ร้าวฉานการศึกษา(3)


พวกมันมิอาจเป็นผู้อกตัญญูต่อสำนัก

ตอนที่ 3   วิชามารประสานมิตร

           กล่าวถึง ตุย  ชวง ซิน  เมื่อได้เป็นเจ้าสำนักอย่างเต็มตัวแล้ว ก็ได้ฝึกเหล่ายุวชนร่วมกับเหล่าผู้กล้าในสำนัก มาพอสมควร และเมื่อสำนักเติบโตขึ้น จึงได้ย้าย สำนักจากริมน้ำอันแห่งขอดไปตั้งสำนักใหม่  ณ ดินแดนแถบที่ราบ “กวงจ๋อ”  ในช่วงปลายปี 40 และได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนัก “ โคว หวี หยาง”   ตุย  ชวง ซิน  เพียรพยายามสร้างสำนักให้แข็งแกร่ง ศิษย์จากสำนักได้ร่วมประลองยุทธกับสำนักอื่นๆ มีทั้งที่มีชัยบางครั้งหรือพ่ายแพ้ในบางครา แต่มิได้ทำให้เจ้าสำนักท้อแท้ แต่กลับยิ่งทำให้มันเพียรพยายามมากขึ้น ทั้งยังส่งผู้กล้าในสำนักไปฝึกวิทยายุทธเพิ่มเติมหลายท่าน จวบจนสำนัก “โคว หวี หยาง” มีชื่อเสียงลือเลื่อง และ เป็นสำนักที่เป็นหนึ่งในสุดยอดวิชา 12  งูเห่า อันเหี้ยมหาญ ยากที่สำนักอื่นทัดเทียม จนในปี 50 มีลูกศิษย์เพิ่มขึ้นเป็นสามร้อยสามสิบสามคน  ผู้คนทั้งแผ่นดินล้วนสรรเสริญยิ่ง

         ในปี 50 นั่นเอง ที่เจ้าสำนัก ตุย  ชวง ซิน ได้แอบฝึกวิชามาร อย่างเงียบๆ คู่กับเคล็ดวิชา 12 งูเห่า  ซึ่งวิชานี้ เมื่อฝึกจนถึงขั้นที่เก้า อาจบางทีจะทำให้เจ้าสำนักเป็นเจ้ายุทธจักร ไม่มีผู้ใดในแผ่นดินสามารถต่อกรได้  เป็นสุดยอดวิชาที่รวบรวมลมปราณทั้งหลายไว้ในตน  การชักกระบี่

ในแต่ละครา ที่ฟาดฟัน หมายถึงความเพิ่มพูนพลังลมปราณของตนและทำให้ผู้ต่อกรสูญเสียพลังไปหลายส่วน เคล็ดวิชามารนี้ ทำให้เจ้าสำนัก  ตุย  ชวง ซิน เริ่มแปรเปลี่ยนใบหน้าดูเหมือนว่า คล้ายคนชรามากขึ้น และกลับทำให้อารมณ์ฉุนเฉียวก้าวร้าวในบางครั้ง และเสแสร้งดีใจในบางครา

เหล่าผู้กล้าและจอมยุทธในสำนัก แม้สงสัย แต่มันมิอาจถามไถ่เจ้าสำนักได้ เพราะกระบี่ “ตวงหนี่ ” ที่อยู่ในมือ ตุย  ชวง ซิน นั้น ทรงอำนาจยิ่ง

                กาลเวลาล่วงเลย ผู้คนในสำนักต่างมีความสงสัยในการกระทำของเจ้าสำนัก และจอมยุทธในสำนักที่สำเร็จเคล็ดวิชา “เทพอภิบาล”จากสำนักต่างๆเริ่มเอาใจออกห่าง เจ้าสำนัก ตุย  ชวง ซิน  การประชุมเหล่าผู้กล้า ในสำนัก แม้มีเป็นประจำ แต่ไม่มีมันผู้ใด กล้าขัดแย้งเจ้าสำนัก  มีเพียงการพยักหน้ายอมรับและไม่ออกความเห็นใดๆ จนทำให้ ตุย  ชวง ซิน มีสีหน้าไม่ดีเมื่อถึงคราประชุม

                เจ้าสำนัก ตุย  ชวง ซิน ดูเหมือนว่าจะเข้าใจสถานการณ์ แต่เคล็ดวิชามารที่ได้เริ่มฝึกฝนมาอย่างยาวนานนั้น มิอาจหยุดฝึกลงได้ เพราะนั่นหมายถึง ความหายนะจะผกผันมาสู่ตน  แต่เมื่อฝึกจนสำเร็จขั้นสุดยอดแล้ว การเป็นเจ้ายุทธภพ เป็นเรื่องง่าย แค่พลิกฝ่ามือ

                ล่วงเข้าปีที่ 51 เหล่าขุนพลในสำนัก“ โคว หวี หยาง” เริ่มสงสัยในเคล็ดวิชามารที่เจ้าสำนักฝึก และมีการพูดคุยกันในสำนัก แต่ มิมีผู้ใดกล้าไถ่ถาม แต่การกระทำหลายอย่างของเจ้าสำนัก
ทำให้ไม่มีผู้ใดประสงค์จะคบหาพูดคุยด้วย  มีบางคนแม้มิพูดจากับมันแล้วกลับหลบหน้าเมื่อพบเจอ   ขุนพลทั้งหลายต่างพากันวิพากษ์และปฏิญาณตนไม่พูดคุยกับเจ้าสำนัก และต่างก่นด่ามันอยู่เป็นเนืองนิจ  โดยเฉพาะขุนพล สุย ผิง  ผู้หาญกล้า  ต่างกล่าววาจาที่ไม่เกรงใจเจ้าสำนัก หลายครา จนเมื่อเหล่าผู้กล้าหมดความอดทน ต่างปฏิญาณตนหลีกหนีจากสำนักเพื่อที่เจ้าสำนักจะได้ทำฝึกวิชามารนั้นต่อไป

         เหล่าขุนพลหลายคนต่างเสาะหาสำนักใหม่ที่ต้องการพวกเขา  มีหลายสำนักต้องการขุนพลเหล่านี้  เป็นยิ่งนัก เพราะพวกมันต่างมีฝีมือที่ยากที่ใครในแผ่นดินจะกล้าต่อกร  โอ้..การฝึกวิชามารของเจ้าสำนัก ทำให้ขุนพลผู้กล้าเปลี่ยนไปได้เพียงนี้..ผู้คนในย่าน กวง จ๋อ ก็วิพากษ์เจ้าสำนักในทางที่ไม่ดี หรือว่า ? ฟ้าลิขิต

           หลายคนในหย่อมย่านต่างกล่าวขานถึงความยิ่งใหญ่ของสำนักและยกย่องขุนพลผู้กล้าแต่ไม่มีผู้ใดกล้าทัดทานต่างพากันนิ่งเงียบดุจดั่งค่ำคืนที่ไร้ดาวและสีแสง    ณ  เพลานี้  ขุนพลทั้ง
สิบสองคน ต่างอำลาสำนัก  ด้วยความอาลัย  พวกมันหาต้องการลาจากไม่ แต่ด้วยมันอยู่ไปก็มิได้ทำให้เจ้าสำนักพึงพอใจ  พวกมันมิอาจเป็นผู้อกตัญญูต่อสำนัก    มันเพียงหวังว่าวันข้างหน้าสำนัก“ โคว หวี หยาง” จะรอดพ้นภัยพิบัติ

          เมื่อขุนพลคู่ใจทั้งสิบสองคนจากไป เจ้าสำนักมิมีน้ำตาให้แม้แต่น้อย มันยิ้มด้วยความพึงพอใจ เพราะต่อจากนี้ไป จะไม่มีผู้ใดมาล่วงรู้วิชามารของมัน  มันกลับเสาะหาขุนพลที่ไร้ฝีมือเข้ามาเป็นสมุนคู่ใจ เพราะเชื่อว่า จะไม่มีผู้ใดกล้าต่อกรกับมันได้ วิชาที่มันฝึกนี้ กำลังจะถึงขั้นเก้าแล้วเหลืออีกเพียงไม่นานก็จะถึงสุดยอดที่เรียกว่า “วิชามารประสานมิตร”

(จบตอนที่ 3)

ตอนที่ 4 เปลี่ยนป้ายสำนัก

หมายเลขบันทึก: 406993เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2010 20:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรื่องสั้นน่าสนใจ เหมือนนิยายจีน คิดได้ยังไง ? อยากถามคนเขียนว่า เกี่ยวกับการศึกษาอย่างไร ?

เรื่องราวดีครับ แต่ชื่อตัวละคร อ่านยาก จำยาก ครับ ถ้าเป็นชื่อภาษาไทยจะดีครับ

นับถือ ๆ  ข้าน้อยขอคารวะในอัจฉริยภาพการซ่อนเงื่อนงำทางภาษาและปมแห่งข้อขัดแย้ง

สนุกด้วยภาษา  เห็นเงื่อนงำที่ซ่อนอยู่   จากตอนแรกข้าน้อยคิดถึงกาพย์พระไชยสุริยาของท่านสุนทรภู่  มาถึงตอนนี้ข้าน้อยพอจะนึกออกถึงปลายทางแล้วล่ะ 

รอตอนต่อไปนะ

ขอบคุณ ป้า พธู อยากได้คำแนะนำจากป้า เพื่อการเขียนเรื่องต่อไปครับ.

เรื่องราวเหมือนเรื่องอะไร หนอ ? คล้ายๆ ...นึกไม่ออก...อ่านตอนต่อไปดีกว่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท