บทเรียนประชานิยม : เมนูนโยบายในมิติสินค้าด้อยคุณภาพ (inferior goods)


เมนูนโยบายเหล่านี้โดยหลักการแล้วไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายทั้งหมด แต่เมื่อเจือปนกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องของรัฐบาลทักษิณแล้ว เมนูนโยบายประชานิยมเหล่านี้ไม่ได้มองในมิติของความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ มองเฉพาะผลประโยชน์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว

           เมนูนโยบายประชานิยม ที่เคยถูกผลิตขึ้นโดยอดีตรัฐบาลทักษิณ หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกขานกันว่าสินค้าทักษิโณมิกส์ (Thaksinomics) นั้น มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ เมนูนโยบายประชานิยม (people-centered policy menu) อันประกอบไปด้วย เงินกู้ยืมของกองทุนหมู่บ้าน การพักชำระหนี้เกษตรกร ธนาคารประชาชน สินเชื่อเอสเอ็มอี นโยบายกองทุนเอสเอ็มแอล โครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน การสงเคราะห์คนยากจนโดยให้ขึ้นทะเบียน เป็นต้น ซึ่งเมนูนโยบายเหล่านี้โดยหลักการแล้วไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายทั้งหมด แต่เมื่อเจือปนกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องของรัฐบาลทักษิณแล้ว เมนูนโยบายประชานิยมเหล่านี้ไม่ได้มองในมิติของความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ มองเฉพาะผลประโยชน์ทางการเมืองเพียงอย่างเดียว หรือถ้าเปรียบเมนูนโยบายประชานิยมที่ผลิตโดยรัฐบาลทักษิณเป็นสินค้าแล้วก็เป็นได้เพียงแค่สินค้าด้อยคุณภาพ (inferior goods) เท่านั้น หาใช่เป็นสินค้าที่จำเป็นสำหรับสังคมไทยดังที่โฆษณาชวนเชื่อไม่ การที่รัฐบาลของประเทศใด ๆ จะผลิตสินค้าประชานิยมออกสู่ตลาดให้กับประชาชนในสังคมนั้น ๆ ยอมรับ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางด้านการเมืองของตนนั้น องค์ประกอบที่สำคัญของสังคมดังกล่าวจะต้องประกอบไปด้วย เงื่อนไขในการเข้าถึงของการบริโภค องค์ความรู้ของคนในสังคม และรายได้ เป็นต้น

                

 

                การวิเคราะห์อุปสงค์ และ อุปทาน ของสินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) 

                อุปสงค์ของสินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) เป็นเส้นที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง สินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) กับ เงื่อนไขในการเข้าถึงของการบริโภค ซึ่งมีความสัมพันธ์ในทิศทางที่ตรงกันข้าม แสดงได้ดังสมการ ๑

 

 สินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม)     =   f (เงื่อนไขในการเข้าถึงของการบริโภค)     ..... สมการ ๑

 

 โดยที่

              เมื่อเงื่อนไขในการเข้าถึงของการบริโภคของประชาชนที่มีต่อสินค้า (ประชานิยม) มีเงื่อนไขที่ลดลง (ง่ายและ สะดวกต่อการเข้าถึง) ปริมาณความต้องการสินค้า (ประชานิยม) จะมากขึ้น และในกรณีตรงกันข้าม เมื่อใดที่เงื่อนไขในการเข้าถึงของการบริโภคของประชาชนที่มีต่อสินค้า (ประชานิยม) มีเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้น (ยุ่งยาก  เงื่อนไขเยอะ และไม่สะดวกต่อการเข้าถึง) ปริมาณความต้องการสินค้า (ประชานิยม) ก็จะลดลง แสดงได้ดังภาพ ๑

 

ภาพ ๑ : เส้นอุปสงค์ของสินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม)    

 

         อุปทานของสินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) เป็นเส้นที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง สินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) กับ เงื่อนไขในการเข้าถึงของการบริโภค ซึ่งมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน (สมการ ๑)

        โดยที่

                 เมื่อเงื่อนไขในการเข้าถึงของการบริโภคของประชาชนที่มีต่อสินค้า (ประชานิยม) มีเงื่อนไขที่ลดลง (ง่ายและ สะดวกต่อการเข้าถึง) ปริมาณการเสนอสินค้า (ประชานิยม) ของผู้ผลิต (รัฐบาล)  จะลดลง เนื่องจากผู้ผลิตมีความเสี่ยงสูงในการบริหารนโยบายให้มีประสิทธิภาพ และเกิดความไม่รัดกุมในการกำกับและดูแลนโยบายรวมทั้งต้องใช้ต้นทุนในการบริหารจัดการที่สูง  และในกรณีตรงกันข้าม เมื่อใดที่เงื่อนไขในการเข้าถึงของการบริโภคของประชาชนที่มีต่อสินค้า (ประชานิยม) มีเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้น (ยุ่งยาก  เงื่อนไขเยอะ และไม่สะดวกต่อการเข้าถึง) ปริมาณการเสนอสินค้า (ประชานิยม) ก็จะเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ผู้ผลิตสามารถสร้างกรอบและความรัดกุมในการบริหารจัดการนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นหลักประกันในการจัดระเบียบวินัยให้กับผู้บริโภค (ประชาชน)  แสดงได้ดังภาพ ๒

 

ภาพ ๒ : เส้นอุปทานของสินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม)

 

 

 

การวิเคราะห์ประเภท ของสินค้า (นโยบายประชานิยม) 

     ในการวิเคราะห์ว่า สินค้า (ประชานิยม) ที่ผู้ผลิต (รัฐบาล) ผลิตออกมาเพื่อเสนอขายให้กับผู้บริโภค (ประชาชน) ในสังคมนั้น เป็นสินค้า (ประชานิยม) ประเภทใด มีตัวแปรและเงื่อนไขอยู่มากมาย สำหรับผู้เขียนได้วิเคราะห์และใช้ปัจจัยโดยประกอบไปด้วย ระดับองค์ความรู้ของประชาชน และรายได้ เป็นตัวแปรของการวิเคราะห์ ซึ่งสามารถแสดงความสัมพันธ์ได้ ดังสมการ ๒

 

     สินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม)  =   f  ( องค์ความรู้ของประชาชน, รายได้ )         ….. สมการ ๒

 

           กรณี ๑ สินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) : เป็นสินค้าปกติ (Normal Goods) เป็นเส้นที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง สินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) กับ องค์ความรู้ของประชาชน และรายได้  ซึ่งมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน

 

         

            โดยที่

                     เมื่อองค์ความรู้ของประชาชน และ รายได้ ของคนในสังคม เพิ่มขึ้น  ปริมาณความต้องการสินค้า (ประชานิยม) จะมากขึ้น และในกรณีตรงกันข้าม เมื่อใดที่องค์ความรู้ของประชาชน และ รายได้ ของคนในสังคมลดลง ปริมาณความต้องการสินค้า  (ประชานิยม) ก็จะลดลง แสดงได้ดังภาพ ๓

 

ภาพ ๓ : สินค้า (เมนูประชานิยม) : กรณีสินค้าปกติ

 

          กรณี ๒ สินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) : เป็นสินค้าด้อยคุณภาพ (Inferior Goods) เป็นเส้นที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง สินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) กับ องค์ความรู้ของประชาชน และรายได้ ซึ่งมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม

 

          โดยที่

                   เมื่อองค์ความรู้ของประชาชน และ รายได้ ของคนในสังคม เพิ่มขึ้น  ปริมาณความต้องการสินค้า (ประชานิยม) จะลดลง และในกรณีตรงกันข้าม เมื่อใดที่องค์ความรู้ของประชาชน และ รายได้ ของคนในสังคมลดลง ปริมาณความต้องการสินค้า  (ประชานิยม) ก็จะเพิ่มขึ้น แสดงได้ดังภาพ ๔

 

ภาพ ๔ : สินค้า (เมนูประชานิยม) : กรณีสินค้าด้อยคุณภาพ

 

          ในการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจโดยผ่านกลไกเมนูนโยบายประชานิยมของอดีตรัฐบาลนายกทักษิณที่ผ่านมาเบื้องแรกถือว่าได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนทุกชนชั้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเมนูนโยบายที่ใหม่และฉีกแนวจากเมนูนโยบายของพรรคการเมืองอื่น ๆ ในสังคมไทย และที่สำคัญมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมประชาชนสามารถจับต้องและเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งมีผลกระทบโดยตรงต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็น  เงินกู้ยืมของกองทุนหมู่บ้าน การพักชำระหนี้เกษตรกร ธนาคารประชาชน สินเชื่อเอสเอ็มอี นโยบายกองทุนเอสเอ็มแอล โครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เป็นต้น ซึ่งเมนูนโยบายประชานิยม ดังกล่าวถูกยกย่องว่าเป็น สินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) ที่จำเป็นอย่างมากในสังคมไทย ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมต่างออกมาเรียกร้องและสนับสนุนให้ผู้ผลิต (รัฐบาล) ผลิตสินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) ออกมาสู่สังคมในจำนวนมาก

 

          ในการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจโดยผ่านกลไกเมนูนโยบายประชานิยมของอดีตรัฐบาลนายกทักษิณ แท้ที่จริงแล้ว สินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) ได้ถูกเจือปนไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งหวังผลประโยชน์ในอำนาจ และ บารมี ทางการเมือง เพื่อปูทางไปสู่การเอื้อผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง ในทางธุรกิจ มีการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายกันอย่างกว้างขวาง ทั้งการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีจากกรณีขายหุ้นชินคอร์ป การคอร์รัปชั่นในสนามบินสุวรรณภูมิ การคอรัปชั่นในโครงการเอื้ออาทรต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์และตัวตนที่แท้จริง ของผู้บริหารนโยบายของประเทศได้อย่างชัดเจน ดังนั้น เมื่อ สินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) จากการออกแบบโดยรัฐบาลของอดีตนายกทักษิณ ได้ถูกปนเปื้อนไปด้วยสารที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง และเหลิงในอำนาจไม่ฟังเสียงเตือนหรือเสียงคัดค้านจากหลาย ๆ ฝ่าย ท้ายที่สุด สินค้า (เมนูนโยบายประชานิยม) ของอดีตนายกทักษิณ จึงแปรเปลี่ยนสถานะจากสินค้าจำเป็นที่คนในสังคมต้องการ เป็น สินค้าด้อยคุณภาพ (inferior goods) ที่ผู้ผลิต (ภาครัฐบาล) ต้องการผลิตออกมามากเท่าไหร่ ก็ได้รับการต่อต้านจากกลุ่มประชาชนที่มีองค์ความรู้ เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 400011เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 19:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท