แนวคิดเรื่องคุณค่าในพระพุทธศาสนา


งานวิจัยเรื่อง ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย.2552

คำว่า “ คุณค่า” ในภาษาไทย ตามคำนิยามของราชบัณฑิตยสถาน  หมายถึง สิ่งที่มีประโยชน์หรือมีค่าสูง[1]  ตรงกับภาษาอังกฤษว่า value ซึ่งเป็นคำสำคัญอันดับแรก ๆ ในปรัชญาจริยธรรม  เป็นเรื่องเกี่ยวกับลักษณะที่แท้จริงและความสำคัญของคุณค่าทั้งเชิงสัจนิยมและสุนทรียศาสตร์[2]  ตามทัศนะทางปรัชญาตะวันตกนั้น มองว่า มีส่วนประกอบและพื้นฐานเดียวกับ “การประเมินค่า” หรือ “valuation” เมื่อนำมาใช้มักจะมีความรู้สึกสับสนกัน  แต่ก็มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในวัฒนธรรมร่วมสมัย  ไม่เพียงแต่ในทางเศรษฐกิจและทางปรัชญาเท่านั้น  แต่ยังใช้เป็นการเฉพาะกับวิทยาศาสตร์ทางสังคมอื่น ๆ และในมานุษยวิทยาด้วย[3] 

 

                  ส่วนในทางพระพุทธศาสนา  คำสอนต่าง ๆ  มีเนื้อหาที่แบ่งออกเป็นส่วนได้ 2 ส่วน  ได้แก่ ส่วนที่เป็นอภิปรัชญา  กล่าวถึง ความจริงของจักรวาล  ของโลกและสรรพสิ่ง  กล่าวถึงธรรมชาติและกฎของธรรมชาติเป็นสำคัญ  อีกส่วนหนึ่งเป็นจริยศาสตร์ที่สอนให้มนุษย์เข้าใจความหมายของชีวิต  สอนให้มนุษย์รู้จักดำเนินชีวิตเพื่อประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นด้วยความไม่ประมาท  สอนให้รู้จักใช้ชีวิตให้กลมกลืนกับธรรมชาติและสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ[4]

 

                  เกี่ยวกับคุณค่านั้น  หากพิจารณาตามความหมายในทั่วไปแล้ว  เมื่อมาเทียบเคียงกับคำสอนในทางพระพุทธศาสนาจะพบว่า มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องประโยชน์หรือเป้าหมายที่มนุษย์ต้องการได้รับ  ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นสูงสุดนั่นเอง   การศึกษาเรื่องคุณค่าตามทัศนะพระพุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นในเรื่องของหลักพุทธจริยศาสตร์เป็นสำคัญ  เพราะเกี่ยวข้องกับการตัดสินความดี ความชั่วโดยตรง  โดยที่ความดี คือ สิ่งที่นำมาซึ่งประโยชน์หรือสุข  ส่วนความชั่วเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งโทษหรือความทุกข์นั่นเอง   

 

                  คำว่า “คุณค่า” ตามทัศนะทางพระพุทธศาสนาจึงเป็นผลดีที่ได้รับจากการปฏิบัติดี หรือที่เรียกว่า “อรรถะ” หรือ “อานิสงส์” นั่นเอง  ดังที่พระธรรมธีรราชมหามุนี(โชดก ญาณสิทฺธิ)  ได้อธิบายความหมายของคำว่า “คุณค่า” ไว้ว่า  หมายถึง ราคาก็ได้  หมายถึง ประโยชน์ หมายถึง อานิสงส์  หมายถึง ผลที่เราจะได้รับ นั้นเรียกว่า คุณค่า  โดยใจความคือ ประโยชน์หรืออานิสงส์หรือผลที่จะได้รับนั่นเองเรียกว่า คุณค่า [5]

 

                  ตามนัยนี้  จะเห็นได้ว่าคุณค่าตามหลักพุทธศาสนาคือการถือเอาประโยชน์จากสิ่งนั้น  เช่น คุณค่าของหลักธรรม จะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และบุคคลอื่นก็ต่อเมื่อได้นำเอาหลักธรรมนั้นไปประพฤติปฎิบัติ แต่ถ้าไม่ได้นำเอาไปปฏิบัติต่อให้ธรรมะนั้นวิเศษขนาดไหนก็ตามจะหาค่าอะไรไม่ได้เลย  จึงกล่าวได้ว่า  พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบธรรมะซึ่งเป็นสิ่งประกอบด้วยคุณค่าที่มีอยู่แล้วในโลกนี้  ทรงนำคุณค่าที่พระองค์ค้นพบนั้นมาบอกต่อให้แก่พระสาวก  ถ้าพุทธบริษัทปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์แล้ว  ก็จะเข้าถึงคุณค่าเหมือนอย่างที่พระองค์ทรงค้นพบ  โดยที่หลักสำคัญของเรื่องคุณค่าอยู่ที่การปฏิบัติให้เป็นประโยชน์  ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า   

 

                        ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคล 4 จำพวกนี้ มีปรากฏในโลก 4 จำพวกเป็นไฉน คือ    บุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่นจำพวก 1  ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนจำพวก 1  ผู้ปฏิบัติเพื่อ           ประโยชน์ตน แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่นจำพวก 1  ผู้ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์          ตนทั้งเพื่อประโยชน์ผู้อื่นจำพวก 1  ดูกรภิกษุทั้งหลายท่อนไม้ที่ทิ้งอยู่ในป่าช้า ไฟ     ติดสองข้าง ตรงกลางเปื้อนคูถ ย่อมไม่สำเร็จประโยชน์แก่เครื่องไม้ในบ้าน ทั้งไม่          สำเร็จประโยชน์ แก่เครื่องไม้ในป่าฉันใด  เรากล่าวบุคคลผู้ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์         ตนและไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่นนี้เปรียบฉันนั้น [6]

 

                  แนวคิดเรื่องคุณค่าตามทัศนะทางพระพุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อประโยชน์  ซึ่งมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจอีกว่า อะไรคือประโยชน์  ประโยชน์มีกี่ระดับ  มีลักษณะอย่างไร  แต่โดยสาระสำคัญแล้ว  การปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนทุกประการถือว่าเป็นสิ่งมีประโยชน์ทั้งสิ้น  โดยเฉพาะในหลักการดำเนินชีวิตนั้น  หากจะกล่าวโดยสรุปก็ได้แก่  การดำเนินชีวิตตามทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นลักษณะของการดำเนินชีวิตที่มีเป้าหมายแน่ชัด  เป็นทางที่ต้องดำเนินด้วยปัญญา  จึงเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ คือ เริ่มด้วยความเข้าใจปัญหาของตนและรู้จุดหมายที่จะเดินไป  โดยมีความรู้และความมีเหตุผลเป็นแนวทางแห่งการรู้เข้าใจ  ยอมรับและกล้าเผชิญกับความจริง  กล้าที่จะจัดการกับชีวิตของตนเองโดยตนเอง โดยไม่ต้องคอยหวังพึ่งอำนาจศักดิ์สิทธิ์หรือฤทธานุภาพดลบันดาลจากภายนอก  ท่าทีแห่งความมั่นใจเช่นนี้แหล่ะคือลักษณะอย่างหนึ่งของความเป็นทางสายกลาง[7] 

 

                  ดังนั้น  เกณฑ์สำคัญในการตัดสินคุณค่าในการปฏิบัติต่าง ๆ จึงอาจนำเอาหลักธรรมมาเป็นเครื่องตัดสินได้   ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ในการบูชาพระพุทธรูปก็อาจถือเกณฑ์นี้เป็นเกณฑ์สำคัญได้ และสอดคล้องกับที่ผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านได้แสดงทัศนะไว้ว่า  การบูชาพระพุทธรูปต้องเป็นลักษณะทางสายกลาง  ไม่สุดโต่งด้านใดด้านหนึ่งเกินไป และอยู่บนฐานของปัญญาความรู้ความเข้าใจ  ความมีเหตุผล[8] ไม่งมงาย  หรือกระทำกันในลักษณะที่ถือปฏิบัติตาม ๆ กันมาอย่างขาดเหตุผล

 

                  นอกจากหลักทางสายกลางแล้ว  พระพุทธศาสนายังมีหลักธรรมที่เกี่ยวกับคุณค่าซึ่งสามารถนำมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินพฤติกรรมทางจริยธรรมได้อีกมากมายหลายหลักการ  โดยที่แต่ละหลักการล้วนมีความเกี่ยวข้องและไม่ขัดแย้งกัน  แต่อาจจะมีจุดเน้นที่แตกต่างกันเท่านั้น  ซึ่งเมื่อว่าโดยเป้าหมายแล้ว ก็ล้วนมุ่งสู่ประโยชน์สูงสุด คือ ความพ้นทุกข์อันเป็นเป้าหมายเดียวกันกับทางสายกลาง 

 

                  เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับเกณฑ์การตัดสินคุณค่าตามหลักพระพุทธศาสนา  และนำไปสู่วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้  คือ  การศึกษาวิเคราะห์คุณค่าแท้และคุณค่าเทียมของการบูชาพระพุทธรูป  ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาและขอนำเสนอเกณฑ์การตัดสินคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมโดยละเอียดตามแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกส่วนหนึ่งในลำดับถัดไปนี้   

 

 


เอกสารอ้างอิง

      [1] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.  2542 , หน้า  253.

      [2] ประภาศรี  สีหอำไพ,  พื้นฐานการศึกษาทางศาสนาและจริยธรรม,  หน้า  21.

      [3] Paul Edwards (Editor-in-Chief), The Encyclopedia of Philosophy, vols. 8, (London : Collier-Macmillan Limited, 1967),  page 18-25.

      [4]สุวัฒน์ จันทรจำนง , ปรัชญาและศาสนา, หน้า  197.

      [5]พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก  ญาณสิทฺธิ), “คุณค่าของการปฏิบัติธรรม,”  ออนไลน์,http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=jummaip&month=04-2007&date=14& group=9&gblog=339.

      [6] ที.ปา.  11/275/245.

      [7]  พระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต) ,  พุทธธรรม,  หน้า  583.

      [8] สัมภาษณ์ พระอนิลมาน  ธมฺมสากิโย, รองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหา มกุฏราชวิทยาลัย,  5  กุมภาพันธ์  2551.

 

หมายเลขบันทึก: 402616เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2010 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท