Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

จุลกฐินสามัคคี ณ ลำพูน


องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน จัดงาน “สานใยฝ้าย สายใยบุญ จุลกฐิน สามัคคี สู่บารมีอันสูงสุด ” วันที่ 24-25 ต.ค. 2553

ประเพณีจุลกฐิน เป็นประเพณีและวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชุมชนและท้องถิ่นซึ่งได้พัฒนาสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการดำเนินชีวิต โดยแสดงออกในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ยึดโยงตามระบบคุณค่า ความเชื่อทางศาสนาและทางสังคมที่สืบทอดประสบการณ์ของคนในรุ่นต่อไป

 

ประเพณีการทอดจุลกฐินในประเทศไทยมีหลักฐานว่ามีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า 268 ว่า “ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) โปรดให้ทำ “จุลกฐิน” สาเหตุประการหนึ่งที่มีการทำจุลกฐิน เนื่องมาจากกำหนดการกรานกฐินนั้นมีระยะเวลาจำกัด และพระสงฆ์ ไม่สามารถขวนขวายดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งผ้ากฐินเองได้ เพราะจะทำให้กฐินเดาะ (สังฆกรรมเสีย) จึงอาจมีบางวัดที่ใกล้กำหนดหมดฤดูกฐินแต่ยังไม่มีผู้นำผ้ากฐินมาถวาย) ทำให้ในสมัยก่อนเมื่อใกล้เดือน ๑๒ (หมดฤดูกฐิน) มักจะมีผู้ศรัทธาตระเวนไปตามวัดต่าง ๆ เมื่อเจอวัดที่ยังไม่ได้รับถวายผ้ากฐินจึงต้องเร่งรีบขวนขวายจัดการทำผ้ากฐินให้เสร็จทันฤดูกฐินหมด ซึ่งบางครั้งอาจเหลือเวลาแค่วันเดียว จึงต้องอาศัยความร่วมมือของคนทั้งชุมชนในการร่วมกันจัดทำผ้าไตรจีวรให้สำเร็จก่อนหมดฤดูกฐิน(เพราะสมัยก่อนไม่มีผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปสำหรับขาย)



               โดยในปัจจุบันประเพณีการทำจุลกฐินนิยมทำกันเฉพาะชุมชน ทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น การร่วมมือกันจัดทำจุลกฐินดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคีของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งขั้นตอนของการทำจุลกฐินจะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนแรก ได้แก่ การเก็บฝ้าย ตีฝ้าย ดีดเป็นผงให้ฝ้ายแตกตัว เพื่อเอาเมล็ดออกปั่นเป็นเส้นด้าย แล้วเปียฝ้ายออกให้เป็นใจล้างด้วยน้ำข้าว ตากให้แห้ง แล้วจึงนำมาปั่นเป็นเส้นหลอดใส่กระสวย แล้วทอ เป็นผืนผ้าตามขนาดที่ต้องการ เสร็จจึงนำผ้ามาซัก ตาก แล้วตัดเป็นจีวรนำไปเย็บแล้วย้อมสี จึงนำไปตากแห้ง และรีดจนแล้วเสร็จจึงนำไปถวายเป็นผ้ากฐิน พร้อมกับเครื่องประกอบอื่น ๆ ที่เป็นบริวารกฐิน เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน อัฎบริขารตาลปัตร ปัจจัย ธงตะขาบ ฯลฯ แล้วแต่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จนเสร็จสิ้นพิธีถวายพระภิกษุผู้รับกรานกฐิน นำผ้านั้นไปครอบแล้วพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดอนุโมทนา จึงถือว่าเสร็จสิ้นพิธี ด้วยเหตุนี้เองจุลกฐินจึงต้องทำด้วยความรีบเร่งให้แล้วเสร็จภายใน 1วัน ปัจจุบันจุลกฐิน มีการทำน้อยแห่ง เพราะต้องใช้กำลังคนมากและกำลังทรัพย์ต้องมากด้วยในการทอดถวายผ้าจุลกฐินจะมี ดังนั้นโบราณจึงนับถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก เพราะต้องใช้ความอุตสาหะ พยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน)ภายในระยะเวลาอันจำกัด

 


โดยจุลกฐินนี้ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่ มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากจังหวัดลำพูน เป็นจังหวัดที่มีประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์ เฉพาะตนที่โดดเด่นเรื่องการทอผ้า เพื่อการใช้ในชีวิตประจำวันเพราะมีการเชื่อมโยงไปสู่ประเพณีการแต่งกายการประกอบพิธีที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ ปัจจุบันประเพณีเหล่านี้ได้เชื่อมโยงไปยังประเพณีวัฒนธรรมไทยอย่างเหมาะสมและดีงาม อาทิเช่น ประเพณีการทอผ้าถวายในฤดูกาลกฐิน เป็นต้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ได้ศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการ จึงได้จัดโครงการ “ สานใยฝ้าย สายใยบุญ จุลกฐินสามัคคี สู่บารมีอันสูงสุด ” ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม–เดือนพฤศจิกายน 2553 ณ สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และ วัดป่าพุทธพจน์หริภุญชัย ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน พระภิกษุสงฆ์ พุทธศาสนิกชน ประชาชน เยาวชนนักเรียน นักศึกษา ในจังหวัดลำพูนและจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้สามารถสืบทอดและอนุรักษ์ประเพณีที่ดีงามของไทย

 

หมายเลขบันทึก: 401998เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2010 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอร่วมอนุโมทนาบุญด้วยคนนะครับ ถึงเวลาทำบุญใหญ่กันอีกครั้งแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท