พิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น : พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน


พิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น,หนังตะลุง, สุชาติ ทรัพย์สิน

พิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น : พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน*

                                                                                    บุญยิ่ง ประทุม[1] 

                                                                                   สุรินทร์ ทองทศ[2]

หนังตะลุงเป็นมหรสพพื้นบ้านของชาวปักษ์ใต้ ที่สืบทอดกันมา แต่โบราณ โดยมี "นายหนัง" เป็นผู้ร้องและเชิดตัวหนัง นายหนังหลายคนยังเป็นศิลปินเเกะตัวหนังที่มีฝีมือ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง ที่จัดเเสดงเรื่องราวของหนังตะลุงผ่านตัวหนังตะลุงเก่าแก่ ของนายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแกะตัวหนังที่มีชื่อเสียง ทั้งวิถีชีวิตอาชีพนายหนังตะลุงของเจ้าของบ้านที่ยังดำเนินไป ในชายคาเดียวกับพิพิธภัณฑ์อยู่ทุกวัน ยังเป็นการให้ความรู้ด้านกรรมวิธีแกะหนัง ซึ่งหนังได้มาจากหนังควายและหนังวัว นำมาแกะเป็นรูปหนังตะลุง และยังคงเปิดพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงต้อนรับผู้เข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้อยู่ตลอด เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้เข้ามาถึงพิพิธภัณฑ์แทบไม่น่าเชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ได้ตั้งอยู่ท่ามกลางเมืองนครศรีธรรมราช เพราะว่าภายในพิพิธภัณฑ์นั้นได้ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ เช่นต้นไทร และปกคลุมไปด้วยแมกไม้ต่างๆ ทำให้ผู้เข้ามาเยี่ยมเยือนต่างเอ่ยปากชมด้วยความมหัศจรรย์ใจเมื่อเดินทางเข้ามาก็จะพบกับบ้านไม้ที่ได้ปิดป้ายไว้ว่า พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง สุชาติทรัพย์สิน แต่ละหลังก็จะเก็บของเก่าโบราณและรูปหนังตะลุงประเภทต่างไว้และถือว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญทางด้านศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านของภาคใต้ ซึ่งมีความสอดคล้องกับคำว่า พิพิธภัณฑ์ชุมชน (Community Museum)  ที่รองศาตราจารย์ สายันต์  ไพรชาญจิตร์ (2548 น.28)ได้กล่าวไว้ว่า หมายถึง แหล่งหรือสถานที่รวบรวมและจัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดี วัตถุโบราณ สิ่งของเครื่องใช้ วัตถุทางวัฒนธรรมรวมทั้งความรู้ภูมิปัญญาที่มีอยู่หรือเคยมีอยู่ในชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นสถานที่บ้านเรือน สิ่งก่อสร้างสมัยโบราณที่โดยอายุ รูปแบบทางศิลปะ สถาปัตยกรรม หรือประวัติความเป็นมาเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องราวของชุมชนนั้นๆที่รวมเรียกว่า โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี หรืออาคารสถานที่ที่ก่อสร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้จัดแสดงข้อมูล หลักฐานทางโบราณคดีและทรัพยากรวัฒนธรรมต่างๆ

เมื่อเข้ามาในซอย 3 บนถนนศรีธรรมาโศก จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง" ซึ่งเป็นบ้านของนายหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินนักแกะหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงแห่งเมืองนครกลิ่นหนังวัว เสียงเครื่องมือแกะหนังจากการทำงานของหนังสุชาติ ทุกๆ วัน เป็นเสน่ห์ที่ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชีวิต แรงบันดาลใจจากพระกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงขอบใจที่รักษาของอันหมายถึง ศิลปะการเเกะหนังตะลุงไว้ให้ ในคราวแสดงหนังตะลุงถวายช่วงปีพุทธศักราช 2527 นำมาสู่การจัดแสดงตัวหนังแบบต่างๆ ที่สะสมไว้ ทั้งตัวหนังตะลุงในเรื่องรามเกียรติ์ที่มีอายุกว่า 200 ปี ตัวหนังของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย จีน และตุรกี ให้ผู้สนใจเข้าชม โดยการเเสดงตัวหนังบนกรอบจำลองจอหนังตะลุง มีเครื่องดนตรีในการเเสดงวางให้ชมอย่างครบครัน

หนังสุชาติ ทรัพย์สิน มีความสามารถในการเขียนรูปและแกะตัวหนังตะลุง โดยสามารถออกแบบตัวหนังตะลุงและหนังใหญ่ ได้ตามแบบโบราณและแบบประยุกต์ได้อย่างสวยงาม นอกจากนี้หนังสุชาติ ทรัพย์สิน มีความสามารถในการเขียนกาพย์กลอนและบทหนังตะลุง ที่บ้านของหนังสุชาติ ทรัพย์สิน จะมีการสาธิตการทำตัวหนังตะลุง และมีการสาธิตการเล่นหนังตะลุงให้กับผู้ที่สนใจด้วย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นิยมมาดูศิลปการแกะหนังตะลุงและการแสดงหนังตะลุงเป็นอันมาก และสินค้าการแกะหนังตะลุงและหนังใหญ่ของหนังสุชาติ สามารถส่งขายได้เป็นสินค้าออกยังต่างประเทศที่สำคัญ เพราะตัวหนังตะลุงมีคุณภาพสูง

หนังสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินและนักวิชาการวัฒนธรรมของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ทุ่มเทชีวิตในการอนุรักษ์ส่งเสริมพัฒนาและเผยแพร่ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านจนได้รับเกียรติจาก สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นบุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาการช่างฝีมือ (หัตถกรรมพื้นบ้าน : แกะหนังตะลุง) ปี พ.ศ. 2531 ที่สำคัญและเป็นที่ภาคภูมิใจ เมื่อหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ได้รับเกียรติให้เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษากิติมศักดิ์ ในการจัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ของวัดขนอน จังหวัดราชบุรี ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้สร้างเกียรติประวัติให้แก่ชาวนครศรีธรรมราชด้านการช่างฝีมือที่สำคัญ

นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลอีกมากมาย เช่น

-           พ.ศ.2516- 2528 ได้รับรางวัลการประกวดหนังใหญ่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช

-           พ.ศ.2532 รางวัลเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  

-          พ.ศ.2535 รางวัลธุรกิจทางวัฒนธรรมยอดเยี่ยม สำนักงานส่งเสริมธุรกิจแห่งประเทศไทย  

-          พ.ศ.2538 ได้รับรางวัลส่งเสริมกิจกรรมเด็กและวิถีชีวิตการพัฒนาประชาธิปไตยเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี  

-          พ.ศ.2539 รางวัล THAILAND TOURISM AWARDS ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและโบราณสถาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพหนังตะลุงเพื่อการแสดง จังหวัดนครศรีธรรมราช

-          พ.ศ.2540 รางวัลศิลปินดีเด่นของภาคใต้ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

-          พ.ศ.2549 ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน)

และอีกหลายๆรางวัลที่ไม่ได้กล่าวถึงไว้ในที่นี้ นอกจากนั้นได้รับเกียรติจากเทศบาลเมืองโตคุชิม่า ประเทศญี่ปุ่นให้ไปแสดงหนังตะลุงเมื่อวันที่ 13-21 ตุลาคม 2545 และ เมื่อเดือน สิงหาคม 2553 ได้รับเชิญไปแสดงหนังตะลุงที่ประเทศอินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นศิลปินแห่งชาติที่ได้รับเกียรติจากรัฐบาลอินเดียในการแสดงศิลปะวัฒนธรรมของประเทศไทยให้ชาวโลกได้เรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมของภาคใต้และของประเทศไทย

            ดังนั้น กระบวนการสืบสานศิลปะวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยผ่านมิติของการจัดการเชิงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยหนังสุชาติ ทรัพย์สิน ได้สืบสานและถ่ายทอดผ่านพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง ที่ได้ให้บุคคลทั่วไปได้เข้าเรียนรู้และศึกษาให้ทราบความเป็นมาของหนังตะลุง ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต โดยการถ่ายทอดการแสดงจากนายหนังสุชาติ ทรัพย์สินเองซึ่งได้ขึ้นทำการแสดงให้ชมทุกครั้งให้กับผู้เข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์หนังตะลุง และยังคงได้ทำการแสดงและสืบทอดศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน หนังตะลุงต่อไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญด้านศิลปะวัฒนธรรมของประเทศไทยและของโลก

เอกสารอ้างอิง

สายันต์  ไพรชาญจิตร์.กระบวนการโบราณคดีชุมชน : การวิจัยเชิงปฏิบัติการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมเพื่อ

          เสริมความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมในจังหวัดน่าน. กรุงเทพฯ:

            สถาบันไทยคดีศึกษาและภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

            มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2548.

http://art.culture.go.th

 

 

 


[1] อาจารย์ประจำหลักสูตรการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช

[2] อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ (การปกครองท้องถิ่น) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2553

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2553

หมายเลขบันทึก: 401887เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2010 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีโอกาสได้ไปนครศรีธรรมราชเมื่อไหร่ จะแวะไปชมของจริงที่นั่นครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท