พฤติกรรมการบูชาพระพุทธรูปแนวจารีต


งานวิจัยเรื่อง ทัศนคติที่มีต่อการบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทย. 2552.

จากหลักการบูชาในพระพุทธศาสนาข้างต้นนั้น  จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนาแนวจารีตให้ความสำคัญกับธรรม  ถือธรรมเป็นแก่นสำคัญในการปฏิบัติทุกประการ  ดังนั้นแนวคิดและความเชื่อแนวจารีตเกี่ยวกับการบูชาพระพุทธรูปก็ย่อมไม่พ้นกรอบใหญ่นี้  คือ การบูชาโดยให้ความสำคัญกับธรรมนั่นเอง  หรือกล่าวให้ชัดก็คือ การบูชาพระพุทธรูปซึ่งเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้านั้น  ต้องเป็นการแสดงออกที่เป็นธรรม ถูกต้อง  ดีงามและมีเป้าหมายเพื่อธรรม  คือ เพื่อยกย่องเทิดทูนสิ่งที่บูชา  เพื่อความสุข  ความสงบ  และคลายทิฏฐิมานะของตนเป็นสำคัญ     

                  แนวคิดและความเชื่อแนวจารีตเกี่ยวกับการบูชาพระพุทธรูปนั้น  แม้ตามนัยในพระไตรปิฎก  จะไม่ปรากฎชัดเกี่ยวกับการบูชาพระพุทธรูปโดยตรง  เพราะตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ยืนยันว่าสมัยพุทธกาลมีพระพุทธรูปหรือไม่  แต่แนวคิดและความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระพุทธเจ้าทั้งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนโดยตรงและวิถีปฏิบัติของพระอรหันตเถระ ตลอดถึงการปฏิบัติตนของพุทธศาสนิกชนในสมัยพุทธกาล  ก็เป็นสิ่งที่สามารถนำมาเป็นเครื่องสะท้อนแนวคิดและความเชื่อแนวจารีตโดยหลักการได้เป็นอย่างดี 

 

                  จุดเริ่มต้นของการบูชาพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล  คือ การที่ประชาชนในสมัยนั้น  มีความปรารถนาที่จะได้พบเห็นพระอรหันต์  เพราะเชื่อกันว่าพระอรหันต์เป็นบุคคลผู้บริสุทธิ์  รู้แจ้งสิ่งทั้งปวง ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า  ช่วงก่อนที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกนั้น  ประชาชนในสังคมอินเดียอยู่ในยุคที่มีการแสวงหาปัญญาทางศาสนากันอย่างขะมักเขม้น มีการออกบวชเพื่อแสวงหาอมฤตธรรม(Immortality) หรือความไม่รู้จักตาย[1]  และมีการปฏิบัติเพื่อความรู้นั้นกันอย่างหลากหลาย  จึงทำให้ในยุคนั้นมีนักบวชมากมายหลายรูปแบบ  อาทิ ฤาษี อาชีวก นิครนถ์ ชฎิล และดาบส[2]  กลุ่มนักบวชต่าง ๆ มีการกล่าวอ้างถึงความเป็นพระอรหันต์ซึ่งถือว่าเป็นอริยบุคคลผู้ทรงความรู้อยู่บ่อยครั้ง  เมื่อได้ยินชื่อว่าพระอรหันต์ จึงมักเป็นที่สนใจของคนในยุคนั้น  จนถึงขั้นตั้งความปรารถนาที่จะได้พบพระอรหันต์กัน  ดังกรณีเรื่องความปรารถนาของพระเจ้าพิมพิสาร [3] เป็นต้น   

 

                  หลังจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงประกาศพระองค์เองว่าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง หรือที่เรียกว่า “อรหันตสัมมาสัมพุทโธ” อย่างชัดเจน  โดยทรงประกาศเป็นครั้งแรกกับอุปกาชีวกซึ่งเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา  ในระหว่างทางที่เสด็จไปแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์   แต่ในครั้งนั้นอุปกาชีวก  ไม่ได้แสดงความนับถือบูชาพระพุทธเจ้า ได้แต่สั่นศีรษะแล้วเดินหลีกไป [4] ท่าทีของอุปกาชีวกดูเหมือนจะไม่เชื่อในพระพุทธดำรัส  จึงไม่แสดงความเคารพบูชา  แต่เมื่อพระองค์ได้สักขีพยานในการตรัสรู้คือ เหล่าปัญจวัคคีย์เป็นสาวกแล้ว  ชื่อเสียงของพระพุทธเจ้าก็ค่อย ๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น  มีผู้ได้สดับธรรมแล้วบรรลุธรรมตามที่พระองค์ทรงสั่งสอนมากขึ้นโดยลำดับ  การแสดงออกถึงความเคารพนับถือหรือบูชาพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นศาสดาจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายพร้อม ๆ กับการบรรลุธรรมของบรรดาพุทธสาวกนั่นเอง

 

                  อันที่จริง ในเรื่องของการบูชาพระพุทธเจ้านี้  มีปรากฎบุคคลที่แสดงออกถึงการบูชาพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรกตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 7 สัปดาห์ ก่อนหน้าที่จะเสด็จออกโปรดเวไนยสัตว์ กล่าวคือ เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุตติสุขอยู่ในสัปดาห์สุดท้าย  ณ  ใต้ต้นราชายตนะหรือต้นไม้เกตุ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศทักษิณแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์[5]  ในคราวนั้นมีพานิชสองพี่น้องซึ่งเดินทางมาจากอุกกลชนบท ผ่านมาทางที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ ได้รับคำแนะนำจากเทวดาซึ่งเคยเป็นญาติสายโลหิตกันมาก่อนว่า ให้เข้าไปบูชาพระพุทธเจ้าด้วยข้าวสัตตุผงและข้าวสัตตุก้อนเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเอง  ซึ่งพานิชทั้งสองก็ได้ทำตามนั้น และเมื่อได้เข้าไปบูชาพระพุทธเจ้าก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาประกาศตนเป็นอุบาสกผู้นับถือพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะ  นับเป็นอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา  แต่เป็นเทววาจิกอุบาสก  คือ อุบาสกผู้ถึงรัตนะสองเป็นที่พึ่ง  เพราะในขณะนั้นยังไม่มีพระสงฆ์ [6] การบูชาพระพุทธเจ้าของพานิชสองพี่น้องนี้จึงถือเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าครั้งแรกในพระพุทธศาสนา

 

                  หลังจากนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามชนบทต่าง ๆ  พระองค์ก็ทรงเป็นที่เคารพบูชาของผู้ได้สดับธรรม  โดยการแสดงออกถึงการเคารพบูชาพระพุทธเจ้านั้น  มักประกอบกับการประกาศตนเป็นพุทธสาวก ทั้งโดยการขออุปสมบทเป็นภิกษุภิกษุณีและการประกาศตนนับถือพระรัตนตรัยของอุบาสกอุบาสิกา  การบูชาพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาลจึงเป็นลักษณะการแสดงออกถึงความเคารพในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นผู้ประกาศสัจธรรมอันเป็นทางหลุดพ้นหรือทรงเป็นผู้ปลดปล่อยสรรพสัตว์ออกจากห้วงทุกข์โดยการสอนให้ปฏิบัติตามธรรมของพระองค์  มิใช่อยู่ในฐานะเทพเจ้าหรืออำนาจเหนือธรรมชาติอย่างที่บางกลุ่มเชื่อและเข้าใจกันในปัจจุบัน แต่พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลวิเศษผู้ทรงคุณธรรมสูงส่งจนเป็นที่เคารพบูชาของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย

 

                  ในสมัยพุทธกาลนั้น  นอกจากการบูชาพระพุทธเจ้าโดยตรงดังกล่าวมาแล้ว  ตามหลักฐานที่ปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการบูชาพระพุทธเจ้า แต่เป็นการบูชาวัตถุหรือสถานที่ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า  กล่าวคือ มิได้บูชาพระพุทธเจ้าโดยตรง แต่บูชาวัตถุนั้น ๆ โดยปรารภถึงพระพุทธเจ้า  ซึ่งอาจมีความเชื่อมโยงมาสู่การบูชาพระพุทธรูปในสมัยหลังได้  แนวคิดดังกล่าวนี้ก็จัดเป็นแนวคิดและความเชื่อแนวจารีตเช่นกัน  ดังเช่น  เรื่องการบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์  การบูชาสังเวชนียสถานและการบูชาพระสถูปเจดีย์และพระบรมสารีริกธาตุ  ซึ่งมีตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกันนั้นดังต่อไปนี้

 

                  1)  การบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ 

                  ต้นพระศรีมหาโพธิ์  ถือเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญต่อชาวพุทธ เพราะเป็นต้นไม้ที่ประทับตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า  การบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ตามแนวจารีตจึงเป็นการปฏิบัติเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า  ด้วยความสำนึกในพระพุทธคุณเป็นสำคัญ  ต้นพระศรีมหาโพธิ์จึงเป็นวัตถุที่เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้าของชาวพุทธได้เป็นอย่างดี

  

                  แนวคิดเกี่ยวกับการบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นมีปรากฏในพระไตรปิฎกหลายแห่ง  ดังเช่น  ในกาลิงคโพธิชาดก  ซึ่งได้กล่าวถึง  พระเจ้ากาลิงคะ  ได้ประทับช้างพระที่นั่งเสด็จไปยังบริเวณต้นมหาโพธิ์   เมื่อถึงสถานที่นั้นปุโรหิตชื่อว่า ภารทวาชะ ได้สรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้าและได้กราบทูลพระเจ้ากาลิงคะว่า 

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ณ ภายใต้ต้นมหาโพธิ์  สถานที่นี้จึงเป็นสถานที่สำคัญ  แม้ช้างของพระองค์ก็ไม่เข้ามาใกล้เพราะความเคารพในต้นมหาโพธิ์   ขอพระองค์ทรงแสดงความนอบน้อมต้นมหาโพธิ์เถิด   พระเจ้ากาลิงคะได้ทรงทดลองโดยการไสช้างพระที่นั่งให้เข้าใกล้เขตต้นมหาโพธิ์แต่ปรากฎว่าช้างไม่ยอมเดินเข้าไป  กลับหยุดอยู่กับที่  ส่งเสียงร้องดุจดังนกกระเรียน และทรุดตัวคุกลงเหมือนจะรับภาระหนักไม่ไหว  พระเจ้ากาลิงคะทรงเห็นเป็นจริงดังนั้น  จึงทรงยกย่องปรุโรหิตว่าเป็นผู้รู้ (พุทธะ) แต่ปุโรหิตกราบทูลสรรเสริญพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้รู้ยิ่งกว่า  เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู  เป็นพระสัพพวิทู  รู้แจ้งโลกทั้งปวง  ด้วยพลังแห่งพระสัพพัญญุตญาณ ส่วนตนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยอำนาจแห่งอาคมเท่านั้น   พระเจ้ากาลิงคะ  มีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าจึงทรงนำมาลาและเครื่องลูบไล้มาบูชาต้นมหาโพธิ์นั้น  จากนั้นทรงรับสั่งให้เก็บดอกไม้ประมาณหกหมื่นเล่มเกวียนมาบูชาต้นมหาโพธิ์  พร้อมด้วยการจัดสร้างกำแพงล้อมประดับประดาต้นมหาโพธิ์ด้วย[7] 

 

                  ความในชาดกตอนนี้  ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงนำมาแสดงนั้น  สื่อให้เห็นว่า  การบูชาต้นมหาโพธิ์  เป็นการแสดงออกถึงความเคารพนับถือที่มีต่อพระพุทธเจ้า  เพราะเป็นการกระทำที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า  ในฐานะที่พระองค์ตรัสรู้ใต้ต้นมหาโพธิ์   การปฏิบัติตนในลักษณะการบูชาเช่นนี้  จึงเป็นกิจที่พุทธศาสนิกชนสามารถกระทำได้  เพราะมีแบบอย่างในทางปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงยกตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว 

 

                  ทั้งนี้ในสมัยพุทธกาลเอง  พระอานนทเถระซึ่งเป็นพุทธุปัฏฐากผู้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าก็ได้เคยปฏิบัติในทำนองเดียวกัน  โดยมีเหตุผลดังความที่ปรากฎในอรรถกถากาลิงคชาดก[8]  กล่าวคือ 

 

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จหลีกจาริกไปตามชนบทเพื่อทรงสงเคราะห์เวไนยสัตว์ ชาวกรุงสาวัตถีต่างถือของหอมและดอกไม้ เป็นต้นไปยังพระเชตวัน   เมื่อไม่พบพระพุทธเจ้าก็นำของบูชาไปวางไว้ที่ประตูพระคันธกุฎี   อนาถปิณฑิกเศรษฐีทราบเข้าจึงต้องการให้มีปูชนียสถานเป็นหลักแหล่งชัดเจนเพื่อแทนพระพุทธเจ้า  จึงไปขอให้พระอานนท์ทูลกับพระพุทธเจ้า  ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้พระอานนท์ทำการปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์เพื่อเป็นเจดีย์สำหรับบูชาได้  โดยพระอานนท์ได้ขอให้พระมหาโมคคัลลานะไปนำเมล็ดพันธุ์ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามาเพื่อทำการปลูกที่วัดพระเชตวัน    โดยมีพระเจ้าปเสนทิโกศล  อนาถปิณฑิกเศรษฐี  นางวิสาขามหาอุบาสิกาและประชาชนมากมายร่วมในการปลูกครั้งนั้น    เมื่อต้นพระศรีมหาโพธิ์เจริญเติบโตขึ้น  พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงทำการฉลองและการสักการะอย่างยิ่งใหญ่  มีการประดับตกตกแต่งถวายเป็นพุทธบูชา 

 

                  จากนั้นจึงมีการบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์สืบต่อกันมาเป็นที่นิยม ดังเช่น สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  ได้ทรงใช้ไหทองและไหเงินจำนวน  800 ใบ  บรรจุน้ำอบปรุงลอยด้วยดอกบัวสีน้ำเงิน  นำไปล้อมรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น  ทรงจัดวางบัลลังก์ประดับด้วยอัญมณีทั้ง 7 ชนิดที่ฐานต้นโพธิ์ ทรงสร้างกำแพงกำแพงล้อมรอบตลอดจนสร้างวิหารเชื่อมต่อกันเพื่อบรรจุสมบัติอันล้ำค่าทั้ง 7  ต้นมหาโพธิ์จึงเป็นต้นไม้สำคัญที่ถือได้ว่าเทียบเท่ากับพระพุทธเจ้าทีเดียว[9] ตามความเชื่อแนวจารีตนี้ถือว่า  การบูชาต้นมหาโพธิ์เป็นกุศลกรรมที่มีผลานิสงส์มาก

 

                2)      การบูชาสังเวชนียสถาน

                  สังเวชนียสถาน  คือ  สถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช  คำว่า “สังเวช”  ในที่นี้  คือ การปลงใจให้ถูกต้องตามธรรม  กระตุ้นจิตใจให้มองเห็นคติธรรมดาของสังขารว่ามีการเกิดขึ้น  ตั้งอยู่และดับไป  เห็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา[10]  สังเวชนียสถาน จึงหมายถึง  สถานที่ที่ควรไปกระตุ้นจิตใจให้เห็นธรรมนั่นเอง 

 

                  ก่อนพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน  พระองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ไว้ว่า มีสังเวชนียสถาน 4 ตำบล  ที่กุลบุตรผู้มีศรัทธาจะพึงกราบไหว้บูชา หลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้ว  คือ  สถานที่ประสูติ  สถานที่ตรัสรู้  สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนาและสถานที่ปรินิพพาน  ผู้ที่ไปยังสถานที่เหล่านี้แล้วกราบไหว้บูชาด้วยจิตเลื่อมใส  ครั้นเมื่อตายไปก็จะได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์[11] แนวคำสอนดังกล่าวนี้ทำให้เกิดการสร้างพุทธเจดีย์ขึ้นโดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  ราวพุทธศตวรรษที่  3  ดังปรากฏเป็นหลักฐานอยู่จนปัจจุบัน  เพื่อเป็นสถานที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชน 

 

                  การที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับสังเวชนียสถานนี้  สื่อให้เห็นว่า  พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพุทธบริษัทเป็นอย่างยิ่ง ทรงชี้แนะแนวทางในการปฏิบัติตนหลังจากที่พระองค์ปรินิพพานไป  โดยการให้แสดงความเคารพต่อสถานที่ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์สำคัญของพระองค์  หลังจากนั้นวัตถุและสถานที่ซึ่งเป็นสิ่งแทนพระองค์ในลักษณะดังกล่าวก็เกิดขึ้นมากมาย  รวมถึงพระพุทธรูป    ตรงนี้เองทำให้สรุปได้ว่าแม้พระพุทธศาสนาไม่มีคำสอนที่มุ่งเน้นให้กกราบไหว้หรือเคารพรูปบูชาหรือสถานที่ต่าง ๆ   แต่หากรูปบูชาหรือสถานที่นั้นก่อให้เกิดคุณค่าทางด้านจิตใจ  เกิดความตระหนักถึงธรรม  เป็นพุทธานุสสติ   ผู้ได้กราบไหว้บูชาเกิดบุญกุศลและได้สติปัญญา  เข้าใจธรรมะ  การกระทำเช่นนั้นก็เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้  

 

                  3)  การบูชาพระสถูปเจดีย์และพระบรมสารีริกธาตุ

                  คำว่า “สถูป”และ “เจดีย์”  มีความหมายพ้องกัน  สถูป แปลว่า  สะสม รวบรวมเข้าด้วยกัน  ส่วนเจดีย์  แปลว่า  ก่อขึ้น สะสม   ซึ่งแต่เดิมนั้นใช้เมื่อกล่าวถึงการก่อแท่นบูชาไฟหรือเชิงตะกอน  รวมถึงแท่นบูชาอื่น ๆ  แต่ในพระพุทธศาสนานั้นสถูปเจดีย์ หมายถึง  สิ่งที่ใช้เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าหรือคำสอนของพระองค์[12]ตลอดถึงพระอรหันตเถระทั้งหลายผู้เป็นพุทธสาวก

 

                  เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว  ได้มีการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระและจัดการแบ่งอัฐิธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น  8 ส่วน  ตามหัวเมืองต่าง ๆ 8  แห่ง  ได้แก่ ราชคฤห์  ไพศาลี กบิลพัสดุ์   อัลลากัปปนคร  รามคาม  เวฏฐาทีปกนคร  ปาวา  และกุสินารา   โดยได้มีการสร้างพระสถูปบรรจุไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชา  นอกจากนั้นยังมีพระอังคาร  ทะนานทอง  และพระทาฐธาตุ(เขี้ยวแก้ว) ซึ่งมีการนำไปสักการะบูชา  ณ  สถานที่ต่าง ๆ อีกหลายแห่ง  โดยเฉพาะพระทาฐธาตุนั้นตามคัมภีร์ได้กล่าวว่าถูกแบ่งไปบูชากันยังดาวดึงสพิภพ  นาคพิภพ  เมืองคันธาระ และเมืองกาลิงคราช ด้วย[13]  

 

                  นอกจากนี้  ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามีการกล่าวถึงการสร้างสถูปเจดีย์หลายที่ด้วยกัน ดังเช่นที่ขวัญทอง  สอนสิริได้ประมวลไว้  ดังนี้

 

     - พระพุทธองค์ เคยรับสั่งให้พระภิกษุสงฆ์ทำการสร้างพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระพาหิยะซึ่งเป็นพระอรหันต์

 

     - ในธรรมบทอรรถกถาและในวิมานวัตถุอรรถกถา  ยังกล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์ทองคำในเวลาที่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว

 

     - ในมหาวรรค มีการกล่าวถึงการสร้างพุทธเจดีย์ของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ตรัสถึงการถวายดอกไม้ของหอมแด่พุทธเจดีย์ว่ามีอานิสงส์มหาศาลต่อผู้ถวาย

 

    - ในขุททกปาฐะ นิธิกัณฑสูตร  พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระเจดีย์ว่าเป็นสถานที่ประเสริฐสำหรับฝังขุมทรัพย์คือ บุญกุศล

 

    - ในทีฆนิกาย มีเรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูสร้างพระเจดีย์บูชาพระบรมสารีริกธาตุฯ[14]

 

      ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  ได้ทรงสร้างพระสถูปถึง  84,000  แห่ง  ทั่วอาณาจักรของพระองค์เพื่อบูชาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าซึ่งมีจำนวน  84,000  พระธรรมขันธ์[15] และได้มีความนิยมในการสร้างพระสถูปเจดีย์เป็นพุทธบูชากันโดยทั่วไปในสังคมที่นับถือพระพุทธศาสนา 

 

      ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระสถูปเจดีย์และพระบรมสารีริกธาตุนั้น  นอกจากเกิดจากความศรัทธาและระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้ว  ความเชื่อเกี่ยวกับผลานิสงส์ของการบูชาก็มีผลต่อการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนในยุคหลังมาก   ดังที่ท่านพระสกจิตตนิยเถระได้กล่าวถึงผลของการบูชาพระสถูปไว้ว่า 

 

เพราะท่านได้นำดอกไม้ต่างๆ บูชาและได้ไหว้พระสถูปด้วยจิตเลื่อมใสดุจดังถวายบังคมพระพุทธเจ้าซึ่งยังทรงพระชนม์อยู่เฉพาะพระพักตร์อดีตชาติ  ผลแห่งการบูชาทำให้ท่านได้เกิดเป็นพระราชา  สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ  เป็นใหญ่ในแว่นแคว้น และตลอดระยะเวลาที่ท่านอยู่ในสังสารวัฏฏ์ก็ไม่เคยเกิดในทุคติเลย  จนกระทังได้บรรลุอรหัตผลในชาติสุดท้าย[16]   ซึ่งคำกล่าวเช่นนี้มีปรากฎในพระไตรปิฎกหลายแห่ง  และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำมาสู่ประเพณีการบูชาพระสถูปและพระบรมสารีริกธาตุ

 

      จากแนวคิดและความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาตามแนวจารีตที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  จะเห็นได้ว่า  การบูชาพระพุทธเจ้าหรือบูชาสิ่งแทนพระพุทธเจ้า ทั้งต้นพระศรีมหาโพธิ์  สังเวชนียสถานและพระสถูปเจดีย์และพระบรมสารีริกธาตุในสมัยพุทธกาลนั้น  เบื้องต้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงความระลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพอย่างจริงใจ  การยกย่องคุณของพระพุทธเจ้าและการได้พัฒนาคุณธรรมภายในตนเป็นสำคัญ  ไม่เน้นที่ผลของการปฏิบัติว่าจะได้รับผลานิสงส์อย่างไร   ดังเช่นที่มีการกล่าวถึงการไหว้หรือการแสดงออกถึงความเคารพบูชาในสิ่งที่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ว่าเป็นการแสดงออกถึงเมตตากายกรรมอันเป็นหนึ่งในบรรดาสาราณียธรรม  6  ประการ  ตามความตอนหนึ่งในคัมภีร์อรรถกถาว่า

 

“การกระทำอย่างนี้คือ  การไปเพื่อการไหว้เจดีย์   ไหว้ต้นโพธิ์  การนิมนต์พระสงฆ์  การเห็นภิกษุทั้งหลายผู้เข้าไปในละแวกบ้านเพื่อบิณฑบาตแล้วต้อนรับ   การรับบาตร  การปูอาสนะ   การตามส่ง(พระสงฆ์) ของพวกคฤหัสถ์ ชื่อว่า เมตตากายกรรม”[17] การแสดงออกทั้งหมดนี้เป็นการแสดงถึงความนับถือบูชาด้วยความศรัทธาซึ่งเป็นการสร้างเสริมคุณธรรมภายในตนไปด้วย

 

      ในขณะเดียวกัน พระพุทธพจน์และคำกล่าวของพระเถระและพระเถรีทั้งหลายผู้เป็นพุทธสาวก  ที่ปรารภถึงผลของการบูชา  เช่น  การได้เกิดในสุคติและการได้บรรลุธรรมขั้นสูง  จึงทำให้สมัยต่อมาเกิดความเชื่อในลักษณะหวังผลมากขึ้น  แต่โดยมากก็เป็นการหวังผลในชาติหน้าและการบรรลุธรรมสูงสุด  มิได้มุ่งให้ได้ให้มี ให้สมปรารถนาในชาติปัจจุบันเป็นหลักเหมือนอย่างที่ปฏิบัติกันส่วนมากในสมัยนี้  ที่เมื่อบูชาสักการะพระพุทธรูปแล้วก็จะมีการอธิษฐานเพื่อขอให้ได้สิ่งปรารถนาในปัจจุบันเป็นส่วนมาก 

 

      อย่างไรก็ตาม แม้การบูชาพระพุทธเจ้าด้วยจิตเลื่อมใสจะมีผลานิสงส์มากมายเพียงใด  ผลอันนั้นล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยหรือควรแก่เหตุปัจจัยที่ได้กระทำ  มิได้ขึ้นอยู่กับความมุ่งหวังหรือการวอนขอแต่อย่างใด   เพราะฉะนั้น การทำการบูชาด้วยความมุ่งหวังหรือต้องการผลต่าง ๆ  หากไม่คำนึงถึงหลักการสำคัญนี้ก็อาจจะหมิ่นเหม่ต่อการปฏิบัติผิดจากพระพุทธศาสนาแนวจารีตได้  หรือถ้าหากจะหวังผลกันจริง ๆ  หรือต้องการตั้งความปรารถนาจะได้รับผลจากการบูชา  พระพุทธศาสนาแนวจารีตก็ได้สอนให้ตระหนักว่าควรเป็นผลที่เป็นไปเพื่อการบรรลุธรรม  กล่าวคือ การบำเพ็ญบุญในลักษณะต่าง ๆ รวมทั้งการบูชา  ควรมีเป้าหมายสำคัญคือ การได้บรรลุธรรมขั้นสูงอันได้แก่  นิพพาน  ดังข้อความที่ปรากฎในพระไตรปิฎกว่า            

 

       นรชนบางคนในโลกนี้  ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถกรรม เข้าไปตั้งไว้ซึ่งน้ำดื่ม   น้ำใช้ กวาดบริเวณ ไหว้พระเจดีย์  บูชาด้วยเครื่องหอมและดอกไม้ที่พระเจดีย์  ทำประทักษิณพระเจดีย์ บำเพ็ญกุศลที่ควรบำเพ็ญอย่างใด  อย่างหนึ่งอันเป็นไตรธาตุ ก็ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งคติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งอุปบัติ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งปฏิสนธิ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งภพ ไม่บำเพ็ญเพราะเหตุแห่งสงสาร ไม่บำเพ็ญ   เพราะเหตุแห่งวัฏฏะ เป็นผู้มีความประสงค์ในอันพรากออกจากทุกข์ มีใจน้อมโน้ม  โอนไปในนิพพาน ย่อมบำเพ็ญกุศลทั้งปวงนั้น แม้เพราะเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน[18]

 

        จากแนวคิดและความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระพุทธเจ้าทั้งหมดดังกล่าวมานี้ ทำให้สามารถสรุปได้ว่า  การบูชาพระพุทธรูปในฐานะเป็นองค์แทนพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธศาสนาแนวจารีตถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะมีความเชื่อถือว่าสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าทุกอย่างมีฐานะเทียบเท่าพระพุทธเจ้า  การแสดงความเคารพนับถือสิ่งเหล่านั้นเท่ากับการได้แสดงออกต่อพระพุทธเจ้า ในทางกลับกันการประพฤติในทางเหยียดหยาม ไม่เคารพ ก็มีผลเช่นเดียวกับการปฏิบัติกับพระพุทธเจ้าเช่นกันดังที่ในคัมภีร์อรรถกถา ได้อธิบายไว้ว่า

 

เมื่อพระตถาคตปรินิพพานแล้ว คนเหล่าใดทำลายพระเจดีย์  ตัดต้นโพธิ์ (ด้วยเหตุอันไม่สมควร) เหยียบย่ำพระธาตุ กรรมนั้นเป็นกรรมหนักเช่นเดียวกับอนันตริยกรรม แม้ในฝ่ายบุญก็มีเหมือนดังปรนนิบัติพระสรีระพระพุทธเจ้าฉะนั้น[19]แนวคิดและความเชื่อเช่นนี้จึงมีลักษณะที่ชัดเจนว่าแตกต่างจากกลุ่มแนวคิดประชานิยมที่จะได้กล่าวถึงในลำดับต่อไป

 

 


เอกสารอ้างอิง

      [1] สมัคร  บุราวาศ,  วิชาปรัชญา,  พิมพ์ครั้งที่  4  (กรุงเทพมหานคร:  สำนักพิมพ์ศยาม, 2544),  หน้า  99.

      [2] ขุ.จู. 30/124/50.

      [3] วิ.มหา. 4/59/68.

      [4] วิ.มหา.  4/11/14.

      [5]ศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม,  คู่มือธรรมศึกษาตรี, พิมพ์ครั้งที่ 4 (กรุงเทพมหานคร :  โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ,  2548) ,  หน้า  32.

      [6] วิ. มหา.  4/ 6 / 6-7.

      [7] ขุ. ชา.  27/1790-1805/352-354.

      [8] ขุ. ชา.อ.  33/200.

      [9] เอเดรียน  สนอดกราส,  สัญลักษณ์แห่งพระสถูป, บรรณาธิการแปลและเรียบเรียงโดยภัทรพร  สิริกาญจน  (กรุงเทพมหานคร :  โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,  2537),  หน้า  148.

      [10] เสฐียรพงษ์  วรรณปก, คำบรรยายพระไตรปิฎก, หน้า 78.

      [11] เรื่องเดียวกัน, หน้า79.

      [12] เอเดรียน  สนอดกราส,  สัญลักษณ์แห่งพระสถูป , หน้า  150.

      [13] ขุ.อ. 33/28/548-549.

      [14] ขวัญทอง  สอนศิริ, พุทธนาคบริรักษ์ 48 พรรษา สยามบรมราชกุมารี,  หน้า  68.

      [15] เอเดรียน  สนอดกราส,  สัญลักษณ์แห่งพระสถูป , หน้า  343.

      [16] ขุ.อ.  32/63/161.

      [17] ม.มู.อ. 8/655.

      [18] ขุ. มหา.  29/825/516.

      [19] องฺ.เอก.อ. 13/620.



ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

   แวะมาศึกษาธรรมะด้วยคนนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท