พระมหาสะง่า
พระมหา พระมหาสะง่า ธีรสํวโร ไชยวงค์

เดินสู่อิสรภาพในแบบ ... ประมวล เพ็งจันทร์


การเดินเป็นอุบายทำให้กายและใจประสานเป็นหนึ่งเดียวกันได้

วันนี้ได้่อ่านเรื่องราวของ อาจารย์ประมวล  ชวนให้เกิดความคิดดี ๆ หลายอย่างจึงของนำมาฝากเพื่อนสมาชิกทุกท่านเน้อ  ชายคนหนึ่งที่ก้าวออกมาจากชีวิตข้าราชการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มาสู่ความเป็นสามัญชนธรรมดา โดยไม่ขอรับเงินบำเหน็จ บำนาญใด ๆ มุ่งเพื่อจะแสวงหาอิสรภาพให้กับชีวิต  ปัจจุบันเขา/ท่านอยู่ได้อย่างไร เชิญติดตามข้างล่างนี้(ขอบคุณเวปกระปุกมาก ๆ ทีแบ่งปันมา)

เดินสู่อิสรภาพในแบบ ... ประมวล เพ็งจันทร์

 

 

ประมวล เพ็งจันทร์

ประมวล เพ็งจันทร์

 



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

             เมื่อรู้สึกว่า "ตรรกะเหตุผล" เป็น เรื่องของอำนาจการใช้เหตุผล ซึ่งแม้จะเป็นระบบความคิดที่ดีและนำไปสู่การสร้างสรรค์ความรู้ แต่นั่นก็ไม่ใช่หนทางที่จะเข้าถึงความดีงามได้...

             อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ จึงเริ่มออกเดินทางค้นหาชีวิตความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ด้วยการเดินเท้า เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเรียนรู้ ที่ไม่ได้เกิดจากกระบวนการทางความคิด หากแต่เป็นการสัมผัสรู้ เป็นอะไรที่ตรงไปตรงมา เช่น ถ้าเราอ่านหนังสือท่องเที่ยว เราก็จะรู้ว่าประเทศไหนเป็นอย่างไรทั้ง ๆ ที่เราไม่ต้องเดินทางไป เพราะเรามีความรู้ เราเชี่ยวชาญในข้อมูล แต่ถ้าเราได้ไปเที่ยวจริง ๆ ไปสัมผัสจริง ๆ มันจะเป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก เป็นผลิตผลของการประสานสมองกับใจไปด้วยกัน


ประมวล เพ็งจันทร์

ประมวล เพ็งจันทร์



             คงคล้ายกับความหมายการเดินด้วยศรัทธาของชาวอินเดีย และทิเบต ที่แม้ว่าพวกเขาจะมียวดยานพาหนะขับขี่ไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ยังเลือกที่จะเดินเท้าไปเอง ซึ่งถ้าหากขี่รถไป ก็เข้าถึงเหมือนกัน แต่ปราศจากความเคารพ การเดินจึงเป็นการเข้าถึงที่การแสดงความเคารพไปในตัว

             อาจเพราะการเดินมีความช้าเป็นตัวกำหนดด้วยส่วนหนึ่ง จึงทำให้อาจารย์ประมวลรู้สึกว่า การเดินนั้นสำคัญ เพราะปัจจุบันคนเราเสพติดความเร็ว อะไรที่ช้ามักจะทำให้รู้สึกหงุดหงิดรำคาญ อะไรก็ได้ขอให้เร็ว ขอให้ถึงเป้าหมายเร็ว คนก็มักเห็นว่าเป็นความดี

             "ลองนึกดูสิ ถ้าเราจะเดินทางง่าย ๆ ไปหาแม่ กับเดินทางยาก ๆ ไปพบแม่ ความหมายต่างกันมากเลยนะ ยิ่งถ้าลูกคนไหนที่อยู่ไกลแล้วกลับไปหาแม่สักครั้ง แม่จะดีใจมาก ขณะเดียวกัน เราเองก็รู้สึกดีใจ เพราะว่าจะได้พบแม่แต่ละครั้งยากมาก เรื่องนี้ผมเข้าใจว่า เป้าหมายที่ได้พบแม่เป็นส่วนหนึ่ง แต่ความหมายที่ได้พบแม่มีความหมายไม่เท่ากัน ไม่ต่างกับความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ หากเราเข้าถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก หรือใช้ความเร็วมากำหนด ความหมายของสิ่งนั้นก็จะเบาบาง ไม่ยิ่งใหญ่"

             สำหรับ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ สำเร็จดอกเตอร์ด้านปรัชญาจากมหาวิทยลัยไมซอ ประเทศอินเดีย เข้ามาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนจะตัดสินใจบอกลาอาชีพครูที่ทำมานานกว่ายี่สิบปี ออกเดินจากบ้านที่เชียงใหม่ไปยังบ้านเกิดที่เกาะสมุย ในเดือนตุลาคม 2548 ซึ่งประสบการณ์การเดินเท้าคราวนั้น เปลี่ยนแปลงตัวเขาไปชั่วนิรันดร์ และการเดินทางไกลจากศาลายาสู่ปัตตานีจึงเกิดขึ้นในปีนี้ 2553


ประมวล เพ็งจันทร์

ประมวล เพ็งจันทร์



             การออกเดินทางทั้งสองครั้ง มีความหมายแตกต่างกัน หากแต่มีบางสิ่งบางอย่างเชื่อมโยง โดยอาจารย์ประมวล บอกว่า ถ้าไม่ผ่านการเดินครั้งแรก การเดินครั้งที่สองก็จะไม่มีความหมาย เพราะการเดินครั้งแรกมีจุดมุ่งหมายเพื่อเดินทางเข้าไปสู่มิติของจิตใจ เดินคนเดียว มีเงื่อนไขของตัวเอง แต่การเดินครั้งที่สอง เดินเพื่อสันติทางสังคม จึงเลือกเอาธงมาถือ เพื่อเชื่อมโยงตัวเองไปสู่สังคมได้

             "ครั้ง ที่สอง ผมมีเพื่อนร่วมเดิน จึงต้องคิดว่าจะเดินอย่างไรให้เพื่อนมีความหมายที่ดีเกิดขึ้นในใจ ช่วงเดินแรก ๆ ผมเป็นคนเดินนำ ปรากฎว่า เพื่อนบ่นว่าเหนื่อยเพราะผมเดินเร็ว ผมจึงปรับใหม่เลย บอกไม่เดินนำแล้ว ทีนี้ขอเดินตาม เดินช้า ๆ โดยเอาความรู้สึกเพื่อนมาเป็นที่ตั้ง เรารู้เลยว่า การเดินครั้งนี้มันมีความหมายที่แปรเปลี่ยนไปจากครั้งแรกที่เดินคนเดียว เพราะเราไม่เคยคิดถึงโลกภายนอก รู้แค่ว่าเราคิดอะไร"

             นอกจากจะเกิดปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมเดินแล้ว คุณค่าอย่างหนึ่งของความช้าจากการเดินยังสร้างความทรงจำในรายละเอียดของถนน หนทาง ผิดจากปกติยามที่เดินทางไปไหน เราจะมีช่วงเวลาที่พบเห็นรายละเอียดต่าง ๆ เพียงไม่กี่นาทีที่รถขับผ่าน แต่การเดินทำให้เห็นรายละเอียดที่ละเอียดมาก ไม่ใช่เฉพาะคน รวมถึงพืชพันธุ์ สภาพความสูงต่ำของภูมิประเทศ ซึ่งการเห็นอย่างช้าแบบนี้ประทับความรู้สึกนุ่มลึกกว่ากันมาก


ประมวล เพ็งจันทร์

ประมวล เพ็งจันทร์



             "ผมว่าการเดินเป็นอุบายทำให้กายและใจประสานเป็นหนึ่งเดียวกันได้ เราพูดกันเสมอในกลุ่มคนปฏิบัติธรรมว่า กายอยู่ไหน ใจอยู่นั่น แต่มันเหมือนเป็นแค่คำพูดเพราะ ๆ ใช้ในกรณีที่พูดถึงการกระทำในสถานที่ที่สะดวกสบายอย่างเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา แต่ผมรู้สึกเอ๊ะ..เราน่าจะต้องเอากายไปอยู่ในสถานการณ์ที่กำหนดล่วงหน้าไม่ ได้ เพราะในความจริง ถ้ากายอยู่ในที่คับขัน ใจเราล่ะจะไหวไหม..."

             แน่นอนว่า การเดินเท้าตลอด 66 วัน จากเชียงใหม่ถึงเกาะสมุย ย่อมส่งผลกระทบในทางกายภาพ อาจารย์ประมวล ยอมรับว่า เขามีบาดแผลเล็กน้อย ส่วนเท้าแตกถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในภาพรวมส่งผลดีต่อสุขภาพมาก ๆ จากที่เคยเป็นคนสุขภาพไม่แข็งแรง หลังจากผ่านการเดินไกล ก็แทบลืมไปเลยว่าตัวเองเคยเป็นหวัดง่าย นั่นแสดงว่าโครงสร้างทางกายเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมา เหนือไปกว่านั้นคือการรู้ข้อจำกัดและเห็นค่าของร่างกาย

             จริงอยู่การเดินเป็นความลำบากที่คนเราคิดว่าไม่น่าปรารถนา เพราะโดยมากมักอยากให้ชีวิตสะดวกสบายจนกลายเป็นการเสพติด ยิ่งในปัจจุบันคนเรามีความกลัวความยากลำบากจนเหมือนถูกสาป เรียนหนังสือเพื่อที่จะได้ทำงานสบาย ๆ เก็บหอมรอมริบเพื่อหวังจะอยู่อย่างสบาย คือเราคิดฝันถึงแต่ชีวิตที่มันสบาย จนไม่มีโอกาสเสพสัมผัสรสชาติความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง


ประมวล เพ็งจันทร์

ประมวล เพ็งจันทร์



             "คือตาม ธรรมชาติของมนุษย์ต้องอยู่กันเป็นกลุ่ม ถ้าอยู่คนเดียวจะรู้สึกว้าเหว่ หวาดกลัว และความรู้สึกแบบนี้เราลืมไปเมื่อมาอยู่ในโลกปัจจุบัน เพราะเราอยู่ในสังคมซื้อขาย ใช้เงินซื้อทุกอย่าง ทำให้มนุษย์อยู่กับตัวเองคนเดียวได้ ถ้าจะสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ก็จะสัมพันธ์ในมิติที่แปลก...ไปสัมพันธ์กันใน โลกไซเบอร์ ซึ่งน่าเสียดายที่มนุษย์เราสูญเสียโอกาสที่จะได้สัมผัสความเป็นมนุษย์ในตัว มนุษย์คนอื่น ๆ โดยตรง"

             การเดินอาจไม่สามารถตอบโจทย์การเข้าถึงความเป็นมนุษย์ได้สำหรับทุกคน แต่อย่าลืมว่า ทุกครั้งที่คุณก้าวเดินจงใช้ใจและความคิดไปพร้อม ๆ กัน...ไม่แน่ว่าการเดินสั้น ๆ ของคุณก็อาจมีความหมายบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นในใจได้....เช่นการเดินของ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์

 ประมวล เพ็งจันทร์

ประมวล เพ็งจันทร์

ประมวล เพ็งจันทร์

ประมวล เพ็งจันทร์
 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 407036เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2010 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการพระคุณเจ้า

นับว่าเป็นโอกาสที่มากที่ได้อ่านหนังสือ "เดินสู่อิสระภาพ" และ "เราจะเดินไผปไหนกัน" ทั้งสองเล่ม

ทุกหน้า ชวนติดตามและวางไม่ลง  ทำให้เข้าใจการตรัสรู้ของพระพุทธองค์มากขึ้นเจ้าค่ะ

เจริญพร โยมยายคิม

ขออนุโมทนาที่ได้อ่าน อาตมาได้ทราบว่าขณะนี้ท่าน อ.ประมวล และอาจารย์สมปอง กำลังช่วยกันขัดเกลาต้นฉบับ บันทึกอินเดีย ถามว่าจะเสร็จเมื่อไร คำตอบคือ กำลังพยายามอยู่ "พร้อมรอยยิ้ม" จาก อ.สมปอง นับเป็นงานที่ช่วยส่งเสริมจิตสำนึกที่ดีงาม ให้กับสังคมที่ดีมาก ก่อนหน้าเราจะเดินไปไหนกัน มีคนพูดถถึง "ประมวล รัก" เล่มนี้ยังไม่ได้ออ่าน แต่มีคนพูดถึงให้ได้ยินคงมีโอกาสได้ออ่านอยู่ โยมยายคิมถ้าได้อ่านแล้วก็เล่าสู่กันฟังบ้างเน้อ

เจริญพร

ตู๊เจ้าเก่า ขนานใหม่

เล่มที่อาจารย์เดินทางไปปัตตานียังบ่ได้อ่านเลยครับ พระอาจารย์มีขายตี้ไหนครับพระอาจารย์

 

ผมก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรเราจึงจะมีศัทธาในชีวิตให้ได้มากกว่านี้

ทุกวันเรียนรู้เพียงเพื่อให้ได้มาเท่านั้นเอง

บางทีเป้าหมายของผมคงต่ำต้อยเกินกว่าจะพยายามให้มากกว่านี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท