Chaos Theory กับการอธิบายวิกฤติเศรษฐกิจ


ท้ายที่สุดแก่นแท้ของทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) ที่สามารถนำไปอธิบายในระบบทุกระบบสร้างความตื่นเต้นให้กับแวดวงวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์) ในปัจจุบันก็เป็นเพียงชายขอบของ “กฎไตรลักษณ์” เกี่ยวเนื่องกับสภาวะที่ยุงเหยิง ไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว (อนิจจัง) และสภาวะดังกล่าวแวดล้อมไปด้วยปัจจัยเหตุหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกันตั้งแต่เล็กไปใหญ่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด (ปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา) และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาในพุทธศาสนานั่นเอง

          ในปัจจุบันทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) ที่สร้างปรากฏการณ์สั่นสะเทือนและความตื่นเต้นในแวดวงวิทยาศาสตร์น้อง ๆ ทฤษฎีสัมพัทธภาพของนักวิทยาศาสตร์นามอุโฆษไอน์สไตน์ แท้ที่จริงแล้วก็เป็นอีกหนึ่งทฤษฎีซึ่งอยู่ในชายขอบของ “กฎไตรลักษณ์” และ ปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา ในการยืนยังความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งตามหลักพุทธศาสนานั่นเอง

  

        ทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) เป็นทฤษฎีที่ต่อยอดและพิสูจน์แทนกฎความน่าจะเป็น สาระสำคัญของทฤษฎีนี้คือ สรรพสิ่งในธรรมชาติที่เราเห็น สัมผัส และคิดว่ามันมีความไร้ระเบียบ ยุ่งเหยิง ซับซ้อน แต่แก่นแท้แล้วในภาวะดังกล่าวนั้นมันแฝงไปด้วยความเป็นระเบียบในตัวของมันเอง ซึ่งถ้าหากว่าเราสามารถที่จะเข้าใจ เข้าถึง ซึ่งความเป็นระเบียบในส่วนนั้นได้ เราก็สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

            ข้อแรกของทฤษฎีนี้ คือ ผลสะท้อนของภาวะต่าง ๆ มันไม่เป็นเชิงเส้นตรง เช่น f (x + y) จะไม่เท่ากับ f(x) + f(y) สื่อนัยถึง ผลที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลรวมของเหตุการณ์ย่อย ๆ เหล่านั้นมารวมกัน เช่น ผลของการสลายการชุมนุมที่นำมาซึ่งผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก หากตัวแปร x และ y คือการชุมนุมจะไม่เท่ากับผลรวมของเหตุการณ์จากการชุมนุมเก่าที่ต่อเนื่องที่แยกเป็นการชุมนุมย่อย ๆ ที่ผ่านมารวมกัน แล้วเมื่อเกิดการสลายการชุมนุมขึ้นแล้วเกิดผลมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากเกิดขึ้น ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้ของทฤษฎีไร้ระเบียบพิสูจน์ได้ยากมาก

          ข้อที่สองของทฤษฎีนี้ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เกิดขึ้นแบบสุ่มตามกฎของความน่าจะเป็น ซึ่งตามทฤษฎีไร้ระเบียบนี้ไม่สามารถที่จะคาดหมายและทำนายล่วงหน้าได้เหมือนกฎของความน่าจะเป็น เกี่ยวเนื่องจากความหลาหลายของปัจจัยเหตุต่าง ๆ ตามภาวการณ์ที่เกี่ยวข้องขณะนั้น ๆ เช่น หากการโยนเหรียญตามกฎของความน่าจะเป็นสามารถบอกโอกาสของการที่จะออกหัวหรือก้อยได้คือ ๑/๒ หรือร้อยละ ๕๐ แต่ในทฤษฎีไร้ระเบียบนั้นบอกว่าเราไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้เกี่ยวเนื่องกับมีปัจจัยเหตุอื่น ๆ ประกอบ เช่น โลหะที่ใช้ทำเหรียญ ขนาดของเหรียญ สถานที่ ๆ ใช้โยนเหรียญ และภาวะแวดล้อมอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหตุเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการคาดหมายทั้งสิ้น

         ข้อที่สามของทฤษฎีนี้ คือ ระบบจะได้รับผลสะท้อนมาจากปัจจัยเริ่มต้นที่คาดไม่ถึง กล่าวคือ ปัจจัยเริ่มต้นเพียงนิดเดียวหรือเล็กน้อยอาจก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างได้อย่างมากมายมหาศาล หรือที่เราได้ยินการกล่าวอ้างถึงบ่อย ๆ คือ เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว เช่น ที่เป็นข่าวเกรียวกราวเกี่ยวกับเรื่อง “คลิป” หลุดของคนดัง (กรณีไม่ได้ตั้งใจจะเป็นข่าว)  ซึ่งอาจจะมีปัจจัยเหตุมาจากการที่ไม่ได้คาดคิดมองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยการถ่ายเพื่อเก็บไว้ดูเอง แต่มีปัจจัยเหตุภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมทางด้านกาล (เวลา) เข้ามาเกี่ยวข้อง คือ คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คที่ใช้เก็บข้อมูล (คลิป) เกิดเสียและต้องนำไปซ่อม ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมตามกาล (เวลาประจวบเหมาะกับคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คเสีย) และเกี่ยวโยงกับเทศะ (สถานที่ที่นำไปซ่อม) ทำงานร่วมกันพอดี ผสมกับความโลภและความคึกคะนองของคนซ่อมก็ส่งคลิปไปทั่ว นำมาซึ่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งชื่อเสียง รายได้ หากเป็นช่วงที่มีงานกำลังจะออกสู่สวายตาประชาชนก็เกิดผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายขยายออกไปอีก ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลตรงกันข้ามคือมีชื่อเสียง รายได้ ก็มีซึ่งก็ขึ้นอยู่กับภาวะแวดล้อมหลาย  ๆ อย่างกอปรกันในช่วงนั้น ๆ เป็นต้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากปัจจัยเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ในด้านอารมณ์และความคึกคะนองแต่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเองและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้อย่างมากมายเป็นวงกว้าง

            ข้อที่สี่ของทฤษฎีนี้ คือ ไม่สามารถใช้ทำนายล่วงหน้าในระยะยาว ๆ ได้ เกี่ยวเนื่องจากไม่สามารถที่จะคาดการณ์ปัจจัยเหตุที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด เพราะภาวะแวดล้อมต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งเป็นลักษณะของ “อนิจจัง” ทางพุทธศาสนานั่นเอง

           ข้อที่ห้าของทฤษฎีนี้ คือ ในท่ามกลางความยุ่งเหยิง ไร้ระเบียบนั้น เมื่อเราแยกออกมาเป็นส่วนย่อย ๆ แล้วลักษณะของความไร้ระเบียบที่เกิดขึ้นนั้นก็เหมือนกับความไร้ระเบียบในส่วนใหญ่ ซึ่งในความไร้ระเบียบนั้นจะมีลักษณะของความเป็นระเบียบแฝงอยู่

       

         ท้ายที่สุดแก่นแท้ของทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) ที่สามารถนำไปอธิบายในระบบทุกระบบสร้างความตื่นเต้นให้กับแวดวงวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์) ในปัจจุบันก็เป็นเพียงชายขอบของ “กฎไตรลักษณ์” เกี่ยวเนื่องกับสภาวะที่ยุงเหยิง ไม่มีอะไรแน่นอนตายตัว (อนิจจัง) และสภาวะดังกล่าวแวดล้อมไปด้วยปัจจัยเหตุหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกันตั้งแต่เล็กไปใหญ่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด (ปฏิจจสมุปบาทหรืออิทัปปัจจยตา) และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาในพุทธศาสนานั่นเอง

    

     

       วิกฤติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ลุกลามไปทั่วโลกก็เป็นอีกหนึ่งผลผลิตที่สามารถอธิบายได้ด้วย ทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) คือ

 

       เบื้องแรก : ปฐมฐานของ “ความต้องการและการสะสมความมั่งคั่ง” ซึ่งก็คือ กิเลส

                เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจนำพามาสู่การล้มละลายและการตกงาน ซึ่งก็คือ วิบาก (ผล) ที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงมาจาก กิเลส และการกระทำ (กรรม) นั่นเอง ซึ่งการล้มละลายและการตกงานก็จะเป็นกระบวนการที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกิเลส (ความต้องการ) ดำเนินต่อเนื่องไปในกระแสสายธารของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปอีกไม่ขาดสาย

               การปรับฐานครั้งสำคัญในทางเศรษฐกิจ เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงมาจากผล (วิบาก) ของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ ๑๙๓๐ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกเสียศูนย์เป็นอย่างมาก ภายหลังจากการล่มสลายทางเศรษฐกิจช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ เศรษฐกิจโลกได้เดินหน้าเข้าสู่การจัดระเบียบและดุลยภาพใหม่อีกครั้งด้วยกลไกและเครื่องมือที่ใช้ผ่านองค์กรโลกบาล (World Bank  IMF และ WTO) เพื่อคอยควบคุมและจัดระเบียบทางการเงินและเศรษฐกิจของโลก ให้อยู่ในกรอบ กติกา และมารยาท แต่แล้วสภาวะของความยุ่งเหยิงและไร้ระเบียบเริ่มก่อตัวซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจากการฉกฉวยโอกาสของประเทศมหาอำนาจของโลกนำโดย สหรัฐอเมริกา ที่ได้นำเอาเมนูนโยบาย “ฉันทมติแห่งวอชิงตัน”  (Washington Consensus) ฉบับกลายพันธุ์มาใช้เป็นกรอบของเมนูนโยบายทางเศรษฐกิจโลก  (Global Economic Policy) โดยมีสาระสำคัญในการมุ่งเน้นที่ (๑) สนับสนุนการเปิดเสรีด้านการค้าระหว่างประเทศ (Trade Liberalization) (๒) สนับสนุนการถ่ายโอนการผลิตจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชน (Privatization) และ (๓) สนับสนุนการลดการควบคุมและการกำกับระบบเศรษฐกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Deregulation) ผ่านการตีตราประทับรับรองความชอบธรรมจากองค์กรโลกบาล เมื่อองค์กรโลกบาลที่เปรียบเสมือนผู้ควบคุมกฎ ระเบียบ กติกา ทางการเงิน การค้าระหว่างประเทศ กลับกลายมาเป็นเสมือนผู้ออกใบอนุญาตให้กลุ่มประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นเข้าไปฉกฉวยผลประโยชน์ (ทรัพยากร) จากกลุ่มประเทศในโลกที่สาม โดยการบีบบังคับให้ประเทศเหล่านั้นเปิดเสรีเพื่อแลกเปลี่ยนกับการนำความมั่งคั่ง (ทางการเงิน) จากกลุ่มประเทศมหาอำนาจมาช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่แก่นแท้ของการเคลื่อนย้ายทรัพยากรทางการเงินดังกล่าวเป็นเพียงมายาที่แฝงไปด้วยการเข้ามากอบโกยเอาทรัพยากรของกลุ่มประเทศในโลกที่สามรวมทั้งเป็นการขยายฐานของ “ลัทธิบริโภคนิยม” เข้าไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาให้เดินหน้าเข้าสู่กับดักนั้น ซึ่งกระบวนการทางด้านเมนูนโยบายฉันทมติแห่งวอชิงตันและการขยายฐานของลัทธิบริโภคนิยมคือ การนำพาระบบเศรษฐกิจโลกเดินหน้าเข่าสู่สภาวะความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงอย่างซับซ้อนขึ้นไปอีก ถึงแม้ว่าภายนอกจะดูดีมีระเบียบจากการควบคุมขององค์กรโลกบาลก็ตามที โดยสภาวะที่ยุ่งเหยิงสังเกตได้จากการเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของตลาดเงิน ตลาดทุน รวมทั้งตลาดสินค้าและบริการ ที่ถูกผูกติดกันเป็นปมมากขึ้นเรื่อย ๆ และในแต่ละปมก็ยังมีปมที่ซ้อนปมลงไปอีก ดูได้จากผลผลิตของเครื่องมือทางการเงิน (นวัตกรรมทางการเงิน) ที่มีออกมาใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่ออุดช่องว่างระหว่างปมนั้นไม่ให้กลายเป็นปมเงื่อนตายมาทำลายเศรษฐกิจในที่สุด 

 

         เบื้องที่สอง : “การสนองตอบและการเก็งกำไร” คือตัวเด่นที่ชัดเจนแห่งการกระทำ (กรรม)

                เมื่อเกิดความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จากการที่ระบบเศรษฐกิจของโลกเคลื่อนย้ายเข้าสู่กับดักของลัทธิบริโภคนิยม (ที่ถูกลากจูงโดยกิเลส) เพื่อที่จะสนองตอบต่อความต้องการในกับดักดังกล่าวก็เกิดการแสวงหาความมั่งคั่งเพื่อมารองรับกับความต้องการบริโภคนิยมนั้นด้วยการ เก็งกำไรในตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดน้ำมัน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดทองคำ รวมทั้งตลาดสินค้าและบริการ ซึ่งผู้ควบคุมเศรษฐกิจโลกอย่างองค์กรโลกบาลพยายามที่จะผลักภาระต้นทุนของความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงของระบบเศรษฐกิจนั้นออกไปจากตลาดใหญ่ (สหรัฐอเมริกาและยุโรป) เกี่ยวเนื่องจาก รู้ดีว่าหากปล่อยให้สภาวะความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการเก็งกำไรดังกล่าวนั้นมากัดกินระบบเศรษฐกิจของตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรปแล้ว ก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกพังทลายลงและทวีความรุนแรงอย่างมิพักสงสัย จึงพยายามที่จะจัดระเบียบ (ในความไร้ระเบียบของตลาดเงิน ตลาดทุน) นั้นโดยการสนับสนุนและผลักดันให้กลุ่มประเทศมหาอำนาจผลิตของเล่น (นวัตกรรม) ทางการเงินขึ้นมาใหม่ ๆ เพื่อมาจัดระเบียบนั้นโดยการอ้างว่า เป็นช่องทางในการลงทุนและเป็นทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับนักลงทุน เพื่อรองรับกับความชอบธรรมในการต่ออายุของลัทธิบริโภคนิยมให้ยืดยาวออกไป ซึ่งผลจากการผลักภาระของต้นทุนความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงของตลาดเงินตลาดทุนดังกล่าว ให้ออกไปจากศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโลก ในความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงซับซ้อนดังกล่าว เมื่อพัฒนาถึงจุด ๆ หนึ่ง ก็จะเกิดการแตกสลายเพื่อที่จะจัดระเบียบให้เข้าสู่ดุลยภาพใหม่ ผลของการปรับตัวเพื่อจัดดุลยภาพใหม่ (การล่มสลายทางเศรษฐกิจ) ดังกล่าวก็ถูกผลักกระจัดกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจในละตินอเมริกา วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง (ประเทศไทย) วิกฤติเศรษฐกิจในรัสเซียและเม็กซิโก เป็นต้น ซึ่งวิกฤติทางเศรษฐกิจเหล่านี้ก็เป็นผลมาจากความไร้ระเบียบของตลาดเงินตลาดทุนของโลก ที่เมื่อความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงดังกล่าวพัฒนามาจนถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดการล่มสลายและจัดระเบียบใหม่ให้ตลาดเข้าสู่ดุลยภาพ แต่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งก่อน ๆ นั้น ถึงแม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกแต่ก็ไม่รุนแรงมากนัก เกี่ยวเนื่องจากไม่ได้เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางของความไร้ระเบียบและยุ่งเหยิง (สหรัฐอเมริกาและยุโรป) โดยตรง

 

           เบื้องที่สาม : วิบาก (ผล) กรรม นำพาเดินหน้าเข้าสู่ “วิกฤติเศรษฐกิจ”

            Chaos Theory บอกไว้ว่า เมื่อเกิดสภาวะไร้ระเบียบและยุ่งเหยิงจนพัฒนาถึงจุด ๆ หนึ่ง (ขั้นสูงสุด) ระบบดังกล่าวก็จะพังทลายลงเพียงเหตุปัจจัยเล็ก ๆ ที่คาดไม่ถึง ยิ่งระบบนั้นใหญ่ไร้ระเบียบและยุงเหยิงเท่าไร ปัจจัยเหตุเล็ก ๆ ก็จะยิ่งมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นเท่านั้น การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั้งในละตินอเมริกาและเอเชียในครั้งก่อน เป็นเพียงการจัดระเบียบดุลยภาพภายในเศรษฐกิจใหม่ขนาดย่อย ๆ  ของสภาวะที่ไร้ระเบียบและยุ่งเหยิงของตลาดเงินตลาดทุนโลก แต่ ไม่ใช่เป็นการจัดระเบียบใหม่ทั้งหมดของสภาวะดังกล่าว เปรียบเสมือน เป็นเพียงการปรับฐานที่เกิดจากการพังทลายจากปลายยอดของสภาวะความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงเท่านั้น แต่สภาวะดังกล่าวนั้นยังไม่ได้หมดไป เกี่ยวเนื่องจาก เป็นเพียงการผลักภาระของความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงออกไปจากตลาดใหญ่ (สหรัฐอเมริกาและยุโรป) เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงก็ยังคงมีอยู่ไม่ได้หมดไป (ไม่เหมือนช่วงทศวรรษที่ ๑๙๓๐ ที่การล่มสลายของเศรษฐกิจโลกเกิดจากสภาวะความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงพัฒนามาถึงขีดสุดจึงเกิดการพังทลายขึ้นจากตลาดใหญ่คือ ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการพังทลายจากฐานขึ้นสู่ปลายยอดขั้นสูงสุดของความไร้ระเบียบและยุ่งเหยิงนั้น) ดังนั้นสภาวะความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงยังพร้อมที่จะพัฒนาต่อเนื่อง กอปรกับตลาดเงินตลาดทุนในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเกิดความอหังการคิดว่า สภาวะดังกล่าวได้หมดไปแล้ว จึงเร่งพัฒนาและผลิตเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ ออกมาเพื่อตอบสนองตลาดเงินตลาดทุน (ที่มีความต้องการจากการปั่นกิเลสเทียมด้านความเชื่อมั่น) ซึ่งถือเป็นการเหยียบคันเร่งเดินหน้าเข้าหาจุดสูงสุดของสภาวะไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงของตลาดที่รอพัฒนาขึ้นสู่จุดสูงสุดอยู่แล้ว ในที่สุดเมื่อสภาวะความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงที่พัฒนาจากเครื่องมือทางการเงินดังกล่าวเดินเครื่องถึงจุดสูงสุด ระบบ (ตลาดเงินและตลาดทุน) จึงล่มสลายด้วยตัวของมันเอง จากเหตุปัจจัยเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นนวัตกรรมทางการเงินของตลาดซับไพร์ม คือ เครดิต ดีฟอลต์ สวอป (Credit Default Swap หรือ CDS) และตราสาร CDO (Collateralized Debt Obligation) ซึ่งเป็นตราสารที่ออกโดยมีสินเชื่อของผู้กู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำเป็นหลักประกัน โดยตลาดมีขนาดประมาณ ๖ ล้านล้านดอลลาร์สรอ. สามารถที่จะล้มตลาดเงินตลาดทุนที่มีมูลค่ามหาศาลลงได้อย่างราบคาบ เกี่ยวเนื่องจากสภาวะความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงที่ซับซ้อนของตลาดนั้นเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันจนแยกไม่ออกในปัจจุบัน

 

           การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ (วิกฤติซับไพร์ม) ที่เกิดจากสภาวะไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงที่สั่งสมและพัฒนามาจนถึงขั้นสูงสุดและถูกทำลายลงด้วยเหตุปัจจัยเล็ก ๆ ดังกล่าว ที่กอปรขึ้นด้วยช่วงจังหวะของความสุกงอมของการสั่งสมวิกฤติดังกล่าวเข้ามาในช่วงของจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการเก็งกำไรของระบบเศรษฐกิจโลก พึงจะสังเกตได้จาก ก่อนการล่มสลายนั้น การปั่นราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้นกว่า ๑๔๐ ดอลลาร์สรอ. ต่อบาร์เรล ซึ่งราคาดังกล่าวนั้นมากกว่า ๓ เท่าตัวเมื่อเทียบกับราคาในปัจจุบัน (ปี พ.ศ. ๒๕๕๒) นี่ก็เป็นอีกหนึ่งผลผลิตของการเดินหน้าเข้าสู่การจัดระเบียบใหม่ของระบบเศรษฐกิจโลก หลังจากการพังทลายลงของสภาวะไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิง ที่พัฒนาสู่จุดสูงสุด ซึ่งการจัดระเบียบเพื่อเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ของตลาดนั้นจะรวดเร็วกว่าช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ แต่ สภาวะของความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงที่จะก่อตัวขึ้นจนถึงขั้นสูงสุดและล่มสลายลงก็จะรวดเร็วกว่า (ช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ มาถึง ๒๐๐๘ ใช้เวลา ๗๘ ปี) ด้วยเช่นเดียวกัน เกี่ยวเนื่องจาก เหตุปัจจัยหลาย ๆ ปัจจัยโดยเฉพาะ ฐานของเศรษฐกิจที่ล่มสลายในครั้งนี้ไม่เหมือนฐานของระบบเศรษฐกิจเมื่อทศวรรษ ๑๙๓๐ ซึ่งฐานของเศรษฐกิจในครั้งนี้ใหญ่และซับซ้อนมากกว่าหลายเท่า เปรียบเสมือนการล่มสลายของเศรษฐกิจในครั้งนี้เป็นการดึงเอาพฤติกรรมการบริโภคในอนาคตมาใช้เป็นฐานก่อน กล่าวคือ สมมติ หากเมื่อก่อนเราเคยใช้รถยุโรปเป็นพาหนะแต่พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รายได้ไม่มีเพียงพอในการผ่อน ก็เปลี่ยนมาใช้รถเอเชียเป็นพาหนะ แต่ฐานของพฤติกรรมการบริโภคของเราไม่ได้อยู่ที่รถเอเชีย (เพราะติดกับดักบริโภคนิยม) แต่อยู่ที่รถยุโรป ที่รอวันวิ่งไล่กวดความมั่งคั่งดังกล่าวกลับคืนมา เฉกเช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจเมื่อระบบเศรษฐกิจติดกับดักของฐานบริโภคนิยมเดิมที่ถูกปั่นขึ้นไป ถึงแม้ว่าจะล่มสลายลงมาแต่ระบบเศรษฐกิจก็ยังมีฐานที่เคยสูงสุดเป็นบรรทัดฐานบ่งชี้ถึงพฤติกรรมในอนาคตของตลาดในการวิ่งไล่กวดความมั่งคั่ง (กิเลส) เหมือนเดิม กอปรกับปัจจัยในอนาคตที่ถูกบังคับ บีบคั้นทางด้านทรัพยากรที่ลดน้อยถอยลงและภาวะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่วิกฤติมากยิ่งขึ้นจึงเป็นเหตุปัจจัยเร่งและเกื้อหนุนให้สภาวะของความไร้ระเบียบและความยุ่งเหยิงพัฒนาเร็วขึ้นและการล่มสลาย (วิกฤติเศรษฐกิจ) ก็จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 400885เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2010 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท