แนวคิดเรื่องคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม


งานวิจัยเรื่อง ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย.2552

                คำว่า “คุณค่าแท้” (essential value)  และ “คุณค่าเทียม” (artificial value) นี้  เป็นที่รู้คุ้นเคยกันมากในสมัยปัจจุบัน  เพราะผลงานทางวิชาการของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)[1]  ซึ่งดูเหมือนว่าท่านเป็นบุคคลที่ใช้คำนี้ก่อนใครในแวดวงวิชาการทางพระพุทธศาสนาปัจจุบัน[2] และท่านได้ให้สำคัญกับคำนี้มาก  โดยได้จัดเรื่องคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมไว้เป็นข้อหนึ่งในวิธีการคิดแบบโยนิโสมนสิการ  10  ประการ  ดังที่ท่านอธิบายไว้ในวิธีคิดแบบคุณค่าแท้-คุณค่าเทียมว่า 

 

                  คุณค่านี้ จำแนกได้เป็น 2 ประเภท ตามชนิดของความต้องการ  คือ

 

    1) คุณค่าแท้

  หมายถึง  ความหมาย  คุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลาย  ในแง่ที่สนองความต้องการของชีวิตโดยตรงหรือที่มนุษย์นำมาใช้แก้ปัญหาของตนเพื่อความดีงามและความดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิตหรือเพื่อประโยชน์สุขทั้งของตนเองและผู้อื่น  คุณค่านี้อาศัยปัญญาเป็นเครื่องตีค่าหรือวัดราคา จะเรียกว่าคุณค่าที่สนองปัญญาก็ได้  เช่น  อาหารมีคุณค่าอยู่ที่ประโยชน์สำหรับหล่อเลี้ยงร่างกาย ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้  มีสุขภาพดี เป็นอยู่ผาสุก มีกำลังเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญกิจ หน้าที่  รถยนต์ช่วยให้เดินทางได้รวดเร็ว เกื้อกูลแก่การปฏิบัติการงาน  ความเป็นอยู่  การบำเพ็ญประโยชน์สุข  ควรมุ่งเอาความสะดวก  ปลอดภัย  แข็งแรง   ทนทาน เป็นต้น

 

    2)  คุณค่าเทียม  หรือคุณค่าพอกเสริม 

หมายถึง  ความหมาย คุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งทั้งหลายที่มนุษย์พอกพูนให้แก่สิ่งนั้น  เพื่อปรนเปรอการเสพเสวยเวทนา หรือเพื่อเสริมราคาเสริมขยายความมั่นคงยิ่งใหญ่ของตัวตนที่ยึดถือไว้  คุณค่านี้อาศัยตัณหาเป็นเครื่องตีค่าหรือวัดราคา  จะเรียกว่าคุณค่าสนองตัณหาก็ได้  เช่น  อาหารมีคุณค่าอยู่ที่ความเอร็ดอร่อย  เสริมความสนุกสนานเป็นเครื่องแสดงฐานะความโก้ หรูหรา  รถยนต์เป็นเครื่องวัดฐานะ  แสดงความโก้  มั่งมี มุ่งเอาความสวยงามและความเด่น เป็นต้น[3]

 

                  จากคำนิยามข้างต้นนี้  จะเห็นได้ว่า  พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) ได้ให้คำนิยามความหมายของคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมได้อย่างชัดเจน  ซึ่งหากพิจารณาให้ลึกซึ้งลงไป  จะพบว่า  หลักคิดแบบคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมนี้  สามารถใช้ได้กับพฤติกรรมของมนุษย์ได้ทุกเรื่อง  มิใช่เฉพาะแต่เรื่องการอุปโภคบริโภคเท่านั้น  หากเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่เกิดจากการเลือก การตัดสินใจที่จะทำ  ก็สามารถนำหลักนี้เป็นเกณฑ์ตัดสินได้   เพราะการที่บุคคลตัดสินใจหรือเลือกที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ย่อมเกิดจากความต้องการหรือแรงจูงใจให้ทำ ประกอบกับการเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ที่เกิดจากการกระทำนั้น  ซึ่งเข้ากันได้กับหลักคิดดังกล่าวนี้   ดังที่พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า

 

    วิธีคิดแบบนี้  ใช้พิจารณาในการเกี่ยวข้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ทั่วไป...โดยมุ่งให้เข้าใจและเลือกเสพคุณค่าแท้ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริง  เป็นไปเพื่อ       ประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น  คุณค่าแท้นี้  นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ชีวิต     อย่างแท้จริงแล้ว  ยังเกื้อกูลแก่ความเจริญงอกงามของกุศลธรรม เช่น ความมีสติ         เป็นต้น  ทำให้พ้นจากความเป็นทาสของวัตถุ  เพราะเป็นการเกี่ยวข้องด้วย  ปัญญา  และมีขอบเขตอันเหมาะสม  มีความพอเหมาะพอดี  ต่างจากคุณค่าพอกเสริมตัณหา  ซึ่งไม่ค่อยเกื้อกูลแก่ชีวิต บางทีเป็นอันตรายแก่ชีวิต ทำให้อกุศลธรรม  เช่น  ความโลภ  ความมัวเมา  ความริษยา มานะ ทิฏฐิ  ตลอดจนการยกตนข่มผู้อื่นเจริญขึ้น  ไม่มีขอบเขตและเป็นไปเพื่อการแก่งแย่งเบียดเบียน[4]   

 

                  จากคำอธิบายนี้  ทำให้สามารถเห็นความเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของการวิจัยนี้มากขึ้น  เพราะแสดงให้เห็นว่า  คุณค่าแท้และคุณเทียม  มีลักษณะที่มีความชัดเจนอยู่ในตัว  และสามารถพิจารณามาเป็นเกณฑ์การตัดสินได้ ดังนี้

 

                        1)  คุณค่าแท้ 

เป็นการเลือกกระทำสิ่งต่าง ๆ  บนฐานของปัญญา  มีเหตุผล  เป็นกุศลธรรม  นำมาซึ่งความเจริญงอกงามคุณธรรมจริยธรรมในตัวบุคคลและเป็นประโยชน์ทั้งส่วนตนและบุคคลอื่น ๆ 

 

                        2) ส่วนคุณค่าเทียม   

เป็นการเลือกกระทำสิ่งต่าง ๆ บนฐานของตัณหา  ขาดเหตุผล  นำมาซึ่งความเจริญขึ้น พอกพูนขึ้นแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายในตัวบุคคลและเป็นโทษทั้งส่วนตนและบุคคลอื่น ๆ นั่นเอง 

 

                  ลักษณะดังกล่าวนี้  สอดคล้องกับทัศนะของผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน  ที่กล่าวถึงคุณค่าแท้ในแง่ที่เสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมและเป็นการปฏิบัติสิ่งต่าง ๆ  ด้วยปัญญา  ส่วนคุณค่าเทียมเป็นลักษณะก่อให้เกิดความงมงาย  ไร้เหตุผล  ไม่เป็นการพึ่งตนเองหรือพัฒนาตนเอง  แต่หวังพึ่งอำนาจภายนอก  หวังพึ่งอำนาจศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ  เป็นต้น   ยกตัวอย่างเช่น  ทัศนะที่ว่า “คุณค่าแท้ก็ คือ การบูชาพระพุทธรูปด้วยปัญญา ระลึกถึงพุทธคุณ  การสร้างพระพุทธรูปมานั้นเป็นการสร้างพุทธคุณซึ่งเป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม  เพราะคนมันรู้ด้วยตาหรือรับเรื่องรูปธรรมได้ง่ายกว่าที่จะรู้ด้วยใจ  ส่วนคุณค่าเทียมของการบูชา  ก็คือ การทำตามกันมาโดยไม่เข้าใจ” [5]    

 

                  จากนัยดังกล่าวนี้  จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของการตัดสินคุณค่าอยู่ที่จิตใจเป็นสำคัญ  และความมีคุณค่านั้นมิได้หมายถึงผลที่ได้รับอย่างเดียวเท่านั้น  หากแต่ยังหมายถึงตัวการกระทำเองซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะได้รับผลแห่งการกระทำนั้น  หากเหตุเกิดจากจิตที่เป็นกุศล  ประกอบด้วยธรรม   ผลที่ควรได้รับย่อมได้แก่  ความสุข  ความสงบ  ความอิ่มใจ  ฯลฯ  ซึ่งเป็นภาวะที่จิตใจที่ดีงามร่มเย็นเช่นนี้   

 


เอกสารอ้างอิง

              [1] ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต)

              [2] สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภาร  พรมทา, อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  6  กุมภาพันธ์  2551.

              [3] พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม, หน้า 694.

              [4] เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.

              [5] สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ, ราชบัณฑิต ราชบัณฑิตยสถาน,  14  กุมภาพันธ์  2551.

หมายเลขบันทึก: 402618เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2010 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท