สัมภาษณ์ทัศนะเกี่ยวกับความสำคัญของพระพุทธรูป


งานวิจัยเรื่อง ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย.2552

                  1)  พระสุธีวรญาณ (ณรงค์  จิตฺตโสภโณ)  มีทัศนะว่า  พระพุทธรูปเป็นรูปสมมติแทนองค์พระพุทธเจ้า ถูกสร้างขึ้นเพื่อไว้บูชา   จัดเป็นเจดีย์อย่างหนึ่งในเจดีย์  4 อย่างของพระพุทธศาสนา  ได้แก่  อุทเทสิกเจดีย์   แต่เกิดขึ้นมาหลังพุทธกาลและสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าก็มิได้สรรเสริญ  แม้สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  พระองค์ก็ไม่ได้สร้าง  แต่นิยมสร้างสิ่งสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติไว้เท่านั้น ดังที่ท่านกล่าวว่า  

 

                  สมัยพระเจ้าอโศกจะไม่มีพระพุทธรูปเลย ถ้าไปสวนโมกข์ก็ได้เดี๋ยวนี้ รอบๆสวนโมกข์     ที่รอบๆโรงมหรสพทางวิญญาณท่านพระพุทธทาสได้จำลองมาไม่มีรูปพระพุทธเจ้ามี  แต่สัญลักษณ์ ต้นโพธิ์บ้าง  ธรรมจักรบ้าง หรือ พระธาตุที่มีช้างก็หมายถึงปรินิพาน   แสดงธรรมก็มีธรรมจักรใช่ไหม  ประสูติก็มีต้นไม้เดี่ยวๆโค้งมา (ต้นสาละคู่) ส่วนมาก    ก็มีแต่นางสิริมหามายา หรือลูกช้าง  หรือท่านนอนอยู่ก็มีลูกช้างไปจูบอยู่ที่เท้า  เขามีแต่สัญลักษณ์ แม้แต่ออกบวชก็มีแต่ลูกช้าง  มีแต่ม้า  ไม่มีพระพุทธเจ้า แต่พอตอน   หลังมาเริ่มสมัยกรีกคิดว่าราวๆสมัยกษัตริย์เมนันเดอร์ หรือสมัยที่พระเจ้ามิลินท์ [1]   

 

                  เมื่อพิจารณาตามนัยนี้  จะเห็นได้ว่าพระพุทธรูปเป็นเพียงสิ่งสมมติแทนพระพุทธเจ้า  และดูเหมือนว่า ในยุคต้นคือ สมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาลยุคแรก ๆ  ไม่มีการนิยมสร้างพระพุทธรูปกัน  แต่อย่างไรก็ตาม พระสุธีวรญาณยังได้แสดงทัศนะเพิ่มเติมในลักษณะว่า  พระพุทธรูปแม้จะสร้างขึ้นมาทีหลัง คือ สมัยกษัตริย์กรีกเข้าครอบครองอินเดีย  แต่ก็สร้างขึ้นด้วยความศรัทธาเลื่อมใส  สร้างไว้เพื่อสักการะบูชา ตามแบบอย่างการบูชาเทพเจ้าที่ชาวกรีกเคยนับถือ  เมื่อสร้างขึ้นแล้วก็มีการสร้างตาม ๆ กันมาจนปัจจุบัน  โดยท่านได้แสดงถึงความสำคัญของพระพุทธรูปไว้  2  ลักษณะ  ดังนี้

 

                  ประการแรก  พระพุทธรูปเป็นรูปธรรมที่สื่อถึงนามธรรม  เพราะพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นแฝงไว้ด้วยปรัชญาและคำสอนต่าง ๆ  ที่ก่อให้เกิดแง่คิดในการดำเนินชีวิตได้ ดังที่ท่านกล่าวว่า

 

               พระพุทธรูปมี 2 ลักษณะใหญ่ๆ อันหนึ่ง คือ Realistic อย่างแบบคันธาระ นี่เหมือนคน นี่คือ Realistic แต่หลังจากนั้นมาก็จะเป็น Idealistic Art คือ พระพุทธรูปจะไม่เหมือนคน  คุณดูได้ว่าโบสถ์วัดไหนเหมือนคนไหม หน้าอาจจะเหมือน แต่ทรงไม่    เหมือน  แต่นิ้วเสมอกันยังไม่เหมือนคนเลย อย่างนี้เป็นต้น หูยาน คางยาว คุณไปดู   เถอะ แม้แต่ศีรษะก็จะแหลมๆไม่เหมือนคน ความไม่เหมือนตรงนี้แหละคือ Idealistic   แล้วแต่ความรู้สึกนึกคิด...มันแฝงไปด้วยบุคลิกลักษณะ แต่ว่าที่เหมือนกันทุกประเทศ   ก็คือ ความเมตตา ความสงบ มหากรุณาธิคุณ บริสุทธิคุณ  และปัญญาธิคุณ   ปัญญาธิคุณ ก็คือ ที่แหลมๆ เนี่ยอาจจะเป็นบัวตูมหรืออะไร แล้วแต่ แต่ละประเทศก็จะมีลักษณะปัญญาที่แสดงออก และพระพุทธรูปจะไม่นิยมทำหน้าบึ้ง หน้าเครียด จะยิ้มแย้มแจ่มใส แสดงเมตตา และแสดงความบริสุทธิ์ คือไม่มีความสกปรก[2]

 

                  ประการที่สอง  พระพุทธรูปเป็นศิลปะที่แสดงออกถึงความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า  นิยมสร้างอย่างวิจิตรสวยงาม  ตามหลักมหาบุรุษลักษณะที่ปรากฎในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและแสดงถึงเอกลักษณ์ของชาตินั้น ๆ  ประเทศใดสร้าง  พระพุทธรูปก็จะมีพระพักตร์คล้ายกับคนชาตินั้น เป็นต้น

 

                  2)  พระอนิลมาน  ธมฺมสากิโย  มีทัศนะว่า  พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมานั้น เป็นเพียงสัญลักษณ์หรือเป็นจินตนาการ  ที่สร้างขึ้นมา  เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกว่าสำคัญมากเสียเลยทีเดียวก็ดูจะผิดหลักไป  เพราะถ้าว่ากันตามหลักธรรม  พระพุทธรูปไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด  เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็ขัดกับหลักการที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”  ทั้งนี้ พระพุทธรูปจะมีความสำคัญมากน้อยเพียงใดนั้น  ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่จะให้ความสำคัญ  ซึ่งอาจจะมีหลายระดับ  โดยระดับกว้าง ๆ  ก็คือ ระดับชาวบ้านทั่วไปและระดับปัญญาชน   ถ้าเป็นระดับชาวบ้านก็อาจจะให้ความสำคัญกับพระพุทธรูปในแง่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น  แต่ถ้าในแง่ของปัญญาชนก็อาจจะมองว่า พระพุทธรูปในแง่ของศิลปะ สิ่งสวยงาม  เครื่องเตือนใจหรือให้กำลังใจ  พระพุทธรูปจึงเป็นอุปกรณ์หรือเป็นสื่อให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระองค์นั่นเอง  ดังที่ท่านยกตัวอย่างว่า

 

           อาจจะมองในแง่ของสิ่งที่เป็นส่วนสำคัญของการปฏิบัติธรรมก็ได้อย่างเช่นว่า   อาจารย์เองก็เคยสอน ชาวต่างประเทศว่า  เวลาเรามองพระพุทธรูป ชาวพุทธมองพระพุทธรูปหรือว่ากราบพระพุทธรูปอย่างไร หรือวิธีการมองพระพุทธรูปอย่างไร  วิธีการง่ายๆ  คือว่า เวลาที่เรามองพระพุทธรูปหรือดูพระพุทธรูป ดูท่านซิ  คำสอนของท่านนั้นท่านสอนให้สำรวมตา  เพราะฉะนั้นที่ตาพระพุทธรูปก็จะสำรวมตลอดเวลานั้นคือเวลาเรามองพระพุทธรูปให้ดูว่า เราควบคุมหรือว่าให้สำรวมตา  ให้สำรวมมือ นี่   ดูซิพระกรของท่านพระหัตถ์ของท่าน อยู่ในอาการสงบไม่มีชี้โบ้ชี้เบ้  สงบเท้า  สงบ  อะไรนี่  นั้นก็คือ สิ่งที่สะท้อนมาของคำสอนพระพุทธเจ้า ที่เป็นหลักหัวใจของพระพุทธศาสนาตรงนั้นมันก็อยู่ในพระพุทธรูปนี้แหล่ะ  เวลามองไม่ได้อยู่ที่ความศักดิ์สิทธิ์  แต่ว่าความศักดิ์สิทธิ์มันจะเกิดก็เพราะว่า เราทำตามพระพุทธรูปหรือว่าทำตามคำสอนของท่าน  เพราะฉะนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนที่ไปกราบบูชานั้น  เขาไปถึงหรือว่าเขานึกถึงพระพุทธเจ้าในระดับไหนล่ะ[3]

 

                  นอกจากนี้ ท่านยังได้แสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า  ในระดับชาวบ้าน  แม้จะถือว่าพระพุทธรูปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  หรือบูชาพระพุทธรูปกันเป็นประเพณี  ก็ถือเป็นด่านแรกที่จะนำไปสู่การพัฒนาให้เข้าใจหลักธรรม  โดยที่สุดแล้วก็ต้องไม่ไปยึดติดที่พระพุทธรูป  เหมือนคำสอนที่ว่า  ธรรมะเปรียบเหมือนแพ   เมื่อข้ามฝั่งแล้ว  แพก็ไม่จำเป็นต้องยึดไว้อีกแล้ว   พระพุทธรูปก็เหมือนกันโดยที่สุดก็ไม่ควรยึดถือ แต่ปัญหาอยู่ที่จะทำอย่างไรให้เกิดความเข้าใจเช่นนี้  นี่เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ผู้สั่งสอนธรรมะทั้งหลายที่จะต้องทำความเข้าใจ[4] 

 

                  3)  ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ มีทัศนะว่า ความสำคัญของพระพุทธรูปนั้น ขึ้นอยู่กับระดับภูมิปัญญาของคน  ความจริงแล้วในพระพุทธศาสนาไม่ได้ถือเอาพระพุทธรูปเป็นเรื่องสำคัญ   แต่ว่าในยุคแรก ๆ ก็จะมีการใช้สัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าเหมือนกัน  เช่น  รูปธรรมจักรและกวางหมอบ  ที่สื่อให้ระลึกถึงพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา  เป็นต้น   พระพุทธรูปนี้  ความจริงแล้ว  สร้างในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช  กษัตริย์กรีกที่เข้ามาปกครองอินเดีย  ซึ่งเดิมทีเขานับถือเทพเจ้า  ต่อมาเมื่อมานับถือพระพุทธศาสนาก็สร้างพระพุทธรูปขึ้นมา  พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมานี้จัดเป็นรูปธรรม  สมัยโบราณเขาเรียกว่า เป็นปุคลาธิษฐาน  คนที่มีปัญญาน้อย ก็ต้องมีภาพประกอบ  รูปประกอบในการสอนธรรม   ดังเราจะเห็นได้ว่า  ตามวัดสำคัญ ๆ  ก็จะมีรูปภาพจิตรกรรมฝาผนัง  เพื่อเป็นสื่อในการสอนธรรมะ  การสร้างพระพุทธรูปก็เช่นกัน  เพื่อเป็นสื่ออย่างนั้น  สำหรับคนที่มีปัญญาน้อย  

 

                  นอกจากนี้ท่านยังแสดงทัศนะว่า  การสร้างพระพุทธรูปเป็นศิลปะ นำมาซึ่งอารมณ์สุนทรีย์  หรือเป็นสุนทรียศาสตร์อีกด้วย  ดังที่ท่านกล่าวว่า

 

   การสร้างพระพุทธรูปนี่เป็นศิลปะ ถ้ามองใแง่หนึ่ง  ก็เป็นสุนทรียศาสตร์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นพระพุทธรูปบางยุคบางสมัยก็งามเห็นแล้วน่าเลื่อมใส ดังเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยนี้  งาม  พระพักตร์งามกว่าสมัยอยุธยา คือ มองแล้วมันทำให้เกิดความเลื่อมใส หรืออย่างที่พระพุทธชินราชที่พิษณุโลกก็สมัยสุโขทัย คือ เวลาผมไปที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  ผมไปกราบพระพุทธชินราช  ผมก็นั่งทำสมาธิ  แล้วมองเพ่งไปที่พระ พักตร์ บางครั้งมันอุปทานของเราหรือไง  เหมือนกับท่านยิ้มกับเรา  แสดงถึงความเมตตากรุณาที่มีต่อเรา[5]   

 

                  จากทัศนะข้างต้นนี้  แสดงว่าศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ  มีความเห็นว่า  การกล่าวว่าพระพุทธรูปมีความสำคัญนั้นขึ้นอยู่กับส่วนบุคคล  ขึ้นอยู่กับระดับภูมิปัญญาของแต่ละคน  แต่ความสำคัญที่เห็นได้ชัด คือ เป็นสิ่งสื่อธรรมะและเป็นศิลปะที่ก่อให้เกิดความเลื่อมใสหรือสุขใจเมื่อได้มอง 

 

                  4)  ศาสตราจารย์พิเศษอดิศักดิ์  ทองบุญ  มีทัศนะว่า  พระพุทธรูปเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก  เพราะเป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า  แต่ก็สำคัญมากสำหรับคนสามัญธรรมดา  ส่วนผู้มีปัญญาก็อาจจะไม่จำเป็น เพราะมีพระอยู่ในใจแล้ว   ดังที่ท่านกล่าวว่า 

 

   พระพุทธรูปนี้มีความสำคัญมาก  เพราะโดยปกติปุถุชนมีเรื่องมากที่จะต้องคิดต้องทำ  จริงอยู่  เรามีใจฝักใฝ่  มีการนับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เล็กๆ หรือว่าสืบทอดกันมาก็ตามเถอะครับ  ความจำเป็นในชีวิตประจำวันบางทีมันก็ทำให้เราลืมได้  ทานที่ทำ อยู่ก็ทำให้เราลืมได้  แต่เมื่อใดที่เราเห็นพระพุทธรูป จะเล็กๆ ก็ตาม ใหญ่ก็ตาม  นั่นก็ คือ โอกาสที่ทำให้เราหวนระลึกอีกทีหนึ่ง  เป็นโอกาสให้เกิดพุทธานุสสติ  สำคัญที่สุด  คือ พุทธานุสสติ  ระลึกถึงพระพุทธเจ้า  เราไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้า  แต่เราเคยอ่านพุทธประวัติ  เราเคยรู้เรื่องพระพุทธเจ้าทำอะไรบ้าง  เทศน์เรื่องอะไรบ้าง  นี่แหล่ะ เอาตรงนี้มานึกมากคิดอีกทีหนึ่ง  เพียงแต่คิดเท่านั้นแหล่ะ  มาแล้ว ชั่วดีดมือเดียวก็ยัง  ดีกว่าที่จะไม่คิดถึง  อันนี้พูดถึงคนธรรมดาสามัญน่ะครับ  ส่วนคนที่มีใจสูงอยู่แล้ว  ไม่  จำเป็นต้องพกพระ มีพระประจำอยู่แล้ว  คนที่พกพระเพราะว่ากลัวว่าตัวเองจะลืม  ห้อยคอไว้หน่อยหนึ่ง [6] 

 

                  จากทัศนะนี้  สรุปได้ว่า  พระพุทธรูปเป็นสิ่งช่วยให้คนธรรมดาสามัญได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าได้  พระพุทธรูปจึงมีความสำคัญในแง่ที่เป็นเครื่องเตือนใจสำหรับคนทั่วไปนั่นเอง

 

                  5)  รองศาสตราจารย์ ดร.สมภาร  พรมทา  มีทัศนะว่า  ความสำคัญของพระพุทธรูปนั้น  ถ้ากล่าวโดยรวมก็มีความสำคัญ  แต่ถ้ากล่าวโดยละเอียดก็ขึ้นอยู่กับระดับของคน  ในส่วนที่มีความสำคัญโดยรวมก็คือ  พระพุทธรูปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางศาสนา  ศาสนาใดที่มีวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง  ศาสนาก็มีความเข้มแข็งไปด้วย  โอกาสที่คนทุกระดับจะเข้าใกล้ศาสนาก็ง่าย   พระพุทธรูปจึงเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรม   การมีพระพุทธรูปที่บ้านหรือที่โรงเรียน หรือที่อื่น ๆ ในแง่หนึ่งย่อมดีกว่าไม่มี  โดยเฉพาะในแง่ที่จะทำให้เยาวชนหรือแม้แต่ผู้ใหญ่  ได้เข้าใกล้ศาสนาได้ง่าย  เพราะบางครั้งความเป็นนามธรรมของศาสนาบางคนอาจเข้าไม่ถึง  เหมือนอย่างสอนกันว่าอย่าขับรถเร็ว  กับทำเครื่องหมายเตือนใจให้รู้ว่า ห้ามขับรถเร็ว  การรับรู้และให้ความสำคัญย่อมต่างกัน  ในท้ายที่สุดแล้ว  บุคคลแม้จะปฏิบัติธรรมขั้นสูงอย่างไร  พระพุทธรูปก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเก็บรักษาไว้   แต่ท่าทีในการปฏิบัติต่อพระพุทธรูปอาจแตกต่างกันตามระดับของคน  และด้วยความเป็นศาสนา  พระพุทธรูปย่อมเป็นสิ่งสำคัญของพระพุทธศาสนา  แต่ก็ขึ้นอยู่กับการศึกษาเป็นสำคัญที่จะทำให้รู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไรดังที่ท่านกล่าวว่า

 

                        ความเป็นศาสนา ต้องมีอะไรสักอย่างที่เป็นที่กราบไหว้  ผมคิดว่าศาสนาพุทธก็อยู่เกณฑ์นั้น  แต่ว่าศาสนาพุทธเนื่องจากว่ามีความเป็นปรัชญาที่ลึกซึ้งไปตามลำดับ  เราจึงต้องค่อย ๆ ไปสอนทีหลังถึงความเป็นพุทธ  ซึ่งที่จริงถ้าระบบการศึกษาเราดี  ก็จะรู้เองว่าควรปฏิบัติต่อพระพุทธรูปอย่างไร[7]  

 

                  จากทัศนะนี้  สรุปได้ว่า  พระพุทธรูปมีความสำคัญสำหรับชาวพุทธ  ในแง่ที่เป็นวัฒนธรรมทางศาสนา และสามารถช่วยสื่อให้บุคคลเข้าใกล้ศาสนาได้ง่ายขึ้น  ในแง่ที่เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงความเป็นชาวพุทธนั่นเอง

 


       [1] สัมภาษณ์ พระสุธีวรญาณ (ณรงค์จิตฺตโสภโณ), รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,  11  กุมภาพันธ์  2551.

       [2] เรื่องเดียวกัน.

       [3] สัมภาษณ์ พระอนิลมาน  ธมฺมสากิโย, รองคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหา มกุฏราชวิทยาลัย,  5  กุมภาพันธ์  2551.

       [4] เรื่องเดียวกัน.

       [5] สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์  ทองประเสริฐ, ราชบัณฑิต  ราชบัณฑิตยสถาน,  14  กุมภาพันธ์  2551.

       [6]สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์พิเศษ อดิศักดิ์  ทองบุญ, ราชบัณฑิต  ราชบัณฑิตยสถาน,  9  กุมภาพันธ์  2551.

       [7]สัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร.สมภาร  พรมทา, อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  6  กุมภาพันธ์  2551.

หมายเลขบันทึก: 402289เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2010 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท