คุณค่าเทียมของการบูชาพระพุทธรูป


งานวิจัยเรื่อง ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย.2552

ในเมื่อคุณค่าเทียม มีลักษณะที่ต่างจากคุณค่าแท้ในเชิงตรงกันข้ามกัน  จุดมุ่งหมายที่เป็นคุณค่าเทียมย่อมมีลักษณะที่ขัดแย้งกับจุดมุ่งหมายที่เป็นคุณค่าแท้ไปโดยปริยาย  โดยสรุปตามจุดมุ่งหมายที่เป็นคุณค่าแท้  7  ประการข้างต้น  จะเห็นได้ว่า  มีอยู่  4  ประการที่สามารถพิจารณาโดยนัยที่ตรงข้ามกันได้ไม่ยากนัก  ได้แก่  ข้อที่  4 ถึง ข้อที่  7  ซึ่งอาจจะสรุปได้ว่า จุดมุ่งหมายที่เป็นคุณค่าเทียมนั้น ได้แก่

 

        1)  การบูชาเพื่อหวังผลดลบันดาล 

ด้วยความเชื่อว่าพระพุทธรูปมีความศักดิ์สิทธิ์สามารถช่วยให้บรรลุในสิ่งที่ตนประสงค์ได้  จุดมุ่งหมายอย่างนี้  ขัดกับหลักการน้อมนำพุทธคุณและพุทธธรรมมาพัฒนาตน  ให้เป็นที่พึ่งของตนได้  และขัดกับหลักธรรมอื่น ๆ ที่นำไปสู่คุณค่าที่แท้จริง เช่น ความไม่ประมาท เป็นต้น  ดังที่พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต)  ได้แสดงทัศนะไว้ว่า  

   

      คนที่ไปเกี่ยวข้องกับผู้อ้างฤทธิ์หรืออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มักมุ่งเพื่อไปขอความช่วยเหลือ หวังอำนาจดลบันดาลให้เกิดโชคลาภเป็นต้น การปฏิบัติเช่นนี้ย่อมไม่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาที่เป็นกรรมวาท กิริยวาท  ละวิริยวาท  สอนให้คนหวังผลสำเร็จจากการลงมือทำด้วยความเพียรพยายามตามเหตุตามผล การมัวหวังผลจากการอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากอำนาจดลบันดาล อาจทำให้เป็นคนมีนิสัยเฉื่อยชา   กลายเป็นคนงอมืองอเท้า อย่างน้อยก็ทำให้ขาดความเพียรพยายาม ไม่รีบเร่งทำสิ่งที่ควรทำ ไม่เร่งเว้นในสิ่งที่ควรเว้น  ขัดกับหลักความไม่ประมาท[1]

 

                  ลักษณะจุดมุ่งหมายของการบูชาแบบนี้  จึงเป็นคุณค่าเทียมอย่างชัดเจน  ซึ่งประชาชนโดยส่วนมากมีแนวคิดเช่นนี้ ดังเช่นจากผลการสำรวจพบว่า เกินกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อในเรื่องอำนาจดลบันดาล

 

         2)  การบูชาเพื่อหวังให้บุญกุศลที่เกิดจากการบูชาบันดาลให้ตนสามารถผ่านพ้นปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต 

ข้อนี้แม้จะหวังพึ่งบุญกุศลที่เกิดจากการบูชา ไม่ได้หวังอำนาจดลบันดาลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์   แต่ก็ยังเป็นจุดมุ่งหมายที่ไม่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา  เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้เข้าใจเรื่องเหตุปัจจัย  การจะแก้ปัญหาชีวิตให้ผ่านพ้นไป  ต้องแก้ปัญหาที่สาเหตุ  และต้องแก้เองด้วยสติปัญญา  การรอคอยผลของบุญกุศลจะยิ่งทำให้เป็นทุกข์  จิตใจไม่สงบ  ปัญหาต่าง ๆ ก็ไม่จบสิ้นกันเสียที  ทุกข์ใจอยู่เนือง ๆ  เพราะต้องตั้งหน้าตั้งตารอคอยว่าเมื่อไรผลบุญจะช่วย  และเมื่อผลบุญไม่ช่วยก็อาจทำให้เกิดผลเสียได้  ในแง่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า  บุญกุศลมีผลจริงหรือ  ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดความสงสัย  ไม่มั่นใจในการทำความดี  จนอาจทำให้บางคนเลิกการบูชาพระพุทธรูปไปเลยก็ได้  เพราะเห็นว่าไม่เกิดคุณค่าที่ตนปรารถนา  ซึ่งการปฏิบัติอย่างนี้ขัดแย้งกับหลักสติปัญญา ทั้งยังอาจเป็นช่องทางให้เกิดมิจฉาทิฏฐิได้ด้วย  เพราะฉะนั้นจึงจัดเป็นคุณค่าเทียม  เพราะไม่ได้ทำให้จิตสงบและเกิดสติปัญญาอย่างแท้จริง

 

       3)  การบูชาเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับตน 

เพื่ออวดตนว่าเป็นคนดี  หรือปฏิบัติเพียงเพื่อเอาหน้า  การบูชาในลักษณะนี้  เช่น  คนที่นิยมไปวัด  บูชาพระ  และถือตนว่าเป็นคนเข้าวัดเข้าว่า  ใจบุญใจกุศล  นับถือพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด  แต่ยังมีทิฏฐิมานะ  จิตใจยังเหลือล้นด้วยกิเลส  ยังมีความต้องการชื่อเสียง  คำสรรเสริญ  ยศฐานบรรดาศักดิ์หรือความมีเกียรติในสังคมนั้น ๆ  อย่างแรงกล้า  การบูชาเช่นนี้จึงเป็นลักษณะการบูชาที่สักแต่ว่าทำ  ไม่ได้เข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของการบูชา  คือ ลดทิฏฐิมานะและกิเลสทั้งหลาย  เป็นการบูชาแบบฉาบฉวยหรือผักชีโรยหน้าพอให้ผ่าน ๆ ไป แต่กลับยึดมั่นถือมั่น ถือตนว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี  เป็นคนดี  เป็นต้น

 

       4) การบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล 

คำว่า “สิริมงคล” ในที่นี้  หมายถึง  ผู้วิจัยหมายถึง  การมีชีวิตที่ประสบกับความสุขสวัสดี  การบูชาที่มุ่งความสุขสวัสดีหรือความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต  โดยไม่ปฏิบัติธรรมให้ตรงกับเป้าหมาย  ถือว่าได้กระทำการบูชาเพียงเท่านี้ก็เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตแล้ว  แนวคิดในลักษณะนี้ ยังคงเป็นแนวคิดของชาวพุทธจำนวนไม่น้อย  ดังผลการสำรวจจากแบบสอบถามที่ปรากฎในบทที่ 3  จะเห็นได้ชัดว่า  มีถึงร้อยละ  81  ที่มุ่งความเป็นสิริมงคล  และนิยมไปไหว้พระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ซึ่งถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์  โดยการเล่าลือกันมาองค์นั้นองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านนั้นด้านนี้  อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นการถือมงคลตื่นข่าวซึ่งผิดหลักพระพุทธศาสนาอีกด้วย[2]  ความสุขสวัสดีที่เกิดจากการบูชาพระพุทธรูปนั้น  ย่อมเกิดจากการบูชาด้วยจิตเลื่อมใส  จนเกิดความสงบอันเป็นความสุขที่แท้จริง และเกิดสติปัญญาอันเป็นเครื่องป้องกันและแก้ปัญหาชีวิตให้ประสบกับความสวัสดีได้  หากไม่เข้าถึงคุณค่าเช่นนี้  แต่คิดหวังหรือเข้าใจแต่เพียงความเป็นสิริมงคลที่ให้ผลต่อชีวิตแบบลอย ๆ  ไม่ใช่เกิดจากการปฏิบัติธรรม  การบูชาเช่นนี้ย่อมมีจุดมุ่งหมายที่เป็นคุณค่าเทียม

                  นอกจากนี้  ยังจุดมุ่งหมายของการบูชาพระพุทธรูปที่เป็นคุณค่าเทียมซึ่งควรพิจารณา นอกเหนือจากการพิจารณาโดยนัยที่ขัดแย้งกับคุณค่าแท้ข้างต้นอีกบางประการที่ผู้วิจัยขอเสนอเพิ่มเติมไว้ในที่นี้  อันเป็นผลจากการสำรวจพฤติกรรมการบูชาพระพุทธรูปจากแบบสอบถามที่แสดงไว้แล้วในบทที่ 3  ได้แก่

 

       5)  การบูชาพระพุทธรูปในเชิงท่องเที่ยว 

ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับการบูชาพระพุทธรูปเป็นเพียงเป้าหมายรอง  แต่ให้ความสำคัญหรือสนใจการท่องเที่ยวเป็นเป้าหมายหลัก  เหมือนอย่างการนิยมไปบูชาพระพุทธรูปสำคัญ ๆ  ตามวัดที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ เป็นต้น  อย่างนี้ก็จัดเป็นคุณค่าเทียม  ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า มีผู้นิยมไปไหว้พระพุทธรูปในลักษณะนี้เป็นอันดับสอง  รองจากความเชื่อในเรื่องความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต (ร้อยละ 43.2) โดยการนิยมเรื่องการท่องเที่ยวนี้  คิดเป็นร้อยละ  27 

 

      6)  การบูชาเพื่อเสริมดวงชะตา  สะเดาะเคราะห์ แก้กรรม 

ลักษณะนี้ก็เป็นวิธีปฏิบัติที่ขัดกับหลักพระพุทธศาสนา  แต่เป็นแนวคิดแบบโหราศาสตร์และไสยาศาสตร์  ซึ่งพระพุทธเจ้าทางถือว่าเป็นเดรัจฉานวิชา เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาความทุกข์ได้อย่างแท้จริง  การบูชาโดยมีจุดมุ่งหมายในลักษณะนี้จึงเป็นคุณค่าเทียม

 

      7) การบูชาเพื่อเบียดเบียน มุ่งร้ายผู้อื่น 

การบูชาลักษณะนี้  ดูเหมือนว่าอาจจะมีน้อยหรือไม่มีเลย[3]  แต่ด้วยระดับปัญญาของคนที่แตกต่างกันและความเชื่อที่ผิดแนวทางพระพุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลในการดำเนินชีวิต  อาจจะทำให้เกิดแนวคิดและพฤติกรรมที่เป็นไปในลักษณะนี้ได้   ซึ่งย่อมเป็นที่แน่ชัดว่า  การบูชาอย่างนี้เป็นคุณค่าเทียม  เพราะสนองกิเลส  เป็นเหตุแห่งการเบียดเบียน  เป็นอกุศลกรรม

 

                  ทั้งหมดนี้  เป็นลักษณะของจุดมุ่งหมายของการบูชาพระพุทธรูปที่เป็นคุณค่าเทียม  เพราะไม่ตั้งอยู่บนฐานของปัญญา ความมีเหตุผลและไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งโดยหลักสำคัญอาจจะเห็นได้ชัดว่าเป็นลักษณะของการบูชาพระพุทธรูปตามแนวประชานิยม  และอาจทำให้สรุปได้ว่า  การบูชาพระพุทธรูปตามแนวประชานิยมเป็นการปฏิบัติที่อาจก่อให้เกิดผลที่เป็นคุณค่าเทียมได้  หากมุ่งแต่แนวทางปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับหลักการทางพระพุทธศาสนา  โดยเฉพาะหลักทางสายกลางดังกล่าวมา

 


เอกสารอ้างอิง

                  [1] พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต),  พุทธธรรม, หน้า  464 .

                  [2] เรื่องเดียวกัน,  หน้า  473.

                  [3]สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภาร  พรมทา, อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  6  กุมภาพันธ์  2551.

 

หมายเลขบันทึก: 403248เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2010 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท