คุณค่าแท้ของการบูชาพระพุทธรูป


งานวิจัยเรื่อง ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย.2552

เป็นที่ทราบในเบื้องต้นแล้วว่า  คุณค่าแท้  มีลักษณะเป็นคุณค่าที่เกิดจากปัญญาและสร้างสรรค์พัฒนาปัญญา  การจะตัดสินว่าจุดมุ่งหมายใดเป็นจุดมุ่งหมายที่เข้ากับหลักปัญญานั้น  อาจพิจารณาได้จากหลักการสำคัญในทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ และเป็นแนวทางปฏิบัติของผู้รู้ทั้งหลายมีพระเถรานุเถระตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนปัจจุบันนี้   ซึ่งผู้วิจัยได้สรุปจุดมุ่งหมายของการบูชาพระพุทธรูปดังกล่าวไว้ดังต่อไปนี้ 

 

         1)  การบูชาเพื่อแสดงออกถึงวัฒนธรรมอันดีงามของชาวพุทธ 

สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าศาสนาเป็นผลิตผลของสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์[1] แม้สัญลักษณ์ทางศาสนาก็เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรม  การบูชาพระพุทธรูปจึงเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรม[2] ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนา  หากจะกล่าวง่าย ๆ ก็คือ  การแสดงออกถึงความเป็นชาวพุทธที่ต้องมีความเคารพในสัญลักษณ์สำคัญ คือ พระพุทธรูปอันเป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้า  วัฒนธรรมทางศาสนานี้  ถือเป็นสิ่งสำคัญและมีส่วนช่วยให้ศาสนามีความเข้มแข็งด้วย  การเป็นวัฒนธรรมอย่างนี้  ก็เป็นโอกาสให้เด็กหรือลูกหลายสามารถเข้าใกล้ศาสนาได้มากขึ้น 

การบูชาพระพุทธรูปจึงเป็นวัฒนธรรมอันดีของชาวพุทธ[3] ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้ถือเป็นการปฏิบัติตามแบบอย่างที่พุทธบริษัทในอดีตครั้งพุทธกาลปฏิบัติกัน  ดังตัวอย่างที่ผู้วิจัยได้แสดงไว้แล้วในบทที่ 3  เกี่ยวกับการบูชาวัตถุที่เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า  เช่น  ต้นโพธิ์และสังเวชนียสถาน  เป็นต้น   ข้อนี้จึงถือเป็นจุดมุ่งหมายที่มีคุณค่าแท้  แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นคุณค่าในขั้นพื้นฐาน  ซึ่งจะต้องพัฒนาไปสู่ขั้นสูงต่อไป

 

         2)  การบูชาเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า 

ตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา  การระลึกถึงพระพุทธเจ้า  เรียกว่า  พุทธานุสสติ  การได้บูชาพระพุทธรูปก่อให้เกิดความระลึกถึงพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะการระลึกถึงพระพุทธคุณและพระพุทธจริยาวัตรที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติ  ซึ่งในความเป็นมาของการสร้างพระพุทธรูปก็จะเห็นได้ว่า  ในยุคแรกของการสร้างพระพุทธรูปก็เพราะระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า  และการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาก็ทำให้พระพุทธคุณที่เป็นนามธรรมถูกสื่อมาในรูปธรรม  ซึ่งบุคคลสามัญทั่วไปสามารถมองเห็นได้ง่าย[4]  ข้อนี้ถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายที่เป็นคุณค่าแท้ได้  เพราะก่อให้เกิดจิตใจที่ดีงาม  สงบ  อ่อนน้อม  อ่อนโยนและความกตัญญูกตเวทิตา  เป็นต้น

 

         3)  การบูชาเพื่อแสดงออกถึงความเคารพและการบูชาบุคคลที่ควรบูชาตามหลักมงคลในทางพระพุทธศาสนา

ซึ่งตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น  พระองค์ตรัสว่า “คนไม่มีที่เคารพไม่มีที่ยำเกรงอยู่เป็นทุกข์” [5] การแสดงความเคารพต่อบุคคลหรือสิ่งที่ควรเคารพจึงถือเป็นแนวทางที่ทำให้อยู่เป็นสุขหรือเป็นมงคลได้  ในเมื่อพระพุทธรูปเป็นสิ่งสื่อถึงพระพุทธเจ้า  แม้พระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว  แต่การแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้าก็ยังเป็นสิ่งดีงามที่ควรปฏิบัติ  เพราะถือเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “คารวธรรม”  อันเป็นหนึ่งในมงคล 38  ประการด้วย   โดยเฉพาะการบูชาพระพุทธเจ้านั้น  คือ การปฏิบัติธรรมข้อที่ว่า “พุทธคารวตา” หรือ “สัตถุคารวตา”  ซึ่งอยู่ในหลักคารวธรรมข้อแรกในบรรดาคารวธรรม 6 ข้อ[6]  นอกจากนี้  ยังจัดอยู่ในลักษณะของการปฏิบัติตามหลักมงคลข้อที่ว่า การบูชาบุคคลที่ควรบูชาด้วย  จุดมุ่งหมายของการบูชาพระพุทธรูปในข้อนี้จึงเป็นความมุ่งหมายที่ก่อให้เกิดคุณค่าแท้  คือ ความสุขใจ  ความสงบใจและสร้างเสริมคุณธรรมภายในบุคคลนั่นเอง 

 

        4) การบูชาเพื่อน้อมนำพุทธคุณและพุทธธรรมมาพัฒนาตนเอง 

การพัฒนาตน  ถือเป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า  เพราะเมื่อพัฒนาตนดีแล้ว  ย่อมสามารถพึ่งตนเองได้  และการมีตนเองเป็นที่พึ่งโดยที่พัฒนาตนดีแล้วนี้  ถือว่าเป็นที่พึ่งที่หาได้ยากยิ่ง[7]  หลักในการพัฒนาตนอย่างหนึ่งก็คือ การมีแบบอย่างที่ดีและเลือกปฏิบัติตามแนวทางผู้เป็นแบบอย่างนั้นและพระพุทธเจ้า  ได้ชื่อว่าเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด  เพราะทรงเป็นบุคคลที่สมบูรณ์ทุกประการ  พระพุทธคุณและพระพุทธจริยาวัตรของพระองค์  จึงเป็นหลักในการดำเนินชีวิตหรือหลักในการพัฒนาตนเองได้   ดังที่ผู้ทรงคุณวุฒิทางพระพุทธศาสนาบางท่านได้แสดงทัศนะไว้ว่า “การบูชาพระพุทธเจ้าต้องนึกถึงพุทธคุณ เราจะทำอะไรก็ควรนึกถึงพระพุทธเจ้าว่าท่านทำอย่างนี้ สอนอย่างนี้หรือเปล่า  แล้วน้อมนำเอาพุทธคุณมาใช้ในชีวิตของเรา” [8]  พระพุทธคุณที่ปรากฎได้ชัดในการบูชาพระพุทธรูป  โดยเฉพาะด้วยวิธีการสวดมนต์นั้นได้แก่  พระพุทธคุณที่อยู่ในบทบูชาพระพุทธเจ้าที่ว่า  "นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ" 

นะโม  คือ  ขอนอบน้อม 

ตัสสะ  แปลว่า  พระองค์นั้น 

ส่วน  ภะคะวะโต  คือ  ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ คำนี้สื่อถึงพระมหากรุณาธิคุณ 

อะระหะโต คือ ทรงเป็นพระอรหันต์หมดจดจากกิเลสทั้งปวง  คำนี้สื่อถึง พระบริสุทธิคุณ 

และสัมมาสัมพุทธัสสะ คำนี้สื่อถึง พระปัญญาธิคุณ 

พระพุทธคุณทั้ง 3 ประการนี้  เป็นคุณธรรมที่สามารถนำไปเป็นเครื่องพัฒนาตนได้[9] หากปฏิบัติด้วยความเข้าใจและมีจุดมุ่งหมายอย่างนี้  การบูชาย่อมเป็นคุณค่าแท้ 

 

         5) การบูชาเพื่อให้จิตสงบและเกิดสติปัญญาในการแก้ปัญหาชีวิต

  ในการบูชาพระพุทธรูปนั้น  หากมุ่งหมายให้เกิดความสงบจิต  และเกิดสติปัญญาในการแก้ปัญหาชีวิต  จุดมุ่งหมายนั้นย่อมเป็นคุณค่าแท้   ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว  การบูชาพระพุทธรูปสามารถก่อให้เกิดความสงบและสติปัญญาได้ 

ศาสตราจารย์พิเศษอดิศักด์  ทองบุญ  ได้แสดงทัศนะไว้ว่า  คนที่มีความทุกข์  จิตใจรุ่มร้อน  พลุกพล่าน  เมื่อได้บูชาพระพุทธรูป  เห็นพระพักตร์ของพระพุทธรูป ย่อมทำให้เกิดความสงบเยือกเย็นได้  เมื่อจิตสงบเยือกเย็นสติปัญญาก็เป็นสิ่งที่ตามมา[10] เพราะความสงบหรือสมาธิ  เป็นสิ่งที่ขจัดอกุศลทั้งปวงในจิตใจ  จิตใจย่อมไม่ขุ่นมัว  สติปัญญาก็ตามมาได้  สามารถแก้ปัญหาหรือหาทางออกให้ชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

 

      6) การบูชาเพื่อลดทิฏฐิมานะและกิเลสอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย

  อันที่จริงจุดมุ่งหมายข้อนี้  ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่จิตสงบและเกิดสติปัญญา  เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน   เมื่อจิตสงบและมีสติปัญญา  ทิฏฐิมานะและกิเลสอื่น ๆ ก็ย่อมลดลงและหายไป  แต่ความสงบและสติปัญญา  กับการลดทิฏฐิมานะและกิเลสอื่น ๆ นั้น  มีนัยแตกต่างกัน  กล่าวคือ  การได้สมาธิและสติปัญญา  ถือว่า  ได้เครื่องมือในการดำเนินชีวิตที่มีประสิทธิภาพ  เป็นการได้พอกพูนคุณธรรมที่เป็นหลักปฏิบัติที่ดีงาม   ส่วนการลดทิฏฐิมานะและกิเลสนั้น  เป็นภาวะที่ดีงามของจิตใจ  เป็นประสิทธิผลที่เกิดขึ้น  เป็นตัวเป้าหมายของการบูชาโดยตรง ไม่ใช่เครื่องมือในการสร้างสรรค์คุณค่าอื่น ๆ  เหมือนอย่างสมาธิและปัญญา  การบูชาพระพุทธรูปแล้ว  ทิฏฐิมานะและกิเลสของตนลดลงเสียได้  จึงเป็นจุดมุ่งหมายที่เป็นคุณค่าแท้อย่างชัดเจน

 

      7)  การบูชาเพื่อความสุขที่แท้จริงซึ่งเกิดจากการปฏิบัติธรรม

  โดยปกติแล้วทุกชีวิตล้วนต้องการความสุข   และความสุขดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายขั้นสุดท้ายของทุกคน  ดังที่อริสโตเติ้ล  มีความเห็นว่า เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตคน คือ ความสุข  อย่างอื่นเป็นเพียงวิธีการเพื่อบรรลุความสุขเท่านั้น[11]  ความดีสูงสุดของชีวิตคือ ความสุข  ความสุขจะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ได้บรรลุธรรมชาติสูงสุดของเขาซึ่งเป็นสิ่งที่ค้นพบได้ในอาณาจักรแห่งจิตในลักษณะที่เป็นการแสดงออกอย่างสมบูรณ์ของความคิด หรือ การไตร่ตรองอย่างรอบคอบที่เรียกว่า Contemplation ซึ่งเป็นกัมมันตภาพของจิต คือ แหล่งกำเนิดแห่งความสุขสูงสุดของมนุษย์[12]  การบูชาพระพุทธรูป  เป็นการแสดงออกที่ดีงาม  และหากอยู่บนพื้นฐานของปัญญาหรือความมีเหตุผล  ความสุขที่แท้จริงย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา  สอดคล้องกับที่มิลล์ (John Stewart  Mill) นักปรัชญาธรรมชาตินิยมชาวอังกฤษ  มีแนวคิดว่า ความสุขที่มนุษย์ควรแสวงหา คือ ความสุขที่เกิดจากการใช้ปัญญา ความรู้สึก  จินตนาการ และจากสำนึกทางศีลธรรม  ซึ่งมีค่าสูงกว่าความสุขที่ได้จากประสาทสัมผัส  มนุษย์กับสัตว์มีความสุขร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือสุขทางกาย ส่วนความสุขทางใจที่เกิดจากการใช้ปัญญานั้น  มีได้เฉพาะในมนุษย์เท่านั้น  เป็นความสุขที่หาได้ง่ายกว่า ถูกกว่าและคงทนกว่า[13]  เมื่อได้บูชาพระพุทธรูปตามวิธีการที่เหมาะสมแล้ว  ความสุขในลักษณะนี้ย่อมเกิดขึ้น  ซึ่งถือว่าเป็นจุดหมายที่เป็นคุณค่าแท้ของการบูชาพระพุทธรูป

 

                 นอกจากนี้  การบูชาพระพุทธรูปยังเป็นการปฏิบัติที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์หรือคุณค่าต่อผู้อื่นได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น การบูชาด้วยการปฏิบัติธรรม  ในหลักการปฏิบัติธรรมหลายประการ  ก็มุ่งเพื่อให้มีความรัก  ความเมตตาต่อผู้อื่น  เช่น  ในกุศลกรรมบถดังกล่าวแล้ว  การไม่ฆ่า  การไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ทั้งหลาย  เท่ากับเป็นการให้ความปลอดภัยในชีวิต  การไม่ลักทรัพย์  เท่ากับเป็นการให้ความปลอดภัยในทรัพย์สิน  การไม่ประพฤติผิดในกาม  เท่ากับเป็นการให้เกียรติผู้อื่น  เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และไม่ทำลายครอบครัวเขา  หรือแม้แต่การเว้นวจีทุจริต 4 ประการก็เป็นเรื่องของการสร้างความรู้สึกที่ดี  เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้โดยตรง   ส่วนคุณค่าโดยอ้อม  อย่างเช่น  การแสดงความเคารพต่อพระพุทธรูปด้วยการกราบ  การไหว้หรืออามิสบูชา  ย่อมเป็นการสร้างแบบอย่างที่ดีให้ลูกหลานสามารถเรียนรู้และปฏิบัติตามได้[14]   เป็นการบ่มเพาะนิสัยที่ดีงามให้ผู้อื่นไปในตัว  อีกทั้ง  การบูชาด้วยอามิสยังเป็นการสร้างเสริมเศรษฐกิจโดยทางอ้อม  เพราะทำให้ระบบอาชีพบางอย่างสามารถดำรงอยู่ได้ในสังคม  เช่น  อาชีพขายดอกไม้  พวงมาลัย  อาชีพที่ทำหน้าที่หล่อกระถางธูป เชิงเทียนและอาชีพขายธูปเทียน เครื่องสักการะต่าง ๆ  เป็นต้น  เป็นการช่วยอุดหนุนจุนเจือผู้อื่นไปในตัว  เพราะหากชาวพุทธมุ่งแต่ปฏิบัติบูชาอย่างเดียว  ไม่สนใจอามิสบูชาเลย  อาชีพเหล่านี้ย่อมไม่สามารถดำรงอยู่ได้  นี้คือคุณค่าโดยอ้อม    การบูชาตามแนวจารีตที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อผู้อื่นด้วยเช่นนี้  ถือเป็นคุณค่าแท้

 

                 จากบทวิเคราะห์ข้างต้นนี้  จะเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายของการบูชาที่กล่าวมาเป็นไปตามลักษณะของการบูชาพระพุทธรูปตามแนวจารีตเป็นหลัก  จึงอาจสรุปได้ในที่นี้ว่า  การบูชาพระพุทธรูปตามแนวจารีตและผลของการปฏิบัตินั้น  เป็นคุณค่าแท้ของการบูชาพระพุทธรูป  ซึ่งโดยสรุปแล้วอาจจะต้องยึดหลักว่า การบูชาในลักษณะใดที่นำให้ออกห่างจากความหลุดพ้นการบูชาเช่นนั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่สมควร  การบูชาหรือการกระทำใดๆ ที่นำไปสู่ความหลุดพ้นได้  เป็นทางสายเดียวกัน การกระทำแบบนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่มีความเหมาะควรเป็นความดี[15]  เป็นคุณค่าแท้  เพราะเมื่อพิจารณาแล้วพฤติกรรมการบูชาดังกล่าวนี้  ไม่ขัดกับหลักทางสายกลางนั่นเอง 

 


เอกสารอ้างอิง

                  [1] เรื่องเดียวกัน,  หน้า  8.

                  [2] สัมภาษณ์ พระอนิลมาน  ธมฺมสากิโย, รองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,  5  กุมภาพันธ์  2551.

                  [3]สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภาร  พรมทา, อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  6  กุมภาพันธ์  2551.

                  [4]สัมภาษณ์ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ, ราชบัณฑิต  ราชบัณฑิตยสถาน, 14  กุมภาพันธ์  2551. 

                  [5] องฺ. จตุ.  21 / 21 / 25-26.

                  [6] พันเอก(พิเศษ)นวม  สงวนทรัพย์,  สังคมวิทยาศาสนา ,  หน้า  38.

                  [7] ขุ.ธ.  25/22/26.

                  [8]สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์  ทองประเสริฐ, ราชบัณฑิต  ราชบัณฑิตยสถาน,  14  กุมภาพันธ์  2551.

                  [9] สัมภาษณ์ พระอนิลมาน  ธมฺมสากิโย, รองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหา มกุฏราชวิทยาลัย,  5  กุมภาพันธ์  2551.

                  [10]สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์พิเศษ อดิศักดิ์  ทองบุญ, ราชบัณฑิต  ราชบัณฑิตยสถาน,  9  กุมภาพันธ์  2551.

                  [11] นวม  สงวนทรัพย์,  สังคมวิทยาศาสนา (กรุงเทพมหานคร :โอ.เอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์, 2537), หน้า  27.

                  [12] หน้า  28.

                  [13] สุวัฒน์  จันทรจำนง,  ปรัชญาและศาสนา (กรุงเทพมหานคร :  สำนักพิมพ์สุขภาพใจ,  2540),   หน้า  27.

                  [14]สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภาร  พรมทา, อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  6  กุมภาพันธ์  2551.

                  [15] ปรีชา  ช้างขวัญยืน,  “การศึกษาจริยศาสตร์สังคมในพุทธศาสนาในเชิงวิจารณ์ ,” (วิทยานิพนธ์หลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต  แผนกวิชาปรัชญา  บัณฑิตวิทยาลัย  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2520),  หน้า  39.

หมายเลขบันทึก: 403241เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2010 08:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท