แผนแม่บท


แผนแม่บท

บทนำ

 

ประเทศไทยได้ประกาศใช้นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศฉบับแรก (IT2000) และได้ดำเนินการโดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ (Knowledge -based Economy/Society : KBE/KBS) และด้วยองค์ประกอบทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจึงต้องมีการกำหนดนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ  ที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทั้งในและต่างประเทศ  จึงได้จัดทำกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศในระยะที่สอง  IT 2010  ซึงจะครอบคลุมเวลา 10 ปี (พ.ศ.2544-2553)  โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศ  ในฐานะเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ  ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม  โดยเน้นถึงการประยุกต์ใช้ในสาขาหลักที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาอย่างสมดุลย์ระหว่างภาคเศรษฐกิจและภาคสังคม  โดยเน้นการพัฒนาด้าน IT ใน 5 สาขา ได้แก่ 1) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในภาครัฐ (e-Government) 2) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในภาคอุตสาหกรรม (e-Industry)  3) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในภาคการพาณิชย์ (e-Commerce)  4)การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในภาคการศึกษา (e-Education)  5) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในภาคสังคม (e-Socitey) รวมไปถึงการเสริมสร้างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Industry) ให้มีขีดความสามารถและความเข้มแข็งมากขึ้น โดยมีความสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ให้ประเทศไทยได้พึ่งตนเองด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อทดแทนการซื้อเทคโนโลยี  โดยมีพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาคนให้ มีคุณภาพเพียงพอในทุกระดับการศึกษา  มีการใช้ไอทีมาประยุกต์ใช้กับงานด้านต่างๆ ของประเทศ เช่น ด้านเกษตรสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม พลังงาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา การบริหารจัดการ การสนับสนุนคนพิการ ความมั่นคงของประเทศ  เป้าหมายให้แผนไอที 2010 เป็นแผนที่เน้นด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ลดความยากจนของคนในประเทศโดยใช้ไอทีเข้าช่วย เป็นการพัฒนาระหว่าง เศรษฐกิจเก่าและเศรษฐกิจใหม่เข้าด้วยกัน ซึ่งเพิ่มเติมจากแผนไอที 2000 ซึ่งเป็นแผนที่เน้นความสำคัญด้าน โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรและการปกครองที่ดี ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จ จากเอกสาร  สรุปผลการประเมินแผนแม่บท ICT ฉบับที่ ที่ปรากฏใน(ร่าง) วิสัยทัศน์ พันธกิจ และประเด็นยุทธศาสตร์ของแผ่นแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552 พบว่า ดัชนีชี้วัดประเทศไทยอยู่ในในด้านการแข่งขันอยู่อันดับที่ 33 จาก 55 ประเทศทั่วโลก ด้านความพร้อมอยู่อันดับที่ 47 จาก 70 ประเทศทั่วโลกแต่มีแนวโน้มลดลง ปัจจัยที่ทำให้การพัฒนา เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ของประเทศลดลงไทยคือความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พอเพียง จากการวิเคราะห์ SWOT มีข้อสรุปว่าในแผน ICT ฉบับที่ 2 ควรมุ่งเน้นการแก้ไขจุดอ่อน 2 ประการคือ คน และการบริหารจัดการ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า เป็นสังคมอุดมปัญญา (Smart Thailand) มีการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดภายใต้เศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนทุกระดับมีความรอบรู้ สามารถเข้าถึงและใช้สารสนเทศได้อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม มีวิจารณญาณ และรู้เท่าทัน   (Smart people: Information literate) มีการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารที่มีธรรมาภิบาล และ (Smart Governance) เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

 

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา

 

                นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศระยะ พ..2544-2553 ของประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษา (e-Education) ดังนี้

                เป้าหมาย พัฒนาและเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ในทุกระดับของประเทศเพื่อรองรับการพัฒนาสู่การเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ส่งเสริม สนับสนุน ให้ผู้เรียนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้จาก แหล่งและวิธีการที่หลากหลาย โดยจัดให้มีการพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษา พัฒนาหลักสูตรให้เอื้อต่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการเรียนการสอน เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนทางไกล จัดให้มีศูนย์ข้อมูลสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Courseware Center) ให้มีการเรียนการสอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) จัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) จัดให้มีห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (Lifelong Learning) นำไปสู่สังคมแห่งคุณธรรมและสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้

ยุทธศาสตร์ที่ 2

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาการบริหารจัดการและให้บริการทางการศึกษา พัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ ระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ และพัฒนาบุคลากรทุกระดับที่เกี่ยวข้อง โดยความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาที่มีความพร้อมและเอกชน สร้างศูนย์ปฏิบัติการสารสนเทศ (Operation Center) เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระดับชาติและระดับกระทรวง รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และให้บริการทางการศึกษา ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สอดคล้องกับการปฏิรูประบบราชการ

  

ยุทธศาสตร์ที่ 3

 การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผลิตและพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดย จัดให้มีการพัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศในทุกระดับกรศึกษา พัฒนาผู้สอนและนักวิจัย ส่งเสริมการวิจัย และนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับองค์กรของรัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาการศึกษาและอุตสาหกรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 4

การกระจายโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา จัดให้มีและกระจายโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างทั่วถึง มุ่งเน้นการจัดหาและใช้ทรัพยากรทางด้านเครือข่ายร่วมกัน จัดหาระบบคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน ชุมชน และท้องถิ่น เตรียมบุคลากรปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้เพียงพอ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพในการใช้ปฏิบัติงาน

นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา จะเป็นสิ่งกำหนดแนวทางในการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาต่อไป

 

 สภาพแวดล้อมทางการศึกษา

 

                บทบาทต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมากของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันเป็นยุคสังคมเทคโนโลยีสารสนเทศ มีการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ (Chat) การใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail) การสืบค้นข้อมูลตามเว็บไซต์ต่างๆ สำหรับวงการธุรกิจก็เกิดระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) และธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในวงการศึกษาเกิดระบบมหาวิทยาลัยเสมือน (Virtual University) มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (e-University) ซึ่งจะมีการจัดการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) ซึ่งอาจเป็นการสอนแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ได้ การสอนแบบออนไลน์ จะสอนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ อินทราเน็ต ผู้เรียนกับผู้สอนสามารถติดต่อสื่อสารผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ การสอนแบบออฟไลน์ เป็นการสื่อช่วยสอนประเภทวีดีโอ หรือ ซีดีรอม ที่รู้จักกันในชื่อ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer As Instruction : CAI) หรือ คอมพิวเตอร์ช่วยในการฝึกอบรม (Computer Based Training : CBT) หรือที่เรียกใหม่ว่าบทเรียนโปรแกรม (Courseware)

                สื่ออิเล็กทรอนิกส์จะเป็นเครื่องมือช่วยในการเรียนการสอนก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต (Life Long Learning) ผู้ที่สนใจสามารถเลือกที่จะศึกษาได้ตามความต้องการของตนเอง เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ใช้เวลาไหนก็ได้สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา หรืออยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนรู้ได้

เพื่อให้งานด้านนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องจึงได้มีการจัดทำร่างแผนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี 2020 ขึ้น  เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น โดยต้องคำนึงถึงแนวทางการพัฒนาประเทศในภาพรวมดังที่ได้ระบุไว้ในแผนระดับประเทศต่างๆ อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 -2554) แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา (พ.ศ. 2551 - 2555)            

 

การศึกษาต้องตอบสนองความต้องการของสังคม

 

                   การเรียนการสอนไม่ได้จำกัดเฉพาะห้องเรียนตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ..2542

กำหนดให้มีการจัดการศึกษา ในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ซึ่งเป็นตอบปัญหาจากสังคมที่คาดหวังจากการปฎิรูปการศึกษา เนื่องจากสังคมได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากการที่ต้องการแรงงานไร้ฝีมือมาเป็นแรงงานที่มีทักษะที่สูงขึ้น รวมถึงลักษณะการทำงานที่มีความยืดหยุ่น จากงานเสวนา เรื่อง “​การพัฒนาศักยภาพกลุ่มคนทำงานที่บ้านด้วยสื่อ ICT” ภายใต้​โครงการจัดตั้งศูนย์​การเรียนรู้ ICT ชุมชน โดย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ​ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสุ​โขทัยธรรมาธิราช จัดการเสวนา ​เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน หรือ Home worker สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้าไปผสมผสานการ ใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการพัฒนาอาชีพในด้านต่าง ๆ เช่น ​การสืบค้นข้อมูลที่​เกี่ยวข้องกับอาชีพการทำงานของตน ​การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับราคาของตัวผลิตภัณฑ์ และเพิ่มทักษะด้านต่างๆ  ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของงานใหม่ๆ ที่เกิดจากการพัฒนาของ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีการกำหนดองค์ประกอบของการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการศึกษาในหลายประเทศแตกต่างกันไปแต่ก็มี อยู่ภายใต้เงื่อนไขของหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับได้กำหนดองค์ประกอบการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการศึกษา เช่น UNESCO ได้กำหนดองค์ประกอบในการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการศึกษาไว้ 5 ด้านคือ 1) การกำหนดนโยบาย เพื่อสนับสนุนสภาพแวดล้อมของระบบและบูรณาการในการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อการศึกษา 2) สร้างการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่เหมาะสมทั้งในรูปแบบและนอกระบบ 3) ศึกษาการสนับสนุนครูให้หาทางเลือกใหม่ในการเรียนการสอน 4) พัฒนาตัวชี้วัดเพื่อพิจารณาผลการใช้เทคโนโลยีในการศึกษา 5) ใช้ผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีอย่างเหมาะสมกับความต้องการบริบทการศึกษา               ในส่วนของรูปแบบการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร   ในการเรียนการสอน  เช่น การเรียนการสอนทางไกล (Distance Education) เป็นการเรียนการสอนที่ประยุกต์เทคโนโลยีหลายๆอย่าง เช่น ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การประชุมทางไกลชนิดภาพและเสียง รวมถึงเอกสารต่างๆเพื่อเข้าถึงผู้เรียนที่อยู่ห่างไกล  แบบมหาวิทยาลัยออนไลน์ เรียกว่า Online University หรือ Virtual University โดยในประเทศไทยได้มีการจัดทำโครงการ   Thailand cyber University (TCU) ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จะเป็นสรรพวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์รวมของสรรพวิทยาการ) ศูนย์กลางการศึกษาผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ครอบคลุมการศึกษาในทุกระบบ ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน (Formal Education) การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non Formal Education) และการศึกษาตามอัธยาศัย (In-Formal Education) ที่ประชาชนทุกคน สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้ได้ มีระบบการเทียบโอนความรู้จากการศึกษาในแต่ละระบบ เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการศึกษาจากระบบหนึ่ง สามารถจะเทียบโอนความรู้ เข้าสู่การศึกษาในอีกระบบหนึ่งได้ ตามเงื่อนไขและข้อกำหนด ซึ่งจะเป็นการบูรณาการ การศึกษาทุกระบบเข้าด้วยกัน เกิดเป็นระบบการศึกษาที่รองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน มีความยืดหยุ่น ต่อเนื่อง และเสริมกัน มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับตามหลักมาตรฐาน มีหลักสูตร ออนไลน์(online) ที่ผู้เรียนสามารถเรียนจนจบได้รับปริญญาบัตร เป็นระบบการเรียนการสอนที่อยู่บนเครือข่าย ในรูปเว็บเพจ มีการสร้างกระดานถาม-ตอบ อิเล็กทรอนิกส์ (Web Board)  การเรียนการสอนผ่านทางอินเทอร์เน็ตและเว็บเพจ (Online Learning, Internet Web Base Education) เป็นการนำเสนอเนื้อหาและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนโดยเน้นสื่อประสมหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน มีการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ประสานงานกัน ให้ผู้เรียนและผู้สอนเข้าถึงฐานข้อมูลหลายชนิดได้ โดยผู้เรียนต้องควบคุมจังหวะการเรียนรู้ด้วยตนเองให้เป็น และเลือกเวลา สถานที่ในการเรียนรู้ สร้างความหลากหลายในการเรียนรู้ของผู้เรียน จากสถิติของ มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (ตั้งแต่เปิดให้บริการ เมื่อ 12 ม.ค. 2548 ถึงเดือนกันยายน 2551)  มีจำนวนสมาชิกที่ลงทะเบียน51,718 คนโดยแบ่งเป็น นักเรียน 49,012 คน อาจารย์ 2,706 คน มีจำนวนบทเรียน 470 บทเรียน ใน 16 หลักสูตร มีการลงทะเบียนเพื่อเข้าเรียน 82,331 บทเรียน มีมหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการ 3 แห่ง จำนวนครั้งที่มีผู้เข้าใช้บริการในบทเรียน 1,086,750 ครั้ง

จะเห็นได้ว่าจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ..2542 นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในหลายฉบับที่ผ่านมาตั้งแต่ ปี 2000 เป็นต้นมา มีการประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในด้านต่างๆ รวมถึงการใช้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้ในการจัดการศึกษานั้น  จะส่งผลในขั้นสุดท้ายคือการพัฒนาประเทศให้ทันกระแสการเปลี่ยนแปลงพัฒนาของโลก ก้าวสู่ยุคของสังคมที่ใช้ความรู้เป็นฐานต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #แผนแม่บท
หมายเลขบันทึก: 403425เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2010 07:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท