จริงหรือไม่...ในสังคมชุมพร


สิ่งเหล่านี้ถ้าไปถามคนอย่าง ลุงสมหมาย พราหมนาเวศ คำตอบที่ได้มีเพียงคำเดียวสั้น ๆ ว่า “จริง”

เริ่มต้นจากการที่ผมทำงานเป็น อสม.ของอำเภอพะโต๊ะ ต่อมาในปี พ.ศ.2545 เมื่อได้รู้จักกับคุณประทุมพร ทองภูเบศร์ นักสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จากการแนะนำของคุณลุงสำรองประธาน อสม.จังหวัดชุมพร ผมก็ได้นำความคิดที่คุณประทุมพรพูดไว้มานั่งคิดดูว่า หากมีเหตุกระทำรุนแรงต่อเด็กและสตรีเกิดขึ้นในชุมชนแล้วคนเหล่านั้นจะไปพึ่งใคร เพราะทราบดีอยู่แก่ใจว่า ชุมชนพะโต๊ะเป็นชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมากคงจะไม่ทันการณ์ถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้น จึงได้สนใจในการร่วมกันเป็นเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังความรุนแรงในชุมชน และทุก ๆ ครั้งที่มีการประชุม อสม. หรือ

มีการประชุมในเวทีไหนก็แล้วแต่ ผมก็จะนำเรื่องความรุนแรงในชุมชนไปพูดคุยให้ผู้เข้าร่วมประชุม ผู้นำท้องถิ่น ได้รับฟังจนเป็นที่รู้จักของชุมชนพะโต๊ะ เมื่อมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น ผมก็จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือและประสานงานส่งต่อมายังศูนย์ OSCC เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง  จนนายอำเภอพะโต๊ะได้ทราบว่า ผมช่วยเหลืองานด้านยุติความรุนแรงในชุมชนอยู่ เมื่อมีการจัดกิจกรรม-เปิดเมืองกินฟรี นายอำเภอและผู้นำท้องถิ่นก็จะร่วมในการเสวนา พูดถึงการเฝ้าระวังความรุนแรงในชุมชนให้กับประชาชนฟัง และร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในทุกครั้งด้วยดีตลอดมา”

“ปัจจุบันคุณผมได้ขยายเครือข่ายฯ ออกไปอีก 4 หมู่บ้าน 19 ชุมชน โดยมีแกนนำในพื้นที่ชุมชนละ 1 คน และได้ขยายต่อเนื่องไปยังโรงเรียน โดยมีครู นักเรียน ผู้นำชุมชน เข้ามาร่วมกันรณรงค์ยุติความรุนแรงในชุมชน  เพื่อสร้างกลุ่มแกนนำในระดับเยาวชนอีกระดับหนึ่ง”

เสียงบอกเล่าเรื่องราวของ ลุงสมหมาย  พราหมนาเวศ อาสาสมัครจิตอาสาเครือข่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี โรงพยาบาลชุมพรฯ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า OSCC (One-Stop Crisis Center) เกิดขึ้นในการประชุมถอดบทเรียนชุมชนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน 2553 สะท้อนอะไรหลายอย่างซึ่งเป็นข้อมูลความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมชุมพร

จริงหรือไม่ ? ที่บ้านของเรามีการกระทำรุนแรงต่อเด็กและสตรีแฝงอยู่ในชุมชน มากเสียจนคนในชุมชนอย่างลุงสมหมาย ต้องลุกขึ้นมาจับกลุ่มกับอาสาสมัครจิตอาสาทั้งหลาย ช่วยกันเฝ้าระวังเหตุการณ์และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เหยื่อผู้ถูกกระทำ ?

จริงหรือไม่ ? ที่พื้นที่ห่างไกลจากตัวจังหวัด นอกจากจะห่างไกลความเจริญในด้านต่าง ๆ แล้ว ยังขาดแคลนงานบริการสังคมจากภาครัฐที่แก้ปัญหาได้อย่างตระหนักรู้และเข้าใจ โดยเฉพาะกรณีการกระทำรุนแรงต่อเด็กและสตรี...เราขาดและบกพร่องในเรื่องอะไรบ้าง ขบวนการยุติธรรมขั้นพื้นฐาน การช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อผู้ถูกกระทำทั้งกายและใจ ยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาสังคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด คือ เทศบาลและ อบต. ฯลฯ

จริงหรือไม่ ? ที่ชนชั้นผู้นำในสังคมยังทำตนเป็นแบบอย่างเสมือนเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้คนลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุขและสิ่งเลวร้ายทำลายสังคม ทั้งเหล้า การพนัน ยาเสพติด ทุจริต คอรัปชั่น มัวเมาทางเพศ ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ถ้าไปถามคนอย่าง ลุงสมหมาย พราหมนาเวศ คำตอบที่ได้มีเพียงคำเดียวสั้น ๆ ว่า “จริง”

คำสำคัญ (Tags): #oscc#ชุมพร
หมายเลขบันทึก: 401535เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2010 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท