ปัญหาและวิธีการแก้ไข ตอนที่ 1 การฝึกหัดเพลงอีแซวในโรงเรียน


งานเพลงอีแซวในโรงเรียนมีวันจางหายไป เพราะขาดผู้ที่ทำหน้าที่จะสานต่ออย่างจริงจัง

ปัญหาและวิธีการแก้ไข

การจัดกิจกรรม

เพลงอีแซวในโรงเรียน

ตอนที่ 1 การฝึกหัดเพลงอีแซวในโรงเรียน

โดย นายชำเลือง มณีวงษ์

ต้นแบบกิจกรรมนันทนาการเพลงอีแซว ประเทศไทย รุ่นที่ 1

           ปัญหาทุกปัญหา มีเอาไว้ให้ได้รับการแก้ไขถึงแม้ว่าบางประเด็นปัญหาจะแก้ไขได้ยากมากจนถึงไม่สามารถที่จะแก้ไขได้เลยก็ตาม แต่ในวิถีชีวิตที่เราต้องเดินหน้าต่อไป ความความเข้มแข็งอดทน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก จะเป็นพลังให้เราเดินหน้าต่อไปได้ ถึงแม้ว่าจะต้องสะดุด จะต้องหยุดไปชั่วขณะหนึ่งก็ตาม แต่กลับได้รับผลตอบแทนที่เรียกว่า “เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น” มีคำถามตรงมาหาผมมากมายในการแสดงความเห็น ขอทราบเรื่องราวในการฝึกหัดเพลงพื้นบ้านให้กับนักเรียนว่า ทำอย่างไร ราบรื่นดีไหม มีปัญหาอะไร อย่างไรหรือไม่ ต่อไปใครจะสานต่องานนี้และปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และจะแก้ไขได้อย่างไร

            ด้วยเวลาของผมที่เหลือน้อยเข้ามาทุกขณะ เพราะอีกไม่นานผมจะครบกำหนดเกษียณอายุราชการ เวลาราชการที่ผ่านไปเกือบ 42 ปี พอ ๆ กันกับเวลาที่ผมมีความเกี่ยวพันอยู่กับศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านหลายชนิด ทั้งที่ผมก็ไม่ได้มีความเก่งกาจปราดเปรื่องในเรื่องนี้มากมายนัก แต่ผมเป็นผู้ใฝ่หาใฝ่รู้ ผมสืบค้นหาครูเพลง เรียนรู้และฝึกหัดจากต้นฉบับในหลาย ๆ บุคคลอย่างต่อเนื่อง และเมื่อใดที่ผมมีปัญหา ผมจะสอบถามท่านผู้รู้ นำเอามาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไข ที่ผมกล่าวว่าเหลือเวลาอีกเพียงเล็กน้อยงานเพลงพื้นบ้านที่ผมสืบสานมาอย่างต่อเนื่องจะจางลงไปก็เป็นเพราะว่า งานเพลงพื้นบ้าในโรงเรียนไม่เหมือนกับวงเพลงข้างนอกหรือวงชาวบ้าน ที่นักแสดงทุกคนต่างก็มีหัวใจเดียวกันอยู่ที่คณะของตนเอง แต่วงเพลงพื้นบ้านในโรงเรียน เด็ก ๆ ทุกคนมาเรียนรู้ในวิชาพื้นฐานและวิชาที่พวกเขามีความถนัด ส่วนวิชากิจกรรมการแสดงเพลงอีแซวที่เด็ก ๆ เขาสมัครมาเข้ากลุ่มอยู่กับครู เป็นเพียงการรวมตัวกันชั่วระยะเวลาอันสั้น อาจจะ 3-6 ปีหรือบางคนก็ไม่ถึงปีเสียด้วยซ้ำมีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกไปจากกลุ่ม

            

            วงเพลงอีแซวในโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อำเภอดอนเจดีย์ เป็นวงเพลงที่มีการก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2535 เป็นเวลา 19 ปี แล้ว แต่การที่จะทำให้วงเพลงอยู่ได้อย่างถาวร ทำได้ยากมาก ผมกล้าที่จะแสดงความเห็นตรงนี้ได้เลยว่า ถ้าจะไปให้ถึงจุดที่เรียกว่า “เป็นอาชีพการแสดงเพลงพื้นบ้าน” จริง ๆ แทบจะไม่มีเลย เพราะคำว่า เป็นนักแสดงอาชีพนั้น หมายถึงมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และงานที่ได้ไปแสดงจะต้องเกิดจากความถูกใจของผู้หา จ้างวานหรือว่าเชิญไป ผู้แสดงมีรายได้จากการแสดงเป็นผลตอบแทน แสดงกันเป็นคืน (3-4 ชั่วโมง/งาน) มิใช่เล่นเพลงอีแซว 10-15 นาที แค่นี้ยังไม่พอที่จะเรียกว่าเป็นกลุ่มผู้สืบสานได้จริง ๆ ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งเดียวที่เป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่สุด นั่นคือ “คุณภาพของนักแสดง” ผู้แสดงทุกคนจะต้องมีเสน่ห์ในตัวเอง สามารถนำเอาความโดดเด่นของตนเองออกมานำเสนอให้เป็นที่ถูกใจท่านผู้ชมได้

           ความมีเอกลักษณ์ หรือเรียกว่า อัตลักษณ์ คือ ความเป็นตัวตนที่มีลักษณะเฉพาะ หรือเป็นความรู้สึกนึกคิดที่คนคนหนึ่งมีต่อตนเองว่า เราคือใคร มีคุณสมบัติเฉพาะตัวอย่างไร เป็นความรู้สึกที่มีต่อตนเอง สิ่งนี้สำคัญมาก เพราะว่านักแสดงเวลาขึ้นไปทำหน้าที่บนเวทีจะต้องสวมบทบาทตามที่ได้รับมอบหมาย และทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เมื่อจบบทบาทการแสดงในแต่ละงาน หมดหน้าที่ตามบทบาทการแสดงก็กลับมาเป็นตัวตนอย่างเดิม ตรงนี้เองที่ทำให้นักแสดงทุกคนมีการพัฒนาไปสู่ความสามารถที่สูงขึ้นได้ หากไม่รู้จักตนเอง ประเมินค่าตนเองไม่ได้ การพัฒนาก็ยากที่จะทำได้ ดังนั้นการที่นักแสดงสามารถวิเคราะห์ตนเองได้ เป็นใบเบิกทางไปสู่การพัฒนาที่น่าส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง

           ในเพลงอีแซว 1 วง มีนักแสดงอย่างน้อย ๆ ก็ต้อง 10 คน จึงจะรับงานแสดงบนเวทีใหญ่ได้ดี หากมีผู้แสดงน้อยกว่านี้ก็จะต้องมีความสามารถสูงมาก ๆ จึงจะดึงผู้ชมให้ติดตามได้นาน ๆ ในผู้แสดง 12 คน แบ่งกลุ่มความรับผิดชอบเป็น 3 กลุ่ม คือ

           1. ผู้ร้องนำ (พ่อเพลง แม่เพลง) อย่างน้อย 2 คน (ชาย 1 คน-หญิง 1 คน)

           2. ผู้แสดงประกอบ ลูกคู่ รำประกอบการแสดง 5-6 คน

           3. ผู้ให้จังหวะ ตะโพน (กลอง) ฉิ่ง และกรับ 2-3 คน

           ในวงเพลงขนาดใหญ่ที่มีนักร้องนำมากกว่า 3-4 คู่ และผู้รำประกอบ 8-10 คน นักดนตรีอีก 3-5 คน ในเพลงอีแซววงหนึ่งอาจจะมีผู้แสดงมากถึง  20 คน ก็ได้ จำนวนผู้แสดงไม่มีกำหนดตายตัวว่า เพลงอีแซว 1 วงควรที่จะมีนักแสดงเท่าไร แต่ในสมัยก่อน ๆ เจ้าภาพมักจะหาเพลงเป็นคู่ ๆ เช่นว่าจ้างนักแสดง จำนวน 3 คู่ (6 คน) ก็ถือว่าเป็นเพลง 1 วงแล้ว

           การฝึกหัดเพลงอีแซวในโรงเรียนมีความเปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะในเวลา 1 ปี จะมีนักเรียนจบการศึกษา จบชั้น ม.3 และจบชั้น ม.6 ออกจากโรงเรียนไป ทำให้ครูเพลงต้องจัดหาคนมาแสดงแทน กว่าที่จะทำให้วงเพลงเข้าที่เข้าทางก็กินเวลาไปเป็นเดือนหรือนานกว่านั้น ยิ่งถ้าผู้ที่จบการศึกษาออกไป เคยทำหน้าเป็นพ่อเพลง แม่เพลงด้วยแล้ว ก็ปั่นป่วนมากเหมือนกันกว่าที่จะเรียบร้อยอย่างเดิม แต่สำหรับผมเคยชินกับสภาพอย่างนี้มานานพอสมควร กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียอีก หรือกลายเป็นหน้าที่ ที่เราต้องสรรหา เป็นความรับผิดชอบที่ครูผู้มีบทบาททางด้านนี่จะต้องดำเนินงานให้ได้ในเมื่อถึงวันนั้น

            เด็ก ๆ ที่มีความสามารถมีมาก แต่เด็ก ๆ ที่จะเข้ามาอยู่กับเรา มาร่วมงานกับกิจกรรมการแสดงเพลงอีแซวทั้งภายในโรงเรียนและภายนอกนี่ซิ หาตัวได้ยากมาก หลายครั้งที่ผมได้ตัวคนมาเป็นนักแสดง เสียงดี มีความกล้าแสดงออก แต่ผู้ปกครองไม่อนุญาต เด็ก ๆ บางคนผู้ปกครองให้การสนับสนุน แต่ตัวเด็กให้ความสนใจในการฝึกหัดเพลงอีแซวน้อยมาก กลับไปสนใจเรื่องอื่น ๆ (เรื่องส่วนตัว) เด็ก ๆ บางคนมาอยู่กับเราด้วยคุณสมบัติที่ไม่สามารถเป็นนักแสดงได้ ฝึกอย่างไรก็เป็นตัวของตัวเองอยู่อย่างเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางบุคลิกลักษณะ ไม่สามารถที่จะค้นพบลักษณะเฉพาะตัวที่จะแสดงความโดดเด่นออกมาได้

            ทำให้การฝึกหัดเพลงอีแซวในโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่ผมรับผิดชอบอยู่ต้องมีปัญหาวนเวียนกันต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงเป็นตัวบ่งชี้ว่า วงเพลงอีแซวหรือวงเพลงพื้นบ้านในโรงเรียน มีได้แต่ไม่สามารถที่จะสร้างให้วงเพลงอยู่คู่กับสถานศึกษาได้ตลอดไป อาจจะอยู่ได้ 10 ปี 20 ปีหรือนานกว่านั้น แต่เราไม่สามารถที่จะฝังรากลึกหรือให้ดิ่งจมดินได้นานที่สุดตลอดไปได้  ที่สำคัญที่สุด คือ ระบบของงานราชการมีวันสิ้นสุดการทำงาน วันที่เรารับราชการอยู่ เรามีสิทธิ เราเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษา เรามีห้องทำงาน เรามีความเป็นเจ้าของ เป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษานั้น ๆ  มีพลังมีแรงโน้มน้าวนักเรียนให้เข้ามาร่วมงานกับเราได้ ต่อไปเมื่อครูเกษียณอายุราชการ เด็ก ๆ เหล่านั้นก็ไปมีอาชีพอย่างอื่น พวกเขาไม่มีเวลาว่างฝึกซ้อมเพลงอีแซวเหมือนอย่างตอนที่เป็นนักเรียน การรวมตัวกันเล่นเพลงในตอนเย็น ๆ ที่เคยทำมาตลอด 6 ปี ที่เรียนอยู่ก็ทำไม่ได้ ตรงนี้เองคือบทสรุปว่า “งานเพลงอีแซวในโรงเรียนมีวันจางหายไป เพราะขาดผู้ที่ทำหน้าที่จะสานต่ออย่างจริงจัง”

              

             ผมอยู่กับเด็ก ๆ ในห้อง 512 โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ถ้านับเผื่อไปถึงปี พ.ศ.2554 ก็จะเป็นเวลา 20 ปีพอดี ตลอดเวลาที่ผ่านมา 19 ปี ห้อง 512 ได้ถูกจัดเป็นห้องเรียน ห้องแสดงผลงาน ห้องศูนย์การฝึกปฏิบัติเพลงพื้นบ้านหลายชนิด เป็นที่เรียนรู้ของนักเรียนทั้งโรงเรียนและจากที่อื่น ๆ  เป็นที่ฝึกฝนอาชีพการแสดงพื้นบ้านผ่านมาระยะยาวให้กับนักเรียนและครอบครัว เป็นที่พักพิงยามเหงา ยามมีทุกข์ใจ มีครูที่ผ่านประสบการณ์ทางการแสดงเพลงพื้นบ้านมาโดยตรงคอยให้การดูแล และที่สำคัญ “เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของกลุ่มบุคคลที่รักษาวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่มาได้อย่างยาวนาน”

 

ติดตามตอนที่ 2 การพัฒนาความสามารถของนักแสดง

หมายเลขบันทึก: 403537เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2010 13:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท