ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

มหาจุฬาฯ จัดประชุม โครงการจัดทำสหบรรณานุกรมตำราทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน (Union Catalogue of Buddhist Texts - UCBT)


         ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ ตุลาคม  ๒๕๕๓  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยร่วมกับสมาคมมหาวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ (International Association of Buddhist Universities) ได้จัดประชุมเพื่อพัฒนาโครงการจัดทำสหบรรณานุกรมตำราทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน  (Union Catalogue of Buddhist Texts - UCBT) ณ ห้อง ๔๐๑ อาคารสำนักงานอธิการบดี และห้องเรียนชั้น ๔ อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา  การจัดประชุมครั้ง ได้มีนักวิชาการทางพุทธศาสนาจำนวนกว่า ๓๐ รูป/คน จาก  ๑๖ ประเทศ เข้าร่วมประชุม เป้าหมายของการประชุมครั้งนี้เพื่อให้ได้รายการตำราทางพระพุทธศาสนา ๔ ภาษาหลักได้แก่ ภาษาบาลี สันสกฤต จีน ธิเบต  ที่สามารถออนไลน์ได้ทั่วโลกในปี ๒๕๕๔

         อนึ่ง  โครงการนี้เป็นโครงการสร้างฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างวิทยาลัย มหาวิทยาลัย และองค์กรพระพุทธศาสนาทั่วโลก   โดยจัดเก็บรายการบรรณานุกรมทรัพยากรสารสนเทศ ทั้งคัมภีร์ หนังสือ วารสาร และสื่อโสตทัศนวัสดุที่มีอยู่ในฐานข้อมูลแหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนาต่างๆ ทั่วโลก  เพื่อประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ลดการซ้ำซ้อนในการจัดทำรายการบรรณานุกรม และใช้ประโยชน์ในการยืมหนังสือ หรือเข้าถึงข้อมูลทางดิจิทัลอันจะทำให้เกิดความสะดวก ง่ายในการเข้าถึง และค้นคว้า

          ในส่วนของการทำงานโครงการนี้จะแบ่งคณะทำงานออกเป็นสองชุด คือ (๑) คณะทำงานด้านวิเคราะห์ทรัพยากร (Catalog) ที่เป็นแหล่งข้อมูลเบื้องต้น (Primary Source) และแหล่งข้อมูลระดับรอง (Secondary Source) เพื่อรวบรวม และจัดกลุ่มแหล่งข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น (๒) คณะทำงานด้านระบบ (System) คณะทำงานชุดนี้จะทำหน้าที่ในการออกแบบ และสร้างความเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ  เพื่อให้ง่ายต่อการอ้างอิง และค้นคว้า   โดยช่วงแรกคณะกรรมการชุดที่ ๑ จาก ๑๖ ประเทศได้ร่วมกันวิเคราะห์ทรัพยากร (Catalog) เพื่อจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปปรับปรุงให้เป็นระบบสารสนเทศมากยิ่งขึ้น

          สิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลทั่วไปคือ นักศึกษา นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและบุคคลทั่วไป สามารถค้นหาตำรา หรือคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่ต้องการในห้องสมุดของวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยทั่วโลกว่ามีหนังสือเล่มที่ต้องการอยู่ที่ได้บ้าง โดยไม่ต้องเข้า Website ของแต่ละห้องสมุด เป็นการประหยัดเวลา และสะดวกในการค้นหา เมื่อทราบแหล่งที่มาของตำรา หรือคัมภีร์ที่ต้องการแล้วย่อมสามารถที่จะใช้บริการยืมหนังสือที่เป็นไฟล์ดิจิทัล และไฟล์เอกสารระหว่างห้องสมุดของแต่ละสถาบันไปที่ห้องสมุดที่มีหนังสือดังกล่าวได้

หมายเลขบันทึก: 401884เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2010 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 09:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นมัสการครับพระอาจารย์

เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่พุทธศาสนาของชาวโลก จะเผยแผ่ ไปทั่วโลก

ท่านดร.

ขอบใจอาจารย์ ดร.ที่แวะมาเยี่ยมเยียน  ปลายเดือนอาตมาจะไปเชียงรายเพื่อร่วมประชุม QA กับมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  โชคดีคงได้พบท่านอาจารย์ดร. น่ะ

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท