ชุมชนนักปฎิบัติ(cop) เรียนรู้การกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัด ตามรอยอ.ไพบูลย์วัฒนศิริธรรม


ตัวชี้วัดที่ดี ง่ายๆไม่ต้องมาก

 

ไปเรียนรู้การกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดตำบลคลองตัน

 เจ้าหน้าที่พอช.ภาคกลางตอนบนและตะวันตก  ก่อนลงสนามจริง” 

                                                                โดย พิรุญ กองแปง  ผช.ผจก.

(ปฎิบัติการชุมชน)

มีใครได้ลงพื้นที่ปฎิบัติการครั้งนี้บ้าง?

          “ชุมชนนักปฎิบัติ” (Cop) ส่วนส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับคำนี้มากนัก  ในงาน 10 ความดี 10 พอช.ภาคกลางตอนบนและตะวันตก ได้เป็นเจ้าภาพใหญ่ ขยายแนวความคิด การกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัด ที่อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้ก่อรูปก่อร่างเป็นทิศทางสำคัญในการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น จากต.บ้านเลือก ไป ต.หนองพันจันทร์ มาสู่ตำบลคลองตัน และอีกหลายตำบลภาคกลางตอนบนและตะวันตกเป็นวาระสำคัญในการยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นสู่การพึ่งตนเอง

            ชุมชนนักปฎิบัติภาคกลางตอนบนและตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นนักพัฒนาที่มีความหลากหลายทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์การพัฒนา ที่มีความแตกต่างแต่มีเป้าหมายเดียวกันมีความเชื่อว่าชุมชนเป็นแกนหลักการพัฒนา แต่โดยรูปธรรมยังมองเห็นเป็นภาพเชิงซ้อน เปรียบเหมือนคนสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ตำบลคลองตันเป็นเสมือนหมอตาที่พยายามหาจุดโฟกัสให้กับเจ้าหน้าที่ในแต่ละคนในการมองภาพชุมชนเป็นแกนหลักการพัฒนาที่คมชัดมากขึ้น ในมุมของตนเอง

            วันที่ 18 -19 กันยายน 2553 เป็นวันสำคัญสำหรับการเรียนรู้ของพวกเราชาวชุมชนนักปฎิบัติ ที่ได้มาเรียนรู้จากพื้นที่ปฎิบัติจริง และอยู่ในขั้นตอนการขึ้นรูปที่ กำลังเห็นหน้าเห็นหลัง เวลาในการเรียนรู้ไม่กี่ชั่วโมง สามารถสร้างการเรียนรู้อย่างมากมายมหาศาลสำหรับนักปฎิบัติการเชิงพื้นที่ที่ได้เรียนรู้จากแกนนำชุมชนตำบลคลองตันหลายคนที่ตกผลึกการกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดของตำบลตนเอง

 

            ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนเรื่องอะไรกันบ้าง?

พี่เฒ่า ทองใบ สิงห์สีทา (จนท.ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนภาคฯ อดีตNGOs ดีกรีปริญญาโท ยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม) บอกว่า “น่าสนใจที่ในเวทีพูดคุยชาวบ้านส่วนใหญ่พูดคุยความยุติธรรม” แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาการพัฒนายังมีความเลื่อมล้ำไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่รึเปล่า การทำเป็นหมายตัวชี้วัด ทำให้คนเห็นถึงความยุติธรรมมากขึ้นและทุกคนสามารถมีสิทธิมีเสียงในการกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่น ถือว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ

พี่เดือน ดวงเดือน พร้าวตะคุ(จนท.ปฎิบัติการชุมชน ประสบการณ์ทำงานพัฒนาไม่น้อยกว่า 10 ปี)มองเห็นมิติการพัฒนาที่ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการลุกขึ้นมาเป็นแกนหลักในการพัฒนาท้องถิ่น สนับสนุนความเชื่อว่ามิติการพัฒนาการเชื่อมโยงคนทุกระดับสตรีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง  

สุเทพ ทองจีน (ศิลปิน นักพัฒนา ที่มีมิติมุมมองการพัฒนาที่น่าสนใจ) ให้ความคิดเห็นน่าสนใจว่า บทบาทการพัฒนาที่เห็นคนหนุ่มสาวมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานที่หลากหลายและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กมล ปุยยรุน (หมี) (นักพัฒนาถนัดการจัดกระบวนการ ฝึกอบรม ) ให้ความคิดเห็นต่อกระบวนการประชาธิปไตยชุมชนเรื่องการเคารพเสียงส่วนน้อย แต่มองภาพใหญ่ที่กุมทิศทางการพัฒนาที่เป็นเรื่องร่วมอย่างรอบด้านเห็นว่า คลองตันได้สร้างประชาธิปไตยฐานรากได้อย่างดีเยี่ยม บนฐานวัฒนธรรมท้องถิ่น

จารุวรรณ กสิพูล ป้าตุ๊ก(อดีตนักจัดการความรู้สำนัก วจส.) นั่งเก็บรายละเอียดสิ่งที่ผู้นำได้สะท้อนในเวที กะนำไปใช้ในการจัดกระบวนการจังหวัดชัยนาทที่ตนเองรับผิดชอบเต็มที่ และเห็นภาพการกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดที่ เกิดจากความร่วมไม้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในท้องถิ่น

นารี วงศ์มานะกุล (จนท.ปฎิบัติการชุมชน น้องนุชคนสุดท้อง) ได้สะท้อนถึงการทำงานเชิงพื้นที่ที่การใช้ข้อมูลการวิเคราะห์ศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ในการพัฒนา ที่มีความแตกต่างในบริบทพื้นที่ มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งคลองตันได้ให้ภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในการทำงานของเจ้าหน้าที่พื้นที่

 

            เสียดายอีกหลายคนที่ติดภารกิจและมาไม่ทันได้แลกเปลี่ยนกับพี่น้องชาวคลองตัน คงมีอีกรอบที่สองทีจะได้เรียนรู้กระบวนการให้บรรลุตัวชี้วัด 3 ด้านของตำบล ที่พัฒนาไปอย่างช้าๆแต่มั่นคงทำให้เปิดโลกทัศน์การพัฒนาของพวกเราได้มหาศาล

โดยสรุป

            ตำบลคลองตัน มีจุดแข็งด้านการพัฒนาโดยใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์ระบบเครือญาติที่ก่อร่างสร้างชุมชนมาด้วยกัน ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นบ้านสวนการสัญจรทางเรือทำให้วัฒนธรรมการทำมาหากินต้องพึ่งพาน้ำเป็นปัจจัยทางการผลิตและการขนส่ง แม้นกาลเวลาจะเปลี่ยนไป ความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมยังคงอยู่  อีกประการหนึ่งบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นที่สตรีมีบทบาทสำคัญ ที่เป็นตัวเชื่อมประสานท้องถิ่นท้องที่ ทำให้พลังในการสร้างความร่วมมือเป็นไปโดยง่าย หัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งเรื่องความเสมอภาพ ความเป็นธรรม มีธรรมมาภิบาลที่ชุมชนเล็งเห็นว่าการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียม เคารพซึ่งกันและกันอย่างมีศักดิ์ศรี สะท้อนได้จากในเวทีมีการพูดถึงความคาดหวังในการพัฒนาที่ใช้คำว่า “ต้องการให้เกิดความยุติธรรม” ในการพัฒนา ชี้ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ต้องการเห็นชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการพัฒนาที่ยึดทุกคนทุกกลุ่มมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและกำหนดแนวทางพัฒนาร่วมกัน โดยรับฟังทุกเสียงที่มีความเห็นแตกต่าง และเคารพเสียงส่วนใหญ่ จุดเด่นของการพัฒนาตำบลคลองตันอีกประการหนึ่งคือการขยายแนวร่วมการพัฒนาในแนวราบ หมายถึงการสร้างความตระหนัก ให้กับทุกกลุ่มองค์กรที่สามารถเข้าใจเป้าหมายตัวชี้วัดการพัฒนาตำบล และสร้างวัฒนธรรมการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยยึด 3 เป้าหมายหลักคือ

  1. การแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนในตำบล
  2. การสร้างสวัสดิการทั่วหน้าคนทั้งตำบล
  3. สร้างสภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งของคนทั้งตำบล

เป็นเป้าหมายที่คนส่วนใหญ่ในตำบลเห็นร่วมกันที่ต้องการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองไปสู่เป้าหมาย โดยสัดส่วนจำนวนประชากรทั้งตำบล 4,000 กว่าคน มีผู้เข้าร่วมพัฒนาในงานประเด็นต่างๆ ประมาณ 700 กว่าคน คิดเป็นร้อยละ 17.50 ซึ่งเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนา

และส่วนที่แลกเปลี่ยนเพื่อเติมเต็ม ให้กับชุมชนตำบลคลองตัน ซึ่งเป็นประโยชน์เชิงการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นข้อสังเกตุและเสนอแนะ เช่น

1.การกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดที่สามารถวัดได้เชิงระยะเวลา เช่น ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ในแต่ละด้านที่ชุมชนกำหนดจะทำให้มีความคมชัดมากยิ่งขึ้น

2.ตัวชี้วัดเชิงปริมาณและคุณภาพที่สามารถวัดได้เชิงประจักษ์  กับจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องเป็นต้น

3.บทบาทท้องถิ่นท้องที่ในการมีส่วนร่วมในการวางแผน และสนับสนุนที่มีความชัดเจน ตามลำดับขั้นที่จะทำให้ตัวชี้วัดสามารถบรรลุเป้าหมายไปได้

4.และมีหลายประเด็นที่เป็นข้อสังเกตุปลีกย่อยที่อาจจะมีคำตอบในคำถามต่างๆที่พวกเรายังเข้าไปเรียนรู้ไม่ลึกซึ้งพอ  หลังจากได้เรียนรู้แล้วทำให้มองภาพการสร้างการเรียนรู้เป้าหมายตัวชี้วัดเชิงพื้นที่ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

หลังจากที่ได้เรียนรู้การกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดตำบลคลองตันและตำบลบ้านหาด เสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ภาคกลางตอนบนและตะวันตก ได้มีสัญญาใจร่วมกันเพื่อวางแผนการพัฒนาตนเองระดับเขต  โดยเขตตะวันตก กำหนดพื้นที่ เวียงคอย อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นพื้นที่เรียนรู้ระดับเขต และใช้พื้นที่จังหวัดละ 1 ตำบลเป็นพื้นที่เรียนรู้รายบุคคล ส่วนเขตกลางตอนบน กำหนดพื้นที่ตำบลหาดอาษา อ.เมือง จ.ชัยนาท เป็นพื้นที่เรียนรู้ และพื้นที่จังหวัดละหนึ่งพื้นที่เป็นตำบลเรียนรู้ระดับบุคคลต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 401446เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2010 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท