การกระตุ้นศักยภาพที่ซุกซ่อนอยู่ เมื่อส่องกระจกมองตัวเองคนละมุมที่คนอื่นมอง!!!


หลายครั้ง คนอื่นมองเห็นศักยภาพที่ซุกซ่อนอยู่ และหยิบศักยภาพนั้นออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เจ้าตัวจึงสามารถค้นพบตัวเองได้
มีหลายครั้งที่ตัวเรา ไม่เคยรู้ว่า มีสิ่งที่ดีๆซ่อนอยู่

หลายคน มักจะประเมินตัวเอง "ต่ำเกินไป" เมื่อมองไปยังบุคคลอื่น ที่มีผลงาน มีแบบอย่างที่น่าชื่นชม
ทั้งๆที่ผลงานและทักษะเหล่านั้น ไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิด แต่เกิดจากการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ และประสบการณ์ในชีวิตต่างหาก

หลายครั้ง คนอื่นมองเห็นศักยภาพที่ซุกซ่อนอยู่ และหยิบศักยภาพนั้นออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เจ้าตัวจึงสามารถค้นพบตัวเองได้


แต่อีกหลายคน ไม่เคยที่จะแสดงศักยภาพในตัวออกมาให้ปรากฏเลย จนเมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน ช่วงเวลาวิกฤติ ศักยภาพที่ซุกซ่อนอยู่จึงเผยโฉมออกมา

ใน gotoknow มีใครคนหนึ่ง ที่มีศักยภาพในการเขียนเทียบเท่ากับ คุณปภังกร เจ้าของบล็อกความรู้คือพลัง มีมุมมอง ความคิดเห็นพอๆกับ ผอ.บวร

คุณ น.เมืองสรวง หรือ อำนาจ แสงสุข
 เจ้าของบล็อก ศูนย์ประชาสัมพันธ์และเครือข่ายท้องถิ่นจังหวัดกาฬสินธิ์

เปิดดูบล็อกของเขา ดูจำนวนบันทึกของเขา คุณเชื่อหรือไม่ว่า เขา สามารถเขียนบันทึกได้ในแบบของคุณปภังกร และแสดงความคิดเห็นได้ในแบบ ผอ.บวร ถ้าเขาอยู่ถูกที่ถูกทาง

เมื่อคลิกดูประวัติของคุณอำนาจ “น.เมืองสรวง” เขาเป็นพนักงานบริษัทเอกชน

แต่ในอดีตที่ผ่านมา เขาเคยทำงานในตำแหน่ง นักประชาสัมพันธ์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำงานด้านข่าว และสื่อท้องถิ่นอย่างเต็มที่

ถ่ายวิดีโอ ผลิตสื่อวิดีทัศน์ รับผิดชอบเขียนคอลัมภ์ลงในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่อยุธยา และยังเขียนบันทึกประจำวันเก็บไว้มากมาย เขียนลำนำคำคมคนท้องถิ่น ได้เป็นร้อยๆคำคม

เมื่อเส้นทางชีวิตเปลี่ยนแปลงไป จากงานท้องถิ่นมาสู่งานบริษัทเอกชน ภาระงานมากขึ้น และครอบครัวก็ต้องดูแล ทำให้โอกาสในการพัฒนาทักษะในการสื่อสาร ในการเขียนมีน้อยลง

จังหวะชีวิตก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เช่นเดียวกับการศึกษาเล่าเรียน หลายท่านเมื่อศึกษาในระดับปริญญาตรี แล้วศึกษาต่อเนื่อง โท – เอก ได้พัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง จนเป็นบุคลากรคุณภาพของประเทศ

หลายท่าน เมื่อทำงานจนถึงจุดหนึ่ง ก็อยากเติมเต็มและพัฒนาศักยภาพ ก็ไขว่คว้าโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

แต่สำหรับ น.เมืองสรวง ยังไม่มีโอกาสเช่นนั้น วันก่อน นายบอนเลยเขียนบันทึกบทเรียนจากหนองสรวง กับการปฏิเสธความร่วมมือจากนักวิจัยชุมชนนอกพื้นที่..... และ ประเด็นความคิดที่แตกต่าง " เมื่อได้สัมผัสกับความสำเร็จ และเหลียวมองกลับมาถึงอุปสรรคที่ได้ฟันฝ่ามา นั่นคือรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่เขาได้รับ"
หลังจากได้ฟังทัศนะของอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่ง  

ซึ่งบันทึกนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคุณ น.เมืองสรวง  ที่บันทึกความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างตรงๆ
คาดไม่ถึงว่า คุณ น.เมืองสรวง ไม่ค่อยจะพอใจ จึงเขียนแสดงความคิดเห็นออกมา อย่างเต็มที่ หลังจากที่เก็บศักยภาพในส่วนนี้ไว้นาน

เพราะเวลาว่างจากการทำงานประจำวัน มีจำกัด จึงเขียนข้อความได้น้อยกว่า ความคิดที่มี

นายบอนเคยฝันไว้ หากวันหนึ่ง คุณ น.เมืองสรวง มีโอกาสพบกับ คุณ ปภังกร ท่าทางจะมีสิ่งที่ดีๆเกิดขึ้น เพราะแนวคิดในหลายเรื่อง คล้ายๆกัน แต่คุณปภังกรอยู่ในที่ที่มีโอกาสพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่

วันหนึ่ง ให้คุณ น.เมืองสรวง ไปเรียนปริญญาเอก หลักสูตรพัฒนบูรณาการศาสตร์บ้าง เขาจะได้ดึงศักยภาพที่ซ่อนเร้นในตัวเขาออกมาใช้เสียที

 

* * * * * * * * * *

ในร้านหนังสือ จะมีพ็อคเกตบุคส์ที่ดารา คนมีชื่อเสียง เขียนออกมาขาย มีกลุ่มเด็ก 5 คนในกาฬสินธุ์ ฝันอยากจะเขียนพ็อคเกตบุคส์บ้าง แต่เขาเรียนจบแค่ ม.3 และเรียนต่อ กศน.จนได้วุฒิ ม.6

     เมื่อมีความฝัน และความตั้งใจจริง เรื่องวุฒิการศึกษาไม่ใช่อุปสรรคครับ

เพื่อนของนายบอนที่เป็นครูมัธยม รับรู้ถึงความฝันของเด็กกลุ่มนี้ และอยากให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา เลยพาพวกเขาไปทำงานที่ร้านถ่ายเอกสาร ซึ่งมีการรับพิมพ์งานให้นักศึกษา ราชมงคลด้วย

เพื่อให้มีทักษะเกี่ยวกับการผลิตหนังสือ เพราะได้ทั้งรับจ้างพิมพ์งาน ถ่ายเอกสาร เข้าเล่ม มีรายได้อีกด้วย ดีกว่าใช้เวลาว่างอย่างไม่เกิดประโยชน์เหมือนเด็กๆอีกหลายคน

หลังจากนั้น ก็เริ่มสอนถึงการเขียนหนังสือ เริ่มจากให้ไปยืมหนังสือจากห้องสมุดประชาชนที่ชอบ มาอ่าน และมาเล่าให้ฟังว่า  ชอบตอนไหน ถ้าได้เขียนหนังสือจะเขียนแบบไหน

ขั้นต่อมา ครูท่านนั้น ก็สอนวิธีการเขียนเรียงความ เอาเรียงความของคนอื่นมาให้ดูว่ามีการวางโครงเรื่องอย่างไร จนถึงเรื่องสั้น เมื่อมีข้อมูลแล้ว ให้พวกเขาลองพูด เรื่องที่อยากจะเขียนออกมา

เธอเอาเทปอัดเสียงไว้ แล้วเอาเทปของแต่ละคน สลับให้คนอื่นฟัง แล้วให้ดูว่า เรื่องที่ฟังนั้น มีการวางโครงเรื่องอย่างไร  (ทำขั้นตอนเดียวกับ ดูเรียงความ เรื่องสั้น)

แต่การพูดไม่เหมือนการเขียน พูดได้ง่าย แต่การเขียนต้องกลั่นกรอง ซึ่งกว่าจะขึ้นต้นได้ คิดแล้วคิดอีก

“อยากเขียนเรื่องอะไร โครงเรื่องยังไง พูดให้ฟังซิ” แล้วเอาเทปอัดคำพูดของแต่ละคนไว้

เสร็จแล้ว แบ่งเทปอัดเสียงของแต่ละคน ให้เอาไปถอดเทป พิมพ์ออกมา
ทำไปอีกหลายครั้ง พิมพ์ออกมา แล้วเอามาเข้าเล่มรวมกัน ได้ 200 หน้า

ปล่อยให้เวลาผ่านไป 1 เดือน แล้วย้อนกลับมาทำขั้นตอนเดิม เหมือนตอนที่เอาเรียงความมาให้ดูอีกครั้ง ให้ดูว่า เรื่องที่เขียน (พูดออกมา) มีการวางโครงเรื่องยังไง พอใจหรือไม่ อยากจะปรับปรุงแก้ไขตรงไหน

และแล้ว เด็ก 5 คน ที่มีวุฒิการศึกษา เพียง ม.6 สามารถเขียนหนังสือ เป็นพ็อตเกตบุคส์ตามที่ฝันไว้ได้ และมีโอกาสได้พัฒนาทักษะต่างๆต่อไป โดยการเขียนบทความ เขียนข่าวท้องถิ่น

ครูมัธยมตัวเล็กๆ คนหนึ่งสามารถค้นหาและพัฒนาศักยภาพของเด็กกลุ่มหนึ่งขึ้นมาได้ โดยใช้วงจร P- D - C  -A (Plan – Do – Check – Action) ในแบบของเธอเอง

เก่งกว่านายบอนอีกครับ )))))



หมายเลขบันทึก: 40550เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2006 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เห็นด้วยค่ะ

ไลเชื่อว่าทุกคนมีพลัง เท่ากันหมด ไม่มีใครเหนือไปกว่าใคร  แต่อยู่ที่ว่าเราจะแสดงพลังนั้นออกมาให้

สาธารณะชนเห็นได้อย่างไร

 

พวกเราทุก ๆ คน ต่างช่วยกันดึงและช่วยกันดันศักยภาพต่าง ๆ ที่ตนเองมีออกมาครับ

ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ติชม ให้กำลังใจ และทุก ๆ สิ่งทุกอย่างจะเปิดกว้างเหมือนกับขยะที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรหม

ถึงแม้ว่าสังคมเสมือนของเรา วันนี้จะจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ แต่สังคมในใจของเรานั้นกว้างใหญ่เหลือคณานับ

ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้เสียสละทุก ๆ ท่านที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้สิ่งที่ดีงามมาก ๆ ใน Gotoknow แห่งนี้ครับ

ล้อเล่นน่าเพื่อน......... 

" ศรัทธาคือความเชื่อมั่น  จงเร่งสร้างความสมานฉันท์ ให้เกิดแก่ชุมชนทุกท้องถิ่นทั่วไทย "

                              น. เมืองสรวง 16.00 น.23/07/06

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท