กิจกรรมเศรษฐกิจที่บิดเบือนกฎแห่งอุปสงค์อุปทาน


การเกิดวิกฤติส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นอย่างมาก ขึ้นอยู่กับกาล (เวลา) และเทศะ (สถานที่) ของวิกฤติที่เกิด และรูปแบบการเกิดวิกฤติในยุคปัจจุบันยังซับซ้อนเชื่อมโยงกันจนแยกไม่ออก ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติสังคม วิกฤติการเมือง รวมทั้งวิกฤติธรรมชาติ ทั้งหมดมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัย สะท้อนให้เห็นถึง หากเมื่อใดที่กฎแห่งอุปสงค์อุปทาน (กฎธรรมชาติแห่งเศรษฐกิจ) ถูกบิดเบือนจากความโลภ (กิเลส) ของมนุษย์ ก็จะนำพาให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าเข้าสู่วงจรแห่งวิกฤติเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ

         หากกล่าวตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นช่วงทศวรรษที่ ๑๙๓๐  วิกฤติเศรษฐกิจในละตินอเมริกา วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งจากประเทศไทย วิกฤติเศรษฐกิจในรัสเซียและเม็กซิโก และล่าสุดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาอันเกิดจากปัญหาซับไพร์ม ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของวัฏจักรเศรษฐกิจ (economic cycles) ในรูปแบบของภาวะเศรษฐกิจถดถอย (economic recession) หนึ่งในองค์ประกอบทั้ง ๔ คือ ระยะเศรษฐกิจฟื้นตัว (economic recovery), ระยะเศรษฐกิจรุ่งเรือง (economic prosperity), ระยะเศรษฐกิจถดถอย (economic recession) และ ระยะเศรษฐกิจตกต่ำ (economic depression) ซึ่งหมุนเวียนกันไปเป็นวัฏจักรอย่างนี้มาช้านาน แต่จะแตกต่างกันไปตามกาล (ความยาวนานของระยะเวลาที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง) และ เทศะ (สถานที่เกิด) รวมทั้งความรุนแรงและผลกระทบก็จะแตกต่างกันไปด้วย

 

           การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมามีนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการอื่น ๆ ทั้งในและนอกประเทศ มองถึงปัจจัยเหตุของปัญหาและผลกระทบแตกต่างกันออกไปตามมุมมองและตรรกะของแต่ละท่าน ซึ่งความเห็นที่เหมือนและแตกต่างกันเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีคุณูปการสำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งมุมมองที่แตกต่างนี้บ่งบอกถึงความสวยงามและอิสรภาพทางความคิดเป็นอย่างดี นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ให้กับสังคมต่อไปเรื่อย ๆ ในประเด็นดังกล่าวหากมองลึกลงไปที่เหตุปัจจัยปฐมฐานแล้วจะเห็นได้ว่า “วิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา เป็นเพียงอีกหนึ่งมิติของยุคเศรษฐกิจผิดธรรมชาติ” เกี่ยวเนื่องจาก

 

         หากมององค์รวมของวิวัฒนาการของการพัฒนาทางเศรษฐกิจผ่านมิติของยุคของการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนของความสำคัญขององค์ประกอบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ๓ ประการ คือ การผลิต การแลกเปลี่ยน และการบริโภค โดยมีสมติฐาน คือ

          ๑.     มนุษย์เกิดมาต้องดำรงชีพด้วยการบริโภคเป็นสำคัญ

          ๒.     มนุษย์มีต้นทุนในการเห็นแก่ตัวสูง

          ๓.     มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความไม่รู้แต่สามารถเรียนรู้ได้จากตำราและประสบการณ์

          ๔.     พันธุกรรมและภาวะแวดล้อมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่สำคัญของมนุษย์

 

การแบ่งยุคของวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจโดยสรุปสามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ ยุค คือ

 

                  ๑. การผลิต – การบริโภค – การแลกเปลี่ยน เป็นยุคที่มนุษย์ให้ความสำคัญกับการผลิตเพื่อบริโภคแบบยังชีพและไม่เบียดเบียนผู้อื่นและธรรมชาติ ปัจจัยการผลิตใช้แรงงานเป็นองค์ประกอบหลัก

                  ๒. การผลิต – การแลกเปลี่ยน – การบริโภค เป็นยุคที่มนุษย์เริ่มมีการผลิตเพื่อแลกเปลี่ยนในสิ่งที่ตนเองมีเหลือและสิ่งที่ตนเองขาดแคลน โดยปัจจัยการผลิตในด้านทุนเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น มุ่งผลิตส่วนเกินโดยมีกำไรเป็นเป้าหมายและการแลกเปลี่ยน (ระบบเงินตรา) เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

                  ๓. การบริโภค – การแลกเปลี่ยน – การผลิต เป็นยุคที่มนุษย์มุ่งเน้นที่การบริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อสนอง “ความพึงพอใจสูงสุด” แบบบ้าคลั่ง ก่อเกิด “ลัทธิบริโภคนิยม” เป็นยุคการบริโภคเฟื่องฟูเนื่องมาจากมูลค่าส่วนเกินทางเศรษฐกิจมีมากขึ้นและมนุษย์มีการเบียดเบียนมนุษย์ด้วยกันเองและเบียดเบียนธรรมชาติอย่างรุนแรง

                 ๔. การแลกเปลี่ยน – การบริโภค – การผลิต เมื่อมนุษย์ติดกับดับของลัทธิบริโภคนิยม จึงมุ่งแสวงหาความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบเพื่อไปสนองตอบต่อความต้องการของตนเอง มนุษย์ให้ความสำคัญกับ “เงินตรา” เหนือสิ่งอื่นใด โดยใช้อาวุธ (เงินตรา) ในการทำสงครามทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบเพียงเพื่อรักษาและแสวงหาความมั่งคั่งสูงสุด โดยฉีกมิติ ทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมทิ้งไป

 

           ในแต่ละยุคก็จะมีวัฏจักรเศรษฐกิจเกิดขึ้นหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปเป็นวัฏจักรอยู่เสมอ แต่อาจจะแตกต่างที่ความรุนแรง ซึ่งในยุคที่ ๑ และ ๒ ความรุนแรงและผลกระทบของวิกฤติอาจจะไม่มากนัก เนื่องจาก การเกิดวิกฤติยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน (วิกฤติธรรมชาติ และวิกฤติอื่น ๆ ) มากระทบมากนัก แต่เมื่อมาถึงยุคที่ ๓ เชื่อมต่อกับยุคที่ ๔ เฉกเช่นปัจจุบัน การเกิดวิกฤติส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเป็นอย่างมาก ขึ้นอยู่กับกาล (เวลา) และเทศะ (สถานที่) ของวิกฤติที่เกิด และรูปแบบการเกิดวิกฤติในยุคปัจจุบันยังซับซ้อนเชื่อมโยงกันจนแยกไม่ออก ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติสังคม วิกฤติการเมือง รวมทั้งวิกฤติธรรมชาติ ทั้งหมดมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัย สะท้อนให้เห็นถึง หากเมื่อใดที่กฎแห่งอุปสงค์อุปทาน (กฎธรรมชาติแห่งเศรษฐกิจ) ถูกบิดเบือนจากความโลภ (กิเลส) ของมนุษย์ ก็จะนำพาให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าเข้าสู่วงจรแห่งวิกฤติเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 403835เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2010 04:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท