0953..พลังงานพอเพียง


ถ้าเกษตรกรทุกคนมีความเข้าใจในเรื่องของการย่อยสลายมูลสัตว์แล้วเกิดขบวนการปลดปล่อยก๊าซออกมา รู้วิธีการกักเก็บก๊าซเหล่านั้นไว้ใช้ โดย การทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพอย่างง่าย เกษตรกรก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายภายในฟาร์มได้

พลังงานพอเพียง 

วิกฤตพลังงาน   กำลังอยู่ในความสนใจ  เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันน้ำมันมีแนวโน้มลดลง สังคมโลกจำเป็นต้องหาพลังงานอื่นๆทดแทน  โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม และการขนส่ง ในประเทศไทยใช้พลังงานจากสองส่วนนี้รวมกัน 74.2% ของการใช้ทุกส่วน เป็นน้ำมันถึง 42 %

 

 

ปริมาณสำรองพลังงาน 

การแก้วิกฤตพลังงานโดยนโยบาย   ส่งเสริมให้มีการใช้เอ็นจีวี และให้มีการใช้รถยนต์ประเภท อี85 เพื่อลดการใช้น้ำมัน  ทั้งรถยนต์ของยุโรปและรถยนต์ญี่ปุ่น  และน้ำมัน  ดีเซล บี 5 ,  แก๊สโซฮอร์   แต่ในส่วนของเอทานอล ขณะนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ  มีการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม , แสงอาทิตย์ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือไบโอแมส ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่นโรงงานน้ำตาล  ในส่วนของเกษตรกรรายย่อยตื่นตัวในการผลิต ไบโอดีเซล  จากสบู่ดำ และปลูกปาล์มน้ำมันกันมากขึ้น  ในส่วนของปศุสัตว์มีการใช้พลังงานจาก ไบโอแก๊ส ที่ผลิตจากมูลสัตว์ในฟาร์มและผลิตกระแสไฟฟ้า  ในภาคอุตสาหกรรมก็มีการเจาะสำรวจก๊าซธรรมชาติ  การใช้ถ่านหิน และอาจรวมถึงพลังงานนิวเคลียเข้ามาทดแทน

 การเลี้ยงสัตว์กับการแก้วิกฤตพลังงาน          การเลี้ยงสัตว์แต่เดิมมูลสัตว์ถือเป็นภาระที่เกษตรกรต้องทำการบำบัดโดยเฉพาะในฟาร์มสุกรถือว่าเป็นมลภาวะระดับจังหวัดเลยทีเดียว  ในส่วนของมูลโคและไก่ มีมลภาวะทางกลิ่นน้อยกว่าและมีการกำจัดง่ายเนื่องจากมีความชื้นต่ำกว่าสามารถตากแห้งได้ง่าย จึงมีการนำไปทำเป็นปุ๋ยคอกใส่ต้นไม้มายาวนาน  แต่ปัจจุบันน้ำเสียจากฟาร์มสุกรเริ่มมีคนเห็นคุณค่าเพราะมีคุณสมบัติทำนองเดียวกับน้ำหมักชีวภาพ  จึงมีเกษตรกรใกล้เคียงเปลี่ยนสภาพที่เคยเป็นวิกฤตมลภาวะเป็นโอกาสที่จะได้ปุ๋ย จึงเรียนรู้ที่จะนำไปใช้ในสวนไร่นามากขึ้น 

พลังงานกับปศุสัตว์ในเชิงธุรกิจ    เริ่มมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในการนำ เทคโนโลยีแก๊สชีวภาพ ไปสร้างบ่อไบโอแก๊ส  เพราะเป็นการนำมูลสัตว์กลับมาใช้และบำบัดมูลสัตว์ในฟาร์มไปพร้อมๆกันทำให้มลภาวะจากฟาร์มขนาดใหญ่มีน้อยลง  ลดรายจ่ายจากพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า  ลดพื้นที่ในการสร้างบ่อบำบัด  และในขั้นตอนสุดท้ายน้ำหรือกากตะกอนที่ได้ยังสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยได้

สุกร  1 ตัว  (น้ำหนัก  60 กิโลกรัม) จะให้ค่าต่างๆ ดังนี้ (มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม)

-   ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้น    27         ลิตร/วัน      »   30    ลิตร/วัน

-   ผลิตก๊าซชีวภาพได้         93         ลิตร/วัน     »   100   ลิตร/วัน

-   ได้ปุ๋ยอินทรีย์ (น้ำ)       0.36      กิโลกรัม/วัน        หรือ

-   ได้ปุ๋ยอินทรีย์ (แห้ง)     0.12      กิโลกรัม/วัน   (ความชื้น 35 %)

พลังงานกับการเลี้ยงสัตว์แบบเกษตรพอเพียง  ฟาร์มเลี้ยงสัตว์รายย่อยหรือฟาร์มขนาดเล็ก  การทำไบโอแก๊สที่สมบูรณ์แบบยังถือเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง  และเป็นความรู้ใหม่ที่เกษตรกรทั่วไปไม่เข้าใจจึงไม่กล้าลงมือทำ  ในวิถีปกตินอกจากการจำหน่ายผลผลิตที่เป็นตัวสัตว์แล้ว  เกษตรกรหลายรายเรียนรู้ในการรวบรวมมูลสัตว์เก่าๆที่ย่อยสลายแล้วใส่กระสอบไว้เพื่อจำหน่ายนับว่าเป็นรายได้เสริมที่ดีพอสมควร  แต่ถ้าเกษตรกรทุกคนมีความเข้าใจในเรื่องของการย่อยสลายมูลสัตว์แล้วเกิดขบวนการปลดปล่อยก๊าซออกมา  รู้วิธีการกักเก็บก๊าซเหล่านั้นไว้ใช้  โดย การทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพอย่างง่าย เกษตรกรก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายภายในฟาร์มได้เช่นกัน  และถ้าสามารถเก็บกับไว้ได้ปริมาณมาก  เกษตรกรอาจนำมาเป็นพลังงานในการแปรรูปผลผลิต พลังงานสูบน้ำ  แสงสว่างหรือปั่นไฟฟ้า  ทำให้เกษตรกรใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่าและอยู่ได้อย่างพอเพียง

  

---------------------------------------

http://www.dld.go.th/pvlo_spr/

http://www.ku.ac.th/e-magazine/september43/bio_gass/

http://www.dld.go.th/nccn_cnt/Documents/biogas%5B1%5D.pdf

http://www.efe.or.th/home.php?ds=preview&back=content&mid=cMS7s93gtBdrFxPI&doc=aN8muxHJhDfnFLrM

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 400217เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2010 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท