วิกฤติเศรษฐกิจ : แก้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องทางเศรษฐกิจ


ทุกวันนี้เราต้องนำเข้าตัวยา (ภูมิปัญญาทางเศรษฐศาสตร์) จากที่อื่นมาช่วยต่อสู้กับเชื้อโรค (วิกฤติเศรษฐกิจ) ทั้ง ๆ ที่เรามีตัวยาชั้นดีมีคุณภาพ (ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง) อยู่ในประเทศ แต่เรากลับมองข้าม

          เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจมาเยี่ยมเยือนทั้งเกิดจากการที่เราเชื้อเชิญ (ปัจจัยเหตุเกิดจากภายในประเทศ) และไม่ได้เชื้อเชิญ (ปัจจัยเหตุเกิดจากภายนอกประเทศ) ก็จะเกิดวิวาทะของ นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ ออกมาแสดงทรรศนะกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิวาทะเพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้แก่สังคม ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้มีผลต่อทิศทางการกำหนดเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

         วิวาทะส่วนใหญ่ต่างได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับหลักตรรกะและข้อสมมติฐานทางเศรษฐศาสตร์ ที่อิงอยู่กับปรัชญาและแนวคิดของเศรษฐศาสตร์สำนักใด แนวคิดและหลักปรัชญาทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญซึ่งถือได้ว่าเป็นรากฐานของวิวาทะทุกยุคทุกสมัยได้แก่ แนวคิดของสำนักคลาสสิค และแนวคิดของสำนักเคนส์เซี่ยน ซึ่งบทสรุปของความเชื่อไม่ว่าจะออกมาแนวทางไหน สิ่งสำคัญที่สุด เราต้องเข้าใจปัจจัยเหตุของวิกฤติและแนวความคิดเชิงปรัชญาของสำนักเศรษฐศาสตร์เพื่อนำมาประกอบการวิเคราะห์อย่างเป็นองค์รวม เราก็จะสามารถเข้าใจตรรกะและกระบวนการทางความคิดอย่างสมเหตุสมผล

 

         ระยะเศรษฐกิจฟื้นตัว (economic recovery)   ระยะเศรษฐกิจรุ่งเรือง (economic prosperity) ระยะเศรษฐกิจถดถอย (economic recession) และระยะเศรษฐกิจตกต่ำ (economic depression)     เป็นภาวะที่ดำรงอยู่ตามวัฏจักรเศรษฐกิจ จะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ปัจจัยเหตุ และแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ในยุคปัจจุบันที่ทุกมิติเชื่อมโยงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นก็จะทวีความรุนแรงและขยายเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

              เราไม่สามารถหลีกพ้นวัฏจักรเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถที่จะ สร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ เพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจได้ การสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจจะช่วยบรรเทาผลกระทบทางวิกฤติเศรษฐกิจ ผ่อนหนักให้เป็นเบา และเป็นรากฐานในการสนับสนุนให้การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปรียบเสมือน เมื่อเราเจ็บป่วยหากเรามีภูมิคุ้มกันที่ดีก็จะไม่รุนแรง ร่างกายและจิตใจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

 

           การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ดีที่สุดคือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ โดยอาศัย หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เกี่ยวเนื่องจาก

            ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่มีลักษณะอกาลิโก (ไม่เลือกกาลไม่เลือกสมัย) คือ สามารถใช้ได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ เพราะเป็นหลักแห่งความเป็นจริงเสมอ โดยมุ่งเน้นพัฒนาไปสู่ “ความยั่งยืน” ของทุกมิติทางสังคม โดยหลักแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกคนและทุกองค์กร เนื่องจาก “ความพอเพียง” มีคุณลักษณะ ที่สำคัญคือ

 

          ประการแรก ความพอประมาณ คือ เป็นความพอดีที่ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป หรือ ไม่สุดโต่งทั้งสองด้าน และที่สำคัญในความพอดีที่มีอยู่หรือได้มานั้นต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น เป็นความพอดีที่ตั้งอยู่บนหลักของศีลธรรมและคุณธรรมเป็นสำคัญ

          

         ประการที่สอง ความสมเหตุสมผล ประกอบไปด้วย

                - ความสมเหตุสมผลในการจัดลำดับความสำคัญ เป็นการจัดลำดับความสำคัญในการตัดสินใจของทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในประเด็นที่มองถึงความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยมีผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

               - ความสมเหตุสมผลในกระบวนการดำเนินการ เป็นการคำนึงถึงความเหมาะสมของวิธีการและขั้นตอนของการดำเนินการต้องโปร่งใส ไม่เอื้อผลประโยชน์ให้กับกลุ่มตนเองและพวกพ้อง ที่สำคัญต้องยึดหลักธรรมาภิบาล

               - ความสมเหตุสมผลในด้านผลกระทบหรือต้นทุนทางสังคม เป็นการคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมโดยรวม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักของความสมดุลและดุลยภาพโดยรวมของมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง

 

         ประการที่สาม ความสมดุลของความสัมพันธ์ในมิติด้านต่าง ๆ คือ เป็นความสมดุลทางหลักความคิด ความสมดุลทางหลักการพูด ความสมดุลทางหลักการปฏิบัติ รวมถึงความสมดุลในมิติอื่น ๆ ซึ่งเมื่อความพอเพียงเป็นการไม่ไปเบียดเบียนตัวเองและคนอื่น รวมทั้งการไม่ไปเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในลักษณะดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ในเชิงอุดหนุน ส่งเสริม เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นการดำเนินความสัมพันธ์ที่แสวงหาประโยชน์ส่วนรวม ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นเป้าหมายหลัก เพื่อนำไปสู่จุดสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แทนการนำไปสู่จุดวิกฤติ 

  

          ประการที่สี่ การสร้างภูมิคุ้มกัน คือ ความสามารถในการรองรับหรือรับมือกับสภาวการณ์ ความผันผวน และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก ความพอเพียง ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น จึงได้รับผลกระทบไม่มาก และสามารถกลับสู่จุดสมดุลได้อย่างรวดเร็ว

 

                เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) เป็นเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นความพอประมาณทำอะไรไม่เกินตัว กินพอดี อยู่พอดี ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นรวมทั้งไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ใช้หลักความสมเหตุสมผลในการจัดลำดับความสำคัญ วิธีการ รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในมิติด้านต่าง ๆ จากการดำเนินเศรษฐกิจ และเป็นการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ”

 

          เราสามารถสร้างและผลิตภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ ได้ตั้งแต่วันนี้เพื่อเป็นตัวยาชั้นดีในการต่อสู่กับวิกฤติเศรษฐกิจ ที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในยุคโลกาภิวัฒน์ เมื่อเราผลิตตัวยาโดยการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ หากเผชิญกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ตัวยาอื่น ๆ (เมนูนโยบายทางเศรษฐกิจของสำนักอื่นๆ ) ก็จะเป็นเพียงตัวยาเสริมเพื่อต่อสู่กับเชื้อโรค (วิกฤติ) เท่านั้น

 

           ทุกวันนี้เราต้องนำเข้าตัวยา (ภูมิปัญญาทางเศรษฐศาสตร์) จากที่อื่นมาช่วยต่อสู้กับเชื้อโรค (วิกฤติเศรษฐกิจ) ทั้ง ๆ ที่เรามีตัวยาชั้นดีมีคุณภาพ (ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง) อยู่ในประเทศ แต่เรากลับมองข้าม

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 404781เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2010 07:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท