ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

การศึกษาดูงาน&ทัศนศึกษา ณ เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น (๑)


     เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๓ ผู้เขียนพร้อมด้วยเพื่อนพ้องน้องพี่ และคณาจารย์ในโครงการพัฒนาผู้บริหาร หลักสูตร Mini MBA คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน ๔๙ ท่าน ได้เดินทางถึงหมู่เกาะคิวชู โดยเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไปถึงสนามบินฟุกุโอกะด้วยสายการบินไทย

     หลังจากเดินทางถึงเมืองฟุกุโอกะ คณะทั้งหมดได้เดินทัศนศึกษาศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในหมู่เกาะคิวชูที่ตั้งอยู่ในเมือง ชื่อ "ศาลเจ้าดาไชฟุ เทมมังกุ"  ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. ๙๐๕ เพื่ออุทิศแก่ท่านมิชิสะเนะ ซึงะวะระ ศิลปินด้านวรรณคดีจีน และการศึกษา ท่านนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งภูมิปัญญา

     จุดเด่นของศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศาลเจ้าของ "ศาสนาชินโต" ซึ่งเป็นศาสนาหลัก และเก่าแก่ที่ชาวญี่ปุ่นให้การยอมรับนับถือ นอกเหนือจากพระพุทธศาสนานิกายเซ็นที่เน้นหนักเรื่องคุณค่าภายในซึ่งประสานสอดคล้องกับธรรมชาติ อาจารย์โสภณซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ และเป็นผู้เชี่ยวด้านญี่ปุ่นเพราะศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยเกียวโต ๑๐ ได้เล่าให้ฟังว่า "ชาวญี่ปุ่นจะไปประกอบพิธีเกี่ยวกับการเกิด ณ ศาลเจ้าของศาสนาชินโต พิธีแต่งงานในโบสถ์ของศาสนาคริสต์ และพิธีเกี่ยวกับการ ณ วัดของพระพุทธศาสนา" แต่ผู้เขียนมองว่า วัดที่จะทำพิธีน่าจะเป็นนิกายอื่นๆ มากกว่านิกายเซ็น

     จุดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของศาลเจ้าแห่งนี้คือ เด็กนักเรียนที่กำลังจะสอบเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีจำนวนมาก ได้เดินทางมา ณ ศาลเจ้าแห่งนี้ เพื่อร่วมประกอบพิธีกรรมที่จัดขึ้นโดยวัด วัตถุประสงค์ของการร่วมพิธีก็เพื่อร่วมอธิษฐานเพื่อให้ตัวเองสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยดังๆ เช่น เกียวโต และโตเกียว ได้สำเร็จ 

     ผู้เขียนมองว่า สาระสำคัญและเป้าหมายที่แท้จริงของการมาอธิษฐานนั้น น่าจะมีเหตุผลอื่นๆ ประกอบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำท่านมิชิสะเนะ ซึงะวะระ ซึ่งเป็นศิลปินด้านวรรณคดีจีน และการศึกษามาเป็น "Role Model" และเป็น "Best Practice" อันจะก่อให้เกิด "แรงบันดาลใจ"  แก่ตัวผู้เรียนเองเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ตัวเองก้าวไปสู่เป้าหมาย และประสบความสำเร็จในด้านการศึกษา

เด็กนักเรียนมัธยมปลายของเมืองฟุกุโอกะกำลังตั้งใจอธิษฐานในระหว่างการทำพิธีเพื่อให้สอบผ่านการแข็งขันเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังตามที่ตัวเองมุ่งมาตรปรารถนา

   คุณครูพาเด็กนักเรียนชั้นประถมมาศาลเจ้าเพื่อกราบไหว้ และสร้างแรงบันดาลให้แก่เด็กนักเรียนเหล่านี้ว่า การศึกษานั้นสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตได้อย่างไร

     นอกจากนี้ การยกย่องท่านมิชิสะเนะ ซึงะวะระ ผู้เป็นศิลปินด้านวรรณคดีจีน และการศึกษาเช่นนี้ ทำให้เราได้ประจักษ์ว่า "ชนชาติญี่ปุ่น" ให้ความสำคัญกับ "การศึกษาและพัฒนาการศึกษา" การพัฒนาที่ยั่งยืนและสำคัญที่สุดคือ "การพัฒนาคน" และ "วิธีการที่จะพัฒนาคนได้ดีที่สุดคือการพัฒนาให้คนมีการศึกษา และได้รับการศึกษา" เพื่อให้การศึกษาได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาคน และให้คนพัฒนาสังคม และชาติบ้านเมืองต่อไป

     เราจะพบว่า ชาติใด หรือประเทศใดก็ตามที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา และทุ่มเททรัพยากรทางการเงิน บุคคล และอื่นๆ เพื่อใช้ในการพัฒนาการศึกษา ชาติเหล่านี้ล้วนประสบความสำเร็จในการพัฒนา และสร้างชาติได้ในระยะยาว  และเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ต่างๆ ในสังคม ย่อมทำให้การแสวงหาทางเลือกเพื่อจัดการกับปัญหาย่อมทำได้ง่าย และเป็นระบบมากขึ้น สอดรับกับวลีที่มักเอ่ยถึงการศึกษาในสังคมไทยว่า "รากฐานของบ้านคืออิฐ รากฐานของชีวิตคือการศึกษา"

    

หมายเลขบันทึก: 404459เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2010 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นมัสการเจ้าค่ะ

เห็นข่าวอยุธยาถูกน้ำท่วม

ไม่ทราบที่วังน้อยเป็นอย่างไรบ้างเจ้าคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท