Mr.CHOBTRONG
ผศ. สมศักดิ์ สถาบันวิจัยและพัฒนา ชอบตรง

การจัดการความรู้


การจัดการความรู้
การจัดการความรู้สู่คุณภาพงานวิจัย สมทรง นุ่มนวลรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา             เมื่อวันที่ 28-29 มิถุนายน  2549 สถาบันวิจัยและพัฒนาเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดการความรู้สู่คุณภาพงานวิจัย  ที่โรงแรมอ่าวนางวิลล่ารีสอร์ท  อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่    โดยมีผู้บริหารและนักวิจัยของมหาวิทยาลัยกลุ่มราชภัฏภาคใต้  ซึ่งประกอบด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี  มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต  มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช  มาประชุมปฏิบัติการจัดการความรู้และร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความรู้ฝังลึก (Tacit Knowleage) เพื่อหาแนวทางนำการจัดการงานวิจัยเข้าสู่มิติแห่งคุณภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน โดยใช้กระบวนการการจัดการความรู้ (Knowledge  Management ) หรือ KM  เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายดังกล่าว              วิทยากรหลักก็ไม่ใช่คนอื่นไกลแต่เป็นจอมยุทธ์ KM จากสำนักเส้าหลินของเรานี่เอง นำทีมโดย ผศ.ดร.ประโยชน์  คุปต์กาญจนกุล  ผศ.ดร.สุนทร  พูนเอียดและอาจารย์สมชาย  สหนิบุตร  และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) รศ.ดร.สุธีระ  ประเสริฐสรรพ์  และ ผศ.พัชริน   ดำรงกิตติกุล  และอาจารย์เต็มดวง  ตรีธัญญพงศ์  จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา  ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรของเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผศ.ดร.สุธีระ  ประเสริฐสรรพ์ ได้บรรยายพิเศษเรื่อง แนวทางการทำวิจัยเพื่อการพัฒนา ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้องค์ความรู้อีกมิติหนึ่ง การประชุมดังกล่าวจึงเต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ       ผลของการทำกิจกรรม KM ได้แก่นความรู้สู่คุณภาพงานวิจัย 7 แก่น ได้แก่  การพัฒนาโจทย์วิจัย  กระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัย   คุณลักษณะนักวิจัย   ทีมงานเครือข่ายการจัดการคุณภาพงานวิจัย  ปัจจัยสนับสนุน และการเผยแพร่ผลงานวิจัย    นอกจากได้แก่นความรู้แล้วยังได้กำหนดเกณฑ์การนำไปสู่เป้าหมายของแต่ละแก่น เช่น ด้านคุณลักษณะของนักวิจัย  คุณลักษณะของนักวิจัยที่เป็นมิติคุณภาพนั้นจะต้อง มีความมุ่งมั่น ขยัน  อดทนในการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง สามารถทำงานร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้ เสียสละทั้งเวลาและทุนทรัพย์  ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและมีจรรยาบรรณในการทำวิจัย ที่ยกมาเป็นตัวอย่างเพียงหนึ่งแก่น ซึ่งทุกแก่นความรู้จะมีเกณฑ์สู่เป้าหมาย   นอกจากนี้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งยังได้ทำการประเมินตนเองเพื่อทราบสภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งก็จะมีทั้งจุดเด่นและสิ่งที่จะต้องเติมเต็มระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัยด้วยกัน  แก่นความรู้ทั้ง 7 และเกณฑ์การนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวแต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องนำไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป      การจัดการความรู้จะต้องทำอยู่ตลอดเวลาและสามารถจัดการความรู้ได้กับทุกเรื่อง เนื่องจากเป็นการกระทำที่เน้นการปฏิบัติ   ซึ่งหลาย ๆ ท่านมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรม KM หลายครั้งและหลายเรื่อง การทำกิจกรรม KM แต่ละครั้งจะไม่ซ้ำกันเช่นเดียวกับ ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการกำหนด หัวปลา (ทู)  ในการทำกิจกรรม KM แต่ละครั้งจึงมีความรู้ใหม่เกิดขึ้นเสมอ            สำหรับบรรยากาศในการประชุมนั้นมีความพร้อมทั้ง เวที ไมตรี และเวลาแต่ด้าน เวลาอาจจะน้อยไปหน่อย เพื่อนพ้องจากเครือข่ายราชภัฏหลายท่านแอบบ่นเล็ก ๆ  ไม่มีเวลาได้พักผ่อนกิจกรรมยาวเหยียด  น่าจะทำ (KM) สัก 3 วัน และหลายท่านบอกว่า กิจกรรมนันทนาการน้อยไปหน่อย เนื่องจากมีการทำกิจกรรม KM ภาคกลางคืนด้วย บางท่านบอกว่าไม่ได้เดินชายทะเลด้วยซ้ำอย่างไรก็ตามนับเป็นความโชคดีของ แฟนบอล ทั้งหลายเพราะคืนที่จัดประชุม KM นั้น ฟุตบอลโลกงดแข่งขันพอดี มิฉะนั้นแฟนพันธุ์แท้ทั้งหลายอาจจะบ่นเป็น หมีกินผึ้ง ก็ได้              สำหรับทัศนะจากผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เช่น ผศ.จันทรา  ทองสมัคร  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กล่าวถึงการจัด KM ครั้งนี้ว่า “KM เป็นการยอมรับแก่นความรู้ที่เราสร้างกันเองไม่ใช่ความรู้ที่ภายนอกมาสร้างให้เรา  และจะได้นำไปจัด KM กับส่วนงานอื่น ๆในมหาวิทยาลัยต่อไป   ส่วน ผศ.สาโรช  เนติธรรมกุล นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มีข้อคิดสำหรับการทำKM ว่า  “KM  ต้องมีเวลาและต้องทำเป็นทีมอย่างต่อเนื่อง  สำหรับอาจารย์ประยูร  ดำรงรักษ์  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลานั้นได้มองไปที่การขยายผล จะนำไปขยายผลต่อ ไม่เช่นนั้นพัฒนาไม่ได้ และจากท่านอื่น ๆ อีกหลายความคิด เช่น  ควรมีการจัดกิจกรรมดี ๆ อย่างนี้ ร่วมกันในลักษณะนี้อีกเป็นประจำทุก  3  เดือน หรือ 5 เดือน และ ควรจัดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ และ ควรจัดกับนักวิจัยรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย             ขอขอบคุณอธิการบดีที่ไปเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ ขอบคุณวิทยากร  ผู้ทรงคุณวุฒิ  นักวิจัยและเพื่อนพ้องเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏภาคใต้ ที่ทำให้การจัดกิจกรรมครั้งนี้สำเร็จลุล่วง     
หมายเลขบันทึก: 40297เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2006 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบคุณมากครับอาจารย์ ที่นำข้อคิดและสิ่งดี ๆ มาให้ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท