"สวัสดิการชุมชน" หรือจะสู้ "ประกันบริษัทเอกชน"


นึกๆ ไปแล้ว สภาพกองทุนชุมชนของเราเหมือนร้านโชห่วยในชุมชน กำลังสู้อยู่กับ ร้านเซเว่น หรือโลตัส บิ๊กซี ที่ลดแลกแจกแถมกระหน่ำอยู่ที่หน้าหมู่บ้าน

ในสถานการณ์ความพยายามเริ่มต้นจัดสวัสดิการชุมชนอย่างต้วมเตี้ยม กลัวโน่น กังวลนี่ จากประสบการณ์ที่เคยมี จึงอยากให้สมาชิกชัดเจนในเป้าหมายการช่วยเหลือซึ่งกันและกันก่อน มากกว่าที่จะคิดถึงผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับ

ทำให้การเริ่มต้นตามแผนงานเป็นไปอย่างช้าๆ ในกลุ่มเล็กๆ ในหมู่คนทำงานร่วมกันก่อน (ซึ่่งคิดว่าน่าจะเข้าใจถึงเป้าหมายได้ง่ายกว่า) ก่อนที่จะขยายไปยังชุมชนต่างๆ  โดยหวังให้กลุ่มเริ่มต้นนี้ได้เป็นตัวอย่างในการอธิบายเป้าหมายและวิธีการให้ชาวบ้านที่สนใจอย่างเป็นรูปธรรม จากการปฏิบัติที่เริ่มทำเองก่อนเป็นตัวอย่าง

แต่ก็มีข้อจำกัด เพราะจำนวนสมาชิกที่เริ่มต้นเพียงกลุ่มเล็กๆ นี้ ทำให้การจัดสวัสดิการต่างๆ ค่อนข้างยาก แม้จะตกลงกันว่า ปีแรกนี้จะเป็นการฝึกออมร่วมกันก่อน เพื่อให้กองทุนงอกเงยชัดเจน ยังไม่พูดถึงเรื่องผลประโยชน์อื่นๆ ครบปีค่อยมาประชุมตกลงร่วมกัน

เพียงช่วงเวลาไม่นาน ที่สมาชิกคู่หนึ่งของเราเริ่มมีปัญหาทางเศรษฐกิจและได้รู้จักกับคนที่แนะนำให้เขา "ขายประกันชีวิตเอกชน" เพื่อ "ช่วยเหลือชาวบ้าน" ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกันให้มีหลักประกันที่มั่นคงให้ลูกหลาน ได้มีเงินก้อนเมื่อตัวเองตาย หรือไม่เช่นนั้น เมื่อครบกำหนดแล้วยังไม่ตาย ก็ได้เงินก้อนหนึ่งออกมาเหมือนการออมเงิน ไม่ขาดทุนอะไร

กลวิธีการขายนี้คงโดนใจชาวบ้าน ที่จะได้เงินก้อนโต หรือหากตายจะได้ก้อนโตกว่าอีก

ทำให้ชาวบ้านที่เราตั้งใจจะไปให้แนวคิดจัดตั้งสวัสดิการชุมชน (แต่ยังรออยู่) ได้หันไปสนใจทำประกันชีวิต ที่มีเพื่อนกลุ่มชาติพันธุ์เป็นนายหน้า  "นายหน้าประกัน" ซึ่งแยกไม่ออกกับภาพการเป็น "เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน" ที่คอยให้ความรู้ต่างๆ แก่ชาวบ้าน ในช่วงที่ผ่านมา

ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านแยกไม่ออก และเข้าใจว่า นี่คงเป็นการช่วยเหลือพวกเขาด้วยเช่นกัน !!

แม้แต่สมาชิกบางคนที่เริ่มเดินมาด้วยกัน ก็อยากที่จะถอนเงินออกไปซื้อประกันชีวิตด้วย !!

ได้ยินได้ฟังแล้วก็ให้นิ่งอึ้ง จะเดินหน้าต่อไปไหวไหมนี่ ยิ่งไม่อาจมีเงินก้อนโตมาจูงใจเหมือนการร่วมกับบริษัทเอกชนด้วยแล้ว ยังจะให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์ของการช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยวิธีนี้ได้อยู่อีกไหมน้า ???

นึกๆ ไปแล้ว สภาพกองทุนชุมชนของเราเหมือนร้านโชห่วยในชุมชน กำลังสู้อยู่กับ ร้านเซเว่น หรือโลตัส บิ๊กซี ที่ลดแลกแจกแถมกระหน่ำอยู่ที่หน้าหมู่บ้าน

จะไหวไม๊น้า !!!

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 401027เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2010 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

คุณpilgrimเปรียบเทียบได้ตรงมาก แต่ขอปรับหน่อยว่า เป็นร้านค้าสหกรณ์ที่ชาวบ้านร่วมกันจัดการ ไม่ใช่ร้านโชห่วย ซึ่งอาจจะจัดการได้ยากหรือง่ายกว่าร้านโชห่วยก็ได้ บริษัทประกันก็เป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อความมั่นคงของชีวิต(ในอนาคต)ถ้าสืบดูจะรู้ว่าเมื่อบริษัทเหล่านี้ใหญ่โตขึ้นก็เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ที่ใครๆก็อาจจะมาลงทุนได้(ถ้ามีเงิน)คนลงทุนก็หวังกำไร บริษัทต้องจ้างคนงานมีค่าใช้จ่ายและต้องมีกำไรเพื่อปันผลให้ผู้ลงทุน ต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาลและเกิดการจ้างงาน เป็นกลไกเอกชนเพื่อให้เกิดสวัสดิการสังคมซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านเช่นกัน ก็เหมือนกับร้าน7-11 หรือโลตัสนั่นแหละครับที่ช่วยให้เราซื้อของได้ถูกลงและสะดวกขึ้น?

รัฐต้องใช้กลไกเอกชนช่วยสร้างสวัสดิการสังคม โดยชาวบ้านร่วมจ่ายและกำไรบางส่วนเป็นเงินภาษี

รัฐต้องใช้กลไกชุมชนช่วยสร้างสวัสดิการสังคม โดยชาวบ้านร่วมจ่ายและรัฐนำเงินภาษีบางส่วนมาสมทบ

ทั้ง2ช่องทางอาจเดินไปพร้อมๆกันได้ ไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันเสมอไป

ถ้าชุมชนมีทุนทางสังคม ก็สามารถจัดการแบบสหกรณ์คือระบบสวัสดิการชุมชนได้ง่าย ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดการ เกิดประโยชน์กับชุมชนได้มาก

ถ้าชุมชนไม่มีทุนทางสังคม ก็ไม่สามารถจัดการแบบสหกรณ์หรือระบบสวัสดิการชุมชนได้ รัฐต้องพยายามให้เอกชนเข้ามาจัดการเพื่อไม่ให้เป็นภาระและเพื่อได้ภาษีจากเอกชน ดังนั้น จุดสำคัญ คือ การจัดการซึ่งมีทุนทางสังคมเป็นปัจจัยเอื้อสำคัญ (แต่ทุนทางสังคมเพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอแน่)

ทุนทางสังคมในที่นี้คือ ความเป็นชุมชนที่รู้จักรักใคร่กลมเกลียวกันเสมือนเครือญาติ จะช่วยสร้างความมั่นคงและลดความขัดแย้งซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปประเทศไทย

การทำกองทุนสวัสดิการชุมชนของคุณpilgrim ลึกๆคือกระบวนการสร้างทุนทางสังคมผ่านกิจกรรมสวัสดิการชุมชน จึงมีความยากเพิ่มขึ้นกว่าชุมชนที่มีทุนทางสังคมเพียบพร้อม ด้วยประเด็นนี้ รัฐและองค์กรประชาสังคมจึงควรเข้ามาหนุนเสริมชาวบ้าน

ปัญหาและความยากลำบากในการทำงานย่อมมีแน่ ผมเพียงแสดงความเห็นว่า

การมองว่า บริษัทประกันเอกชนก็เข้ามาช่วยชาวบ้านด้วย เป็นเรื่องดี และบริษัทที่ดีย่อมปรารถนาให้ชาวบ้านมีความมั่นคงปลอดภัย นายหน้าที่ดีจะสร้างทุนทางสังคม ผมมีคนรู้จักที่ทำงานชุมชนโดยมีอาชีพขายประกัน เท่าที่รู้จักกันหลายปีก็เป็นคนมีจิตใจเสียสละอยากช่วยเหลือชุมชน โดยทำงานทุ่มเทด้วยใจอย่างแท้จริง

การมองว่า งานของเราเป็นงานสร้างทุนทางสังคมด้วยกิจกรรมสวัสดิการชุมชนจะช่วยให้เราก้าวข้ามวิธีการกองทุนสวัสดิการชุมชนแต่เพียงอย่างเดียว วิธีการนี้เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น ความอยู่รอดปลอดภัย มีความมั่นคงในชีวิตระดับหนึ่ง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน มีความสามัคคีต่างหากคือเป้าหมายของ"สะพาน"เราจะสามารถประสานเชื่อมโยงเครื่องมืออื่นๆให้เป็นประโยชน์เพื่อชาวบ้านและชุมชนได้เพิ่มมากขึ้น

ขอเป็นกำลังใจให้คุณpilgrimทำงานด้วยความสุขและความหวังในศานติสุขของมวลมนุษย์

เห็นด้วยกับ อ.ภีม ที่ว่าการร่วมกันของฝ่ายต่างๆ ด้วยเครื่องมือต่างๆ เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านและชุมชน น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ดิฉันเองก็มีเพื่อนที่มีอุดมการณ์ในการช่วยเหลือคนอื่น อยากให้เพื่อนมนุษย์มีความมั่นคงในชีวิต และได้ยึดอาชีพขายประกันเป็นอาชีพหลักตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี และดูแลชีวิตคนอื่นๆ รวมทั้งดิฉันอย่างดีจริงๆ

แต่ที่ดิฉันรู้สึกแตกต่างกัน กับกรณีที่กังวลอยู่นี้ เพราะกลุ่มเป้าหมายที่เพื่อนดิฉันทำงานด้วยส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ที่พอจะรู้จักคุ้นเคยกับระบบประกันรูปแบบต่างๆ อยู่แล้ว จึงไม่ยากที่จะตัดสินใจเลือก เพื่อความมั่นคงของตัวเองได้อย่างแท้จริงด้วยตัวเอง

แต่กลุ่มเป้าหมายของนักขายประกันมือใหม่บนดอย ที่ว่านี้ เป็นชาวบ้านที่ไม่มีความคุ้นเคยกับเรื่อง "ประกัน" อยู่เลย

ประกัน พรบ. มอเตอร์ไซด์ ก็รู้แต่ว่าไม่จ่าย ตำรวจจับ

ประกันรายได้เกษตรกร ก็รู้แต่ว่า รัฐบาลจ่ายเงินให้ ถ้าขายผลผลิตการเกษตรได้ราคาไม่ดี

ก็เลยแค่กังวลว่า ถ้าคนขายประกันกับชาวบ้านเหล่านี้ ไม่มีอุดมการณ์เพื่อช่วยคนอื่นจริงๆ เพียงแค่อยากได้ลูกค้ามากๆ (ซึ่งดิฉันรู้สึกเช่นนั้น อาจจะมองแง่ร้ายเกินไป แต่คิดว่ากับบางคนที่รู้จัก ทำให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่เขาต้องทำอาชีพเสริมนี้)

จึงกังวลสำหรับความเข้าใจของการตัดสินใจของชาวบ้าน กับข้อมูลที่เขาได้รับไม่เพียงพอค่ะ

แต่อย่างไรก็ต้องขอบคุณ อ.ภีม มากนะคะ ที่ให้ความคิดเห็น ที่ช่วยให้ดิฉันมีมุมมองที่กว้างขึ้นค่ะ

สวัสดีค่ะ

นอกจากทุนทางสังคมแล้ว อันที่จริง ระบบสวัสดิการชุมชน เช่น สัจจะลดรายจ่ายวันละบาท ก็มีลักษณะคล้ายการทำประกันของเอกชนนั่นแหละคะ คือ ให้มีหลักประกันที่มั่นคงให้ลูกหลาน ได้มีเงินก้อนเมื่อตัวเองตาย หรือไม่เช่นนั้น เมื่อครบกำหนดแล้วยังไม่ตาย ก็ได้เงินก้อนหนึ่งออกมาเหมือนการออมเงิน (หากกติกากลุ่มยอมให้ทำเช่นนั้นเมื่อกลุ่มพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง)

ที่จริงก็ต้องดูกติกาของกลุ่มน้องต้องเหมือนกันค่ะ ว่าให้สวัสดิการอะไรบ้าง ขนาดไหน หากเริ่มต้น กลุ่มยังเล็ก อาจยังให้สวัสดิการได้ไม่มากนัก แต่ก็ทำให้ทุกคนได้ออมและเป็นหลักประกันสำหรับวันข้างหน้าในที่สุด

คิดว่าสิ่งที่น้องต้องควรทำมี 2 ประการค่ะ

1. ให้ความรู้กับชาวบ้านให้รู้เท่าทันระบบประกันของเอกชน ให้แน่ใจว่าเขาเข้าใจเงื่อนไข โดยเฉพาะเรื่อง การส่งเบี้ยประกันให้ตรงเวลา ลองดูว่า ชาวบ้านต้องส่งเบี้ยประกันเท่าไร ช่วงเวลาไหน และอธิบายเน้นย้ำให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ถ้าไม่มีเงิน หรือส่งเบี้ยไม่ตรงเวลา ก็อาจถูกตัดเงินออม(เบี้ย)เดิมที่เคยส่ง บวกกับดอกเบี้ยอีกจำนวนหนึ่ง หรือไม่เช่นนั้นก็อาจเสียสมาชิกภาพและถูกริบเงินที่ออมไป เพราะฉะนั้น คนที่จะออมกับบริษัทประกันได้ จะต้อง “มั่นใจ” ว่าส่งเบี้ยได้ครบถ้วนตรงเวลา"ทุกครั้ง"

อีกอย่างหนึ่งคือ หากนายหน้าขายประกันหายไปจากหมู่บ้าน เวลาเกิดเหตุจะขอเงินประกัน ก็อาจจะไม่ได้ตามนั้น หรืออาจจะไม่สะดวก และต้องมีหลักฐานครบถ้วนเช่น หลักฐานจากหมอ เพราะฉะนั้น ถ้าคนขายประกันเป็นคนที่เราไม่ค่อยรู้จัก หรือรู้จักแต่เรียกหาตัวได้ยาก ก็เป็นไปได้ว่า จะไม่ได้รับบริการ เรียกเงินประกันได้ยาก

2. อธิบายข้อดีของการทำสวัสดิการกับกลุ่มชาวบ้านด้วยกันเอง คือ นอกจากเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเองแล้ว (ซึ่งตรงนี้คิดว่าน้องต้องคงขยายความได้เยอะ) เบี้ยประกัน (การส่งเงินออมสัจจะ) จะไม่สูง จึงสอดคล้องกับกำลังของชาวบ้านในการออม ไม่เป็นภาระมากเกินไป และหากเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ ก็สามารถพิจารณาทำความเข้าใจผ่อนปรนได้ตามจำเป็น ในขณะที่ของเอกชน อาจจะไม่ได้รับการผ่อนปรน

นอกจากนี้การออมกับกลุ่ม  กลุ่มสามารถให้ความช่วยเหลือได้ใกล้ชิดกว่า ทันเวลากว่า

3. ชาวบ้านที่มีศักยภาพในการออมมากหน่อย หากสนใจจะทำประกันกับเอกชนก็ย่อมได้ แต่ก็น่าจะออมส่วนหนึ่งไว้กลับกลุ่มด้วย เพื่อใช้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในหมู่บ้าน ทำให้หมู่บ้านอบอุ่น น่าอยู่ และสามารถทำอย่างอื่นๆ ร่วมกันได้อีกหลายอย่าง

(ที่จริงเขาช่วยมาอธิบายระบบประกันให้ชาวบ้านฟังก็ถือเสียว่า  ช่วยให้ความรู้ชาวบ้านในระดับหนึ่ง  แต่เราต้องหาจุดแข็งของเราให้เจอค่ะ  จุดแข็งนี่เองที่ทำให้กลุ่มสวัสดิการและกลุ่มออมทรัพย์อยู่ได้ท่ามกลางระบบตลาด   น้องต้องก็รู้ว่า ตลาดมีข้อบกพร่อง..  และที่อื่นๆ  กลุ่มชาวบ้านก็เกิดขึ้นได้และสำเร็จได้ท่ามกลางระบบตลาดทั้งสิ้น  เรามีข้อได้เปรียบคือ  เรารู้จักพื้นที่ และรู้จักชาวบ้านดีกว่าเขา  และชาวบ้านก็เชื่อใจเรา รู้จักเรามากกว่าเขา  ใช้จุดนั้นให้เป็นประโยชน์นะคะ)

สู้ สู้ค่ะ 

ประมาณแค่นี้ก่อนนะคะน้องต้อง  ไว้เจอกันคงจะคุยกันได้อีกมาก

 

ขอบคุณอาจารย์ปัทมากค่ะ

การได้มีคนช่วยคิด ช่วยมอง และวิเคราะห์อย่างลึกซึ่งเช่นนี้ เหมือนกับนักกีฬาที่มีโค้ชช่วยชี้แนะ เพราะบ่อยครั้งที่นักกีฬา กำลังต่อสู้ หรือแข่งขัน (แม้แต่กับตัวเอง) ก็มักจะมองไม่เห็น หรือหลงลืมบางสิ่งไป

อย่างที่อาจารย์ช่วยย้ำให้เห็นข้อดีของสิ่งที่เรากำลังพยายามทำ ซึ่งที่จริงเป็นสิ่งที่เราเชื่อมั่นอยู่แล้ว .. แต่บางทีก็ขาดสติ ที่จะคิดได้ ต้องขอบคุณอาจารย์อย่างมากค่ะ ที่ให้สติ และปัญญา เสมอ

แต่ก็มีบางสิ่งที่อดกังวลไม่ได้ อย่างที่อาจารย์ว่า "เรารู้จักพื้นที่ และรู้จักชาวบ้านดีกว่าเขา และชาวบ้านก็เชื่อใจเรา รู้จักเรามากกว่าเขา ใช้จุดนั้นให้เป็นประโยชน์นะคะ"

ก็นี่แหละค่ะ ที่เขามาชิงใช้ประโยชน์จากจุดแข็งนี้ของเราไปซะก่อน เพราะคนที่ถูกมาดึงให้ไปเป็นนายหน้าประกันคราวนี้ เป็นเจ้าหน้าที่ชุมชนของเรา ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ที่ปกติเข้าหมู่บ้าน รู้จักพื้นที่ รู้จักชาวบ้าน มากกว่าต้องแน่นอน และดูท่าทางจะไปได้สวย ถึงขนาดจะลาออกไปทำสิ่งนี้โดยตรง กับชาวบ้านที่เขาได้รู้จักและไว้ใจเขาอย่างดีแล้ว จากการทำงานชุมชนมายาวนาน !!

แต่ไม่เป็นไรค่ะ พอได้อ่านคำแนะนำของอาจารย์ก็มีสติขึ้นมาก จะค่อยๆ วางแผนทำในสิ่งดีๆ ที่อาจารย์แนะนำต่อไปนะคะ

ขอบคุณอาจารย์มากๆ อีกครั้งค่ะ

gold ceramic titanium rubber so this day fake rolex prices 1030 Singapore

eye catching timepiece with green color elements Since 1999 held annually in

express our heartfelt admiration one of Cartier Paris Private Collection bell

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท