ไปอุ้มผาง. ๒. สัมผัสภูมิประเทศของอุ้มผาง อำเภอที่พื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย


         
          เราถึงตูกะสู ค็อตเทจ ที่พัก ๒ คืนของเรา คือคืนวันที่ ๓ และ ๔ ก.ย. ๕๓ เวลา ๒๓ น. ตรงตามที่คาด   ตัวอำเภออุ้มผางอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๕๐๐ เมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่เนิน สูงๆ ต่ำๆ ไมใช่เมืองบนพื้นที่ราบอย่างที่เราคุ้นเคย

          ความรู้สึกแรกคือ รีสอร์ท อยู่กับธรรมชาติ มีเสียงจิ้งหรีดร้องระงมไพเราะจับใจ   ยิ่งในค่ำวันที่ ๔ ตอนประมาณทุ่มครึ่ง เสียงจิ้งหรีดยิ่งดังก้อง เป็นเสียงจิ้งหรีดที่ดังและไพเราะที่สุดที่ผมเคยได้ยินมาในชีวิต   แต่พอถึงสองทุ่มครึ่ง แม้จะยังมีเสียงจิ้งหรีด แต่เสียงที่ดังก้องมากๆ ก็หายไป   ผมบอกตัวเองว่า ผู้ดูแลรีสอร์ทนี้คงจะไม่ฉีดยาฆ่าแมลง จึงยังคงรักษาสภาพธรรมชาติที่มีจิ้งหรีดมากมายเช่นนี้ไว้ได้

          ผมเก็บความประทับใจนี้ติดหูและหัวกลับมาบ้านที่ปากเกร็ด เช้ามืดวันที่ ๖ ก.ย. ผมออกไปวิ่งออกกำลังตามวัตรปฏิบัติ  หูผมได้ยินเสียงจิ้งหรีดตามทางวิ่งได้ดีขึ้นแม้ในหูจะมีหูฟังวิทยุไปด้วย   จนในที่สุดผมปลดหูฟังออกข้างหนึ่งเพื่อฟังเสียงจิ้งหรีดและเสียงธรรมชาติอื่นๆ ระหว่างวิ่ง   พบว่ามีเสียงเหล่านี้ตลอดทางวิ่ง คือถนนในหมู่บ้านสิวลี   และบางช่วงเสียงก้องไพเราะมาก   ผมจับได้ว่าเสียงจิ้งหรีดอื่นๆ ร้องแบบมีเว้นวรรคสั้นๆ   แต่ที่ผมได้ยินตอนหัวค่ำคืนวันที่ ๔ ก.ย. ที่ตูกะสู ค็อตเทจ นั้น เสียงมันต่อเนื่องกันไปจนคล้ายเสียงจั๊กจั่น   ผมได้บทเรียนว่า สมองของคนเรามีความสามารถสูงในการตัดเสียงรบกวน (noise) ออกไปจากความสนใจ   จนกลายเป็นความเคยชิน สูญเสียโอกาสได้รับสุนทรีย์จากสิ่งรอบข้างโดยไม่รู้ตัว   เมื่อเรามีสติอยู่กับปัจจุบันตามความเป็นจริง ผัสสะของเราก็ละเอียดอ่อนรับรู้ได้ดีขึ้น   เมื่อค่ำวันที่ ๔ ก.ย. การเข้าไปในสถานที่ใหม่ ช่วยให้สติของผมตื่นตัว จึงรับรู้เสียงธรรมชาติที่น่ารื่นรมย์นี้ได้ดีกว่าปกติ 

          เข้าวันที่ ๔ ก.ย. ผมออกไปวิ่งออกกำลัง   โดยเมื่อออกจากรีสอร์ท วิ่งออกไปทางขวามือ ลงเนินไปตามถนนที่มีรีสอร์ทเรียงรายสองข้างถนน   หากตรงไปเรื่อยๆ ก็จะเข้าเมืองหรือตัวอำเภอ   ผมได้สัมผัสอากาศสดชื่นเย็นสบาย   สมแล้วที่อุ้มผางได้รับการส่งเสริมเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวแบบ ecotour

          เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. ของวันที่ ๔ ก.ย. หลังจากไปประชุมที่ รพ. อุ้มผาง  เพื่อรับฟังเรื่องหลักประกันสุขภาพของผู้ไม่มีสถานะพลเมืองใน ๕ อำเภอชายแดนของจังหวัดตาก และเรื่องการลงทะเบียนบุคคล เป็นเวลาประมาณสองชั่วโมง เราก็ออกเดินทางโดยรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อมีเกียร์ทดแรง เพื่อไปเผชิญสภาพถนนหน้าฝนของอำเภออุ้มผางส่วนที่ห่างไกลจริง   เราเดินทางไปทางทิิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านถนนที่สองข้างทางเป็นทิวต้นสักใหญ่ออกดอกสล้าง.   โดยมีเป้าหมายสำคัญคือศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ

          เราข้ามเขาที่มีความสูง ๙๒๐ เมตร ลงสู่ที่ราบระหว่างเขาที่ความสูง ๗๐๐ เมตร   สองข้างทางเป็นป่าสลับไร่ข้าวโพดและนา   ผมมีความสุขมากที่ได้สัมผัสต้นไม้สูงใหญ่รูปทรงงดงาม   ประมาณไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเราแวะที่สถานีอนามัยแม่จัน ต. แม่จัน   พื้นที่อำเภออุ้มผางระบบสายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมาไม่ถึง ที่ตัวอำเภอเขาปั่นไฟใช้   ที่สถานีอนามัยมีระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ที่จัดให้โดยกระทรวงพลังงาน   โดยเขาบอกว่าแบตเตอรี่ใช้ได้ ๒ ปี   และตอนนี้ก็ใกล้ครบ ๒ ปีแล้ว แบตเตอรี่เริ่มเสื่อม เก็บไฟได้ไม่ดี   วันนี้ไม่มีแดด จึงไม่มีไฟใช้

          ถนนหลังจากนี้มีช่วงหล่มโคลนทดสอบรถขับเคลื่อนสี่ล้อเป็นระยะๆ   ยิ่งใกล้กองกำลังบ้านมะโอโคะ ถนนยิ่งเป็นหล่มโคลน   บริเวณนี้เคยเป็นเส้นทางเดินลัดระหว่างแดนพม่า ทางการไทยเกรงว่าพม่าจะอ้างความเป็นเจ้าของ เพราะทางตะวันตกเป็นพื้นที่รูป ก ไก่ เว้าเข้าไปในดินแดนพม่า จึงต้องหาทางแสดงความเป็นเจ้าของ และตั้งกองกำลังทหารและ ตชด. มารักษาพื้นที่รวมทั้งจัดตั้งหมู่บ้าน   ที่ห่างไกลมาก ชาวบ้านไปรับการรักษาพยาบาลยาก นพ. วรวิทย์จึงมาจัดตั้งสุขศาลาขึ้นให้บริการ มีเจ้าหน้าที่ทีฝึกขึ้นมาจาก อสม. ที่มีประสบการณ์   มีสุขศาลากระจายอยู่ ๑๕ แห่งในอำเภออุ้มผาง   หมอวรวิทย์บอกว่า จะจัดหาเงินมาซื้อรถแต๊กให้สุขศาลาพาคนป่วยไปสถานีอนามัย เพราะเวลานี้ต้องใช้วิธีหามกันไป ยากลำบากมาก

          เรากินข้าวเที่ยงง่ายๆ ที่นี่ โดยทีมจัดการเดินทางเตรียมอาหารกล่อง น้ำขวด และผลไม้มา   แล้วเดินทางต่อสู่เป้าหมายการทำงานเก็บข้อมูลสถานภาพบุคคลที่สถานพักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ ซี่งไปทางเดียวกับน้ำตกทีลอซูอันเลื่องชื่อ   แต่เราเดินทางเลยไปทางทิศตะวันตก   ระหว่างทางเราเฉียดชายแดน มองเห็นค่ายทหารพม่าอยู่บนยอดเขาลิบๆ

          ความชื่นใจของการมาเห็นอุ้มผางคือได้มาเห็นป่าที่สมบูรณ์   ต่างจากที่น่านที่ผมขึ้น ฮ. ไปดูเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่เห็นแล้วใจห่อเหี่ยว   แต่ก็ไม่ทราบว่าเราจะรัษาป่าอุ้มผางไว้ได้นานเท่าไร   เพราะที่ริมถนนส่วนที่อยู่มาทางแม่สอดก็มีการถางป่าปลูกผัก ข้าวโพด และอ้อย   ในลักษณะที่ดำเนินการโดยนายทุน ไม่ใช่โดยเกษตรกรรายย่อย

          เช้าวันที่ ๕ ก.ย. ผมตื่นพร้อมได้ยินเสียงไก่ขัน หลังจากนอนอ่านทบทวนเอกสาร (ในห้องพักมีโต๊ะแต่งตัว ไม่เหมาะต่อการอ่านหนังสือ)  รอจนสว่างผมออกไปวิ่งริมถนน โดยวิ่งไปทางซ้ายมือ ขึ้นเนิน   ไปทางที่จะไปปะหละทะ (๒๕ ก.ม.) ซี่งเป็นทางออกนอกเมืองไปทางทิศใต้   มีบ้านคนน้อย สงบเงียบ มีเสียงนกร้องไพเราะ มีต้นสักออกดอกเต็มต้น มีทุ่งข้าวโพด และ มีกระท่อมของชาวบ้าน  เป็นบรรยากาศสงบและเป็นชนบทแบบที่ผมชอบ

          ระหว่างทางกลับไปห้องพัก ผมถ่ายรูปดอกไม้ที่ทางรีสอร์ทปลูกไว้จนเหลือบไปเห็นตั๊กแตนสีดำลายน้ำเงินสวยงามตัวยาวประมาณ ๒ นิ้วบนต้นดองดึง   เขาเกาะนิ่งๆ จนตอนแรกคิดว่าตาย   จนผมวนไปถ่ายรูปรอบที่ ๒ จึงพบว่าเขากำลังคลานไปกัดลูกดองดึง แล้วกลับมาเกาะที่เดิม   ในรอบที่ ๓ ผมตั้งใจไปถ่ายรูป high definition เก็บไว้ เขากลับมาเกาะที่เดิมพร้อมทั้งเคี้ยวอาหารอย่างสบายใจ

          ในการนั่งรถตู้กลับจากอุ้มผางไปแม่สอด วิวข้างทางสวยมาก   จริงๆ แล้วถนนขึ้นลงเขาหลายลูก   ยอดสูงที่สุดที่เราผ่านสูง ๑,๒๙๕ เมตร   ยิ่งใกล้แม่สอดป่าก็ยิ่งน้อยลง กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ปลูกข้าวโพด ข้าว ผัก และอ้อย   ตอนอยู่บนยอดเขาบางช่วงมีหมอกหนา   ธรรมชาติที่มีต้นไม้หนาแน่นและทิวเขาซ้อนกัน มีสีต่างกัน ช่วยให้การเดินทางมีชีวิตชีวาแม้จะโดนฟัดเหวี่ยงอยู่กับทางวกวนและขึ้นลงเขา

          ผมกลับถึงบ้านวันที่ ๕ ก.ย. เวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. ในสภาพไม่บอบช้ำมากนัก   ช่วยให้มั่นใจว่าสุขภาพยังพอตรากตรำไหว

 

วิจารณ์ พานิช
๕ ก.ย. ๕๓

 

หลวงพ่อ เณรน้อย และศิษยืวัดตัวเปี๊ยก แถวบิณฑบาต

 

รั้วไม้ไผ่ขัดแตะชวนระลึกความหลังครั้งเด้กๆ รั้วบ้านผมเป็นแบบนี้

 

ทางเดินไป บ้านตู บังกะโลพักของผม

 

หน้าบ้านตู ที่ผมพัก

 

ตั๊กแตนกับลูกดองดึง

 

ดอกอะไรไม่ทราบชื่อ ปลูกในตูกะสู ค็อตเทจ

 

ลู่วิ่งยามเช้าของผม เห็นต้นสักออกดอกสล้าง

 

   ดอกจันทน์ผา

 

เด็กๆ ชาวบ้านกำลังหาหอยขมในท้องนา บนยอดเขาเบื้องหลังส่วนที่คล้ายหัวนมคือที่ตั้งกองกำลังพม่า

 

บนยอดเขาที่เห็นเจดีย์ คือที่ตังกองกำลังของพม่า

 

เส้นทางไปบ้านมะโอโคะ

 

สุขศาลาในบริเวณกองกำลังรักษาหมู่บ้านมะโอโคะ

 

 ทิวทัศน์ระหว่างทาง เห็นหมอกเหนือเทือกเขา

 

ค่ายผุ้ลี้ภัย ใกล้ที่พักรถริมทาง กึ่งกลางระหว่างอุ้มผางกับแม่สอด

 

หมายเลขบันทึก: 400226เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2010 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วผมได้รับความรู้ดีมากครับ ผมเองเคยไปมาแล้วครับอุ้มผางขับรถยากกว่าไปแม่ฮ่องสอน ต้องเรียกอุ้มผางว่าพ่อฮ่องสอน

ขอบพระคุณอาจารย์มากคะที่เล่าสิ่งที่ดีๆ ให้พวกเราเสมอมา อ่านแล้วเพลิดเพลินและได้ความรู้มากคะ ยังไม่เคยไปคะ ดูรูปแล้วอิ่มใจมากคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท