ความมี “น้ำใจ” แบบไม่ทุกข์


เมื่อมีการประเมินชัดเจนในหลายๆมุม และตัดสินใจดำเนินการตามความรู้ความสามารถแล้ว น่าจะนับได้ว่าเป็นการแสดงน้ำใจแล้ว แม้อาจจะยังไม่ปรากฏผลที่เป็นรูปธรรมต่อผู้รอรับการช่วยเหลือ

หลังจากที่ผมนำเสนอเรื่อง “ก่อนจะช่วยคนอื่น เราต้องยืนให้ได้เสียก่อน”

ก็มีการตอบรับที่ดีมากทั้งในและนอกเวบ

ที่มีข้อคิดสำคัญที่ใช้ในระบบสังคมไทย ที่ควรนำมาแจงกันให้ชัดมากขึ้น

ว่าสิ่งใดควร ไม่ควรอย่างไร

เพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้นกว่าเดิม

โดยเฉพาะคำว่า “ความมีน้ำใจ” ที่อาจมองต่างมุมกันได้ แม้ในระหว่างคู่กรณี

ที่จะต้องพึ่งพาอาศัยกัน

ที่ทางผู้ที่ “น่าจะเป็นผู้ให้” ก็น่าจะมีความคิดและวิจารณญาณของตนว่า มีความเหมาะสม ควรไม่ควร ทำได้ไม่ได้ และสามารถหรือไม่สามารถที่จะทำได้ โดยไม่สร้างปัญหาอื่นๆ ติดตามมา ทั้งสองฝ่าย

ในขณะที่ “ผู้เสนอตัวเป็นผู้รับ” ก็คิดว่า ควรจะได้ตามที่ตัวเองตั้งความหวังไว้

เมื่อผู้ที่ควรจะให้ ไม่ให้ตามความคาดหวังของผู้รับ ผู้รับก็อาจจะคิดไปว่า ผู้ให้ไม่มีน้ำใจ

โดยคู่กรณีทั้งสองฝ่าย อาจไม่ทราบ หรือไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอีกฝ่ายหนึ่ง อย่างเพียงพอ ทำให้ความสัมพันธ์ที่ดี และน่าจะพัฒนาต่อไป กลับมีอาการสั่นคลอน หมางเมินกันไป

นี่คือ ที่มาของประเด็นสำคัญของบันทึกนี้

ที่ผมคิดว่าถ้ามีความเข้าใจตรงกันแล้ว ปัญหานี้ไม่น่าจะเกิด  เกิดน้อย หรือเกิดก็ชั่วคราวภายใต้เงื่อนไข และความจำเป็นของสถานการณ์

ที่อาจเกิดจากระบบคิดและการดำเนินชีวิตที่ไม่เป็นแบบหรือมาตรฐานเดียวกันเท่านั้น

เช่น

การไม่ซื้อเหล้าให้เพื่อน หรือ การช่วยเหลือในเชิงอบายมุขต่างๆ เพื่อนที่มาขออาจมองว่าอีกคนไม่มีน้ำใจ แต่ถ้าเพื่อนมีเวลาคิดดีๆ แล้ว อาจจะเข้าใจและยอมรับได้ในภายหลัง

ที่ถือว่า แท้ที่จริงแล้ว เป็นการช่วยเหลือทางอ้อมที่ความคิดของเพื่อนอาจไม่ต้องการหรือไม่เข้าใจในขณะนั้น

ในอีกระดับหนึ่งที่เกี่ยวกับหัวข้อบันทึกนี้โดยตรง ก็คือ

แม้คิดจะช่วย ก็ไม่สามารถจะช่วยได้ หรือ ความสามารถไม่พอ ที่ทำให้การช่วยจะทำให้เกิดผลที่ยังความลำบากทั้งผู้ช่วยและผู้ได้รับการช่วยเหลือ

ในกรณีนี้คนที่ช่วยคนอื่นไปแล้ว ก็มักเกิดจากความขาดสติ ขาดความยั้งคิด  กรณีฉุกเฉิน หรืออาจคิดแต่ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้

เช่น การที่แม่วิ่งฝ่าเปลวเพลิงเข้าไปช่วยลูกในบ้านที่กำลังไหม้

สำหรับกรณีที่มีเวลาคิดไต่ตรอง พิจารณาข้อดีข้อเสีย นั้น น่าจะมีความชัดเจนด้านการประเมินความสามารถว่าทำได้หรือไม่ได้อย่างถ่องแท้ แล้วจึงตัดสินใจช่วย หรือไม่ช่วย มากหรือน้อย ตามระดับความสามารถและความเหมาะสม

ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ ความสามารถ ลำดับความสำคัญ และจิตสาธารณะของผู้ที่จะช่วยเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะประเมินสถานการณ์ว่าควรจะทำอย่างไรจึงจะดีที่สุดสำหรับทุกคน

เมื่อมีการประเมินชัดเจนในหลายๆมุม และตัดสินใจดำเนินการตามความรู้ความสามารถแล้ว น่าจะนับได้ว่าเป็นการแสดงน้ำใจแล้ว แม้อาจจะยังไม่ปรากฏผลที่เป็นรูปธรรมต่อผู้รอรับการช่วยเหลือ

แต่บางคนก็ยังให้คำจำกัดความว่า

ความมีน้ำใจ คือ การทำเกินกว่าหน้าที่ที่กำหนดไว้ หรือ การทำเกินความสามารถของตน ที่ผมไม่ค่อยเข้าใจ และรู้สึกว่าบางมุมไม่ค่อยจะเห็นด้วยเท่าไหร่

ประเด็นแรกของการทำมากกว่าหน้าที่นั้น ยังเป็นข้อถกเถียงได้มาก ว่า

หน้าที่ที่ว่า "ทำเกิน" นั้นคือหน้าที่อะไร

ถ้าทำครบทุกหน้าที่แล้ว แล้วยังจะมีเกินได้ตรงไหนอีก ไม่ว่าจะเป็น

  • หน้าที่การงาน
  • หน้าที่ของสมาชิกในครัวเรือน
  • หน้าที่ของสมาชิกในชุมชน รวมไปถึง
  • หน้าที่ของมนุษย์ร่วมโลก ร่วมทุกข์ พึงกระทำและช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้ว
  • ผมก็มองไม่ออกว่าการทำเกินหน้าที่นั้น หมายถึงอะไร ตรงไหนที่ยังทำได้อีก

สำหรับการทำเกินความสามารถของตนนั้น น่าจะเกิดจากสภาพฉุกเฉินหรือขาดสติ ที่ผมคิดว่า คนที่มีสติปกติไม่ควรจะทำ เพราะจะนำมาซึ่งความทุกข์ของ (อย่างน้อยก็) ผู้ให้

แค่ควรทำในสิ่งที่ตนทำได้โดยไม่เกิดความเดือดร้อนด้วยกันทุกฝ่ายมากกว่า

แต่....แม้การมีน้ำใจ จะทำให้เกิดความเดือดร้อนในบางมุม ก็น่าจะมีผลรวมสุดท้ายที่ดีกว่าเดิม

ที่ผมคิดว่า น่าจะถือว่าได้ทำหน้าที่แล้ว

เพราะการมีน้ำใจนั้น เป็นไปได้ทั้ง มโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม

การมีน้ำใจด้วยแผ่เมตตา การมีความกรุณา การแสดงมุทิตา ก็น่าจะถือว่าเป็นการแสดง “น้ำใจ” ได้ ตามระดับความสามารถของตนเอง

ที่สุดท้าย.....เมื่อทำดีที่สุดแล้วก็ต้อง อุเบกขา เพื่อรักษาสุขภาพจิตและกายของตนเอง

ดังนั้น เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว ผมจึงคิดว่า

การแสดงความมีน้ำใจ ตามความรู้และความสามารถ ทั้งทางโลกและทางธรรมต่อผู้อื่น น่าจะถือว่าเป็นการแสดง "น้ำใจ" ทั้งต่อผู้เดือดร้อน และตนเองอย่างมากที่สุด สมดุล และเป็นทางสายกลาง

ที่น่าจะสร้างสรร และเกิดทุกข์น้อยที่สุด

นี่คือความคิดดังๆ ที่เกิดมาจากเสียงสะท้อนจากบันทึกก่อนหน้านี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 400580เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2010 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัึสดีครับอาจารย์

ยิ่งอ่านบันทึกของอาจารย์ก็ยิ่งรู้สึกว่าอาจารย์ดำเนินชีวิตด้วยปัญญาตลอดเวลา

พอหันมาทบทวนตัวเองก็พบว่าแตกต่างจากอาจารย์แทบจะสิ้นเชิง

การดำเนินชีวิตของผมมักจะไม่ใช้ปัญญา (เพราะไม่ค่อยจะมี) แต่จะใช้อารมณ์ความรู้สึกซะเป็นส่วนใหญ่

และก็ทำให้พลาดท่าเสียทีเสียอกเสียใจอยู่ร่ำไป

แหะ แหะ อาจารย์ครับ ปัญญาเนี่ยมันมีขายที่ไหนครับ ว่าจะไปซื้อมาเติมสักหน่อย

...

ปัญญาคือผลผลิตของการจัดการความรู้

ความรู้อาจมีขาย แต่ส่วนใหญ่ปัญญาต้องสร้างเองครับ

แต่อาจให้ยืม ให้เช่า หรือขายได้ บริจาคได้

อย่างที่ผมกำลังยืมคุณนี่ไง

แต่....

ใครก็ตามที่พยายามจะใช้ปัญญาของคนอื่นมากเท่าใด ความเหี่ยวเฉาของปัญญาตัวเองจะรุนแรงเท่านั้น

ผมก็เลยต้องระวังตัว พยายามสร้างเองไว้ก่อน

จึงไม่ควรคิดจะซื้อครับ อิอิ

ขอบพระคุณในการชี้แนะครับ

แหะ แหะ โดนเคาะกระโหลกแต่เช้า...

good.

but thinking too much can lead to trouble to you instead of let its pass thru.

regards,

zxc555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท