท่านมาตรวจสุขภาพ  หรือรักษา 

โดยทางท่านจะประสานมายัง  รพ.สต.  ห้วยโพธิ์  จากนั้นก็จัดรถไปรับ  เมื่อตรวจเสร็จก็จะมีรถไปส่งท่านกลับวัด 

ซึ่งนโยบายนี้เป็นลักษณะงานแบบสร้างมากกว่าซ่อม 

ก็เห็นด้วยนะคะเพราะเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังแล้ว นอกจากค่าใช้จ่ายที่แพง  แถมยังต้องทานยาไปตลอดชีวิต  และที่สำคัญก็คงจะเป็นเรื่องของกำลังใจ   เดินทางไป  รพ.สต.  ห้วยโพธิ์  มีอะไรให้เราได้เรียนรู้ตลอด  สมกับที่ได้รับรางวัลมาเยอะจริง  ๆ

 

 


ครั้งนี้ที่เราไปเหมือนได้ บุญหล่นทับ ได้ความรู้ ได้รับโอกาสในการไปส่งพระ ได้เรียนรู้วิถีการทำงานด้วยใจของเจ้าหน้าที่ใน รพ.สต.ห้วยโพธิ์ ต้นทุนทำงานแบบนี้ยินเห็นก็ยิ่งชื่นใจ ขอบพระคุณนะคะพี่อ้อ ที่ช่วยเขียนเรื่องดี ดี มาแบ่งปัน

 

หมายเลขบันทึก: 407068เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2010 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท