ชีวิตที่พอเพียง : ๑๑๐๐. ขับรถเที่ยวในออสเตรเลีย


          เมื่อเล่าให้ญาติมิตรฟังว่า ผมจะไปเที่ยวออสเตรเลียโดยเช่ารถขับเอง   ทุกคนบอกว่าขับง่ายมาก เพราะขับชิดซ้ายเหมือนบ้านเรา  ถนนดีและสัญญาณจราจรละเอียดชัดเจนดีมาก  และคนขับตามกฎจราจรดีกว่าบ้านเรามาก  

          แต่เมื่อไปขับจริงๆ ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยจากประสบการณ์ ที่น่าจะได้บันทึกไว้แบ่งปัน   คนที่จะไปขับรถเที่ยวออสเตรเลียบ้างอาจได้ประโยชน์หากค้นมาพบเข้า 

          สิ่งที่ต้องเตรียมล่วงหน้าในประเทศไทยก่อนเดินทางไปออสเตรเลียมี ๓ ประการ คือ

๑. ทำใบอนุญาตขับขี่ระหว่างประเทศ   ทำง่ายมากที่กรมการขนส่งทางบก จตุจักร   เตรียมเงินไป ๕๐๐ – ๖๐๐ บาท   สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และใบขับขี่ไทย   และเวลา ๑ – ๒ ช.ม. ก็ได้แล้ว   เป็นหน่วยงานที่บริการประทับใจยิ่ง


๒. กำหนดว่าจะขับจากที่ไหนไปที่ไหนบ้าง   เวลาติดต่อจองรถไปที่ออสเตรเลีย จะได้บอกเขาไว้   เขาจะเตรียมแผนที่ไว้ให้พร้อมคำแนะนำวิธีเลือกเส้นทางช่วงแรกของการเดินทาง พร้อมทั้งวิธีโทรศัพท์หรือ อี-เมล์ ไปแจ้งหมายเลขบัตรเครดิตสำหรับจ่ายค่าผ่านทางที่เก็บค่าผ่านทาง   ซึ่งจะทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นมาก    


๓. เช่ารถ    การเช่ารถสมัยนี้ทำทาง อินเทอร์เน็ต   คำแนะนำของผมคือใช้บริษัทใหญ่ๆ น่าเชื่อถือเข้าไว้   แพงกว่านิดหน่อย แต่คุณภาพของบริการดีกว่าน่าเชื่อถือกว่า   แต่บางคนก็บอกว่า บริษัทให้เช่ารถท้องถิ่นออสเตรเลียก็คุณภาพดี   ผมใช้ของ Thrifty ซึ่งเป็นบริษัทไม่ใหญ่ เราจองรถขนาด โตโยต้า คัมรี  แต่ได้มิตสุบิชิ แลนเซอร์ซึ่งคันเล็กกว่า   แต่นอกจากข้อตำหนินี้แล้ว บริการของเขาก็นับว่าดีมาก

          เมื่อออกจากตรวจของต้องห้าม (custom check) ออกมาที่สนามบินซิดนีย์ มีป้ายบอกบริเวณเคาน์เตอร์ของบริษัทให้เช่ารถ ซึ่งตั้งเรียงรายอยู่ ๔ – ๕ บริษัท เริ่มจากบริษัทยักษ์ใหญ่ Hertz, Avis, .. บริษัท Thrifty ที่ผมเช่ามาจากเมืองไทยเป็นเคาน์เตอร์ ที่ ๔  มีผมมาติดต่อคนเดียว   มีเจ้าหน้าที่ผู้ชายอายุราว ๕๐ เป็นเจ้าหน้าที่ และมีคนหนุ่มอายุราว ๓๐ เป็นผู้ช่วย   เขาเตรียมแผนที่ เอกสาร และรถไว้ให้เราล่วงหน้าอย่างดี   ไปถึงผมก็ยื่น print out เอกสารยืนยันการจองของผม   เขาเอาเอกสารสัญญาการเช่า ราคาเช่า และข้อตกลงว่าหากเกิดอุบัติเหตุเราจะต้องจ่ายค่าซ่อมรถเช่าภายในวงเงินเท่าไร  ค่าเสียหายของรถคู่กรณีในวงเงินเท่าไร   เกินจากนั้นทางบริษัทให้เช่าเป็นผู้จ่าย   รวมทั้งให้เอกสารczjory[ “Pay tolls, not fines” ซึ่งบอกวิธีลงทะเบียน Roam Express ทางโทรศัพท์ หรือทาง อี-เมล์  พร้อมบอกคำแนะนำ เขาบอกย้ำว่าให้ทำภายใน ๔๘ ช.ม.   ไม่จำเป็นต้องทำเดี๋ยวนั้น   การลงทะเบียนนี้ เจ้าหน้าที่ของ Jemby – Rinjah Lodge ช่วยทำให้ทาง อี-เมล์

          เขาบอกทางให้ไปรับรถที่ที่จอดรถของสนามบินชั้นล่าง   ซึ่งของ Thrifty ก็อยู่เกือบสุดแถวบริษัทรถเช่าตามเคย   มีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงอายุราวๆ ๓๐ ผิวดำนั่งอยู่คนเดียว   เมื่อเราเอาเอกสารยื่นให้เขาขอดูกุญแจรถ   และบอกว่าคันสีแดง

          เส้นทางแรกที่ผมขับคือจากสนามบินซิดนีย์ ไปยัง บลูเม้าน์เท่น   ซึ่งสาวน้อยค้นเส้นทางด้วย Google และพิมพ์ลงกระดาษมาอย่างดี  ได้มา ๒ เส้นทาง มีทั้งแผนที่และคำบอกเส้นทาง   แต่เจ้าหน้าที่ของ Thrifty เขาบอกอีกเส้นทางหนึ่ง   และเราก็ขับไปทางนั้นอย่างราบรื่นและสนุก เพียงแต่ว่ารถติดจากอุบัติเหตุ   กับจากการขยายทาง ทำให้เราเสียเวลาไปประมาณ ๑ ชั่วโมง

          ตอนจะออกจาก Blue Mountains ไป Mooney Mooney Creek เราเปิดแผนที่ดูเส้นทางไว้ล่วงหน้าจากเมืองไทย   กะว่าจะไปอีกเส้นทางหนึ่งซึ่งอยู่เหนือเส้นเดิม คล้ายๆ จะได้ขับวนเป็นวง   แต่เมื่อปรึกษาเจ้าหน้าที่ของ Jembi – Rinjah Lodge เขาก็บอกว่าอย่าไปเส้นที่เราวางแผนเลย   เพราะตอนปลายทางรถจะติดมาก   เขาแนะนำให้ขับกลับออกจาก Blue Mountains ทางเดิม แล้วจึงค่อยต่อเส้นขึ้นเหนือ   เขาให้แผนที่บอกเส้นทางมากับ “เลขา” ผู้ทำหน้าที่คนบอกทิศทาง (navigator) ของเรา

          ซึ่งเมื่อเราขับมาตามทางที่เขาบอก ก็สะดวกจริง และบางช่วงก็มีรถบรรทุกมากจริง ตามที่เขาบอก   รวมทั้งมีช่วงที่เขาเรียก “scenic” road คือวิวดี   ซึ่งตอนแรกพวกเราหวังได้เห็นวิวทะเล   แต่มีน้อยมาก วิวของฝรั่งคือ ๒ ข้างถนนเป็นป่า   ซึ่งทำให้ผมย้อนระลึกถึงวิวป้า ๒ ฟากถนนตอนไปตราด   วิวทะเลเรามาเห็นที่ Gosford และที่ Dee Why Beach กับ Curl Curl Beach ตอนใกล้ถึง ซิดนีย์ ในวันที่ ๑๘ ก.ย. 

          ตรงถนน Pacific Highway ส่วนที่เป็น scenic road นี้ ถนนคดเคี้ยวร่มรื่น ขึ้นลงเขา   จึงมีมอเตอร์ไซคล์มาวิ่งมาก   มีป้ายเตือนให้ระวังจักรยานและมอเตอร์ไซคล์   เและมอเตอร์ไซคล์เขาขับเร็ว   เราขับช้าหรือตามความเร็วที่กำหนด   เขาจึงรำคาญเรามากกว่าเรารำคาญเขา

          ประสบการณ์ที่เราได้รับอีกอย่างหนึ่งคือ หาโรงแรมที่จองไว้ไม่พบ   จนต้องจอดรถเดินหา คิดว่าคงอยู่แถวนั้น   แต่สาวน้อยกับเลขาไปพบว่า address ที่ได้ตามใบจองเป็นบ้านสัตวแพทย์   เราต้องโทรศัพท์ไปถามจึงรู้ว่าเราขับเลยมาไกล   ต้องย้อนกลับไป   หลงไปหลงมาเราก็หาพบจนได้ ด้วยฝีมือการอ่านแผนที่ละเอียดที่บริษัทให้เช่ารถจัดให้ยืมใช้ โดย “เลขา”   

          พอเข้าเขต ซิดนีย์ “เลขา” ก็ใช้แผนที่ซิดนีย์แผ่นเดียวที่บริษัทให้เช่าให้มาเหมือนกัน   แผนที่นี้ละเอียดมาก บอกว่าถนนเส้นใดเดินรถทางเดียว   แต่ก็มีผิดพลาดทำให้เราต้องวนไปตั้งหลักใหม่ เสียเวลาไปอีกหน่อยหนึ่ง   แผนที่นี้พิมพ์ตัวเล็ก คนแก่อย่างผมอ่านไม่ออก จึงต้องทำหน้าที่โชเฟอร์ ให้ “เลขา” ทำหน้าที่นำทาง   โดยมีสาวน้อยคอยกำกับอยู่ข้างหลังอีกทีหนึ่ง 

          การขับรถเองในต่างถิ่น ไม่รู้จักเส้นทาง และไม่รู้จักพื้นที่นี้ เป็นการผจญภัยอยู่ตลอดเวลา   สนุกไปอีกแบบ

          เรามาได้ประสบการณ์ตอนเอารถไปที่โรงแรมที่พักเพื่อขนกระเป๋าสัมภาระไปฝาก   พอขับรถไปจะเข้าที่จอดรถก็พบว่าประตูปิด เลขา เป็นคนไปค้นพบว่าต้องกด intercom พูดกับเจ้าหน้าที่ต้อนรับของโรงแรม เขาจะกดสวิตช์เปิดประตูให้   และตอนเราจะออกก็ต้องเอื้อมมือไปกดสวิตช์เปิดประตูเอง

          และที่ได้ความรู้มากคือตอนคืนรถ   เราหลงไปเข้าที่จอดรถของโรงแรมแห่งหนึ่งโดยไม่รู้ว่าเมื่อขับรถเข้าไปใกล้ประตูเหล็กจะเปิดออกเอง เราจึงไปจอดคาขวางทางอยู่   เลขา ไปหาข้อมูลแก้สถานการณ์ รถเราก็ขวางอยู่ จนมีแหม่มสูงอายุขับรถจะออกก็เห็นรถเราขวางอยู่   เขารอพักหนึ่งก็ขับรถเคลื่อนหน่อยหนึ่งประตูก็เปิดออก และเขาหลีกเข้าที่จอด   เรารีบขับรถเข้าไปและขอบคุณแก   สาวน้อยบอกว่าผมโดนค้อนเสียวงใหญ่ แต่ผมตาไม่ดี จึงรอดตัวไป   ในที่สุด “เลขา” จึงตะโกนมาบอกว่าที่เราเข้าไปนั้นเป็นที่จอดของโรงแรม  ที่จอดของ Thrifty เป็นอีกที่หนึ่ง และวิธีทำให้ประตูที่จอดรถเปิดจากข้างในที่จอด ก็คือขับรถเข้าไปใกล้ๆ มันจะเปิดออกเอง   เราจึงผ่านความทุลักทุเลมาเข้าที่จอดของ Thrifty ได้

          แล้วก็ถึง surprise ใหญ่ตอนคืนรถ   เขาถามว่าเอารถไปจอดแล้วใช่ไหม   ขอกุญแจรถ เป็นอันจบ ไม่ต้องไปตรวจสภาพรถ ไม่ต้องเซ็นเอกสารใดๆ อีก

          การขับรถของฝรั่ง หากขับนอกเมืองเขาขับตามกฎจราจร ไม่มีการเปลี่ยนเลนแซงซ้ายขวาแบบบ้านเรา   นิสัยไม่ดีแบบนั้นมาพบบ้างในเมือง แต่ก็น้อยมาก

          จุดอ่อนของคนไทย คือเราขับแบบเดาใจอีกฝ่ายหนึ่ง   เช่นเวลาถึงวงเวียนต้องให้รถทางขวาไปก่อน แต่คนไทยเรามักใช้วิธีกะว่าใครมาถึงก่อนไปก่อน   ผมโดนฝรั่งด่าทีหนึ่งที่เมือง Katoomba ด้วยเหตุนี้ในการขับรถต่างประเทศวันแรก   นอกจากนั้นเวลาออกจากถนนซอย เขาจะมีป้าย Give Way แปลว่าต้องรอจนไม่มีรถให้เห็นจึงจะไปได้   คือต้องหยุดรถสนิท ดูซ้าย ดูขวา แล้วจึงออกรถ  ไม่ใช้พรวดพราดออกมาแบบที่พบบ่อยๆ ในประเทศไทย

          ข้อสังเกตอีกสองอย่างของสังคมออสเตรเลีย คือใช้คนน้อยในการทำงาน กับระบบความเชื่อใจกัน   ตรงไหนใช้เครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์แทนคนได้เป็นใช้หมดดังเช่นการเก็บเงินค่าผ่านทาง   และเปรียบเทียบกับ easy pass ของทางด่วนในกรุงเทพแล้ว เทคโนโลยีคนละชั้นทีเดียว   ของเขารถแล่นด้วยความเร็วปกติ สังเกตไม่ออกด้วยซ้ำไปว่าเครื่องตรวจจับตรงไหน   และเขาใช้วิธีเรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิตที่ลงทะเบียนไว้

          หลายครั้งที่เราสังเกตเห็นการทำงานบนความไว้เนื้อเชื่อใจกัน   ดังกรณีการคืนรถเช่า   และการคืนห้องโรงแรมรวมทั้งการยืมและคืนหนังสือที่โรงแรม Jemby – Rinjah Lodge เป็นต้น

 

วิจารณ์ พานิช
๑๘ ก.ย. ๕๓
ซิดนีย์

สภาพถนน Great Western Highway ที่เมือง Glenbrook เมืองแรกที่เข้าเขต Blue Mountains

 

ปั้มน้ำมันของเขาก็มีร้านสะดวกซื้ออยู่ด้วยกัน ปั้มนี้อยู่ที่ Glenbrook

 

Bulls Camp Reserve ข้างทาง Great Western Highway ใช้เป็นที่พักรถ ปล่อยสุนัขวิ่งเล่น และเข้าห้องน้ำ

 

สามสาวหน้าตาเบิกบานหลังแวะปลดทุกข์เบาที่ Bulls Camp Reserve บน Great Western Highway

 

ถนน Evans Lookout Road ที่ Jemby - Rinjah Lodge ตั้งอยู่

 

Pacific Highway ส่วนที่เป็น scenic road

 

ป่าริมทาง scenic road

 

ถ่ายจาก Kirion Hill Lookout บนถนน Central Coast Highway หลังออกจาก Gosford มาครู่เดียว

 

แวะถ่ายรูป Curl Curl Beach

 

Motoway 1 ขาเข้าซิดนีย์

 

 อยู่บน Bay Bridge

 

หลังคืนรถเช่ากลับมาเป็นคนเดินถนน ได้บรรยากาศอีกแบบ

 

 

หมายเลขบันทึก: 402443เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2010 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท