ภารกิจของเราตอบสนองต่อสิ่งใด?


ภารกิจ คือ บทบาทหน้าที่ของมนุษย์ ที่กระทำลงไปด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มกำลังความสามารถ ภายใต้พลังผลักดันจากภายในปัจเจกบุคคล เหตุใดบางคนเลือกทำงานที่มีความเสี่ยงสูง ในขณะที่บางคนก็เลือกทำงานที่ต้องใช้สมองอย่างมุ่งมั่น ในขณะที่บางคนก็ใช้แรงกายแรงใจด้วยความทุ่มเท ทุกคนมีความแตกต่าง ภารกิจจึงแตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามภารกิจของเรามันจะตอบสนองเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น

            หากคุณพ่อ-คุณแม่มีความประสงค์ให้คุณลูกเป็นเด็กที่เรียนดี แน่นอนที่สุดบทบาทหน้าที่ของคุณพ่อ-คุณแม่และคุณลูกก็จะต้องถูกกำหนดตามมาเป็นภารกิจ คุณพ่อ-คุณแม่มีภารกิจต้องคอยส่งเสริมสนับสนุน คุณลูกมีภารกิจต้องทบทวนฝึกฝนสิ่งที่เรียนรู้ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ คุณพ่อ-คุณแม่มีความปลาบปลื้มสมตามสิ่งที่หวัง โดยที่คุณลูกก็เป็นเด็กที่เรียนดีอย่างมีความสุขด้วย 

            ถามว่า “หากลูกเรียนได้เก่งสมตามความปรารถนาของคุณพ่อ-คุณแม่ แต่ลูกมีความกดดันอยู่ภายในมากมาย ทำให้ไม่มีความสุขตามวัยที่สมควร อย่างนี้เราจะเรียกว่า บรรลุตามเป้าหมายหรือไม่?” ทุกวันนี้เรายังเข้าใจ คำว่า “วัตถุประสงค์”  กับ “เป้าหมาย” กันอย่างไรและใช้รวมกันอยู่หรือไม่ ลองพิจารณาจากข้อเท็จจริงต่อไปนี้ครับ

            วัตถุประสงค์ คือ สิ่งที่อยากให้ทำ อยากให้เป็น

            ภารกิจ คือ สิ่งที่ต้องทำด้วยความรับผิดชอบ , หน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ และความต้องการ

            เป้าหมาย คือ การทำในสิ่งที่ต้องทำให้ได้ในสิ่งที่อยากได้อย่างมีความสุข (ทั้งตัวเราและผู้อื่น)

            ทุกวันนี้เราทำภารกิจกันเพื่อสนอง วัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมาย กันแน่ครับ? หากพิจารณาภายในองค์กร สิ่งที่บุคลากรภายในองค์กรถูกกำหนดให้เป็นภารกิจนั้นล้วนต้องถูกเชื่อมโยงมาจากสิ่งที่เรียกว่า “นโยบาย” แล้วนโยบายจัดอยู่ใน วัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมาย ละครับ?

            บุคลากรระดับปฏิบัติการส่วนใหญ่ก็จะรับรู้กันเพียงว่า นโยบาย คือคำสั่งของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่สั่งการลงมาแล้วพวกเขาก็จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนอาจถูกพิจารณาตามบทลงโทษได้ ดังนั้นอย่าไปรู้อะไรมากเลย ก้มหน้าก้มตาทำๆกันไปขอให้ชีวิตรอดไปวันๆก็พอแล้ว ในความเป็นจริงของชีวิตคนทำงานก็เป็นอย่างนี้จริงๆครับพวกเขามีหน้าที่ลงมือกระทำ ลงมือปฏิบัติให้ได้ผลงานที่ดีมีคุณภาพออกไปสู่สังคม

            บุคลากรอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ที่มีภารกิจโดยตรงในการแปลงนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารระดับสูง มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้กับบุคลากรระดับปฏิบัติการ บุคลากรกลุ่มนี้มีความสำคัญขนาดที่เรียกว่าทำให้ นโยบาย มีคุณค่าและมีความหมาย หรือเป็นเพียงแค่ คำสั่ง ที่ต้องทำตามเท่านั้น!!!

            ยกตัวอย่างแบบให้เข้าใจกันง่ายๆ สมมติว่าหากเราเป็นเจ้าขององค์กร ถามว่าความปราถนาสูงสุดที่เราอยากเห็นคือสิ่งใด? (ตอบกันเองในใจนะครับ) ความปรารถนานั้นก็จะถูกใส่เข้าไปในนโยบาย ใส่เข้าไปในสิ่งต่างๆที่มันจะเอื้อและบอกให้บุคลากรทุกคนที่ทำงานในองค์กรของเราได้รับรู้ในสิ่งนั้นใช่ไหมครับ? แล้วเราจะเลือกใช้ คำสั่ง หรือ การบอกกล่าวที่มันจะให้ผลดีกว่ากันครับ? ผมเชื่อว่าเจ้าขององค์กรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในคุณค่าของบุคลากรทุกคน แต่อาจเป็นไปได้ยากนะครับที่จะมานั่งอธิบายสิ่งเหล่านี้ให้บุคลากรฟังได้หมดทุกคนทุกระดับ

การมอบหมายนโยบายผ่านตัวกลางจึงเกิดขึ้น จริงอยู่ครับว่า ความกลัว อาจทำให้คนเราจำเป็นต้องทำเพื่อจะได้ไม่ถูกลงโทษ เราจึงได้ในสิ่งที่อยากให้ทำ อยากให้เป็น (วัตถุประสงค์) แต่ขณะที่คนลงมือทำมีแต่ความทุกข์ทุกขณะจิตที่ทำงาน แล้วเราคิดไปเองว่าบรรลุตามเป้าหมายแล้ว มันใช่หรือครับ? ดูกรณีศึกษาจากเหตุการณ์จริงนี้แล้วลองค่อยๆใช้วิจารณญาณตามนะครับ

            วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๖ ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย เที่ยวบิน STS-๑๐๗ ถูกส่งขึ้นจากฐานส่ง ๓๙A ด้วยภารกิจต่างๆตามวัตถุประสงค์ที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (NASA) กำหนดไว้คือ การทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายสิบรายการในวงโคจรของโลกเป็นเวลา ๑๖ วัน   นักบินอวกาศบนยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียประกอบด้วย ผู้บังคับการริค ฮัสแบนด์ นักบินนำร่องวิลเลียม แม็คคูล ผู้เชี่ยวชาญภารกิจ เดฟ บราวน์ คาลพานา ชอว์ลา ลอเรล คลาร์ค ผู้บังคับการสัมภาระ ไมค์ แอนเดอร์สัน และผู้เชี่ยวชาญสัมภาระ อิลาน รามอน ชาวอิสราเอล หลังจากการปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นตามวัตถุประสงค์แล้วทุกประการ ยานโคลัมเบียก็ปรับทิศทางของตัวยานเพื่อเตรียมร่อนเข้าสู่บรรยากาศและลงสู่พื้นผิวโลก

            เช้าวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ เวลา ๐๙.๐๐น.ตามเวลาตะวันออกของสหรัฐฯ ยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย ต้องพบกับอุบัติเหตุครั้งร้ายแรงที่สุดอย่างไม่คาดคิด เกิดการระเบิดเป็นลูกไฟพวยพุ่งเหนือท้องฟ้าของสหรัฐฯ ขณะกำลังเดินทางกลับสู่พื้นโลก ๑๖ นาทีก่อนที่จะได้ร่อนลงจอดที่ศูนย์อวกาศเคเนดีในฟลอริดาตามกำหนดการ อุบัติเหตุครั้งนี้คร่าชีวิตนักบินอวกาศทั้งหมด

            สามวันหลังจากหายนะของยานขนส่งอวกาศโคลัมเบียและความตายของนักบินอวกาศทั้งเจ็ด นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักการเมืองกำลังตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้น? ทำไมไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้น? เราสามารถป้องกันได้หรือไม่? ขณะที่ประชาชนบางส่วนอาจตั้งคำถามอีกแบบหนึ่งว่า พวกเขาขึ้นไปทำอะไรในอวกาศ? อเมริกาใช้งบประมาณมหาศาลในการส่งนักบินอวกาศไปยังที่ๆ ไม่คุ้นเคยและเสี่ยงต่ออันตราย นักวิทยาศาสต์อธิบายว่าพวกเขาออกไปเพื่อขยายองค์ความรู้ของพวกเรา ขณะที่นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่า ในยุคที่มีดาวเทียมโคจรอยู่รอบโลกจำนวนมาก และเราสามารถส่งหุ่นยนต์ไปยังดาวอังคารได้แล้ว เหตุใดจึงต้องนำมนุษย์ออกไปเสี่ยงในอวกาศอีก อย่างไรก็ดี มีชาวอเมริกันเพียงส่วนน้อยที่ตั้งคำถามนี้ เพราะผลการสำรวจความเห็นของชาวอเมริกันหลังจากเกิดอุบัติเหตุกับยานโคลัมเบียพบว่า ร้อยละ ๘๒ เห็นด้วยที่อเมริกาควรจะส่งมนุษย์ออกไปในอวกาศ ซึ่งใกล้เคียงกับผลสำรวจหลังจากการระเบิดของยานชาลเลนเจอร์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ความจริงก็คือ ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การสำรวจและการผจญภัยไปยังที่ๆ เราไม่เคยพบเห็นนั้นเป็นสิ่งที่เราทำเสมอมา นอกจากนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสหรัฐฯ ใช้ความก้าวหน้าทางด้านอวกาศ เพื่อแสดงศักยภาพและความยิ่งใหญ่ทางการเมือง รวมทั้งนโยบายระหว่างประเทศ นีล อาร์มสตรองและเอ็ดวิน อัลดรินบนยานอะพอลโล ๑๑ ไม่ได้ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์เพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่เพื่อแสดงถึงชัยชนะในสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับอดีตสหภาพโซเวียต[๑]

            กรณีศึกษาจากเหตุการณ์จริงนี้ถามว่า NASA บรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่? นักบินอวกาศได้ปฏิบัติภารกิจอย่างสมบูรณ์หรือไม่? และภารกิจของเที่ยวบินนี้บรรลุตามเป้าหมายหรือไม่? ไม่มีใครต้องการพบจุดจบแบบนี้ ถึงแม้จะได้รับการยกย่องให้เป็นวีระบุรุษของมนุษยชาติ การปฏิบัติภารกิจเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการทดลองของ NASA คือสิ่งที่ท้าทายผู้ทำหน้าที่เป็นนักบินอวกาศ ถึงแม้พวกเขาจะรับรู้ได้บ้างว่ามันมีความเสี่ยง แต่เขาก็มีความเชื่อมั่นในระบบความปลอดภัย ระบบป้องกันต่างๆที่มีอยู่ ทุกคนก็หวังว่าเมื่อภารกิจเสร็จสิ้นเขาจะต้องได้กลับมาเหยียบพื้นโลกได้กลับมาใช้ชีวิตบนโลกอีกเช่นเดิม ผมเชื่อว่านี่คือเป้าหมายสูงสุด ของนักบินอวกาศทุกเที่ยวบิน

            หวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรของพวกเราคงไม่ตกอยู่ในสภาพเหมือนกับเหตุการณ์ในเที่ยวบินนี้นะครับ?

 


[๑] วรเชษฐ์  บุญปลอด อ้างใน thaiastro.nectec.or.th

หมายเลขบันทึก: 406054เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2010 14:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท