ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

บัณฑิตที่ดีควรมีหลักการอย่างไร???


         วันนี้ (๙ ตุลาคม ๒๕๕๓) ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมเสวนา เรื่อง “หลักการเป็นบัณฑิตที่ดี” ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ซึ่งวิทยากรที่ร่วมเสวนาประกอบด้วยท่าน ผศ.พิมล พูพิพิธ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ นายวิทยา  บูรณสิริ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา   กลุ่มเป้าหมายคือ “ครู” ที่สังกัดในหน่วยงานของ สปฐ. จำนวนประมาณ ๕๐๐ ท่าน  ซึ่ง สปฐ. และมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ร่วมมือกันนำครูเหล่านี้มาสู่โครงการเพื่อ “ติดดาบทางปัญญาโดยการพัฒนาวุฒิและองค์ความรู้จากปริญญาตรีไปสู่ปริญญาโท” โดยการสนับสนุนและส่งเสริมทุนการศึกษาให้แก่ครูทุกท่าน   ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า ผู้ที่จะได้รับผลจากการนำครูกลับมาสู่มหาวิทยาลัยอีกครั้ง คือ ลูกศิษย์ของครูทุกท่านที่อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย  ในการนี้  ผู้เขียนขอสรุปประเด็นที่ได้นำเสนอวันนี้มาเป็น “บทความ” ดังต่อไปนี้

๑. เป้าหมายของการเกิดศาสนาและการศึกษาล้วนสัมพันธ์กัน

          เมื่อวิเคราะห์การ “ผุดเกิด” ของศาสนาต่างๆ  ทุกศาสนาในโลกนี้ ล้วนเกิดขึ้นจากปัจจัยที่สำคัญ ๓ ประการ (๑) เพื่อทำลายความหวาดกลัว หวาดระแวง และหวาดหวั่น (๒) เพื่อสร้างความมั่นใจ มั่นคง และมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้น (๓) เพื่อทำให้สังคม และมวลมนุษยชาติอยู่ร่วมกันด้วยความสงบร่มเย็น และเป็นสันติสุขมากยิ่งขึ้น 

         ในขณะเดียวกัน กล่าวถึงเป้าหมายของการจัดการศึกษาก็มีนัยที่ไม่ได้แตกต่างๆ ไปจากการเกิดขึ้นของศาสนาแต่ประการใด  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  องค์การยูเนสโกได้กล่าวถึงเป้าหมายของการจัดการศึกษาว่า ควรเป็นไปเพื่อการพัฒนามนุษย์ใน ๔ มิติใหญ่ๆ คือ (๑) การเรียนเพื่อแสวงหาความรู้   (๒) การเรียนเพื่อที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ (๓) การเรียนเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และ (๔) การเรียนเพื่อที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

         เมื่อสรุปจากแง่มุมของศาสนาและการศึกษาจะพบว่า มีนัยที่สอดรับกันทั้งใน ๒ ประเด็นใหญ่ๆ คือ (๑) การศึกษาต้องเป็นไปเพื่อการค้นหาและ สร้างความประจักษ์แจ้งในตัวของตัวเอง (๒) การศึกษาต้องเป็นเครื่องมือที่จะทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุขจากการบรรลุเป้าหมายใหญ่ๆ ทั้งสองประการนั้นจะทำให้มนุษย์ไม่หวาดหวั่น และเกรงกลัว และทำให้มนุษย์มีความมั่นคงและมั่นใจต่อการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น

๒. บัณฑิตทางโลกต่างจากทางธรรมอย่างไร

          เราอาจจะ “วัด” คุณค่าและความสำคัญของบัณฑิตทางโลกด้วย “ใบปริญญาบัตร” ที่จะนำไปเป็นเครื่องมือสำหรับการันตีเพื่อเป็นใบเบิกทางในการแสวงหาอาชีพ และวัตถุเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ฉะนั้น หากจะกล่าวว่าบัณฑิตหมายถึงผู้ฉลาด คำว่า ฉลาดในบริบททางโลกย่อมหมายถึงความฉลาดในการใช้ความรู้เพื่อเอาตัวรอดโดยการแสวงหาปัจจัย ๔ มาเป็นเครื่องมือหล่อเลี้ยงร่างกาย  แต่เมื่อกล่าวถึง “บัณฑิตในทางธรรม” ย่อมมีนัยที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เพราะบัณฑิตในบริบทนี้ แม้จะหมายถึง “ความฉลาด” เช่นเดียวกัน แต่เป็นความฉลาดทางปัญญา  ที่ไม่ได้หมายถึงการเอาตัวรอดทางกายภาพเท่านั้น หากแต่เป็นการพาตัวเองให้หลุดพ้นจากกับดักของ “โลกธรรม” ที่มนุษย์กำลังเผชิญหน้าในทุกขณะของการดำเนินชีวิต และการทำงาน 

๓. ความหมายของบัณฑิตทางธรรม

          คำว่า “บัณฑิต” แปลว่า “ผู้ฉลาด”  ซึ่งหมายถึง “ฉลาดที่มีปัญญาเป็นตัวผลักดันอยู่เบื้องหลัง” สำหรับสิ่งที่จะวัดคุณลักษณะของความฉลาดนั้น ประกอบด้วยคุณลักษณะ ๓ ประการ คือ (๑) รู้  หมายถึง การรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร อะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด อะไรสูงอะไรต่ำ ซึ่งการรู้ในลักษณะนี้มุ่งเน้นที่ “การรู้สภาวะทุกอย่างที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง” (๒) ตื่น หมายถึง การที่สภาพจิตของมนุษย์ตื่นจากการครอบงำด้วยความอยากที่เกินขอบเขต และไร้ขีดจำกัด  ภาวะจิตทื่ตื่นจากการครอบงำของความโกรธ และเกลียดชังที่ไม่พึ่งปรารถนา และ ภาวะจิตที่ตื่นจากความไม่รู้ (อวิชชา) ที่บังใจจนนำไปสู่การตัดสินใจกระทำการโดยขาดความยั้งคิดและรู้เท่าทัน และ (๓) เบิกบาน หมายถึง สภาพจิตของของบัณฑิตมีความสุข สดชื่น และเบิกบานประดุจดอกบัวในยามเช้าที่พร้อมเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต การทำงาน และเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นๆ ในสังคม

๔. เกณฑ์วัดคุณค่าของความเป็นบัณฑิตทางธรรม

          เกณฑ์ที่ใช้วัดคุณค่าของความเป็นบัณฑิตในทางธรรมนั้น ประกอบไปด้วยตัวบ่งชี้ (Indicators) ๗ ตัวด้วยกัน กล่าวคือ

          (๑)  ความเป็นผู้รู้จักวิเคราะห์สาเหตุของสถานการณ์และความเป็นไปของชีวิต

          (๒)  ความเป็นผู้รู้จักวิเคราะห์สาระและผลอันเกิดจากสาเหตุดังกล่าว

          (๓)  ความเป็นผู้รู้จักวิเคราะห์ตนเองทั้งในด้านความรู้  คุณธรรม และความสามารถ

          (๔)  ความเป็นผู้รู้จักหลักของความพอดี  การดำเนินชีวิตพอเหมาะพอควร 

          (๕)  ความเป็นรู้จักปฏิบัติตนให้ถูกกาลเทศะ

          (๖)  ความเป็นผู้รู้ปฏิบัติการปรับตนและแก้ไขตนให้เหมาะกับสภาพของกลุ่มและชุมชน

          (๗)  ความเป็นผู้รู้จักปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับบุคคลที่มีความแตกต่างกัน




          ถึงกระนั้น องค์ธรรมทั้ง ๗ นั้น ประกอบด้วยองค์ธรรมที่เน้นทั้งภายในตัว (Insight) และนอกตัว (Outside) หมายความว่า บัณฑิตในทางธรรมต้องรู้จัก และฉลาดในการพัฒนาตัวเองให้สอดรับกับเหตุการณ์และความเป็นไปของโลกภายนอกที่อยู่ในระดับชุมชนและสังคม (Side by Side) ซึ่งสะท้อนคุณลักษณะที่สำคัญ ๒ ประการคือ การรู้จักวิธีการและแนวทางในการวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจกับสิ่งภายนอกเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น (Know How) อย่างประสานสอดคล้องกับปัจจัยภายนอกที่เข้ามามีอิทธิพลต่อความสำเร็จ หรือล้มเหลวในการดำเนินชีวิต และการทำงานในสถานการณ์ปัจจุบัน (Know Who)

๕. การพัฒนาปัญญาบัณฑิต: จากตรีถึงเอกต่างกันอย่างไร

          เมื่อกล่าวถึงกระบวนการในการพัฒนาปัญญาที่ “วัดคุณค่าของความเป็นบัณฑิต” ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะได้ชื่อว่า “เป็นบัณฑิตในทางธรรม” นั้น มี ๓ ระดับด้วยกัน กล่าวคือ

          (๑) ปัญญาในระดับปริญญาตรี  ปัญญาในระดับนี้ จะมุ่งเน้น “ปัญญาที่เกิดจากการฟัง” เป็นด้านหลัก (สุตมยปัญญา) จะเห็นว่าในระดับปริญญาตรีนั้น นิสิตหรือนักศึกษาจำเป็นต้องเรียนรู้สรรพวิชาจำนวนมาก  ซึ่งวิชาเหล่านั้น มีความจำเป็นที่จะต้องอ่านมาก และฟังจากคณาจารย์ หรือผู้สอนจำนวนมาก เหตุผลปัญญาในระดับนี้ต้องฟังมาก เพราะเป้าหมายของการเรียนเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใน “ระดับกว้าง” เพื่อจะได้บูรณาการและนำไปใช้ให้สอดรับกับทิศทางที่แต่ละคนได้ศึกษาหาความรู้

          (๒) ปัญญาในระดับปริญญาโท  ในระดับนี้จะเน้น “ปัญญาที่เกิดจากการคิด” เป็นสำคัญ (จินตามยปัญญา) หัวใจหลักของการเรียนในระดับนี้คือ “การคิด”  โดยเริ่มต้นจากการศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนรู้วิธีคิด หรือแนวคิดและทฤษฏีของคนอื่น หรือสำนักสำคัญๆ เพื่อจะได้เข้าใจ และวิเคราะห์ให้เข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า เพราะเหตุใดคนเหล่านั้นจึงคิดเช่นนั้น  หลังจากนั้น ผู้เขียนต้องทำหน้าที่ในการย่อยความคิดต่างๆ ที่ได้เรียนรู้ เพื่อนำองค์รู้ที่ได้จากการย่อยไปจัดระบบความคิดว่าชุดใดสำคัญมากหรือน้อย และจัดลำดับความสำคัญของชุดความคิด รวมไปถึงจัดหมวดหมู่ของความคิด เพื่อจะได้นำความรู้เหล่านี้ไปนำเสนอทั้งในรูปของการเขียน และการนำเสนอด้วยคำพูดต่อไป

          (๓) ปัญญาในระดับปริญญาเอก  ในระดับนี้จะเน้น “ปัญญาที่เกิดจากการตกผลึก” (ภาวนามยปัญญา) เป็นปัญญาที่ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ อธิบาย ตีความ สังเคราะห์  และบูรณาการครั้งแล้วครั้งเล่าจนตกผลึกเป็นความคิดแบบเจาะลึก หรือ “องค์ความรู้ในแนวลึก”  ซึ่งความรู้ในระดับนี้จำเป็นต้องอาศัยอบรมบ่มเพาะการฟัง การอ่าน และการคิดมาอย่างมีระบบ เป็นขั้นเป็นตอนมาอย่างยาวนานจนสามารถพัฒนาให้กลายเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโลกยุคปัจจุบัน

 

๖. หากปราศจากการฟัง การคิด  การถาม และการเขียน  จะเป็นบัณฑิตได้อย่างไร

          พระพุทธศาสนาได้ตั้งคำถามที่แหลมคม และท้าทายต่อผู้ที่จะสามารถได้รับการเรียกขานว่า “เป็นบัณฑิตได้อย่างเต็มภาคภูมิ” ว่า  “หากปราศจากการฟัง การคิด  การถาม และการเขียน  จะเป็นบัณฑิตได้อย่างไร”  คำถามมีว่า “เพราะเหตุใดจึงให้ความสำคัญกับการฟังเป็นลำดับแรก”  พระพุทธเจ้าได้ตรัสย้ำว่า “การฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา” ด้วยเหตุนี้ ประเด็นที่เราจะต้องอธิบายและตีความเพิ่มเติมคือคำว่า “ฟังด้วยดีคืออะไร และอย่างไร”

            “การฟังด้วยดี” ประกอบด้วยคุณค่า และหลักการที่สำคัญ คือ (๑) การฟังโดยไม่มีวาระซ่อนเร้น (๒) ฟังเพราะเชื่อในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ (๓) ฟังโดยให้เกียรติและหลีกเลี่ยงการครอบงำ (๔) ก่อนที่จะฟังควรบอกจุดยืนของเราให้ชัดเจน (๕) ควรเปิดใจกว้างในการรับฟังสิ่งที่แตกต่างจากความเชื่อของเรา (๖) ควรซื่อสัตย์ และไว้วางใจต่อคู่สนทนาของเรา (๗) ในขณะแสดงความเห็น ควรแยกให้ชัดระหว่างหลักการกับการปฏิบัติ และ (๘) ควรฟังโดยใช้หลักกาลามสูตร โดยไม่ด่วนเชื่อ หรือด่วนสรุปสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยขาดการใช้ปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบ และรอบด้าน

          หลังจากที่เราได้ฟังข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้านแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ “การคิด” การคิดถือได้ว่า “เป็นเครื่องมือสำคัญของบัณฑิต” เพราะการคิดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน  จะเห็นว่า ความสามารถในการคิดเป็นลักษณะพิเศษของมนุษย์ และเป็นสิ่งมหัศจรรย์ประการหนึ่งที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์  ฉะนั้น การคิดที่ดีจึงควรเป็นกิจกรรมทางความคิดที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจง เรารู้ว่าเรากำลังคิด เพื่อวัตถุประสงค์อะไรบางอย่าง และสามารถควบคุมให้คิดจนบรรลุเป้าหมายได้  เพราะว่าวิธีที่เราคิดมีผลกระทบต่อการวางแผนชีวิตของเรา เป้าหมาย ความสำเร็จที่เราเลือกและตัดสินใจของเรา  การออกแบบความคิดให้การคิดเป็นระบบนั้น จึงเป็นประเด็นสำคัญที่บัณฑิตควรให้ความใส่ใจ

          อย่างไรก็ตาม เราอาจจะตีบตันทางความการคิดที่ไม่ชัดเจนอย่างตลอดสาย ฉะนั้น การถามคำถามเพิ่มเติมเพื่อ “ทวนความคิด” หรือ “ทำซ้ำ” จึงเป็นแนวทางที่ทำให้ความคิดกลับมาเข้าใจชัดและแหลมคมมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ การถามคำถามจึงถือได้ว่ามีความสำคัญ หากเราถามคำถามที่ถูก (Good Question) เราย่อมได้คำตอบที่ถูก (Good Answer) แต่หากว่าเราถามคำถามที่ผิด (Wrong Question) เราจะได้รับคำตอบที่ผิดเช่นเดียว (Wrong Answer) อาจจะเป็นเพราะเหตุผลดังกล่าว ผู้ศึกษาปรัชญาจึงให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามโดยมักมีคำกล่าวในกลุ่มนักปรัชญาที่ว่า “นักปรัชญาจึงสนใจคำถามมากกว่าคำตอบ”

          การฟัง การคิด และการถามอาจจะไม่เพียงพอต่อการเรียกขานใครสักคนว่า “เป็นบัณฑิต”  ด้วยเหตุนี้ ปราการด่านสำคัญขั้นสุดท้ายคือ “การเขียน” ในประเทศตะวันตกมักจะให้ความสำคัญกับการเขียนเป็นอย่างมาก จนเป็นที่มาของศาสตร์ที่ว่าด้วย “การเขียน” (Academic Writing) ค่านิยมและวัฒนธรรมด้านการเขียนนั้นได้ฝังรากลึกในสังคมตะวันตกมาอย่างยาวนาน จะเห็นว่า “โลกทั้งโลกมักจะจดจำนักเขียนมากกว่านักพูด”  แม้หลายท่านจะจดจำ และชื่นชอบนักพูดชื่อดังนาม “เดล คาร์เนกี้” แต่หากจะเปรียบเทียบกับลีโอ ตอลสตอยแล้ว  นักคิดและนักเขียนมักจะได้รับการจดจำ และมีอิทธิพลต่อวิธีคิด และการดำเนินชีวิตของชาวโลกมากกว่า 

         ด้วยเหตุผลดังกล่าว แม้ว่าการพูดจะมีความสำคัญ  แต่การพูดในบริบทของบัณฑิตได้เน้นหนัก “การถาม” เป็นสำคัญ คุณสมบัติของความเป็นบัณฑิตจึงไม่ได้เน้นหนักไปที่ “การพูดเพื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ” หากแต่เป็นการเขียนเรื่องราวที่ทรงคุณค่าที่ผ่านการฟัง การคิด และการถามซ้ำอย่างเป็นระบบ  เพื่อให้องค์ความรู้เหล่านั้นได้ทำหน้าที่ประดุจแพข้ามฝากในอันที่จะนำกลุ่มคนต่างๆ ได้ศึกษา เรียนรู้ ค้นคว้า วิเคราะห์ ตีความ และบูรณาการเพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองให้เกิดการประจักษ์แจ้ง และอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป

หมายเลขบันทึก: 401798เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2010 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ลมหายใจแห่งสันติภาพ

เพลงประจำวันวิสาขบูชา: วันสำคัญสากลของโลก

โพธิ์แห่งธรรมแผ่เงาร่มใบตระหง่าน

วันแห่งการอุบัติแสงธรรมเจิดฟ้า

มหาบุรุษ พุทธศาสดา

เปิดดวงตาเห็นแจ้งจักรวาล

บัวเบ่งบานดอกชูพ้นธารมลทิน

ธรรมหลั่งรินชโลมหาใดเปรียบปาน

ดับทุกข์ ดับโศก รู้ ตื่น เบิกบาน

ปาฏิหาริย์ แห่งการรู้แจ้ง

*เป็นดังของขวัญ ฝากโลกเอาไว้

สงบในใจบนทางสายกลาง

ที่มืดก็เห็น กลายเป็นสว่าง

ที่ทุกข์ก็จาง ด้วยแสงธรรมนำทาง

**แบ่งปันความรักให้โลกนี้สดใส

แบ่งปันลมหายใจแห่งสันติภาพ

คือทางแห่งปัญญา มรรคาสู่นิพพาน

คือรู้ - ตื่น - เบิกบาน เหนือกาลเวลา * ** _

เพราะจับใจจริง ๆ ครับเพลงนี้ ฟังเมื่อไรก็สดชื่นครับ...พระอาจารย์พักผ่อนบ้างนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท