เรื่องเล่าจาก ศวก.ที่ ๖ (ขอนแก่น) ι ผู้เสียสละ รพ.สต.ห้วยโพธิ์


เรื่องฝากจากพี่อ้อค่ะ

บันทึกนี้เป็นเรื่องราวของคนทำงานที่อยู่ในห้องที่สะอาดเอี่ยม อย่างห้องผ่าตัด

ผันตนเองมาลุยงาน ณ รพ.สต. ชีวิตพี่เขาเปลี่ยนแปลงอย่างไร

และอะไรที่พี่เขาได้เรียนรู้บ้าง

เชิญติดตามอ่าน งานเขียนจากพี่อ้อ ได้เลยค่ะ....(^_^)

 

 

ผู้เสียสละ

                 

                โชคดีมากเลยค่ะ  วันนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่หมู  (นางอุดม  วงษ์แสน)  ตำแหน่งของท่านคือ  พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ   อยู่ที่  รพ.สต. ห้วยโพธิ์   จังหวัดกาฬสินธุ์    

ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่นี่พี่หมูทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดกาฬสินธุ์   อยู่ที่ห้องเด็กแรกเกิด   (ไม่ทราบว่าจริง ๆ  เขาเรียกว่าห้องอะไร  แต่ความหมายคงใกล้เคียงกัน)  ทุกอย่างจะต้องปลอดเชื้อ  อุปกรณ์เครื่องมือพร้อม 

สรุปง่าย  ๆ  ก็คือทุกอย่างต้องเนี๊ยบว่างั้นเถอะ 

แต่ด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการพี่หมูจึงได้ย้ายมาทำงานที่นี่   

พี่หมูเล่าให้ฟังว่า 

วันแรกที่มาทำงาน  เราเคยทำ งานที่ห้องทำงานแบ่งเป็นสัดเป็นส่วน  สะอาดสะอ้าน   ทุกอย่างพร้อม  มาเจอที่ทำงานใหม่พี่หมูบอกว่าอะไรกันนี่  ฉันจะทำงานได้ไหม 

แล้วพี่หมูก็บอกให้เราคิดตามว่า  สถานีอนามัยเมื่อ  19  ปี  ที่ผ่านมาสภาพของอาคารจะเป็นอาคารไม้หลังเล็ก  ๆ  มีบันได  3 -  4  ขั้น   ขึ้นบันไดไปก็จะเป็นระเบียงไว้ให้คนไข้นั่งรอ   หรือซักถามประ วัติ   และก็จะมีอีก   1  ห้องไว้ทำแผล   

จากพี่หมูเล่ามาถึงตรงนี้ภาพในอดีตก็ผุดขึ้นมาในหัว    เออ !  ใช่   อะไรประมาณนี่แหล่ะพี่   ที่บ้านน้องก็มีสถานีอนามัยอยู่ใกล้โรงเรียนน้องด้วย   ไม่มีใครกล้าเข้าไปหรอก   เพราะด้าน หลังเป็นป่า  ด้านหน้ามีสระน้ำ  ต้นไม้ต้นใหญ่  ๆ  อึมครึมมากเลย  เป็นเรือนไม้เก่า  ๆ  สีซีด ๆ  บรรยากาศหน้าสยดสยองมากเลย   แล้วก็จะมีเรื่องเล่าจากรุ่นต่อรุ่นว่า    ผีดุมาก   ถ้าใครดื้อคุณครูจะส่งไปอยู่ที่นั่น  นึกไปก็ขนลุกไป  หน้ากลัวจริง  ๆ   แต่พี่หมูก็ได้รับกำลังใจจากหัวหน้าว่าเรามีอะไรเราก็ทำไปอย่างนั้นแหล่ะ  อย่าคิดมาก  มันไม่เหมือนโรงพยาบาลหรอก  พี่หมูก็ได้แต่ฟังและคิดในใจว่า 

“ฉันคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว  ก็คงต้องทำเหมือนที่พี่เขาบอก” 

แต่นาทีสำคัญก็เกิดขึ้นเมื่อมีคนไข้อุบัติเหตุมาจะต้องมีการเย็บแผล    พี่หมูและพี่หัวหน้าเข้าไปทำการเย็บ     พี่หมูถึงกับอึ้ง  เนื่องจากตรงบริเวณทำแผลเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดเชื้อ   ผ้าก๊อต    สำลี   ฟรอเซ็บ   อุปกรณ์ต่าง  ๆ  และยาวางอยู่ตรงนั้นแหล่ะ   ใครมาทำแผลก็หยิบตรงนั้นทำตรงนั้นและวางตรงนั้น  ไม่ได้จัดที่วางเป็นสัดเป็นส่วน  อุปกรณ์ต่าง ๆ  ด้ายเย็บแผลก็ยาวมาก 

(สังสัยเหมือนกันว่าถ้าด้ายยาว ๆ  นี่ พี่เขาเปลี่ยน ด้ายกับเข็มไหม  แต่ไม่กล้าถามกลัวขัดจังหวะพี่หมู  เพราะการเล่าของพี่กำลังได้อารมณ์มาก) 

  แล้วพี่หมูก็บอกตัวเองว่า

“รับไม่ได้  ฉันรับไม่ได้จริง  ๆ ” 

ในเมื่อเปลี่ยนพี่เขาไม่ได้  ฉันก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด 

จากนั้นก่อนทำงานพี่หมูก็จะทำความสะอาดที่ทำงานก่อน  จัดที่เก็บอุปกรณ์ให้เป็นสัดเป็นส่วน  มีการนึ่งอุปกรณ์  โดยการนำไปนึ่งด้วยซึง  และผ้าก๊อตก็จะนำไปนึ่งด้วย  แต่เมื่อนึ่งเสร็จด้านล่างก็จะเปียกน้ำ  ส่วนตรงกลางไม่เปียกก็จะเอาส่วนตรงกลางเก็บใส่ที่เก็บให้เรียบร้อย  ส่วนที่เปียกก็เสียดายถ้าจะทิ้งไป  จึงนำไปตากแดดจัด  จากนั้นก็เก็บไว้อย่างเป็นระเบียบ  และเมื่อมีคนไข้มาเย็บแผล  พี่หมูจะบอกกับหัวหน้าว่า   

 “ไม่เป็นไรพี่  เดี๋ยวน้องทำเอง” 

 เพราะพี่หมูต้องการที่จะพัฒนาตรงจุดนี้ให้เหมือนกับโรงพยาบาลให้ได้     พี่หมูจึงต้องทำงานนี้เอง    พี่หมูของเราจึงกลายเป็นมือเย็บแผลที่เก่งกาจที่สุดในหน่วยงาน  (ก็มีกันแค่  2  คน)

หลังจากนั้นทุกอย่างก็ค่อย  ๆ  ดีขึ้น  และดีขึ้นมากเมื่อได้เป็น  รพ.สต.  มีมือขวาอย่าง  อสม.  ช่วยงานได้เยอะ 

 พี่หมูก็ผ่านวิกฤตที่แสนจะยากลำบากมาได้  กำลังใจเต็มเปี่ยม 

และได้ขอย้ายเข้าไปทำงานที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด  แต่ผู้ใหญ่ท่านก็ตอบแบบไม่ต้องเสียเวลาคิดเลยว่า 

“อยู่ที่นี่แหล่ะไม่ต้องเขียนขอย้ายเพราะเขียนมาผมก็ไม่อนุมัติ” 

 จบข่าวเลยงานนี้  แต่ดูแล้วพี่หมูก็มีความสุขมาก  และลูกสาวคนโตก็ได้เจริญรอยตามแม่กำลังเรียนพยาบาลใกล้จบแล้ว  ดีใจจังที่จะมีตัวแทนของคนดี  ๆ  ที่ทุ่มเททำงานและดูแลชาวบ้านด้วยความรัก  เข้ามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข          

 

การปรับตัว เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลง ตนเอง ณ จุดที่ตนเองทำได้ ทำให้พี่เขามีความสุขอย่างที่เป็น ขอบคุณนะคะพี่อ้อ......สำหรับเรื่องราวดี ๆ ที่รดรินในหัวใจ
หมายเลขบันทึก: 400768เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2010 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Ico64 อาจารย์ขา

  •  ถ้าการเดินทางของเราพบอุปสรรคเช่น มีภูเขาลูกหนึ่งขวางอยู่ เราควรใช้วิธีเดินอ้อม หรือว่ายกภูเขาออกดีคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท