กู้ชีพสวยด้วยมือเรา


ผมก็เป็นอีกคนหนึ่ง ในทีมให้บริการในบทบาทที่ได้รับคือบุรุษพยาบาล ผมต้องเหน็ดเหนื่อยกับการแสดงบทบาทนี้มานานประมาณแปดปีเห็นจะได้ แต่ความเหนื่อยล้า เพียงแค่นี้เพื่อแลกกับสิ่งที่ได้เห็นคือรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความสุขของผู้ป่วยผมก็เลือกที่จะทำต่อไปอย่างไม่มีข้อแม้ ไม่ว่าอากาศจะร้อน อบอ้าว หนาวหรือเย็น ฝนตกหรือแดดออกแต่ผมก็ยังเลือกที่จะแสดงบทบาทพยาบาลดั่งปณิภาณที่ผมตั้งไว้ว่า “ จะพลีกาย บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของคนที่นี่ เพื่อให้คนที่นี่มีความสุข ”

 

ท่ามกลางความพลุกพล่าน โกลาหลของผู้รับบริการ ณ ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน ที่มีทั้งผู้ป่วยฉุกเฉิน จำนวนมากทั้งได้รับบริการแล้ว แต่นอนสังเกตอาการ และผู้ที่ยังไม่ได้รับบริการร้องเสียงสนั่นแซ่ซ้องไม่เป็นภาษา ประกอบกับอากาศที่ร้อนระอุ ของเดือนเมษายน ของภาคอีสาน อากาศที่นี่ช่างร้อนเหลือเกินประดุจดั่งเตาเผาที่รุมเร้าให้ไหม้เกรียมเสียให้ได้  กับการทำงานของแพทย์และพยาบาลที่มีอัตรากำลังอยู่อย่างจำกัด

แพทย์พยาบาลที่โรงพยาบาลแห่งนี้ต้องวิ่งให้บริการผู้ป่วยเตียงนั้นที เตียงนี้ที ไหนจะต้องรีบไปเขียนประวัติและบันทึกเวชระเบียน เพื่อให้ทันเวลาและสนองความเจ็บปวดที่กำลังเผชิญอยู่ของผู้ป่วย ด้วยความหวังและความต้องการในการบำบัดความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน กับการทำงานที่ต้องทุ่มเททั้งกำลังแรงกาย และแรงใจเพียงเพื่อหวังจะเห็นรอยยิ้มอย่างความสุขของผู้ป่วยเหล่านั้นนี่คือความมุ่งหวังอันสูงของผู้ที่ได้ชื่อว่า หมอและพยาบาล และนอกจากนี้ยังต้องใช้สติปัญญาอย่างรอบคอบในการให้บริการผู้ป่วยเพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการรีบเร่งแข่งกับเวลาเช่นนี้ ทำให้แพทย์และพยาบาลต้องเหงื่อซดไปตาม ๆ กัน

ผมก็เป็นอีกคนหนึ่ง ในทีมให้บริการในบทบาทที่ได้รับคือบุรุษพยาบาล ผมต้องเหน็ดเหนื่อยกับการแสดงบทบาทนี้มานานประมาณแปดปีเห็นจะได้ แต่ความเหนื่อยล้า เพียงแค่นี้เพื่อแลกกับสิ่งที่ได้เห็นคือรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยความสุขของผู้ป่วยผมก็เลือกที่จะทำต่อไปอย่างไม่มีข้อแม้ ไม่ว่าอากาศจะร้อน อบอ้าว หนาวหรือเย็น ฝนตกหรือแดดออกแต่ผมก็ยังเลือกที่จะแสดงบทบาทพยาบาลดั่งปณิภาณที่ผมตั้งไว้ว่า  “ จะพลีกาย บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของคนที่นี่ เพื่อให้คนที่นี่มีความสุข  ”  เพราะที่นี่มีพระคุณกับผมมาก ผมได้รับการคัดเลือกให้ไปเรียนพยาบาลในโครงการช้างเผือกก้าวสู่วิชาชีพพยาบาลเพื่อชาวชนบท ดังนั้นเพื่อเป็นการทดแทนพระคุณของผืนแผ่นดินที่มอบทั้งชีวิตและอนาคตที่สดใสให้ผมผมสัญญาว่าจะปฏิบัติตนเป็นผู้ดูแลคนที่นี่ทั้งอำเภอจนกว่าจะหมดแรงกายและแรงใจ

 วันนี้คนไข้ก็เยอะดังเช่นทุกวัน อากาศก็ร้อนแผดเผาเอาการ  เตียงที่มีให้บริการผู้ป่วยก็ล้นจนคนที่จำเป็นต้องนอนก็ไม่เพียงพอ แพทย์ พยาบาลวิ่งให้บริการกันบ้างก็บ่น บ้างก็ร้องคราง ด้วยความเจ็บปวด แต่ผมก็ให้บริการผู้ป่วยเหล่านั้นด้วยความนุ่มนวลและสุภาพภายใต้มาตรฐาน จรรยาบรรณวิชาชีพและ สิทธิของผู้ป่วย ประดุจญาติมิตรแม้กระทั่งการบ่นผมก็เข้าใจในความรู้สึกและความต้องการของผู้ป่วยเหล่านั้นเพราะหลังจากหายเจ็บปวด ทรมาน ผู้ป่วยเหล่านั้นก็จะยิ้มให้และกล่าวขอบคุณผม และหนึ่งในจำนวนนั้นก็เป็นลุงกอบ ซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ ร้องครางโอดโอยด้วยความทรมาน

 

“ ลุงทำไมปล่อยให้ปวดตั้งนาน!! .. ทำไมไม่รีบมาโรงพยาบาล.. รู้ไหมว่าไส้ติ่งลุงน่ะแตกเพราะปล่อยไว้นาน ” 

หมอก้อง แจ้งอาการคุณลุงกอบ ด้วยสีหน้าจริงจัง เชิงตำหนิ ด้วยความโกรธ น้ำเสียงห้วน ๆ  คิ้วขมวดเข้าหากัน จ้องเขม็งที่หน้าลุงกอบ และจดจ่อรอฟังคำตอบ

 “ ผมไม่มีรถมาครับ เหมารถเค้าก็บอกว่าดึกแล้วรอให้เช้าก่อน ”

 ลุงกอบตอบเสียงสั่น สีหน้าซีด เหงื่อออกเป็นเม็ดผุดตามใบหน้า ประกอบกับความปวดที่กำลังรุมเร้า และร้องโอดโอยตลอดเวลา

 ผมได้เห็นเหตุการณ์นั้นผมรู้สึกสะเทือนใจที่ได้ยินลุงกอบพูด และพยายามกลั้นน้ำตาเอาไว้ด้วยความสงสารขณะเดียวกันก็รู้สึกโกรธตัวเองที่ไม่ทำหน้าที่ในงานที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด เพราะถ้าลุงกอบรู้ว่า สามารถเรียกใช้บริการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้โดยไม่ต้องเสียเวลารอคอยและไม่ต้องเหมารถให้เสียเงิน และที่สำคัญถ้าลุงกอบเรียกรถพยาบาลตั้งแต่เมื่อคืน ก็คงไม่ต้องเสียเวลาล่าช้าจนกระทั่งไส้ติ่งแตก ผมน่าจะทำให้ดีกว่านี้ ผมครุ่นคิดอยู่สักพัก ก็ได้ยินเสียงโทรศัพท์จากท่านผู้อำนวยการเรียกให้ไปพบที่ห้อง

“ ..ทำไมอัตราการเรียกใช้รถฉุกเฉิน มันน้อยจัง เพราะอะไร …”

ท่านผู้อำนวยการพูดด้วยสีหน้าจริงจัง คิ้วขมวดเข้าหากัน มองจ้องมาที่ผมโดยไม่ละสายตาเพื่อคะยั้นคะยอรอเอาคำตอบ

“ ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับท่าน ว่าทำไมชาวบ้านจึงไม่เรียกมา  ”

ผมนิ่งอึ้ง กับคำถามซึ่งผมได้ฟังคำถามที่ถามง่าย ๆ แต่ถ้าคิดดีดีแฝงไว้ด้วยคำตำหนิให้ผมต้องปรับปรุงด่วนนะ มันไม่ใช่เรื่องผมจึงแก้ตัวไปง่าย ๆ โดยที่เหตุผลที่ประชาชนไม่เรียกบริการเพราะว่า ผมไม่ประชาสัมพันธ์ ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่รู้ 

 

ขณะที่กำลังเดินกลับห้องทำงาน  ผมรู้สึกโทษตัวเองว่าหากผมได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ ให้ประชาชนทราบโดยทั่วก่อนหน้านี้คุณลุงผู้นี้คงได้รับบริการและไม่เสียเวลาจะกระทั่งไส้ติ่งแตกเช่นนี้ คิดได้ดังนี้ผมจึงเดินไปหาคุณลุงผู้นี้แล้วกล่าวเสียงเรียบ ยิ้มไม่ออกและแสดงความเห็นใจว่า

 “ คุณลุงครับตอนนี้โรงพยาบาลของเรามีบริการออกรับ ณ จุดเกิดเหตุแล้วหากคุณลุงเจ็บป่วยฉุกเฉินที่บ้านคุณลุงสามารถเรียกรถพยาบาลได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่ โดยรถพยาบาลจะไปรับถึงหน้าบ้านและไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้นครับคุณลุง ”

ผมพูดพร้อมกับแสดงสีหน้าเห็นใจสบตาคุณลุงผู้นั้น คุณลุงพยักหน้าพร้อมกับร้องโอดโอยเป็น ระยะ ๆ

หลังจากกลับจากที่ทำงาน ผมครุ่นคิดกับสิ่งที่ได้รับรู้ในวันนี้ มันเหมือนตราบาปที่ไม่ควรให้อภัย  ผมนั่งทบทวนอย่างช้า ๆ เพียงลำพัง ไม่นานก็นึกขึ้นได้ว่า

“ ปัญหาเกิดจากความไม่รู้ เราต้องทำให้ชาวบ้านรู้…ใช่! ใช่! ”

ผมตระโกนด้วยความดีใจ

ทันทีที่ผมปิ๊งแว้บขึ้นมาทันทีผมเดินกลับห้องทำงานและเริ่มจากการพิมพ์นามบัตรประชาสัมพันธ์  จำนวนห้าหมื่นแผ่นตระเวนแจกตามหน่วยของโรงพยาบาล  และชุมชนต่าง ๆในพื้นที่อำเภอบรบือ กุดรัง  ประชาชนเริ่มรู้จักบ้างก็สงสัยว่าโรงพยาบาลจะมารับจริงเหรอ ยังไม่กล้าเรียกบ้างเพราะเกรงใจ ประมาณ สองเดือนหลัง ยอดออกปฏิบัติการ เริ่มเพิ่ม เป็น สี่สิบเที่ยวต่อเดือน และในปีนั้นได้รับเจ้าพนักงาน เวชกิจฉุกเฉินฝีมือดีมาช่วยงานออกรับ ณ จุดเกิดเหตุ จำนวนสองตำแหน่ง

“  คราวนี้ไม่ต้องห่วงแล้ว เราจะขาดคนช่วยงานในห้องฉุกเฉิน ”

ผมพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบและยิ้มที่มุมปากเล็กน้อย  ท่ามกลางความยินดีละเห็นด้วยกับเพื่อนที่ทำงาน

ทันใดนั้นท่านผู้อำนวยการก็เรียกพออีกครั้งหนึ่ง

 “ ปรีชา  เราได้ เจ้าพนักงานเวชกรมาสองคน ยอดสี่สิบเที่ยวต่อเดือน ตกคนละยี่สิบเที่ยว เฉลี่ยแล้วออกรับคนไข้วันละไม่ถึงคน แล้วมีเวชกรไว้เพื่ออะไร ถ้ายอดแค่นี้ไม่มีความจำเป็นต้องจ้าง จริงมั๊ย ”

ผมทำหน้านิ่งเพราะอึ้งในคำพูดท่านผู้อำนวยการ

นับ จากวันนั้นผมได้แต่นั่งครุ่นตลอดเวลาว่าจะทำยังไงดีนะจึงจะทำให้น้องเวชกรจะไม่ถูกเลิกจ้าง เราจะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้แล้วถ้าเราขืนอยู่และทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ มีหวังน้องถูกเลิกจ้างแน่ คิดได้ดังนั้นผมจึงนั่งวางแผนโครงการเพิ่มยอดผู้รับบริการเพื่อคุณภาพบริการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินขึ้น  ซึ่งตัวชี้วัดงาน

ในระยะแรกสนองนโยบายท่านผู้อำนวยการที่มุ่งเน้นคือ จำนวนเที่ยวออกปฏิบัติการ และสัดส่วนผู้ป่วยรับไว้นอนโรงพยาบาลด้วยภาวะวิกฤติ ฉุกเฉิน เปรียบเทียบกับบริการออกรับ ณ จุดเกิดเหตุ ผมก็เริ่มวิเคราะห์หาโอกาสพัฒนาโดยเริ่มต้นที่..สำรวจกลุ่มเป้าหมายของประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ จากนั้นเริ่มการประชาสัมพันธ์ระบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ..จัดทำบัตรประชาสัมพันธ์แจกผู้รับบริการที่มีมารับบริการทุกคนโดยเฉพาะผู้รับบริการที่มีภาวะเสี่ยง  ประชาสัมพันธ์ผ่านเวทีการประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน แจ้งผ่านการเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลและการยกเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยต่าง ๆ ให้องค์การบริหารส่วนตำบล สถานีวิทยุชุมชนทุกแห่งในเขตอำเภอ นอกจากนี้ยังออกตระเวนติดป้ายประชาสัมพันธ์ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทั่วทั้งอำเภอเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและเรียกรับบริการเพื่อให้ตัวชี้วัดบรรลุเป้า

ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าการได้เป้าที่ตั้งไว้และ ในขณะเดียวกันก็วางระบบและกระบวนการเพื่อให้บุคลากรในหน่วยงานตอบรับการออกให้บริการที่รวดเร็ว ฉับไว ได้มาตรฐานแต่ปัญหาที่ตามมาก็มีเรื่อย ๆ จากที่เรียกแล้วรอไม่ไหว จำใจต้องหารถมาเอง ทีมที่ออกไปกลับมาโดยไม่มีผู้รับบริการ ไปแล้วไม่เจอ หรือ เรียกแล้วออกปฏิบัติการไม่ได้เพราะรถไม่ว่าง พยาบาล ไม่พอ เพราะเรียกซ้อนกันหลายเที่ยว

 ในขณะที่ทีมในโรงพยาบาลต้องวุ่นวายกับการให้บริการที่งานล้นมือเนื่องจากผู้ให้บริการเหลือน้อย เพราะต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่ออกปฏิบัติการ ณ จุดเกิดเหตุ ความวุ่นวายและความเหน็ดเหนื่อยจากภาระงานที่ล้นมือ และนำไปสู่ความเบื่อหน่ายจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการจึงเกิดขึ้น

และเพื่อเป็นการลดภาระงานดังกล่าวผมจึงจัดทำโครงการขึ้นอีกหนึ่งโครงการคือโครงการสร้างเครือข่ายหน่วยกู้ชีพตำบลโดยสนับสนุนให้อบต. ก่อตั้งหน่วยกู้ชีพตำบลเพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบและพื้นที่ใกล้เคียง โดยจัดทำโครงการสนับสนุนการก่อตั้งหน่วยกู้ชีพตำบล โดยเชิญ นายกอบต.และ ปลัดทุกอบต เข้าหารือร่วมกันแก้ปัญหาประชาชนในพื้นที่ แจงนโยบายและโครงการ เพื่อผลักดันการก่อตั้งหน่วยกู้ชีพ ทำให้มีเครือข่ายให้บริการกู้ชีพตำบลเพิ่มขึ้นจาก ให้บริการผู้ป่วยระดับเจ็บป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง และให้การปฐมพยาบาลในรายวิกฤติรอและนำส่งเปลี่ยนถ่ายระหว่างทางเพื่อลดความเสียเวลาจากการรอคอยที่ยาวนาน ของทีมโรงพยาบาลกว่าจะไปถึงทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการอย่างรวดเร็วและ เกิดความถึงพอใจ เพราะอบต. จะทราบผู้ป่วยเพราะเป็นคนในพื้นที่และสามารถไปยังบ้านผู้ป่วยอย่างรวดเร็วทำให้ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ปฏิบัติการได้สะดวกสบายและรวดเร็วขึ้น

 แต่ด้วยอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดจึงทำให้ต้องขึ้นปฏิบัติงานแทบทุกวันแทบจะไม่ได้พักผ่อน เป็นเหตุให้เกิดความเครียดและเบื่อหน่ายการทำงานยังคงอยู่ ประกอบกับอัตรากำลังที่ต้องเพิ่มขึ้นรายเวรทำให้โรงพยาบาลต้องจ่ายค่าเวรเสริมขึ้นอีก ผมจึงมานั่งคิด  ทำอย่างไรดีจึงจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างจริงจังและถาวรเพื่อให้ได้รับการแก้ปัญหาหนึ่งแล้วไม่เกิดปัญหาหนึ่ง เป็นสิ่งดลใจให้ผู้รับผิดชอบงานจึงเกิด แผนที่บริการออกรับ ณ จุดเกิดเหตุที่เร่งด่วน และรวดเร็ว เกิดขึ้น

“ การทำจุด แผนที่ น่าจะช่วยได้ ”

ผมบ่นพึมพรำกับตัวเอง พร้อมกับเคาะนิ้วมือลงโต๊ะดัง ป๊อก  ป๊อก

ภายใน 3 เดือน  จำนวนเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 70-80 เที่ยว/เดือนเพิ่มเป็น 160-210 เที่ยว/เดือน

นอกจากน้องเวชกิจฉุกเฉินจะได้รับการจ้างต่อทั้ง สองคนแล้วจากยอดที่ทะลุเป้าแล้วยังทำให้ท่านผู้อำนวยการประกาศจ้างตำแหน่งเวชกิจเพิ่มอีกเป็นสี่ตำแหน่งและท่านผู้อำนวยการก็ได้ขอพันธะสัญญากับผมต่อในการทำแผนยุทธศาสตร์เมื่อตั้งต้นปีงบประมาณ ว่า

 “ ตอนนี้ ทำยอดเป็นที่น่าพอใจแล้วในระดับที่เราแข่งขันกับเราเองซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่ปรีชาทำได้และประจักษ์แก่สายตาคนทั่วโรงพยาบาลเราแต่สิ่งที่ผอ. อยากเห็นคือ ยอด ของโรงพยาบาลเราเป็นที่หนึ่งของจังหวัดในระดับโรงพยาบาลชุมชนด้วยกัน ”

ผู้อำนวยการพูดด้วยสีหน้าจริงจัง นิ่งขรึม

ผมรับปากด้วยพันธะสัญญา เป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมลงลายมือชื่อรับทราบพันธะสัญญา

 “ ครับท่าน ผมจะพยามยามอย่างเต็มความสามารถครับ ”

ผมรับปากอย่างจริงจัง พร้อมสบสายตา

เมื่อ 17 ธันวาคม 2552 ท่านผู้อำนวยการก็ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันด้วยโรคหลอดเลือดสมอง สร้างความเสียขวัญและกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเสียใจในการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของท่านผอ.

 แม้จะสูญเสียหัวเรือใหญ่ไปแต่เจ้าหน้าที่ก็พยายามเรียกขวัญและกำลังใจให้กลับมาเพื่อยืนหยัดสร้างสุขภาพให้ประชาชนต่อไปตลอดระยะเวลาห้าเดือนเราไม่มีหัวเรือใหญ่ในการปฏิบัติงาน ไม่มีแรงเสริมจากผู้อำนวยการ แต่เรามีแรงผลักดันจากส่วนลึกของหัวใจเราและหัวใจพี่ ๆ น้อง ๆ  หล่อหลอมเป็นใจดวงเดียวก้าวเดินต่อไปเพื่อมอบดวงใจของเราสู่ประชาชนผู้รอคอยความช่วยเหลือจากเรา

ในวันนี้ผลการปฏิบัติงานของเราขึ้นมาระดับแนวหน้าก้าวแซงโรงพยาบาลชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดได้สำเร็จแล้วด้วยยอด การออกปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน มากกว่า 210 เที่ยว/เดือน แต่น่าเสียดายที่ท่านผู้อำนวยการ ไม่รอดูความสำเร็จจากพันธะสัญญาที่เคยให้ไว้ หากวันนี้ท่านมีโอกาสได้รับรู้ ผมอยากกราบท่านและบอกกับท่านว่า

“ วันนี้ผมทำสำเร็จแล้วครับ ผมได้ทำตามพันธะสัญญาที่ได้ให้ไว้กับท่านแล้วครับ ขอผลบุญผลกุศลที่กระผมและท่านได้สร้างไว้กับผู้ป่วยผู้เจ็บไข้ขอจงดลบันดาลให้ท่านไปสู่สุคติด้วยเถิด…………”

ผลจากการสร้างค่าความดีไม่ได้มีแค่การสร้างยอดการออกปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน  แต่สิ่งสำคัญที่การดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากสิ้นวาระการครองตำแหน่งผู้อำนวยการคนเดิมสิ้นสุดลง การรับนโยบายใหม่จากผู้อำนวยการท่านใหม่ก็เริ่มขึ้นด้วยประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมไม่เน้นที่ยอดแต่เน้นที่การดูแลผู้ป่วย ให้ครอบคลุมทั้งเครือข่ายหน่วยกู้ชีพตำบล  และหน่วย รพ.ผมจึงได้ทำ โครงการ เรื่องเพิ่มคุณภาพบริการ กู้ชีพ ขึ้นเพื่อให้บริการ มีประสิทธิภาพทั้งเครือข่าย เพียงเพื่อหวังให้ประชาชนมีความสุข เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มที่เพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน

 

 

 

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ความสำเร็จของระบบการดูแลสุขภาวะ ต้องจัดการสุขภาวะโดยการใช้ใจมองผู้รับบริการ ผ่านความรักความเอื้ออาทร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้รับบริการของผู้ให้บริการ โดยใช้กระบวนการทำงานเป็นการพัฒนาจิตผู้ให้บริการและผู้รับบริการให้มีความสุข อันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์#ในการจัดระบบบริการสุขภาพเพื่อสานต่อนโยบายการดูแลสุขภาพ ลงไปถึงมือผู้รับบริการนอกจากจะคำนึงถึง นโยบายการดูแลสุขภาพเป็นหลักแล้ว จำเป็นต้องมีการนำมิติด้านจิตใจ จิตวิญญาณมาผสมผสานในงานประจำและกิจกรรมพัฒนาคุณภาพ และในส่วนของการทำงานจะต้องเพิ่มความประณีต ความละ
หมายเลขบันทึก: 406763เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2010 09:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 09:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ครับเป็นเป้าหมายสูงสุด ที่ต้องใจกระทำขอรับ

สู้ต่อไปครับพี่เพื่อประเทศชาติของเรา

เราเกิดมาบนแผ่นดินไทยแล้วก็ต้องตอบแทนคุณของแผ่นดินครับ

  • มาบอกว่า
  • ดีใจมากๆๆที่ได้เจอตัวเป็นๆๆ
  • มาเขียนบ่อยๆๆนะครับ

ผมก็ชื่นชมพี่ครับ และก็ดีใจมากเช่นกันครับ ที่ได้เจอพี่แม้ไม่ได้มีโอกาสได้ทักทาย ส่วนเรื่องเขียน กำลังขัดเกลาอยู่ครับ

เพ็ชชรี คำสอนพันธ์

สู้ๆๆ นะ

ทำดีที่สุดแล้ว

อย่าท้อนะคะ

รู้สึกเห็นด้วยกับการจัดระบบแพทย์ฉุกเฉินกระจายลงพื้นที่ เป็นพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ(อบรมพยาบาลกู้ชีพแล้ว) ย้ายลง อบต.พร้อมสามีที่ประกอบอาชีพเดียวกันแต่เขาภาษีดีกว่านิดนึง ตรงที่ได้อบรมเป็น ครู ก EMT-B ด้วย เราสองคนมุ่งมั่นมากที่จะดำเนินงานด้านกู้ชีพของ อบต.ให้เป็นรูปเป็นร่าง เดิมลง อบต.ที่จังหวัดสมุทรสาคร ด้วยความเป็นพยาบาลที่ทำงานขึ้นเวร ก็รับเงินค่าเวรไปตามงานที่ได้ทำ แต่พอลง อบต.แล้วทุกอย่าง ระบบ มันเปลี่ยนหมด ตั้งใจทำงานแทบตาย แต่สิ่งที่ได้คือการชิงดีชิงเด่น การขัดขวางทุกอย่างที่จะไม่ให้การดำเนินระบบแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปได้ พอมีคนเห็นค่า เรา2คนก็ไว้ใจ สุดท้ายมาหักหลัง ใส่ร้ายป้ายสี บีบคั้นกลั่นแกล้งจนเรา 2คนทนอยู่ อบต.เดิมไม่ได้ ต้องย้ายมา อบต.ใหม่ในจังหวัดชลบุรี แล้วล่าสุด ประชุมแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 4 ที่นนทบุรี อบต.เดิมที่สมุทรสาครก็ได้โล่รางวัลกู้ชีพดีเด่นระดับเขต(ยอดการให้บริการก่อนที่จะย้าย)จากผลงานที่ 2 ผัวเมียได้สร้าง และวางระบบกันไว้ สามีเริ่มจับรถพยาบาลของ อบต.ที่ซื้อไว้เพื่อขนเครื่องพ่นยุงไปพ่นยุงตามบ้านประชาชน มาเป็นรับผู้ป่วยฉุกเฉิน จากนั้นฉันย้ายลง อบต.เพื่อจะช่วยงานสามี โดยฉันเป็นคนขับรถ Ambulance และสามีเป็นคนดูแลผู้ป่วย ทำกันอย่างนี้ถึงเที่ยงคืนทุกวัน โดยไม่ได้เงินโอทีซักบาทเดียว เพื่อจะสร้างผลงานให้ทุกคนได้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่จะทำงานนี้เพื่อผู้ด้อยโอกาส ที่โอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขน้อย แต่มีผู้บริหารบางคนหัวใสหลอกให้เราอบรมคน หาโควต้าเอาเจ้าหน้าที่ไปอบรม EMT-B จนสำเร็จ สุดท้ายเหตุการล่าสุดคือขณะที่สามีกำลังปฏิบัติหน้าที่ไปรับผู้บาดเจ็บ คนขับรถขับรถพลิกควำ สามีก็ถูกใส่ร้ายจากผู้บริหารท่านหนึ่งที่เห็นว่างานกู้ชีพจะมีผลประโยชน์แก่ตนในอนาคต(เพื่อหาเสียง)ว่าเป็นคนขับรถ จะใส่ความให้มีความผิด แต่ความจริงก็คือความจริงวันยังคำ แต่ที่เราสองคนเลือกจะย้ายเพราะไม่อยากถูกหลอกใช้อีกต่อไป เรายึดมั่นว่าที่ไหนมีคน เราสามารถที่จะนำระบบแพทย์ฉุกเฉินเข้าไปหาได้ทุกเมื่อ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นที่จังหวัดสมุทรสาครอย่างเดียว ขณะนี้เราย้ายมาได้ 6 เดือนเศษ กำลังฟอร์มทีมเจ้าหน้าที่เพื่อเปิดระบบให้กับ อบต.แห่งใหม่ แต่อย่างว่า ระบบแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นที่ยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร แต่ก็ถือว่าชัดกว่าตอนอยู่ที่สมทรสาคร ที่สมุทรสาครทำได้ ดังนั้นที่ชลบุรีก็ต้องทำได้เช่นกัน แต่ปัญหาที่นี่คือเรื่องการแบ่งพื้นที่ สสจ.ไม่แข็ง เกรงอำนาจมูลนิธิเดิมที่ทำกันอยู่ ทำให้ อบต.ที่นี่ไม่มีกู้ชีพ ฉันคิดว่าทุกคนคงจะลืมประเด็นกันไป ว่าระบบแพทย์ฉุกเฉินมีไว้เพื่อใคร และมีไว้ทำอะไร ถ้าทุกองค์กรมีจุดประสงค์เดียวกัน เพื่อประชาชนได้รับการบริการอย่างทั่วถึง เท่าเทียม จากผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง จะเกิดประโยชน์อย่างไร ในฐานะที่อยู่ โรงพยาบาลมาก่อน ก็รู้สึกเช่นกัน กับผู้ป่วยที่ป่วยหนักแต่ไม่มีรถที่จะพามา รพ. หรือมาก็สายเกินไป ไม่ได้รับการปฐมพยาบาลที่เกิดเหตุเลย แต่ไม่ว่าเกิดเหตุการอะไรขึ้นในอนาคต ฉันกับสามีจะต้องดำเนินงานระบบแพทย์ฉุกเฉินใน อบต.แห่งใหม่ให้สำเร็จจงได้

สู้สู้นะครับ ผมขอเป็นกำลังใจให้ครับ ได้ผลยังไงเล่าให้ฟังหน่อยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท