สัมภาษณ์ทัศนะเกี่ยวกับคุณค่าแท้และคุณค่าเทียมของการบูชาพระพุทธรูป


งานวิจัยเรื่อง ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย.2552

                  1)  พระสุธีวรญาณ (ณรงค์  จิตฺตโสภโณ)  มีทัศนะว่า  คุณค่าแท้ของการบูชาพระพุทธรูป คือ  เรื่องศิลปะและเรื่องคุณธรรมที่อยู่ในพระพุทธรูปนั้น  และการบูชาก็ต้องเน้นที่การปฏิบัติธรรมเพื่อบูชาที่เรียกว่า ปฏิบัติบูชา  โดยในแง่ของศิลปะนั้นท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า  การสร้างพระพุทธรูปตั้งแต่ยุคแรก คือ พระคันธาระ  เป็นศิลปะที่เป็นต้นแบบในการสร้างในสมัยต่อมา  ความสวยงามของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาในทุกยุคทุกสมัยนั้น  เป็นสิ่งที่มีคุณค่า  เพราะเกิดจากความศรัทธา  จิตใจที่ดีงาม  ความตั้งใจจริงของผู้สร้าง   ในแง่นี้จึงอาจกล่าวได้ว่า  พระพุทธรูปมีคุณค่าแท้ในทางศิลปะ เพราะเป็นเครื่องจรรโลงใจให้ดีงามนั่นเอง และการบูชาพระพุทธรูปที่ก่อให้เกิดคุณค่าแท้ก็ คือ การปฏิบัติธรรม  ไม่ใช่เอาแต่อ้อนวอนรอผลดลบันดาล   ซึ่งเป็นคุณค่าเทียม  คือ  พฤติกรรมการบูชาที่ท่านกล่าวไว้ว่า

 

   ปัจจุบันนี้การบูชาพระพุทธรูป...บูชาพระพุทธเจ้าเหมือนเป็นพระเจ้า เป็นเทพเจ้า เป็นเทวดา คล้ายๆบูชาพระอินทร์ พระพรหม ศาลเจ้าอะไรต่างๆ บูชาเสร็จแล้วก็ขอให้ข้าพเจ้าได้ต่างๆนานา เหล่านี้มันเป็นยุคแบบอินเดียก็เหมือนกันผลสุดท้ายก็ไปสู่ภักติ   โยคะ การอ้อนวอน เลยกลายเป็นว่าไม่ใช่หลักพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้งอมือ งอเท้า หรือลัทธิรอผลดลบันดาล พระพุทธเจ้าไม่นิยม [1]   

 

                  จากทัศนะนี้ แสดงให้เห็นว่า  การปฏิบัติในลักษณะอ้อนวอนและนับถือพระพุทธรูปหรือพระพุทธเจ้าในลักษณะเป็นเทพเจ้า  เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดคุณค่าเทียมนั่นเอง 

 

                  นอกจากนี้  คุณค่าเทียมอีกลักษณะหนึ่ง ก็คือ  การบูชาในลักษณะที่เป็นเชิงเศรษฐกิจ เป็นการค้าการขาย  ซึ่งทำให้พระพุทธรูปมีคุณค่าน้อย[2]  ลักษณะนี้ก็เป็นเรื่องคุณค่าเทียม

 

                  2)  พระอนิลมาน  ธมฺมสากิโย   ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องคุณค่า ซึ่งสรุปได้ว่า  ท่านมองว่า  การบูชาพระพุทธรูป ไม่ว่าแบบใด ย่อมมีคุณค่าทั้งนั้น  แต่จะมากหรือน้อยก็อยู่ที่ประโยชน์ของการปฏิบัตินั้น ๆ  แต่ถ้าหากปฏิบัติสุดโต่งไปก็จะเป็นคุณค่าเทียม  ในแง่ของพุทธพาณิชย์ก็เป็นคุณค่าเทียม  ดังที่ท่านกล่าวว่า

 

   หลักของพระพุทธศาสนาที่ชัดเจนที่สุด  ก็คือ  ถ้าอะไรมากที่สุด  สุดโต่งเกินไป มันก็ผิด  คุณค่าแท้ตรงนั้นมันก็จะกลายเป็นเทียมไป  เพราะว่ามันสุดโต่งเกินไป  ในแง่ของเรามอง  พระพุทธรูปหรือวัตถุมงคลที่เราสร้างขึ้นมา  เราก็จะเห็นว่าวัตถุมงคลมันเป็นตัวที่แค่ยึดเหนี่ยวเอาไว้ตรงนั้นเอง วัตถุนั้นมันไม่มีอะไร  ไม่สามารถจะเป็นมงคลใน   ตัวมันเองได้  แต่ว่าเราก็ใช้เป็นนโยบาย ในการให้คนมายึดหาอะไรในการที่จะทำให้คนรำลึกถึงบางสิ่งบางอย่าง  แต่ว่าเมื่อสุดโต่งเกินไปตรงนั้นมันก็กลายเป็นคุณค่าที่  เทียมไป ก็โดยแง่ของพุทธพาณิชย์ก็เกิดขึ้น ในแง่ของอะไรๆ ก็เกิดขึ้น มันก็คือเรื่อง   ปกติที่อยู่ในสังคม มันสามารถที่จะใช้ได้ในแง่ของทุกสิ่งทุกอย่าง ความรู้ที่เราเรียนนี้   เราก็นึกว่าเพื่อจะให้เป็นบัณฑิต  แต่ก็หารู้ไม่ว่า ในด้านหนึ่งก็มีการใช้ความรู้ในทางที่ผิด แม้แต่พวกโจรบางครั้งมันก็ใช้ความรู้ระดับสูง  เหมือนกัน  ถ้าไปใช้ความรู้ในทางที่ผิด  การที่จะตีคุณค่าตรงนั้นจึงอยู่ที่เราจะไปใช้อย่างไร  ไม่ใช่อยู่ที่ตรงนั้น ไม่ใช่อยู่ที่ ตัวนั้น  เพราะว่ามันเป็นตัวกลาง ๆ  พระพุทธรูปเป็นกลาง ๆ แต่ว่าคนที่เอาไปใช้เป็นอย่างไร นั่นแหล่ะคือปัญหา[3]

 

                  โดยสรุป ท่านมองว่า  คุณค่าเทียมของการบูชาพระพุทธรูป คือ การบูชาในลักษณะสุดโต่ง  เชื่อแบบงมงาย  เชื่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์  และบูชาในเชิงพุทธพาณิชย์ ส่วนคุณค่าแท้  ก็คือ การบูชาที่ตรงข้ามกับลักษณะดังกล่าว

 

                  3)   ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ มีทัศนะว่า  คุณค่าแท้ก็ คือ การบูชาพระพุทธรูปด้วยปัญญา  ระลึกถึงพุทธคุณ  การสร้างพระพุทธรูปมานั้นเป็นการสร้างพุทธคุณซึ่งเป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรม  เพราะคนมันรู้ด้วยตาหรือรับเรื่องรูปธรรมได้ง่ายกว่าที่จะรู้ด้วยใจ ส่วนคุณค่าเทียมของการบูชา ก็คือ การทำตามกันมาโดยไม่เข้าใจ  การบูชาพระพุทธเจ้าต้องนึกถึงพุทธคุณ  เราจะทำอะไรก็ควรนึกถึงพระพุทธเจ้าว่าท่านทำอย่างนี้ สอนอย่างนี้หรือเปล่า  แล้วน้อมนำเอาพุทธคุณมาใช้ในชีวิตของเรา [4]   

 

                  4)  ศาสตราจารย์พิเศษอดิศักดิ์  ทองบุญ  มีทัศนะว่า ในการบูชานั้นมี  2  ลักษณะ คือ อามิสบูชาและปฏิบัติบูชา พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญปฏิบัติบูชา แต่สำหรับฆราวาสทั่วไปนั้น  พระพุทธเจ้ามิได้ทรงห้ามอามิสบูชา  เพียงแต่ทรงสอนพระสงฆ์ว่าไม่ควรหมกมุ่นในอามิสบูชา  ทั้งนี้เพราะการบูชาสักการะ เป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นของฆราวาส  เป็นการแสดงออกถึงความศรัทธา  ดังในหลักทาน  ศีล  ภาวนา  อามิสบูชาก็อยู่ในขั้นทาน  แต่ไม่ควรติดอยู่เพียงทาน เพื่อการบูชาด้วยอามิส  เอาดอกไม้ธูปเทียนไปถวายพระเท่านั้น  ควรปฏิบัติบูชาด้วย  แต่โดยมากก็ถือปฏิบัติกันเพียงเรื่องอามิสซึ่งนี่ถือเป็นคุณค่าเทียม  คุณค่าแท้ต้องดูที่จิตว่าจิตพัฒนาขึ้นไม่  จิตสูงขึ้นไม่   ถ้าหากยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น  มีคุณธรรมมากขึ้นก็จัดเป็นคุณค่าเทียม   แม้การบูชาจะเป็นอามิสก็ตามแต่ ถ้าหากอยู่แค่บูชาแบบไสยาศาสตร์  ก็เป็นเพียงคุณค่าเทียม   แต่หากเราเห็นพระพุทธรูปแล้วนึกถึงพระพุทธเจ้า  นึกถึงพระคุณของพระองค์  นึกถึงพระจริยาวัตรของพระองค์ เช่น ปางต่าง ๆ มีพระพุทธจริยาวัตรอย่างไร  แล้วน้อมนำพุทธจริยาวัตรนั้น ๆ มาเป็นแนวปฏิบัติในการพัฒนาตนเอง  ก็จะเป็นคุณค่าแท้ของการบูชาพระพุทธรูป

 

                  นอกจากนี้ ศาสตราจารย์พิเศษอดิศักดิ์ ทองบุญ ยังได้กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้จากการเข้าถึงคุณค่าแท้ว่า  อยู่ที่การกราบพระพุทธรูปแล้ว  เกิดจิตสงบ  เยือกเย็นขึ้น  โดยเฉพาะคนที่มีความทุกข์ดังที่ท่านกล่าวว่า

 

   ให้มองดูความต้องการของคนที่เข้าไปบูชาพระพุทธรูปแต่ละครั้ง  คนที่มีความทุกข์เรื่องใด ๆ เมื่อเข้าไปกราบพระพุทธรูป  มองพระพักตร์ของท่านแล้ว  เกิดความสงบเยือกเย็นขึ้น  ถ้าว่ารุ่มร้อนมา  พอเห็นพระหน้ายิ้มก็ทำให้จิตเราที่พลุกพล่านอยู่ก็หยุด            การหยุดนี่ มันเป็นการตั้งหลักให้คิดถูก เหมือนกับสมาธิก็เป็นหลักให้เกิดปัญญานั่นแหล่ะ เมื่อเทียบกับหลักไตรสิกขา การเข้ามาพอเห็นพระพุทธรูป เราเริ่มต้นที่ศีลก่อน   ศีล สมาธิ ปัญญาน่ะครับ  ตรงนั้นเป็นศีล ตรงที่เข้าไปเฝ้า เราไม่มีจิตที่จะคิดทำอกศุลทั้งหลาย แม้แต่ว่าวิตก 3 ที่เป็นอกุศลวิตก เราก็หยุดตรงนี้ เราเริ่มต้นที่จะใก้จิตเราค่อย ๆ สว่างขึ้น เริ่มต้นจากงดเว้นจากเรื่องที่หยาบ  งดเว้นจากการทำบาป  จิตสงบขึ้น  เลิกพลุกพร่านกับความคิดโน้นคิดนี้  ใจก็สงบขึ้นเข้าขั้นสมาธิ  เมื่อใจสงบแล้วเราก็นึกถึงอะไรต่าง ๆ ปัญหาที่เราติดค้างอยู่  เอามาคิด   คิดด้วยจิตที่มันสงบ  ผ่องใส  ปัญหาต่าง ๆ ที่เราคิดไม่ออกว่าจะแก้อย่างไร  เมื่อจิตสงบก็คิดออก  ปัญญาเกิดขึ้นตรงนี้  เราก็ใช้ปัญญาตรงนั้น  แก้ปัญหาได้  จะได้มาก ได้น้อยก็แล้วแต่  ถือว่าเป็นการพัฒนาขึ้นมาขั้นหนึ่ง  อย่างนี้ถือว่าถึงคุณค่าแท้ของการเข้าไปบูชาพระครั้งนั้น [5] 

 

                  จากทัศนะดังกล่าวนี้  สรุปได้ว่า  คุณค่าแท้ของการบูชาพระพุทธรูป คือ การบูชาแล้วก่อให้เกิดการพัฒนาทางปัญญาและสามารถนำปัญญานั้นมาแก้ปัญหาชีวิตได้ ส่วนคุณค่าเทียม คือ การบูชาในลักษณะสักแต่ว่าบูชา  เน้นที่อามิสบูชาอย่างเดียว  และมุ่งบูชาในแง่ของไสยศาสตร์เป็นหลัก 

 

                  5)  รองศาสตราจารย์ ดร.สมภาร  พรมทา   มีทัศนะว่า ถ้าคำว่า “คุณค่าเทียม” เป็นคำนิยามจากการที่เราได้บางสิ่งบางอย่างมา  โดยที่สิ่งนั้นไม่ได้เป็นสาระสำคัญในการดำเนินชีวิต   การกราบไห้วพระพุทธรูปของชาวบ้านในฐานะที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลักษณะของโชค ขอลาภให้ตนได้บางสิ่งบางอย่างโดยที่ตนไม่ได้ลงมือทำ  อย่างนี้จัดอยู่ในประเภทคุณค่าเทียม  ซึ่งเป็นลักษณะการบูชาพระพุทธรูปในระดับขั้นที่ 1  ตามทัศนะของท่าน   แต่ถ้าเป็นระดับที่ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิต โดยมุ่งที่คุณภาพของใจเป็นหลัก  เป็นเรื่องของการเสริมให้ชีวิตดีขึ้น มีหลักการดำเนินชีวิตก็จัดเป็นคุณค่าแท้  ซึ่งท่านได้ชี้แจงว่า  การไหว้ในระดับที่ 2 และ 3  นั้นถือว่าเป็นคุณค่าแท้  ดังนี้

 

   การไหว้พระพุทธรูปในระดับที่ 2 ซึ่งยังถือว่าพระพุทธรูปมีความศักดิ์สิทธิ์นี้   คำว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในที่นี้ ผมหมายถึงว่า เราจะมองพระพุทธรูปในแง่ที่เป็นวัตถุ สสารเท่านั้นไม่ได้  ต้องมีอะไรมากกว่านั้น  สิ่งนี้เราอธิบายไม่ได้หรอก  แต่ว่าสิ่งนี้แหล่ะที่ทำให้การ ไหว้พระพุทธรูปมันก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเราไม่ได้ไหว้แค่วัตถุ  เพราะฉะนั้นคนที่บอกว่าพระพุทธรูปก็เป็นแค่พระอิฐแค่ปูน อันนี้ก็ไม่เข้ากับวิธีคิดแบบนี้ใช่ไหมครับ   แต่ในขณะเดียวกัน  การไหว้พระพุทธรูปแบบนี้มันมีผลต่อชีวิตผู้ไหว้ คือ ทำให้ชีวิตเขารู้ว่า   ชีวิตที่ดีในทางพุทธควรจะเป็นอย่างไร  เพราะฉะนั้นถึงมันจะเป็นเรื่องทางวัตถุ  แต่ผมคิดว่ามันก็ให้คุณค่าแท้  ระดับที่ 3 ไม่ต้องพูดถึง  มันให้คุณค่าแท้ตรง ๆ อยู่แล้ว [6]  

 

 


เอกสารอ้างอิง

                  [1] สัมภาษณ์ พระสุธีวรญาณ (ณรงค์จิตฺตโสภโณ), รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,  11  กุมภาพันธ์  2551.

                  [2]เรื่องเดียวกัน.

                  [3]สัมภาษณ์ พระอนิลมาน  ธมฺมสากิโย, รองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหา มกุฏราชวิทยาลัย,  5  กุมภาพันธ์  2551.

                  [4]สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์  ทองประเสริฐ, ราชบัณฑิต  ราชบัณฑิตยสถาน,  14  กุมภาพันธ์  2551.

                  [5]สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์พิเศษ อดิศักดิ์  ทองบุญ, ราชบัณฑิต  ราชบัณฑิตยสถาน,  9  กุมภาพันธ์  2551.

                  [6]สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภาร  พรมทา, อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  6  กุมภาพันธ์  2551.

หมายเลขบันทึก: 402458เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2010 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท