ตลาดการเงินกับเศรษฐกิจ


เงิน เงิน คือพระเจ้า

ตลาดการเงิน (Financial Market) เป็นตลาดที่เกิดขึ้นตามวิวัฒนาการของระบบการเงิน และระบบการคลังของแต่ละประเทศเพื่อทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงระหว่างผู้มีเงินออมกับผู้ที่ต้องการใช้เงินตามระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ดังนั้นตลาดการเงินก็คือแหล่งกลางในการระดมผู้มีเงินออมเพื่อจัดสรรแก่ผู้ที่ต้องการใช้เงินทั้่งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าโดยการกู้ยืมหรือการให้หู้ยืมจะอยู่ในระดับบุคคลธรรมดา สถาบันการเงิน หรือประเทศ

โดยทางทฤษฎีตลาดการเงินแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ           1.  ตลาดการเงินนอกระบบ (Unorganized Financial Market) เป็นตลาดการเงินที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีระบบ ระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์ที่แน่นอน และอยู่นอกเหนือการควบคุมของทางการ เช่นการกู้ยืมระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตามขึ้นอยู่กับผู้กู้และเจ้าของเงินที่สมยอมกันโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมและอัตราดอกเบี้ย มีการหลีกเลี่ยงกฎหมายโดยวิธีการเพิ่มเงินต้นในสัญญาสูงกว่าจำนวนที่รับจริงหรือจ่ายต่ำกว่าจำนวนที่กู้จริง เป็นต้น

ดังนั้นจึงเป็นตลาดการเงินที่มีความเสี่ยงสูงและมีการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมจากนายทุนผู้ให้กู้ยืม โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายและใช้อิทธิพลต่างๆ อาจกล่าวได้ว่ายิ่งเศรษฐกิจล้าหลังเพียงใด ตลาดประเภทนี้ก็ยิ่งสำคัญมากขึ้นเพียงนั้นและที่สำคัญก็คือไม่อาจหาสถิติจากตลาดประเภทนี้ได้ เนื่องจากเป็นธุรกรรมส่วนตัวและไม่เปิดเผย

2.  ตลาดการเงินในระบบ (Organized Financial Market)  หมายถึุงแหล่งเงินที่มีการดำเนินงานโดยสถาบันการเงินต่างๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน โรงรับจำนำ บริษัทหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งสถาบันการเงินประเภทเหล่านี้ตั้งขึ้นภายใต้ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันนั้นๆ การปฏิบัดิของสถาบันเหล่านี้จึงเป็นไปตามกฎหมายที่ระบุ และมีกฏเกณฑ์ที่แน่นอน

  ตลาดการเงินจึงเป็นตลาดการเงินและสถานที่ที่ให้ผู้ขาดแคลนเงินทุน ผลิตหรือออกตราสารทางการเงิน ขายให้แก่ผู้มีเงินทุนที่ต้องการลงทุน ตราสารที่ออกนั้นจะแสดงความเป็นเจ้าของหรือเจ้าหนี้ โดยผู้เป็นเจ้าของเอกสารการเงินที่ซื้อไปจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในอนาคตในรูปของผลตอบแทนและหรือเงินลงทุน

  ตลาดการเงินตามลักษณะหน้าที่ (Function Financial Market) นอกจากการแบ่งตลาดการเงิน 2ประเภทใหญ่ดังกล่าวแล้ว ยังทีการแบ่งตามลักษณะการทำหน้าที่อีกด้วย โดยมีการจัดแบ่งออกเป็น

1.ตลาดเงิน(Money Market)  เป็นตลาดของการกู้ยืมหรือจัดหาเงินทุนในระยะสั้นทั้งในระบบและนอกระบบ ตลาดเงินในระบบจะมีสถาบันการเงินเป็นแหล่งกลางในการระดมเงินออมจากครัวเรือนและธุรกิจเอกชน ซึ่งถือเป็นแหล่งที่มาของเงินทุน (Sources of Funds) และนำเงินทุนนั้นไปปล่อยให้กับผู้ขาดแคลนเงินชั่วคราวในระยะสั้้นกู้ยืม ลักษณะสำคัญของตลาดเงินในระบบก็คือ การกู้ยืมระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้จะไม่มีการติดต่อกันโดยตรง แต่จะติดต่อผ่านตลาดเงิน และระยะเวลาจะไม่เกิน 1 ปี   ตลาดเงินจะมีเครื่องมือทางการเงินที่เป็น ทางการ เช่น ตั๋วเงินคลัง การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลแบบมีสัญญาซื้อคืน เป็นต้น ส่วนเครื่องมือทางการเงินในตลาดเงินภาคเอกชน มีหลายประเภท เช่น การกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงิน ตั๋วแลกเงิน(Bill of Exchange) ตั๋วแลกเงินที่รับรองโดยธนาคารพาณิชย์ ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note) เป็นต้น

  ตลาดเงินเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตลาดเงินจึงเป็นตลาดที่สถาบันการเงินในภาครัฐเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน เป็นต้น ทำหน้าที่ระดมเงินออมจากครัวเรือนรายย่อย และให้รัฐบาลกู้ยืมโดยการซื้อพันธบัตร หรือตั๋วเงินคลัง ในส่วนของตลาดเงินภาคเอกชนก็มีธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน สหกรณ์ บริษับเครดิต สถาบันการเงินอื่นๆ และธุรกิจประเภทต่างๆมาพบกันและมีการกู้หรือให้กู้ในระหว่างสถาบันการเงินดังกล่าว โดยมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของตลาดเป็นตัวเชื่อมโยง

2.ตลาดทุน (Capital Market)  หมายถึง แหล่งให้กู้ยืมและแหล่งระดมทุนระยะยาวเกินกว่า 1 ปี ที่ผู้ประกอบการสามารถหาเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในการก่อตั้่งหรือขยายกิจการซึ่งเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินจำนวนมากและเป็นการลงทุนระยะยาว ตลาดทุนจึงเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการให้ผู้ประกอบการสามารถระดมทุนได้มากขึ้นด้วยการออกตราสารทุนแล้วนำไปจดทะเบียนเพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการจัดหาเงินทุนของผู้ประกอบการนั้นกระทำในรูปของการจำหน่ายหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น และรวมถึงการออกหุ้นกู้จำหน่ายให้กับผู้ลงทุนโดยตรง

สถาบันในตลาดทุนได้แก่ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ และสถาบันอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์ เช่นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุน ได้แก่ คณะกรรมการ ก.ล.ต.

ตลาดทุนจึงเป็นตลาดที่ทำการซื้อขายตราสารที่มีอายุยาวเกินกว่า 1ปี ดังนั้นผู้มีเงินออมที่ลงทุนในตราสารเหล่านี้จะเป็นการถือครองตราสารในระยะยาวเพื่อต้องการผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลซึ่งอาจออกเป็นคูปอง

ความแตกต่างระหว่างตลาดเงินและตลาดทุน

  ตลาดเงินเป็นแหล่งเงินกู้ระยะสั้น อายูไม่เกิน 1 ปี แต่ตลาดทุนเป็นแหล่งเงินกู้ระยะยาวที่มีอายุการกู้ตั้งแด่ 1 ปีขึ้นไป การเป็นแหล่งเงินกู้ที่มีอายุการกู้แตกต่างกันนี้ทำให้ตลาดทั้งสองแตกต่างกันดังนี้

1.ความเสี่ยง การให้กู้ในตลาดทุนเสี่ยงกว่าการให้กู้ในตลาดเงินมาก เพราะมีอายุการกู้นานกว่า ฐานะของผู้กู้จึงอาจเปลี่ยนแปลงได้มากในระยะยาวและยากที่จะคาดคะเนได้ถูกต้องล่วงหน้า

2.เครื่องมือในการกู้ ในตลาดเงินได้แก่หลักทรัพย์ระยะสั้นเช่น ตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นต้น แด่ในตลาดทุนได้แก่หลักทรัพย์ระยะยาว เช่น หุ้นทุน หุ้นกู้ เป็นต้น

3.ประเภทของสถาบัน ในตลาดเงินได้แก่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกลาง ผู้ค้าหลักทรัพย์ระยะสั้น แต่ในตลาดทุนได้แก่ตลาดหลักทรัพย์ (Stock Exchange) ผู้ค้าหลักทรัพย์ระยะยาว

4.วัตถุประสงค์ในการกู้ ตลาดเงินส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อการค้่า การพาณิชย์ แต่การกู้จากตลาดทุนเป็นการกู้เพื่อการสะสมทุน

5.วิธีการกู้ ในตลาดเงินใช้วิธืต่อรองราคากับผู้ให้กู้ แต่การกู้ในตลาดทุนใช้วิธีประมูลราคาด้วยการกดราคาให้ต่ำำเพื่อล่อใจผู้ลงทุน

6.ลักษณะของผู้ค้า ผู้ค้าในตลาดเงินยินดีต่อการเสี่ยงน้อยกว่าผู้ค้าในตลาดทุน

   แม้ว่าจะได้มีการแยกออกเป็นตลาดเงินและตลาดทุน แต่ตลาดทั้งสองก็เกี่ยวพันกันอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงในตลาดหนึ่งย่อมมีผลกระทบกระเทือนอีกตลาดหนึ่ง การถ่ายเทของเงินทุนระหว่างกันมีอยู่เสมอ เช่นการกู้ยืมจากตลาดเงินของผู้ค้าหลักทรัพย์ระยะยาวโดยหวังกำไรส่วนทุน(Capital Gain) บางทีก็เรียกว่า กำไรส่วนล้ำมูลค่าหุ้น เป็นต้น ด้วยเหตุนี้การวิเคราะห์ตลาดเงินและตลาดทุนจึงยากที่จะแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

อ้่างอิง:รศ.จรินทร์ เทศวานิช,การเงินและการธนาคาร,หน้า 347

            นันทพล พงษ์ไพบูลย์,กลไกของตลาดการเงินในระบบเศรษฐกิจ,หน้า 142-143

            

หมายเลขบันทึก: 40048เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2006 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ตลาดการเงินซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแปรที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในการระดมเงิน เพื่อให้ประเทศพัฒนา

ขอบคุณมากครับกับความรู้ทางด้านการเงิน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท