เรื่องเล่าจาก ศวก.ที่ ๖ (ขอนแก่น) ι อสม.เก่งที่สุด รพ.สต.ภูเงิน


เรื่องราวของบันทึกนี้มาจาก รพ.สต.ภูเงิน จ.ร้อยเอ็ดในวันนั้นหนูไม่ได้ร่วมเดินทางไปด้วย แต่ได้รับฟังเรื่องราวจากปากพี่อ้อ แล้วก็รู้สึกประทับใจ ที่สำคัญพี่ติ๊ก เป็นรุ่นพี่เภสัชที่คณะ พี่รหัสเพื่อนหนูเอง โลกมันกลมจริง ๆค่ะ ยิ่งเห็นพี่ ๆน้อง ๆ ออกมาร่วมแรงร่วมใจทำงานคุ้มครองผู้บริโภค แบบป้องกันกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เห็นพลังเเล้วอุ่นใจจริง ๆ ค่ะ ไปติดตามอ่านกันเลยนะคะ (^_^)

 

 

อสม.เก่งที่สุด

 

                ที่ห้องประชุม  รพ.สต.ภูเงิน วันนี้คึกคักเป็นพิเศษเนื่องมาจาก  น้องติ๊ก    (เภสัชกรประจำโรงพยาบาลเสลภูมิ)  เรียก   อสม.  53 คน  จาก  18  หมู่บ้าน  ตัวแทนหมู่บ้านละ  3  คน  เข้าร่วมประชุมติดตามงานเกี่ยวกับยาแผนโบราณ  โดยมีทีมศูนย์วิทย์  ฯ  ขอนแก่น  เข้าร่วมด้วย  นำทีมโดยพี่วิชัย  (เป็นหัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและเครื่องสำอาง)    ซึ่งทีม  อสม.   ที่นี่จะมากด้วยความสามารถ   และชำนาญงานอย่างแท้จริง  เราให้ตัวแทน  อสม.  แต่ละหมู่บ้านออกมานำเสนอว่าได้ไปทำอะไรกับพื้นที่มาบ้าง   โดยมีคุณแม่ดมทอง  ตำ แหน่ง  ประธาน  อสม.  เป็นตัวแทนหมู่บ้านโซล   1 บอกกับทีมงานว่า   

เมื่อได้รับการถ่ายทอดเรื่องการใช้ชุดทดสอบสเตียรอยด์   ทั้งโทษ   และประโยชน์แล้วก็ออกไปสำรวจในพื้นที่หมู่บ้านที่รับผิดชอบ 

วิธีการทำงานจะทำงานเป็นกลุ่มเป็นก้อน  ไปไหนไปกัน  คนพูดก็พูดไป  คนตรวจก็ตรวจไป  คนเขียนก็เขียนไปทำงานแบบช่วยกันทำใครทำอะไรได้ก็ทำไป    ถ้าไปคนเดียวไม่สำคัญ   ชาวบ้านจะไม่ฟังและไม่เชื่อถือ   (ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการทำงานของ  อสม. เกือบจะทุกที่จะใช้วิธีนี้กัน)  

จากนั้นเมื่อตรวจเสร็จก็จะบอกว่าปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย  ถ้าไม่ปลอดภัยก็ให้เลิกทาน  บางคนก็เลิก  บางคนก็ไม่เลิกยังเสียดายอยู่เพราะว่าขวดหนึ่งก็เป็นพันและที่สำคัญเมื่อทานแล้วก็หายปวด   

ซึ่งไม่มีตัวอย่างให้เห็นชัด   ๆ  ว่าเมื่อทานยาแผนโบราณที่มีสเตียรอยด์ปนปลอมอยู่จะมีอาการอย่างไร  มีผลต่อร่างกายอย่างไร    ชาวบ้านจึงยังไม่ตระหนักถึงพิษภัยเท่าที่ควร    ทาง  อสม.   ก็จะบอกว่าถ้าทานหมดแล้วก็อย่าไปซื้อมาทานอีก  เพราะว่าหมดเงินไปเปล่า ๆ  เมื่อหยุดทานก็ปวดเหมือนเดิม  ในพื้นที่พบตัวอย่างยาแผนโบราณที่มีเลขทะเบียนแล้วตรวจพบสเตียรอยด์ก็แจ้งให้กับหมอติ๊กเพื่อประสานงานกับพื้นที่ในเขตอำเภอประทุมรัตน์  ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาแผนโบราณที่ไม่ได้คุณภาพ   มีสเตียรอยด์ปนปลอมอยู่ 

คุณแม่ดมทองบอกว่า   ออกพื้นที่เรื่องสเตียรอยด์ชาวบ้านบอกว่า 

 “ เผิ้นเป็นหน่วยงานชื่อหน่วยงานอิหยังน๊ะ  เผิ้นดี๋เน๊อะห่วงใจสุขภาพชาวบ้าน  ทำไมเผิ้นถึงใส่ใจกับ เฮาได้ขนาดนี่  เผิ้นเป็นหน่วยงานอิหยัง” 

 (ได้ยินแล้ว  เออ!  น๊ะหายเหนื่อยก็ยังมีคนเข้าใจว่าเราทำงานอย่างนี้ไปเพื่ออะไร  ยิ้มไม่หุบเลย  ว่าไปนั่น.......... ) 

เราเลยยิงคำถามไปว่า  มีเทคนิคอะไรในการทำงานหรือเข้ากับชุมชนจนชาวบ้านเชื่อถือได้ขนาดนี้ 

คุณแม่ก็ยิ้มหวานแล้วตอบว่า 

  อสม.  เก่งที่สุด  มีศักยภาพ  ยกนิ้วโป้งให้  

 (เสียงเหกันลั่นห้องประชุม  จ้า  ยอมรับแบบไม่มีข้อกังขา  ว่า  อสม.เก่งจริง  ๆ)  แล้วคุณแม่ก็อธิบายต่อว่า 

เป็นคนในหมู่ บ้าน  ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่ม  อสม.  หรือกลุ่มอาสาสมัคร  จะต้องสร้างกระแสในหมู่บ้าน  สร้างความไว้วาง ใจ  ทำงานอย่างต่อเนื่อง  ทีม  อสม.  ทุก ๆ  หนึ่งเดือนจะต้องออกไปทำงานในหมู่บ้าน 

เช่น งานสำรวจลูกน้ำ  ดู แลผู้สูงอายุ  เด็กแรกเกิด  ฯลฯ  ไม่ว่าจะมีงานอะ ไรทั้งงานราชงานหลวง  เราจะต้องออกหน้าก่อน  พูดง่าย  ๆ  ก็เสนอหน้าไปก่อนเลย   เมื่อเขาเชื่อถือและยอมรับเรา   ไม่ว่าจะเอาความรู้หรือเข้าไปทำอะไรก็จะได้รับความร่วมมืออย่างดี   เมื่อทำมาถึงตรงนี้แล้วก็ได้รับการนับหน้าถือตาในหมู่บ้าน  และมีความสุขที่ได้ทำตรงนี้   

 จากคำพูดตรงนี้ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำ

งาน ร่วมกับชุมชนว่าเราควรจะทำอย่างไร  เพื่อจะให้ชุมชนได้ดูแลและใส่ใจสุขภาพแบบยั่งยืน โดยไม่มีใครมาบังคับ 

                                                               ศุภลักษณ์  พริ้งเพราะ   ผู้เขียน

 

จากจุดเล็ก ๆ ของการก้าวออกไปทำงานกับชุมชน สัมผัสผู้คนที่ทำงานนอกตึก อสม. ทำงานด้วย "ใจ" "ได้ใจ" แล้วก็ทำให้เรา "มีกำลังใจ

ขอบพระคุณที่อ่านจนจบค่ะ (^_^)

 

               

 

หมายเลขบันทึก: 399719เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2010 07:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท