หนังสือดี ๆ ของคุณหมอ อมรา มลิลา


คุณหมอ อมรา มลิลา

หนังสือดี ๆ ของคุณหมอ อมรา มลิลา

ชีวิตเป็นอย่างนี้

พญ. อมรา มลิลา

ในหนังสือโลกกับธรรม

เมื่อ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๕

ร่างที่ทอดยาวอย่างสงบบนเตียงนั้น ขณะนี้ดูซีดขาว และกระด้างเหมือนหินตากน้ำค้าง คอยเวลาจะถูกบรรจุเข้าโลง แขกที่มาคับคั่งในพิธีรดน้ำเมื่อครู่เริ่มทยอยกลับ เหลือแต่ความเงียบวังเวง

ชีวิตเป็นอย่างนี้เอง

เกิด เติบโต เรียนรู้ โลดเต้น ดิ้นรน ไขว่คว้า แสวงหา เท่านั้นเองหรือ

มีผู้กล่าวไว้ว่า

“ประตูก็แคบ ถนนก็แคบ นั่นคือทางดำเนินชีวิต เรามา เราร้องไห้ นั่นคือการเกิด เราหาวนอน เรานอนหลับ นั่นคือการตาย” เท่านั้นเองแหละหรือ ?

ชีวิตตั้งต้นเมื่อเกิดและสิ้นสุเมื่อตายแน่แล้วหรือ ? ถ้าเป็นเช่นนั้น เหตุไฉนเด็กทุก ๆ คนจึงผิดแผกกัน

หากจุดเริ่มต้นอยู่ที่ความเกิด ทุก ๆ ชีวิตควรเกิดมาด้วยสภาพเดียวกัน เหมือนผลิตภัณฑ์ที่ถูกผลิตจากโรงงาน แต่ความจริงที่เห็น หาได้เป็นดังนั้น เด็กบางคนแข็งแรง หมดจดงามพร้อม เด็กบางคนพิการ ปากแหว่ง หูหนวก เป็นใบ้ เด็กบางคนอ่อนโยน อารมณ์ดี ยิ้มหัว เด็กบางคนเจ้าโทสะ ร้องงอหายจนหยุดหายใจเมื่อไม่ได้ดังใจ เด็กบางคนมารยาทเรียบร้อย ยามกินก็ค่อยดูดค่อยกลืน ละเมียดละไม เด็กบางคนกระโชกกระชาก มูมมาม

อะไรคือสิ่งกำหนดคุณลักษณะที่แตกต่างหลากหลายเช่นว่านี้

อุปมาดังพันธุ์ไม้ในป่า บางต้นเป็นไม้สัก ใหญ่ ตรง แข็งแรง นำไปทำกระดาน สร้างบ้านเรือน เครื่องใช้ย่อมมีค่า บางต้นเป็นไผ่ลำงาม เหมาะสำหรับนำไปทำฟากปูพื้น หรือจักเป็นตอกสำหรับสานภาชนะใช้สอย บางต้นเป็นไม้ผล รสอร่อย เหมาะสำหรับบริโภค บางต้นเป็นเถาวัลย์เหนียว เหมาะสำหรับใช้ผูกมัด บางต้นดูไร้ประโยชน์ เช่นต้นบอน ต้นหญ้า หรือบางต้นอาจมีพิษมีภัย เช่น เห็ดเมา ฝิ่น ลำโพง ยางน่อง เป็นต้น ต่างก็มีคุณสมบัติเฉพาะของตน สุดแต่เราจะเลือกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

ฉันใด สิ่งเหล่านี้ก็น่าจะมีอะไรที่เป็นพื้นฐานมาแต่ก่อนความเกิด อะไรที่เปรียบเสมทือนลักษณะของเส้นด้ายแต่ละเส้นก่อนที่จะถูกนำมาถักทอเป็นผืนผ้า หากเส้นด้ายนั้นเป็นแพร เป็นไหม ผืนผ้าย่อมละเอียด อ่อนนุ่ม น่าใช้ น่าสัมผัส หากเป็นฝ้าย สัมผัสก็ธรรมดา หรือเป็นป่าน เป็นเชือกกระสอบก็หยาบกร้านระคายคัน เวลาถูกต้องหยิบจับ ยิ่งด้ายบางเส้นถูกมอดถูกแมลงกัดขาด เนื้อผ้าย่อมโหว่แหว่ง ชำรุดทรุดโทรม ไม่น่าจับ น่าใช้

หากอะไรที่ว่านี้เป็นจริง ทำอย่างไรเราจึงจะทราบ ทำอย่างไรเราจะเลือกได้ถูกว่า เด็กของเราจะเป็นผ้าไหม หรือผ้ากระสอบ ?

วิทยาการก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เราสามารถรู้ว่าเด็กเป็นหญิง เป็นชายแต่ก่อนคลอด เรารู้หลักพันธุกรรม รู้นั้น รู้นี้ แต่เราก็ยังมืดบอดต่อชีวิต

เรารัก ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูลูกแต่ละคนอย่างดีเท่า ๆ กัน ให้การอบรมเลี้ยงดูเหมือน ๆ กัน แต่ลูกคนหนึ่งเรียนจบ น่าจะได้งานการเป็นหลักเป็นฐาน กลับทำอะไรไม่สำเร็จ เจอแต่ความผิดหวัง ความอยุติธรรม ลูกอีกคน สุกเอาเผากิน แต่เหมือนโชคอุปถัมภ์ ทำอะไรก็งอกงาม รุ่งเรืองไปหมดทุกอย่าง

อะไรเล่าที่รับผิดชอบสิ่งเหล่านี้ ?

อะไรคือความยุติธรรม ?

ครูตั้งใจสอนเด็กนักเรียนในชั้นเท่ากันหมดทุกคน พูดก็ประโยคเดียวกัน ไม่ได้แอบบอกคนหนึ่ง ปิดบังอีกคนหนึ่ง แต่ทำไมบางคนได้ที่หนึ่ง อีกหลายคนสอบตก ฝนก็ตกทั่วฟ้าเท่ากัน หรือดินที่ไม่เปียกน้ำนั้นจะเป็นดินในถ้ำ ในเงื้อมผาที่มีแต่แผ่นหินบังกั้นอยู่ ฝนจึงปียกไม่ถึง

ถ้าเราเฝ้าสังเกตชีวิตอย่างรอบคอบถี่ถ้วน เราจะพบแต่คำถาม ซึ่งความรู้ทั้งหมดที่ร่ำเรียนมา ไม่อาจตอบคำถามเหล่านี้ให้สินสงสัยได้

สองบวกสอง ไม่เป็นสี่เสมอไปในชีวิต บางครั้งสองบวกสองเป็นศูนย์ บางครั้งสองบวกสอง กลับติดลบ หรือเป็นสิบ เป็นร้อย ก็เป็นได้

เป็นสิ่งยากที่เราจะเข้าใจตามนี้

เพราะชีวิตที่เรา “คิดว่า” รู้จักนั้น มีจุดเริ่มต้นที่ทอดยาว ไกลออกไปกว่าที่คิด ถ้าจะเปรียบ ก็เหมือนเราไปรับคนจากอเมริกา ที่สนามบิน เรารู้ และเชื่อโดยไม่ลังเลสงสัยว่า เขามาจากอเมริกา สิ่งใดที่เขามีหรือกระทำผิดแผกจากเรา เราก็เชื่อว่าเขามี เขาได้มาจากอเมริกา ทั้ง ๆ ที่เราก็ไม่ได้ตามไปเห็น

ชีวิตนี้ก็เช่นกัน มีส่วนหนึ่งที่เสมือนเริ่มต้นมาแต่ก่อน นอกเหนือไปจากความรู้ ความเห็นของเรา และ “อะไร” จากส่วนนั้นก็มามีผลเกี่ยวพันกับขณะเดี๋ยวนี้ ที่กำลังบังเกิดอยู่กับเราทุก ๆ ขณะ

เราทำงานด้วยความตั้งใจ ทุ่มเทเวลา ความรู้ ความสามารถให้โดยสิ้นเชิง แต่ผลปรากฏว่า นายอะไรสักคนหนึ่งที่คอยเอาใจเจ้านายกลับได้สองขั้น ล้ำหน้าเราไป ทั้ง ๆ ที่เราไม่เห็นผลงานอะไรของนายคนนั้นเ ลย

สมการชีวิตให้ผลลัพธ์ สองบวกสอง เป็นศูนย์

หากเรายึดมั่นจริงจังว่า การเลื่อนขั้น คือเครื่องวัดผลงาน เราจะหงุดหงิด ผิดหวัง หมดกำลังใจในการทำงาน หรือถ้าเราผูกใจเจ็บนายอะไรคนนั้น เราก็จะประท้วง ขุ่นข้อง พาลต่อไปถึงเจ้านาย ทำให้มนุษย์สัมพันธ์ตกต่ำต่อไป สองบวกสอง อาจติดลบ

เรายิ่งฮึดฮัด เพราะคิดว่า สิ่งแวดล้อมรอบตัวอยุติธรรม

ยิ่งดิ้นรน ยิ่งมีปฏิกิริยา ก็ยิ่งทรุดโทรม

หยุดใจให้นิ่ง แล้วมองตรงเข้าไปตามสภาพเป็นจริง

เมื่อเราตั้งใจทำงาน ผลย่อมบังเกิดขึ้นเป็นความชำนาญ ความฉลาดหลักแหลม รอบรู้ในปัญหานั้น ๆ นั่นคือผลโดยตรง เหมือนเราเอาเม็ดมะขามเพาะลงดิน แล้วเฝ้าใส่ปุ๋ย รดน้ำ ครั้งถึงกำหนดอันควร เม็ดนั้นย่อมงอกเป็นต้นมะขามขึ้นมา

แต่ใจที่มีอุปาทานครอบงำ ทำให้ยึดมั่นว่า เมื่อทำงานดี ผลย่อมเป็นความก้าวหน้าทางลาภสักการะ เหมือนเอาเม็ดมะขามหว่านลงดิน แล้วหวังรวยเป็นเศรษฐี โดยไม่ศึกษาให้รอบคอบว่า มะขามที่นำมาปลูกนั้น พันธุ์ใด หวานหรือเปรี้ยว กำลังเป็นที่นิยมของตลาดหรือไม่ ต้นทุนกับผลกำไรจะคุ้มกันเพียงใด

อุปาทานเปรียบเหมือนกระจกเงาที่หลอกตา ทำให้ภาพที่เห็นบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง นึกคิด แล้วทึกทัก ยึดมั่น สำคัญหมายว่าเป็นจริง ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นจริงเห็นจังยิ่งขึ้น ๆ เหมือนพายเรือลงในอ่าง ใครทักท้วงชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างไรก็ฟังไม่ได้ยิน เพราะในสมองอึงอล ก้องสะท้อนอยู่ด้วยเสียงของความยึดมั่นสำคัญหมาย ที่ตนย้ำให้ตนเองฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก

เราสร่างความเชื่อขึ้นบนฐานแห่งมายา แล้วต่อสู้เพื่อลบล้าง แปรเปลี่ยน บิดเบือน ความเป็นจริง ให้เป็นดังใจคิด ผลจึงเป็นความทุกข์ ความผิดหวัง ความคับช้อง ไม่ได้ดั่งใจ

มองให้เที่ยงเช้าไปในใจ อย่าบิดเบือน หรือหลอดตัวเอง

แล้วจะพบว่า ร้อยทั้งร้อยของความทุกข์ เกิดจากการแปลความหมายของสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ตรงตามความเป็นจริง บิดเบี้ยวไปด้วยความยึดมั่นสำคัญหมาย ซึ่งเรียกว่า อุปาทาน บวกเข้ากับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รู้ไม่จริง รู้ผิด ๆ ที่เรียกรวมว่า อวิชชา

อุปาทาน และ อวิชชา สองสิ่งนี้คือ ตะปูที่ตอกตรึงให้เราท่องเที่ยวเวียนวน ติดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ไม่รู้จบรู้สิ้น

พี่น้องคลานตามกันมา ยังต่างจิตต่างใจ กระทบกระทั่งปีนเกลียวกันเสมอ ๆ แม้ตัวของเราเองก็ยังไม่เป็นไปดังใจปรารถนา

เพราะเหตุใด ?

เพราะไม่มีใครรู้จักใจของตนเองทะลุปรุโปร่ง ใจซึ่งเป็นพลังควบคุมบงการคนแต่ละคนให้บากบั่น พากเพียร ก้มหน้าก้มตาเดินไปสู่จุดหมายของชีวิต แต่ละคนก็มีเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นธงชัย แล้วมุ่งทุ่มเททุกอย่างเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น

เราต่างหวังความสุข

แต่จิตที่แปลหาหนทางไปสู่ความสุขนั้น แตกต่างกันไปตามปริมาณของอุปาทาน และอวิชชาที่เคลือบแฝงอยู่ในใจ

บางคนคิดว่า ความสุขอยู่ที่การเป็นที่รักของทุกคน จึงพากเพียรแสวงหาความรัก แต่ในการแสงหานั้น กลับครอบครอง หวงแหน ดื้อดึง เอาแต่ใจ ทดสอบความรักด้วยความจ้าแง่แสนงอน เอาอุปาทานมาเป็นมาตรวัดคนที่รักว่า ต้องเป็นอย่างเรา คิดเหมือนเรา รู้สึกเหมือนเรา บีบกดคนที่รักให้กลายเป็นทาส หรือหุ่นยนต์ที่ไร้ความคิดและจิตใจ แล้วเฝ้าประเมินผลโดยการเรียกร้องอันไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยความหิวกระหายที่ไม่รู้อิ่มรู้พอ

เรายิ่งอยาก และพยายามมากเท่าใด ผลก็ยิ่งกลายเป็นการผลักไสทุกคน และทุกสิ่งให้ขยาดกลัว หลีกลี้หนีห่างออกไปเพียงนั้น

เพราะสิ่งที่คิดว่า คือความรักนั้น หาใช่ความรักไม่ หากคือความเห็นแก่ตัว

บางคนคิดว่า ความสุขอยู่ที่การตาใจผู้อื่น เช่นแม่ที่ไม่เคยขัดใจลูกเลย ไม่ว่าลูกจะน่าเกลียด ขาดเหตุผล เอาแต่ใจตนเพียงใด แม่ก็เห็นเป็นความน่ารัก น่าเอ็นดู น่าให้อภัย โดยถ่ายเดียว มิได้ฉุกคิดจะอบรมสั่งสอน ชี้แนะ เหตุผลให้ลูกได้เรียนรู้ ขัดเกลา ปรับปรุงตนเองให้สามารถมองเห็นใจเขา มาใสใจเรา รู้จักธรรมะของการอยู่ร่วมกัน

หรือการถือวิสาสะ เห็นเขาเป็นเรา เห็นเราเป็นเขา เห็นข้าวของผู้อื่นไม่เป็นระเบียบดังใจ ก็จัดโยกย้ายตามชอบของตน โดยไม่ฉุกคิดว่า การกระทำดังนั้น อาจก่อความเดือดร้อนอย่างมหันต์ได เพราะลำดับระบบที่เขากำลังใช้ติดพันอยู่ถูกปิด ถูกเคลื่อน กระจัดกระจายไป จนไม่อาจทำต่อได้ ต้องเสียเวลารื้อ แผ่ จัดให้ “ไม่เป็นระเบียบ” ดังเดิมเสียก่อน

การก้าวก่ายไปบนสิทธิส่วนตัวผู้อื่น โดยทึกทักกับตนเองว่า เราทำดีทำชอบแก่เขา ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว เป็นการริดรอนสิทธิผู้อื่น เป็นการสร้างความอึดอัด คับข้องแก่เขา ครั้นเขาประท้วง ก็ไม่รู้สึก ไม่ยอมรับ กลับยืนกรานว่า เราทำด้วยเจตนาดี เมื่อเขาแลไม่เห็น รับไม่ได้ก็จะโกรธ จะไม่พอใจก็ช่างเขา เราจะทำของเราต่อไป

สิ่งนี้คือความรักตัว หลงตน ยึดมั่นสำคัญหมายจนไม่ยอมแลความเป็นจริง จัดเป็นการก่อเวร ก่อภัย ให้ตนเองด้วยความรู้ไม่รอบ รู้ไม่จริง

บางคนคิดว่า ความสุขอยู่ที่การมีเพื่อน มีผู้ช่วยเหลือเกื้อกูล มีคนคอยรับใช้แบ่งเบาภาระ แต่แทนที่เราจะโอบอุ้ม ค้ำจุนผู้อื่น อ่อนหวาน เห็นอกเห็นใจ รู้ในบุญคุณท่าน เรากลับไว้ตัว หยาบกร้าว เหยียบย่ำผู้อื่น มีแต่วาจาเชือดเฉือน ข่มขู่ มีแต่ตำหนิ จุกจิก จู้จี้ ไม่เคยพอใจ หรือชื่นชมในบริการที่ได้รับ ผู้คนก็ค่อยห่างจากเราไปทีละคน ทีละคน ทีละคน

บางคนคิดว่า ความสุขคือการได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะ จึงตั้งใจจดจ่อ รอคอยสิ่งเหล่านั้น แต่ตนเองไม่เคยคิดจะเกื้อหนุนจุนเจือผู้ใด ไม่เคยน้อมใจยินดีด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะของผู้อื่น

ยิ่งอยากได้ความสุข ยิ่งพยายามแสวงหา ก็ยิ่งเหมือนไปผลักไสให้ความสุขยิ่งหนีไกลไปจากเรา ทุกที ทุกที ทุกที

เราคิดแต่จะเอาจากผู้อื่น สิ่งอื่นฝ่ายเดียว ไม่เคยฉุกคิดจะให้สิ่งใดแก่ใครเลย หรือหากจะให้ ก็ให้ด้วยหวังผลตอบแทนลงทุนโดยหวังกำไร มิทางใดก็ทางหนึ่ง

ฝึกตนให้รู้จัก “ให้” แทนการ “เอา” แล้วจะพบด้วยความแปลกใจว่า ขณะที่ “ให้” ด้วยเต็มใจนั้น แทนที่เราจะสูญเสีย จะยากจน กลับพบว่าความสุขที่ไขว่คว้า ไล่หานั้น บังเกิดขึ้นเต็มเปี่ยมที่ในใจ เป็นสุขที่สงบ อิ่มเต็ม ชุ่มฉ่ำ และเอื้ออารีต่อผู้อื่น ถ้วนทั่วหน้า

แต่อวิชชา หรือความรู้ทั้ง ๆ หลง รู้ไม่รอบ รู้ไม่แจ้ง รู้ไม่จริง พาเราให้ทำทุกข์ ทำโทษต่อตนเอง ซ้ำแล้วซ้ำอีก ตั้งแต่วันเกิดเรื่อยมา ยิ่งทำซ้ำบ่อยเท่าใด ก็ยิ่งบังเกิดเป็นความเคยชิน เป็นความเชื่อมั่นว่า นั้นดี นั้นถูกต้อง แท้จริงนั้นคือ มิจฉาทิฐิ

จะให้ก็กลัวสูญเสีย จะอ่อนโยนก็กลัวเสียศักดิ์ศรี กลัวคนเยียบย่ำ จะอิ่มพอก็กลัวน้อยหน้าผู้อื่นชีวิตถูกจำกัด บีบรัดอยู่ด้วยความคิดที่ผิด ที่เป็นพิษ เป็นทุกข์โทษต่อสุขภาพจิตของตน ปล่อยให้ค่านิยม ให้โลกธรรมอันเป็นสมมติมาลากจูงความคิด มาปล้นกาลเวลาและโอกาสแห่งความเป็นจริงของชีวิตให้สิ้นไป

ใจเป็นธาตุละเอียด ซับซ้อน เหมือนกลีบหัวหอม เปลือกนอกสุดคือจิตสำนึกที่มีสติสัมปชัญญะ ปัญญารักษา กลีบที่ซ้อนกันถัด ๆ เข้ามาจนถึงแก่น คือจิตใต้สำนึก และจิตไร้สำนึกที่สติปัญญาเจาะยังไม่ถึง แต่มันคือศักยภาพ คือตัวพลัง และคือประจุกรรม การกระทำ คำพูด ความคิด ทุก ทุก ทุก อัน จะถูกหว่านลงในเนื้อจิตส่วนนี้ แล้วผลิหน่อแตกกิ่งก้านสาขาเป็นวิบาก หรือผลแห่งกรรมนั้น ๆ ให้เราได้เสวยตามวาระ เราทำอย่างไรไว้ เราย่อมได้รับผลนั้น ๆ เป็นสิ่งตอบแทน ดังพุทธพจน์ที่ว่า เรามีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย จักทำกรรมอันใดไว้ ดี หรือ ชั่ว จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๆ

พอฉุกคิด เกิดสงสัย ใครแก้ตัว ก็เห็นแต่ทางตัน เพราะเฒ่าชราเกิดนานาพยาธิ เหนื่อยเปลี้ย เพลียกำลัง สิ้นหวัง หวาดหวั่น ขาดความมั่นใจ ทอกอาลัย ท้อแท้ เรรวน

ไม่ว่าชีวิตจะโลดเต้นไปอย่างไร นับแต่วันเกิด ทุกชีวิตจะมาลงเอยที่จุดเดียวกันทั้งสิ้น คือความตาย จะเป็นเจ้าจอมจักรพรรดิ หรือ ยกจกเข็ญใจ เมื่อถึงที่สุดแห่งชีวิต ย่อมทอดร่างไว้กับแผ่นดินด้วยกันทั้งนั้น

เมื่อเกิด เราก็มาแต่ตัว หาได้มีอะไรติดมาด้วย

เมื่อตาย เราก็หอบอะไรติดตัวไปด้วยไม่ได้ แม้ร่างกายนี้ก็ต้องคืนไว้กับแผ่นดิน เหมือนดังคำที่กล่าวว่า

          ยศและลาภ หาบไป ไม่ได้แน่

มีเพียงแต่ ต้นทุน บุญกุศล

ทรัพย์สมบัติ ทิ้งไว้ ให้ปวงชน

แม้ร่างตน เขาก็เอา ไปเผาไฟ

          เมื่อเจ้ามา มีอะไร มาด้วยเจ้า

เจ้าจะเอา แต่สุข สนุกไฉน

เจ้ามามือ เปล่าเจ้า จะเอาอะไร

เจ้าก็ไป มือเปล่า เหมือนเจ้ามา

ถ้าเราระลึกได้ดังนี้ เราก็จะเห็นตัวเอง เป็นเสมือนนักโทษประหารที่รอคอยวันที่เขาจะนำตัวไปยิงเป้า

เราเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัยว่า ทุกคนต้องตาย เพราะตั้งแต่เกิด รู้ความมา ยังไม่เคยพบใครที่จะไม่ตายเลยสักคน แต่จะตายอย่างไร และตายเมื่อไรนั้น ไม่มีใครกำหนดรู้ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ผิดอะไรกับนักโทษที่รอคอยวันถูกประหาร

แล้วเราจะโลภ กอบโกย เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นไปเพื่ออะไร เพราะถึงจะมีมากมายเพียงใด ก็เอาอะไรติดตัวไปด้วยไม่ได้ ย่าว่าแต่จะเอาติดตัวไปเลย แม้ตัวของเราเอง ก็ยังต้องทิ้งคืนให้แผ่นดินไปตามปัจจัยดั้งเดิม

จะโกรธจะเกลียดกันเพื่ออะไร เพราะเพียงแค่หันหลังให้แก่กัน เราก็อาจเป็นลมปัจจุบันตายได้

จะหลงมัวเมา ติดข้อง ยึดมั่น ถือมั่น ในชีวิตให้เกิดทุกข์ไปเพื่ออะไร เพราะชีวิตนี้สั้นเกินกว่าจะเอามาทำให้สิ้นเปลืองไปโดยเปล่าประโยชน์

ในห้องไอซียู ท่านศาสตราจารย์ผู้ปราดเปรื่องท่านหนึ่ง นอนไม่รู้สติ เนื่องจากเส้นโลหิตในสมองแตก ตามทวารต่าง ๆ ของท่าน ระโยงระยางไปด้วยสาย และสิ่งที่จะช่วยชะลอชีวิตให้ยืดยาวต่อไป ร่างที่เหยียดอยู่บนเตียงนั้น ไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย ในวินาทีคับขันเช่นนี้ เกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์ศฤงคาร หรือความปราดเปรื่อง มิได้มีคุณค่าแก่ท่านเลย

ถ้าเช่นนั้น อะไรเล่าที่จะเป็นที่พึ่งแก่เราได้ ?

พระพุทธอง๕ทรงตรัสไว้ว่า “ตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตน ก็คนอื่น ใครจะเป็นที่พึ่งแก่ใครได้ ด้วยว่า ตนของตน ที่ตนฝึกฝน ทรมานดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันผู้อื่นได้ด้วยยาก ดังนี้”

ตนของตนจะเป็นที่พึ่งแก่ตนได้อย่างไร ?

เราก็ทราบแล้วว่า การกระทำ คำพูด ความคิดของเราแต่ละอัน ละอัน ละอัน นั้นแล คือเหตุ ซึ่งจะผลิดอกออกผลให้เราได้รับ ดังนั้น จะทำ จะพูด จะคิดสิ่งใด ให้มีสติตามรักษา มีปัญญาแนะสอน ไตร่ตรอง พินิจ พิจารณาโดยถี่ถ้วน รอบคอบ ให้เกิดปัญญาเห็นชอบ เป็นสัมมาทิฐิก่อนทุกครั้ง

ใจที่พร่อง ที่หิวโหย เป็นใจที่ดิ้นรน แสวงหา ซัดส่าย ย่อมเดือดร้อน ย่อมทุกข์ เพราะความบกพร่อง ความขาดแคลนในตนของตน ได้มาเท่าไรก็ไม่รู้อิ่ม รู้พอ เพราะความพร่อง ความหิว ที่เนื่องมาแต่กิเลสนั้น ไม่รู้จักคำว่า เต็ม ว่าอิ่ม

กิเลส คือสิ่งที่มาเคลือบคลุมใจ ให้ไม่เห็นตามสภาพเป็นจริง เกิดความหมอง ความทุกข์ ความเดือดร้อนขึ้น

เมื่อใจคละเคล้าอยู่กับกิเลส ย่อมคิดซัดส่าย ย้อนไปในอดีตบ้าง ไหลไปยังอนาคตบ้าง ซึ่งล้วนเป็นมายา เพราะอดีตเปรียบเหมือนรอยที่ขีดไปบนผิวน้ำ เมื่อขีดแล้วก็จบสิ้นไป ณ ขณะมี่ขีดนั้น เราจะหมุนเวลาเพื่อย้อนรอยเอากลับคืนมาอีกไม่ได้ แต่ใจที่รู้ไม่รอบ รู้ไม่จริง ไปหลงยึดติดอยู่กับความจำ ความยึดมั่นสำคัญหมาย คอยคิดปรุงสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก เหมือนเราถ่ายหนังไว้ แล้วเอากลับมาฉายซ้ำ ๆ อยู่อย่างนั้น แทนที่จะอยู่กับปัจจุบัน กับความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ต่อหน้า แต่ละขณะ แต่ละขณะ แต่ละขณะ

ฉะนั้นก็คิดหวังไปยังอนาคต วาดภาพตระเตรียมไว้ โดยไม่คำนึงว่าความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร แล้วทุ่มใจไปยึดมั่นสำคัญหมาย วิตก กระวนกระวาย ว่าจะไม่เป็นดังใจคิด จนลืมสารัตถะของปัจจุบันโดยสิ้นเชิง

แทนการสร้างทุกข์ สร้างโทษให้ตนเองเช่นนั้น ลองหยุดใจให้นิ่งสักชั่วขณะ แล้วเพ่งมองเข้าไปในใจของตน เพ่งจนเห็นชัดเจน เหมือนมองผ่านกระจกที่ใสบาง แล้วเห็นใจที่นิ่งนั้น มีความระลึกรู้ตื่นตัวทั่วพร้อมอยู่ด้วยสติแหลมคม ด้วยปัญญาที่สามารถรู้เห็นทุกสิ่งที่บังเกิด ที่สัมผัส ตามความเป็นจริง เราจะพบด้วยความประหลาดใจว่า ใจขณะนั้นเป็นใจที่เป็นอิสระ เบา เยือกเย็น สงบ ผาสุก และอิ่มเต็ม

เพราะเหตุใด ?

ก็เพระใจที่มีสติรักษา มีปัญญาแนะสอนนั้น ไม่ได้อยู่ใต้พันธนาการของอุปาทาน สัญญา อารมณ์ ไม่ได้หวนไปโศกเศร้า อาลัย ยึดติดอยู่กับอดีต หรือลอยไปยึดฝันอยู่กับอนาคต แล้วปฏิเสธความเป็นจริงที่กำลังเผชิญอยู่

ความทุกข์ที่มนุษย์เราพบปะอยู่ทุกวี่วันนั้น ส่วนใหญ่หาได้มาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากมาจากใจที่ยึดอยู่กับความจำในอดีต หรือความปรุงคิดถึงอนาคต แล้วดึงดัน โต้แย้ง ปฏิเสธ ความเป็นจริงที่กำลังมีอยู่ เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ใจที่เขลา ที่ขาดสติ ขาดปัญญา หลงไปว่ามายา เงาแห่งอดีต และอนาคตคือสาระ แล้วพยายามไขว่คว้าเพื่อเอามาครอบครอง แต่แลไม่เห็นว่า ความเป็นจริงที่กำลังเกิดอยู่ต่อหน้าขณะเดี๋ยวนี้ต่างหากคือสาระ คือผลรวมของอดีตและอนาคต

อะไรก็ตาม ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ทุก ๆ ขณะ คือผล คือวิบากของสิ่งที่ได้กระทำไว้แต่อดีต เหมือนเราหว่านเมล็ดสิ่งใดไว้ บัดนี้สิ่งนั้นก็งอก ผลิดอกออกผลให้เก็บเกี่ยว

เราจะเก็บเกี่ยวมันอย่างไร และนำไปใช้อย่างไร เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่กระทำลงไปนี้ คือปัจจุบันกรรม ซึ่งจะส่งผลให้เราได้เก็บเกี่ยวใช้สอยในอนาคต

เพราะฉะนั้น หากต้องการผลอย่างใด โปรดรอบคอบถี่ถ้วนในเหตุที่จะประกอบขณะเดี๋ยวนี้ ไตร่ตรองจนเห็นชัดแจ้งถ่องแท้ว่า เหตุนี้ ๆ เท่านั้นจึงจะบังเกิดเป็นผลดังปรารถนา

เมื่อแน่ใจด้วยเหตุผล ปัญญาเห็นชอบดังนั้นแล้ว สิ่งที่กระทำลงไปย่อมเป็นมรรค หนทางนำเราไปสู่ความสงบผาสุก

เมื่อเห็นดังนี้แล้ว แทนการทุ่มเทเวลาไป เพื่อมุ่งหา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โดยขาดสตินั้น

เรามุ่งฝึกฝน สำรวมอินทรีย์ รักษาใจ

ให้มีสติตามรู้

ให้มีปัญญา คิดแต่สิ่งถูกต้อง เป็นสัมมาทิฐิ

ให้มีความสงบนิ่งเป็นสมาธิ จดจ่ออยู่กับขณะเดี๋ยวนี้

ทุก ๆ ขณะ

ไม่ว่าจะทำงานการสิ่งใดอยู่หรือไม่ก็ตาม ไม่หวนอาลัยไปในอดีตที่เอาคืนมาอีกไม่ได้ หรือคิดสร้างอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

เพียรฝึกฝน จนมีใจที่บริบูรณ์ด้วยสติ สมาธิ และปัญญา ต่อเนื่องอยู่ทุก ๆ ขณะ จึงจะได้ชื่อว่า มีตนเป็นที่พึ่งได้

ชีวิตก็เป็นอย่างนี้เอง


"ชีวิต เป็นอย่างนี้" หนังสือธรรมที่อ่านง่ายของอาจารย์แพทย์หญิงอมรา มลิลา เป็นบทความที่ทำให้เราเข้าใจชีวิต เข้าใจความเป็นชาวพุทธ นำเสนอหนทางปฏิบัติธรรมภาวนา ที่สามารถปฏิบัติได้ทุกขณะในการทำงานของเรา
ชมรมจริยธรรมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก เห็นว่าหนังสือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก จึงได้นำมาเผยแพร่ให้กับสมาชิก

ไฟลล์แนบ

 ชีวิตเป็นอย่างนี้

ทำบ้านให้เป็นสุข

หนังสือดีอีกเล่มหนึ่งของคุณหมออมรา มลิลา  ที่ได้สาระดี ๆ กับผู้ที่มีชีวิตคู่ และเสนอแนวทางดี ๆ ในการอบรมเลี้ยงดูลูกของตน
   "ถ้า บ้านเป็นสุข จิตใจมีภูมิคุ้มกัน
     มีสติรักษาใจ นึกคิดอะไรด้วยเหตุผล
     เมื่อไปทำงาน  ก็ไม่เอาแต่อารมณ์ หรือก่อแต่ปัญหา  
     ที่ทำงานก็ร่มเย็น ตกลงอยู่ที่ไหนก็มีแต่ความสุข”
หมายเลขบันทึก: 400124เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2010 02:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 13:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พยายามหาหนังสืออาจารย์อมรา มลิลา มาอ่านเช่นกันค่ะ

ขอบคุณมาก ๆ นะคะ

 

หัดอดอาหารมื้อเย็นอยู่ค่ะ ยังไม่สำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์

ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ ครับคุณหมอ

ผมไม่ได้กินอาหารในยามวิกาลมา ๙๓ วันแล้ว

กว่าจะถึงวันออกพรรษาก็คงเป็นเวลา ๑๑๑ วันพอดี

ก็ยังมีความสุขดีเพราะศิลรักษา

แค่ตั้งใจจะทำความดี ใจก็เป็นสุขแล้วครับ

ได้อ่านบันทึกที่คุณหมอเขียน ที่ได้ปฎิบัติธรรม

ระหว่างพักร้อนมาพักจิต

อนุโมทนาบุญด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท