ไอเอ็มเอฟ & สงครามค่าเงิน


การแสวงหากำไรจากกลุ่มนักค้าเงินเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความเจ็บปวดของประชาชนในประเทศที่ถูกโจมตีค่าเงินดังบทเรียนที่ประธานาธิบดี มิตเตอรองค์ ของฝรั่งเศสได้รับในทศวรรษ ๑๙๘๐ ตามมาด้วยนายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์ ของอังกฤษ และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียในปี ๑๙๙๒ รัฐบาลประเทศเม็กซิโกในปี ๑๙๙๔ วิกฤตการณ์ค่าเงินหรือต้มยำกุ้งที่เริ่มจากประเทศไทยและขยายตัวไปในภูมิภาคทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งเกาหลีใต้ ในปี ๑๙๙๗ ต่อด้วยวิกฤติค่าเงินของรัสเซียในปี ๑๙๙๘

        ไอเอ็มเอฟร้องประเทศยักษ์ใหญ่ ร่วมมือกันป้องกันสงครามค่าเงินในโลก : เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ นายโดมินิก สเตราส์คาห์น กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว แต่การที่ประเทศยักษ์ใหญ่ไม่เต็มใจร่วมมือกัน ถือเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่สำหรับการฟื้นตัว

          "เราประสบความสำเร็จในการหลีกเลี่ยงวิกฤติครั้งใหญ่ ผลจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นทางการเงินและการคลัง แต่ปัจจุบันเรามีภัยคุกคามใหม่ในรูปของการขาดแคลนฉันทามติและความร่วมมือ และเราเห็นความเป็นไปได้ของการเริ่มต้นสงครามค่าเงิน" นายสเตราส์คาห์นกล่าว

          กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟระบุว่า ผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจต้องกลับไปพูดคุยกันเรื่องความร่วมมือ รวมถึงค่าเงิน และพยายามปรับสิ่งที่สมควรปรับ รวมถึงแก้ปัญหาความไม่สมดุลในโลก ไม่เช่นนั้นจะมีวิกฤติใหม่ผลจากการที่ประเทศต่างๆ พยายามหาทางออกในประเทศให้กับปัญหาในโลก

          

           ในประเด็นของการเก็งกำไรหากย้อนกลับไปที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) โดยมีดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอังค์ถัด เผยแพร่รายงานการค้าและการพัฒนา (TDR) ประจำปี ๒๕๕๑ ในหัวข้อ “ราคาสินค้าโภคภัณฑ์, กระแสไหลเข้า – ออก ของเงินทุน และการจัดหาเงินทุนเพื่อการลงทุน” โดยรายงานส่งสัญญาณเตือนถึงความแปรปรวนในตลาดเงิน การปริวรรตเงินตรา และราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก ประกอบกับความไม่มั่นใจในทิศทางของนโยบายการเงินในประเทศพัฒนาแล้ว ที่จะทำให้อนาคตของเศรษฐกิจโลกไม่สดใสและสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา

 

      การเก็งกำไร ซึ่งเป็นการทำกำไรในระยะสั้นบนต้นทุนของความผันผวนในระยะยาวรวมถึงการเปลี่ยนแปลงในทันทีทันใดของอัตราแลกเปลี่ยนและฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ แสดงให้เห็นถึงความต้องการกลไกที่สมเหตุสมผล เพื่อกำกับดูแลการไหลเข้า – ออกของเงินทุนระหว่างประเทศ และสมดุลในด้านการเงินการคลัง”

 

       อังค์ถัดเห็นว่า “การเติบโตอย่างไร้เหตุผลที่เกิดขึ้นย่อมต้องการกฎ ระเบียบ ที่รอบคอบและเข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดความผันผวนและผลกระทบในทางลบ เพื่อป้องกันการเก็งกำไรเพื่อทำกำไรมหาศาลในระยะสั้น แต่ส่งผลต่อความผันผวนของทั้งระบบในท้ายที่สุด”

            หรือแม้แต่นายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็เคยกล่าวในการประชุมทางไกลผ่านจอวีดีทัศน์ร่วมกับที่ประชุมธุรกิจในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ในตอนหนึ่งว่า “ราคาน้ำมันและอาหารทั่วโลกที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ ส่วนหนึ่ง เป็นผลมาจาก ภาวะฟองสบู่การเก็งกำไรในตลาดการเงินระหว่างประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่ง เป็นเพราะปัจจัยพื้นฐานอาทิเช่น พื้นที่เพาะปลูกลดลง และความต้องการเพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา”

 

 

         “การเก็งกำไรอย่างบ้าคลั่ง” ที่สร้างอำนาจและหน้าที่ทำให้ “เงิน” กลายพันพันธุ์เป็นสินค้าประเภทหนึ่ง นำมาซึ่งเกมส์อัปยศที่ทำลายเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งไอเอ็มเอฟในฐานะผู้ดูแลกฎ กติกาของการเงินระหว่างประเทศควรที่จะตระหนักและหามาตรการมาจัดการกับกลุ่มเฮดฟันที่ปั่นกำไรตั้งนานแล้ว ไม่ใช่คอยแต่หลับตาข้างเดียวปล่อยให้ฝูงอีแร้งเหล่านั้นมากัดกินซากเศรษฐกิจจากประเทศที่ถูกโจมตีค่าเงิน

 

               ในปัจจุบันวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสาเหตุการเก็งกำไรค่าเงินเริ่มมีความถี่ของการเกิดสูงขึ้น ทุกวันนี้ธุรกรรมทางด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็น ธุรกรรมที่มีปริมาณมหาศาลเป็นอย่างมากในแต่ละวันทั่วโลก ซึ่งตกประมาณวันละหลายล้านล้านดอลลาร์สรอ.ซึ่งดีดตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมากในอัตราเร่งที่รวดเร็วจากปี ค.ศ. ๑๙๗๐ และ ๑๙๘๐ ซึ่งมีอยู่ที่ประมาณ ๒๐๐ ล้านดอลลาร์สรอ. และ ๖,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สรอ. ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนี้สูงกว่ามูลค่าการซื้อขายสินค้าและบริการต่างประเทศในแต่ละวันถึง ๑๕๐ เท่า สูงกว่ามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศอุตสาหกรรมเฉลี่ยต่อวัน ๕๐ เท่า (เปรียบเทียบง่าย ๆ คือ GDP ของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมผลิตได้วันละมูลค่า ๑ บาท แต่มีการทำธุรกรรมทางด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศถึงวันละ ๕๐ บาท และ ถ้าหากมีมูลค่าการซื้อขายสินค้าและบริการต่างประเทศในแต่ละวัน ๑ บาท แต่จะมีการทำธุรกรรมทางด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศถึงวันละ ๑๕๐ บาท) ซึ่งเปรียบเทียบแล้วการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเติบโตในอัตราที่สูงถึงร้อยละ ๒๐-๒๕ ต่อปี ในขณะที่การค้าต่างประเทศทั่วโลกเติบโตเพียงร้อยละ ๕ ต่อปี เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วใครจะต่อกรกับการเก็งกำไรค่าเงินได้ ? และที่สำคัญเราจะมีวิธีการที่จะบริหารนโยบายเศรษฐกิจในลักษณะใดจึงจะมีภูมิคุ้มกันระบบเศรษฐกิจของประเทศได้?

 

             ตามรายงานของธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (Bank of International Settlement – BIS) ระบุว่าสัดส่วนของการเปลี่ยนแปลงความสำคัญระหว่าง การค้าจริง กับ การเก็งกำไร ยิ่งมีแนวโน้มห่างกันเป็นอย่างมากโดยเฉพาะตั้งแต่ปีค.ศ. ๒๐๐๐ เป็นต้นมา เป็นการเก็งกำไรถึงร้อยละ ๙๘ และ มีการค้าขายสินค้าและบริการจริง ๆ เพียงร้อยละ ๒ เท่านั้น การเก็งกำไรในตลาดค้าเงินส่วนใหญ่เริ่มต้นทำโดยฝ่ายค้าเงินของธนาคารและกองทุนเพื่อปกป้องความเสี่ยง (hedge fund) จะเป็นผู้เล่นคนสุดท้ายของเกมส์เสมอ ดังนั้น hedge fund จึงมักจะตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

         

              การเคลื่อนย้ายเงินทุนในยุคที่เปิดเสรีทางการเงินดังกล่าวแน่นอนที่สุดมีทั้งผลดีและผลเสีย ประเทศที่ดูจะได้ประโยชน์จากกระบวนการเคลื่อนย้ายเสรีดังกล่าวดูจะเป็นกลุ่มประเทศมหาอำนาจในโลกที่หนึ่ง ส่วนประเทศในโลกที่สามนั้นดูเหมือนจะได้รับผลกระทบในทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในโลกที่สามได้รับผลกระทบมากสุด อันเนื่องมาจากปัจจัยสำคัญทางด้านโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และเครื่องไม้เครื่องมือในการรับมือกับกลุ่มนักเก็งไรค่าเงินซึ่งดูเหมือนไร้ประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนกับการทำสงครามซึ่งกลุ่มนักเก็งกำไรมีอาวุธยุทโธปกรณ์ไฮเทคครบมือ แต่กลุ่มประเทศในโลกที่สองและสามมีเพียงแค่อาวุธเก่า ๆ และล้าสมัย แล้วจะไปต่อกรได้อย่างไร? หรือถึงแม้ว่าจะมีเครื่องมือที่ทันสมัยแต่ด้วยศักยภาพของการทำธุรกรรมในตลาดเงินตราต่างประเทศของเหล่านักเก็งกำไรในปัจจุบันที่มีถึงร้อยละ ๙๘ ของธุรกรรมทั้งหมดหรือมีมูลค่ากว่าหลายล้านล้านดอลลาร์สรอ. ในแต่ละวัน แล้วประเทศในโลกที่สองและสามหรือแม้แต่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมในโลกที่หนึ่งจะรับมือได้หรือไม่ถ้าเกิดมีการทำสงคราม (การเงิน) กันจริง ๆกับกลุ่มนักเก็งกำไร? การแสวงหากำไรจากกลุ่มนักค้าเงินเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งความเจ็บปวดของประชาชนในประเทศที่ถูกโจมตีค่าเงินดังบทเรียนที่ประธานาธิบดี มิตเตอรองค์ ของฝรั่งเศสได้รับในทศวรรษ ๑๙๘๐ ตามมาด้วยนายกรัฐมนตรีจอห์น เมเจอร์ ของอังกฤษ และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียในปี ๑๙๙๒ รัฐบาลประเทศเม็กซิโกในปี ๑๙๙๔ วิกฤตการณ์ค่าเงินหรือต้มยำกุ้งที่เริ่มจากประเทศไทยและขยายตัวไปในภูมิภาคทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมทั้งเกาหลีใต้ ในปี ๑๙๙๗ ต่อด้วยวิกฤติค่าเงินของรัสเซียในปี ๑๙๙๘ 

           เมื่อถูกนักเก็งกำไรโจมตีค่าเงินหรือเปรียบเสมือนถูกข้าศึกกำลังโจมตีประเทศ  ประเทศที่ถูกโจมตีเหล่านั้นต่างก็มีเครื่องมือหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ปกป้องอธิปไตยของตัวเองแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับระบบการใช้อัตราแลกเปลี่ยนและกลไกของภาคการเงินระหว่างประเทศ แต่อาวุธสำคัญที่เกือบทุกประเทศใช้เหมือนกันเปรียบเสมือนด่านแรกของการทดสอบกำลังของข้าศึกก็คือ อาวุธยุทโธปกรณ์ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ เพื่อใช้ปกป้องการโจมตีค่าเงิน แต่จะต่างกันตรงที่ศักยภาพของอาวุธชนิดนี้ที่ขึ้นอยู่กับปริมาณของทุนสำรองที่มากน้อยต่างกันของแต่ละประเทศ ซึ่งมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น “ภารกิจหรือปฏิบัติการที่ใช้ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพื่อปกป้องค่าเงินที่สำคัญ เกิดขึ้นเมื่อฤดูร้อนปี ๑๙๙๒ และ ๑๙๙๓ เมื่อค่าเงินสกุลต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปถูกโจมตีอย่างรุนแรง ธนาคารกลางชาติต่าง ๆ ของยุโรป ใช้เงินทุนสำรองไปถึง ๔๐๐,๐๐๐ ล้านมาร์กเยอรมัน (กว่า ๒๒๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สรอ.) ในปี ๑๙๙๒ และอีกจำนวนหนึ่งในปี ๑๙๙๓ ซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาลเป็นประวัติการณ์ แต่ก็ยังพ่ายแพ้นักเก็งกำไร และอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศไทยถูกโจมตีค่าเงินตั้งแต่ปลายปี ๑๙๙๖ ต่อเนื่องจนถึงกลางปี ๑๙๙๗ โดยครั้งนั้นประเทศไทยต้องใช้ทุนสำรองเพื่อปกป้องค่าเงินบาทกว่า ๓๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสรอ. หรือคิดเป็นประมาณกว่าร้อยละ ๘๐ จากเงินทุนสำรองทางการที่มีอยู่ประมาณ ๔๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสรอ. ในการต่อสู้กับศัตรูที่ลุกล้ำอธิปไตยทางเศรษฐกิจ แต่ท้ายที่สุดก็ประสบกับความพ่ายแพ้นักเก็งกำไรเหมือนเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปเมื่อปี ๑๙๙๒”  ประสบการณ์ราคาแพงที่ประเทศเหล่านี้ต้องจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนและศึกษาให้กับกลุ่มอาจารย์นักเก็งกำไรอย่างมหาศาลนั้น ไม่ได้มีใบประกาศนียบัตรการันตีหรือหนังสือพันธะสัญญาระหว่างประเทศเหล่านี้และกลุ่มนักเก็งกำไรว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก แล้วอะไรหละจะเป็นหลักประกันว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้และกลุ่มประเทศในโลกที่สามจะไม่เกิดวิกฤติทางการเงินขึ้นมาอีก นอกเสียจากว่ากลุ่มประเทศเหล่านั้นต้อง สร้างเครื่องมือและกลไกเพื่อเป็นเกราะกำบังคุ้มกันประเทศขึ้นมาให้เหมาะสมกับศักยภาพของทางเศรษฐกิจของตัวเอง แทนที่จะเดินตามกรอบเส้นทางที่แฝงไปด้วยผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่ใช้กลไกและเครื่องมือผ่านทางองค์กรโลกบาลเพื่อใช้เป็นหลักประกัน และประทับตรายี่ห้อ ความชอบธรรม ให้เกิดขึ้นในพิภพโลก ทั้งที่แก่นแท้จริงแล้วการกระทำที่อ้างว่าชอบธรรมเหล่านั้นเป็นการฉกฉวยตักตวงเอาผลประโยชน์จากทรัพยากรของกลุ่มประเทศในโลกที่สามเอาไปเป็นทรัพยากรของตัวเอง เปรียบเสมือนทำตัวเป็นรัฐบาลเงาของโลก ซึ่งเข้าไปทำลายอำนาจอธิปไตยของประเทศเหล่านั้นผ่านทางอาวุธที่ชื่อว่า “เงินตรา” โดยมีองค์กรโลกบาลออกใบอนุญาตประกอบการให้เพื่อรองรับความชอบธรรมจากการกระทำดังกล่าว

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 402106เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2010 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 07:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท